การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. เจ้าพนักงานตํารวจจับกุมนักพนันหลายคนในขณะเล่นการพนัน พร้อมกับยึดเงินกองกลางในวงพนันไว้ได้ทั้งหมด นาย ก. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาได้เสนอต่อเจ้าพนักงานตํารวจว่าจะยอมให้เจ้าพนักงาน ตํารวจเอาเงินที่ยึดไว้เป็นของกลางไป (ซึ่งเป็นเงินกองกลางของวงพนันที่มีส่วนของนาย ก. รวมอยู่ด้วย) เพื่อแลกกับการปล่อยตัวนาย ก. เจ้าพนักงานตํารวจจึงได้เก็บเงินดังกล่าวไว้ พร้อมกับปล่อยตัว นาย ก. ไปตามข้อเสนอข้างต้น นาย ก. มีความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงานหรือไม่

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 144 “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิ่งการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 มีองค์ประกอบของความผิด ดังนี้

1. ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้
2. ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
3. แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
4. เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิ่งการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่
5. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์
การที่เจ้าพนักงานตํารวจจับกุมนักพนันหลายคนในขณะเล่นการพนัน พร้อมกับยึดเงินกองกลางในวงพนันไว้ได้ทั้งหมด นาย ก. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาได้เสนอต่อเจ้าพนักงานตํารวจว่า จะยอมให้เจ้าพนักงานตํารวจเอาเงินที่ยึดไว้เป็นของกลางไปเพื่อแลกกับการปล่อยตัวนาย ก. และเจ้าพนักงานตํารวจ จึงได้เก็บเงินดังกล่าวไว้พร้อมกับปล่อยตัวนาย ก. ไปตามข้อเสนอนั้น นาย ก. จะมีความผิดฐานให้สินบนแก่ เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 หรือไม่

กรณีนี้เห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เงินกองกลางในวงพนันนั้นแม้จะเป็นทรัพย์สินซึ่งนาย ก. มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วย แต่เมื่อเจ้าพนักงานตํารวจได้ยึดเงินดังกล่าวไว้เป็นของกลางเสียแล้ว เงินก้อนนี้จึงไม่ใช่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่อยู่ในสถานะที่จะให้กันได้ เพราะเป็นเงินของกลางในคดีอาญา ที่เจ้าพนักงานตํารวจได้ยึดไว้ เมื่อไม่มีทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดตามองค์ประกอบของความผิดเสียแล้ว การที่ นาย ก. เสนอเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานตํารวจเพื่อจูงใจให้กระทําการอันมิชอบด้วยหน้าที่ คือการปล่อยตัว นาย ก. ผู้ต้องหาไป ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 144 ดังนั้น นาย ก. จึงไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144

สรุป นาย ก. ไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144

 

ข้อ 2. นาย ข. มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ขับรถจากแจ้งวัฒนะเพื่อไปทํางานย่านรามคําแหงและได้พบว่ามีด่านตํารวจตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา เมื่อเจ้าพนักงานตํารวจเรียกให้นาย ข. หยุดรถและขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ นาย ข. ซึ่งถูกยึดใบขับขี่ไปเมื่อหลายเดือนก่อนเนื่องจากขับรถฝ่าไฟแดงที่แยกลําสาลี ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตํารวจว่าตนเองมียศพันตํารวจตรี เป็นพนักงานสอบสวนอยู่สถานีตํารวจ นครบาลหัวหมาก ได้ทําใบขับขี่หายไปเมื่อวานและขอให้ปล่อยตนเดินทางต่อไป นาย ข. มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 137 “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชน เสียหาย ต้องระวางโทษ…”

มาตรา 145 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทําการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอํานาจกระทําการนั้น ต้องระวางโทษ…”

มาตรา 146 “ผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน สมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล หรือไม่มีสิทธิใช้ยศ ตําแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิ่งที่หมายถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กระทําการเช่นนั้นเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 137 สามารถแยกองค์ประกอบ ความผิด ได้ดังนี้
1. แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
2. แก่เจ้าพนักงาน
3. ซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
4. โดยเจตนา
ความผิดฐานแสดงตนและกระทําการเป็นเจ้าพนักงานตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง สามารถ แยกองค์ประกอบความผิด ได้ดังนี้
1. แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทําการเป็นเจ้าพนักงาน
2. โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอํานาจกระทําการนั้น
3. โดยเจตนา

ความผิดฐานสวมเครื่องแบบ ประดับเครื่องหมาย ใช้ยศ ตําแหน่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยไม่มีสิทธิตามมาตรา 146 สามารถแยกองค์ประกอบความผิด ได้ดังนี้
1. สวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติ แห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล หรือใช้ยศ ตําแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิ่งที่หมายถึง เครื่องราชอิสริยาภรณ์
2. โดยไม่มีสิทธิ
3. เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ
4. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์
การกระทําของนาย ข. จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 มาตรา 145 และมาตรา 146 หรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
1. การที่นาย ข. ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตํารวจและถูกยึดใบขับขี่ไป แต่กลับแจ้งต่อพนักงาน ตํารวจว่าตนเองเป็นเจ้าพนักงานตํารวจและทําใบขับขี่หายนั้น ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และถ้าหากเจ้าพนักงานตํารวจหลงเชื่อก็อาจจะปล่อยตัวนาย ข. ไป ซึ่งย่อมเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเจ้าพนักงาน ตํารวจและสํานักงานตํารวจแห่งชาติเนื่องจากไม่ได้ลงโทษผู้กระทําผิดตามหน้าที่ของตน ดังนั้น การแจ้งข้อความ อันเป็นเท็จดังกล่าวของนาย ข. จึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชนแล้ว และเมื่อได้กระทํา โดยเจตนา นาย ข. จึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 137

2. การที่นาย ข. ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตํารวจได้แจ้งต่อพนักงานตํารวจว่าตนเองมียศเป็นพันตํารวจตรีและเป็นพนักงานสอบสวนอยู่สถานีตํารวจนครบาลหัวหมากนั้น ย่อมเป็นการแสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนาย ข. มิได้กระทําการเป็นเจ้าพนักงานแต่อย่างใด เพียงแต่ได้แจ้ง ข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้เจ้าพนักงานปล่อยตนเองไปเท่านั้น การกระทําของนาย ข. จึงขาดองค์ประกอบของ ความผิดตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นาย ข. จึงไม่มีความผิดฐานแสดงตนและกระทําการเป็นเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 145

3. การที่นาย ข. ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตํารวจได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตํารวจว่าตนเองมียศพันตํารวจตรีเป็นพนักงานสอบสวนอยู่สถานีตํารวจนครบาลหัวหมากนั้น ย่อมเป็นการใช้ยศและตําแหน่งของ เจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ และเป็นการกระทําเพื่อต้องการให้เจ้าพนักงานตํารวจหลงเชื่อว่าตนเองมีสิทธิที่จะใช้ยศตําแหน่งดังกล่าว เพื่อให้ปล่อยตนเองไป และเมื่อได้ทําโดยเจตนา นาย ข. จึงมีความผิดฐานใช้ยศ ตําแหน่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิตามมาตรา 146

สรุป
นาย ข. มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม มาตรา 137 และความผิดฐานใช้ยศ ตําแหน่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิตามมาตรา 146 แต่ไม่มีความผิดฐาน แสดงตนและกระทําการเป็นเจ้าพนักงานตามมาตรา 145

 

ข้อ 3. ชาย 12 คน ชุมนุมกันที่หน้าโรงงานทอผ้ากล่าวโจมตีและด่าทอเจ้าของโรงงานที่ปล่อยน้ำเน่าลงคลองจากนั้นได้เผาโรงงานและขู่ว่าถ้าเจ้าของโรงงานไม่ยอมย้ายโรงงานไปจะฆ่าให้ตาย ต่อมาความทราบถึง ตํารวจ ตํารวจได้ไปยังสถานที่เกิดเหตุและสั่งให้สลายตัว ปรากฏว่าชาย 12 คน ไม่ยอมสลายตัว ดังนี้ ชาย 12 คน มีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 215 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้ กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษ”

มาตรา 216 “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใด ไม่เลิก ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ

1. มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
2. ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
3. โดยเจตนา

ส่วนความผิดตามมาตรา 216 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1. เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป
2. ผู้ใดไม่เลิก
3. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์
การที่ชาย 12 คน ได้ชุมนุมกันที่หน้าโรงงานทอผ้าและได้เผาโรงงาน อีกทั้ง ได้ขู่ว่าถ้าเจ้าของโรงงานไม่ยอมย้ายโรงงานไปจะฆ่าให้ตายนั้น การกระทําของชายทั้ง 12 คน ดังกล่าว ถือว่าเป็น การมั่วสุมกันของคนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายหรือกระทําการอย่างหนึ่ง อย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และได้กระทําไปโดยเจตนา การกระทําของชายทั้ง 12 คนนั้น จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งทุกประการ ชายทั้ง 12 คน จึงมีความผิดฐานมั่วสุมกัน ทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215

การกระทําของชายทั้ง 12 คน ไม่มีความผิดตามมาตรา 216 เพราะกรณีที่จะเป็นความผิด ตามมาตรา 216 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานได้มีคําสั่งก่อนที่ผู้มั่วสุมจะได้ลงมือใช้กําลังประทุษร้าย หรือ ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือก่อนที่ผู้มั่วสุมจะกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 แต่ผู้มั่วสุมไม่ยอมเลิก

สรุป
ชาย 12 คนนั้น มีความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตาม มาตรา 215 แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา 216

 

ข้อ 4. นางสุดสวยเอานามบัตรที่พิมพ์ชื่อของพลตํารวจตรีสุดหล่อมากรอกข้อความว่า “ผู้ถือนามบัตรนี้เป็นพรรคพวกกันขอให้ช่วยอนุเคราะห์ด้วย” เพื่อจะนําไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในการติดต่อราชการกับสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ทั้งนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากพลตํารวจตรีสุดหล่อ ดังนี้ นางสุดสวย มีความผิดเกี่ยวกับเอกสารประการใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 264 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือ ตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอม ในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
1. กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3. ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์
การที่นางสุดสวยเอานามบัตรที่พิมพ์ชื่อของพลตํารวจตรีสุดหล่อมากรอก ข้อความว่า “ผู้ถือนามบัตรนี้เป็นพรรคพวกกันขอให้ช่วยอนุเคราะห์ด้วย” นั้น ถือเป็นการทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ เพราะข้อความในเอกสารนั้นแสดงว่า พลตํารวจตรีสุดหล่อเป็นผู้เขียน แต่ความจริงแล้วนางสุดสวยเป็นผู้เขียน จึงเป็นลักษณะของเอกสารปลอม ซึ่งการกระทําของนางสุดสวยเป็นการกระทําที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่พลตํารวจตรีสุดหล่อและเป็นการกระทําโดยเจตนา อีกทั้งการทําเอกสารปลอมนั้นก็เพื่อที่จะนําไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ ในการติดต่อราชการกับสํานักงานตํารวจแห่งชาติ อันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง การกระทําของนางสุดสวยจึงเป็นการกระทําความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง

สรุป
การกระทําของนางสุดสวยจึงเป็นการกระทําความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264

Advertisement