การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. มีฆาตกรรมรายหนึ่ง ตํารวจสืบหาตัวคนร้ายยังไม่ได้ นายซ่านึกสนุกจึงไปแจ้งแก่ตํารวจรับสมอ้างว่าตนฆ่าผู้ตาย พนักงานสอบสวนรับตัวและได้สอบสวนนายซ่าในฐานะผู้ต้องหา นายซ่าคงให้การว่า ตนเป็นคนฆ่าผู้ตาย ดังนี้ นายซ่ามีความผิดประการใดหรือไม่

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 172 “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษ ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานแจ้งความเท็จคดีอาญาตามมาตรา 172 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1. แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
2. เกี่ยวกับความผิดอาญา
3. แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา
4. ซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
5. โดยเจตนา

ความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 172 นี้ หมายความถึงการแจ้งความเท็จในกรณีที่ความผิดอาญาได้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าเป็นการแจ้งความเท็จกรณีที่ความผิดอาญาไม่ได้เกิดขึ้นเลย แต่แจ้งว่าความผิดนั้นได้เกิดขึ้นต้องปรับตามบทมาตรา 173 มิใช่มาตรา 172

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายซ่าไปแจ้งแก่ตํารวจในตอนแรกว่าตนฆ่าผู้ตาย ทั้งที่ตํารวจยังสืบหาตัวคนร้ายไม่ได้นั้น การแจ้งดังกล่าวถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญา เมื่อนายซ่าได้แจ้งแก่ตํารวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน และลักษณะของการกระทําอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายและได้กระทํา โดยเจตนา ดังนั้น การกระทําของนายซาจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ นายซ่าจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาตามมาตรา 172

ส่วนกรณีที่นายซ่าให้การกับตํารวจในตอนหลังว่าตนเป็นคนฆ่าผู้ตายนั้น ถือเป็นการให้การในฐานะผู้ต้องหา นายซ่าจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาตามมาตรา 172

สรุป
นายซ่ามีความผิดฐานแจ้งความเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาตามมาตรา 172

 

ข้อ 2. ก. ตํารวจตรวจค้นตัวนาย ข. โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายในตัวนาย ข. คุมตัวนาย ข. จากที่เกิดเหตุเดินข้ามสะพานข้ามคลองไปฝั่งตรงข้ามประมาณ 30 เมตร จึงปล่อยตัวนาย ข. ไป
ดังนี้ ก. ตํารวจจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้ คือ

1. เป็นเจ้าพนักงาน
2. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3. เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
4. โดยเจตนา

“เป็นเจ้าพนักงาน” หมายถึง เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

“ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หมายถึง การกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่ แต่เป็นการอันมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจทําการสอบสวนผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ ตํารวจจึงใช้กําลังชกต่อยให้รับสารภาพ หรือเจ้าพนักงานตํารวจตรวจค้นตัวผู้ต้องสงสัย ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่กลับกุมตัวไปอีกสถานที่หนึ่ง เป็นต้น

ซึ่งการจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้นั้นจะต้องประกอบด้วยเหตุจูงใจพิเศษ คือ ต้องเป็นการกระทํา “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ซึ่งไม่จํากัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย เช่น ต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เป็นต้น และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใด ก็ได้ ทั้งนี้ไม่จําเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริง ๆ จึงจะเป็นความผิด เพียงแต่การกระทํานั้นเพื่อให้เกิด ความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทําต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ และผู้กระทําได้ปฏิบัติหน้าที่ นั้นโดยมิชอบ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก. ตํารวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ตํารวจตรวจค้นตัว ข. ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แล้วไม่ยอมปล่อยตัว ข. ทันที แต่กลับคุมตัวไปอีกสถานที่หนึ่งดังกล่าวนั้น ย่อมถือเป็นการกระทําที่ไม่มีสิทธิทําได้ตามกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่งถือเป็นการกลั่นแกล้ง ข. ดังนั้น จึงถือได้ว่า ก. ตํารวจซึ่งเป็น เจ้าพนักงานกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่ แต่เป็นการอันมิชอบ อันถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว โดยมีเหตุจูงใจพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ข. และได้กระทําไปโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของ ก. ตํารวจจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ

ดังนั้น ก. ตํารวจ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157

สรุป
ก. ตํารวจมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157

 

ข้อ 3. ประชาชน 20 คน ชุมนุมกันที่สถานีตํารวจแห่งหนึ่ง จากนั้นได้เผาสถานีตํารวจและขู่ว่าถ้าผู้กํากับการสถานีตํารวจไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่จะยิงเสียให้ตาย ตํารวจได้ออกมาห้ามและสั่งให้สลายตัว ปรากฏว่าประชาชนทั้ง 20 คน ไม่ยอมสลายตัว ดังนี้ ประชาชนทั้ง 20 คน มีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 215 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษ…”

มาตรา 216 “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ

1. มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
2. ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
3. โดยเจตนา

ส่วนความผิดตามมาตรา 216 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1. เมื่อเจ้าพนักงานส่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป
2. ผู้ใดไม่เลิก
3. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ประชาชน 20 คน ได้ชุมนุมกันที่สถานีตํารวจและได้เผาสถานีตํารวจ อีกทั้งได้ขู่ว่าจะยิงผู้กํากับการสถานีตํารวจถ้าไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่นั้น การกระทําของประชาชนทั้ง 20 คน ดังกล่าว ถือว่าเป็นการมั่วสุมกันของคนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายหรือ กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และได้กระทําไปโดยเจตนา การกระทําของประชาชนทั้ง 20 คน นั้น จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งทุกประการ ประชาชนทั้ง 20 คน จึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

การกระทําของประชาชนทั้ง 20 คน ไม่มีความผิดตามมาตรา 216 เพราะกรณีที่จะเป็นความผิด ตามมาตรา 216 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานได้มีคําสั่งก่อนที่ผู้มั่วสุมจะได้ลงมือใช้กําลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญ ว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือก่อนที่ผู้มั่วสุมจะกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 แต่ผู้มั่วสุมไม่ยอมเลิก

สรุป
ประชาชนทั้ง 20 คน มีความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา 216

 

ข้อ 4. จําเลยมีรถยนต์หนึ่งคันหมายเลขทะเบียน ก. 1234 ปรากฏว่า แผ่นป้ายทะเบียนหลุดหายไป วันเกิดเหตุจําเลยนําแผ่นเหล็กมาตัดให้มีขนาดและรูปร่างเท่าแผ่นป้ายทะเบียนของจริง จากนั้นจําเลยเขียนตัวอักษร ก. และเขียนหมายเลข 1234 ลงไป เมื่อเขียนเสร็จแล้วจําเลยนํามาติดที่รถยนต์ของจําเลย ต่อมาจําเลยนํารถออกขับขี่ท้ายที่สุดถูกตํารวจจับ ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 264 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือ ตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ”

มาตรา 265 “ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ์หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษ…”

มาตรา 268 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทําความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ”

วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
1. กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3. ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยเขียนตัวอักษร ก. และเขียนหมายเลข 1234 ลงไป ซึ่งตรงกับหมายเลขแผ่นป้ายทะเบียนที่แท้จริงนั้น แม้จะเป็นการปลอมเอกสารที่ทางราชการทําขึ้น เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และได้กระทําโดยเจตนาก็ตาม แต่การที่จําเลยนํามาติดที่รถยนต์ของจําเลยนั้นไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จําเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง และมาตรา 265 ขณะเดียวกันจําเลยก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคหนึ่ง

สรุป จําเลยไม่มีความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

Advertisement