การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุดให้เปิดทางจำเป็น คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความร่วมกับจำเลย โดยอ้างในคำร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทางเข้าออกพิพาท ตลอดจนสถานที่ต่างๆ ในสิ่งปลูกสร้างและที่ดินของจำเลยอันเป็นทรัพย์สินส่วนกลาง ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องสอดของผู้ร้องหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1)   ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนมีคำพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจำต้องผูกพันตนโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการ เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย

        วินิจฉัย

        การร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(2) ผู้ร้องสอดจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น ซึ่งหมายถึง จะต้องเป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกบังคับโดยคำพิพากษาคดีนั้นโดยตรงหรือผลของคดีตามกฎหมายจะมีผลไปถึงตนด้วยนั่นเอง

        กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุดให้เปิดทางจำเป็นนั้น แม้ว่าผู้ร้องจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทางเข้าออกพิพาท ตลอดจนสถานที่ต่างๆในสิ่งปลูกสร้างและที่ดินของจำเลยอันเป็นทรัพย์สินส่วนกลางก็ตาม แต่ผู้ร้องไม่มีอำนาจจัดการใดๆ เกี่ยวกับอาคารชุดดังกล่าวตาม พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2552 เพราะเป็นเพียงเจ้าของห้องชุดเท่านั้น ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(2) ดังนั้น ผู้ร้องจึงร้องสอดเข้าเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยไม่ได้

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับคำร้องสอดของผู้ร้อง

 

ข้อ 2. อุดรมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศเยอรมนีได้รู้จักกับพอลชาวอเมริกันมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศเยอรมนี อุดรได้ขอยืมเงินพอล และทำหลักฐานการกู้ยืมเงินที่ประเทศเยอรมนี โดยมีจอห์นชาวอังกฤษมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศเยอรมนีเพื่อนของอุดรเป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้ที่เยอรมนีและมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดหนองคายได้นำที่ดินตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองคายมาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งจอห์นและอุทิศขอรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนี้ ถ้าอุดรผิดนัดชำระหนี้พอลประสงค์จะฟ้องอุดรให้รับผิดตามหลักฐานการกู้ยืม ฟ้องจอห์นให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันและฟ้องบังคับจำนองอุทิศ พอลจะเสนอคำฟ้องต่อศาลไทยได้ที่ศาลใด และจะฟ้องทั้งสามให้ร่วมกันรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวต่อศาลเดียวกันได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1)   คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่” 

มาตรา 4 ตรี คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร  โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขาศาลก็ได้

มาตรา 4 ทวิ คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

มาตรา 5 “คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณากรณีของอุดร ตามกฎหมายนั้น การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคลต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลย มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1) จากข้อเท็จจริง การที่อุดรกู้เงินจากพอลโดยทำสัญญาการกู้ยืมเงินกันที่ประเทศเยอรมนีนั้น ย่อมถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นที่ประเทศเยอรมนี อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าอุดรมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น พอลจึงต้องฟ้องอุดรให้รับผิดตามหลักฐานการกู้ยืมต่อศาลจังหวัดขอนแก่นที่อุดรมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1)

กรณีของจอห์น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ตรีนั้น การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคลซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้ฟ้องต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล จากข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าจอห์นจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศเยอรมนีและมูลคดีตามสัญญาค้ำประกันก็เกิดขึ้นที่ประเทศเยอรมนี อีกทั้งพอลโจทก์ก็มิได้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1) และมาตรา 4 ตรี ดังนั้น พอลจึงฟ้องจอห์นต่อศาลไทยไม่ได้

กรณีของอุทิศ  คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์นั้น กฎหมายกำหนดให้ฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิจากข้อเท็จจริง การที่พอลประสงค์จะฟ้องบังคับจำนองที่ดินของอุทิศนั้น ถือเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์เพราะเป็นการบังคับเอากับตัวทรัพย์โดยตรง ดังนั้น พอลจึงต้องฟ้องบังคับจำนองอุทิศที่ศาลจังหวัดหนองคายอันเป็นศาลที่อสังหาริมทรัพย์คือที่ดินนั้นตั้งอยู่ในเขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ

และเมื่อปรากฏว่ามูลคดีของอุดรและมูลคดีของอุทิศมีความเกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ พอลประสงค์จะฟ้องอุดรให้รับผิดในมูล

คดีกู้ยืมเงิน  และฟ้องอุทิศให้รับผิดในมูลคดีจำนอง ซึ่งในกรณีดังกล่าว หากอุดรชำระหนี้เงินกู้ตามนัดแล้วอุทิศก็คงจะไม่ต้องถูกฟ้องบังคับจำนอง ดังนั้น เมื่อมูลความแห่งคดีมีความเกี่ยวข้องกัน พอลจึงสามารถฟ้องทั้งอุดรและอุทิศให้ร่วมกันรับผิดชำระหนี้ต่อศาลเดียวกันได้ โดยฟ้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นหรือศาลจังหวัดหนองคายศาลใดศาลหนึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5

                        สรุป พอลฟ้องอุดรได้ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น และฟ้องอุทิศได้ที่ศาลจังหวัดหนองคาย แต่จะฟ้องจอห์นต่อศาลไทยไม่ได้ และพอลสามารถฟ้องทั้งอุดรและอุทิศต่อศาลเดียวกันได้ โดยฟ้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นหรือต่อศาลจังหวัดหนองคายศาลใดศาลหนึ่ง

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องจำเลยว่าทางพิพาทเป็นการภาระจำยอมและทางจำเป็น  ในชั้นพิจารณาโจทก์จำเลยตกลงให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่าที่ดินตกอยู่ในภาระจำยอมหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอ้างว่าทางพิพาทไม่เป็นภาระจำยอม คดีถึงที่สุด โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีหลังนี้อ้างว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำฟ้องคดีหลังของโจทก์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธพิจารณาความแพ่ง

        มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…

        วินิจฉัย

        การฟ้องซ้ำมีบัญญัติไว้ในมาตรา 148 ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1.     คดีนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว

2.     คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะต้องถึงที่สุด

3.     ห้ามคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก

4.     ห้ามเฉพาะประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว

5.     ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุใด ก็ห้ามฟ้องเฉพาะอ้างเหตุนั้นอีก

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าฟ้องของโจทก์ในคดีหลังเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีก่อนโดยอ้างว่าทางพิพาทไม่เป็นภาระจำยอมนั้น ถือว่าศาลได้วินิจฉัยในประเด็นอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีแต่เพียงว่าทางพิพาทไม่เป็นภาระจำยอม ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีหลังนี้โดยอ้างว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ซึ่งเป็นกระเด็นที่โจทก์และจำเลยได้สละไปแล้วในคดีก่อน และศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งรับฟ้องคดีหลังของโจทก์

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งรับฟ้องคดีหลังของโจทก์

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินมีกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่สุจริต ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนโรงเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ศาลพิเคราะห์คำฟ้องโจทก์แล้วมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย และเห็นว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์จึงสั่งโจทก์นำพยานเข้าสืบ ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยมาศาลและแจ้งต่อศาลว่าจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลยเป็นไปโดยจงใจ และไม่มีเหตุอันสมควรจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การและดำเนินการสืบพยานโจทก์ ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี และจำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษานั้น ดังนี้ จำเลยจะมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

                มาตรา 199 “ถ้าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีและแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรและดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่เวลาที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

                ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมิได้แจ้งต่อศาลก็ดี หรือศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรก็ดี ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในกรณีเช่นนี้จำเลยอาจถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบได้ แต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้

                ในกรณีที่จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือศาลไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การตามวรรคสอง หรือศาลเคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ตามคำขอของจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การตาม มาตรา 199 ตรี มาก่อน จำเลยนั้นจะขอยื่นคำให้การตามมาตรานี้อีกหรือจะร้องพิจารณาคดีใหม่ไม่ได้

                มาตรา 199 ตรี จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การถ้ามิได้ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น จำเลยนั้นอาจมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่

(2)   คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย

        วินิจฉัย

        กรณีตามอุทาหรณ์ จำเลยจะมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามกฎหมายบุคคลที่มีสิทธิยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ จะต้องเป็นจำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดโดยจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การดังกล่าวมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การดังกล่าวจะต้องไม่ต้องห้ามตามกฎหมายด้วยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี (2) และมาตรา 199 วรรคสาม

        ตามข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลยเป็นไปโดยจงใจและไม่มีเหตุอันสมควรจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 วรรคสองนั้นย่อมทำให้จำเลยจะขอยื่นคำให้การอีกหรือจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 วรรคสาม

        ดังนั้น เมื่อต่อศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี และแม้ว่าจำเลยจะมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษานั้นก็ตาม จำเลยจะมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะถือว่าคำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามกฎหมายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี (2) ประกอบมาตรา 199 วรรคสาม

                สรุป  จำเลยจะมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้

Advertisement