การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายดําไม่พอใจที่นายขาวคุยเสียงดังจึงเดินเข้าไปหาเงื้อมือจะต่อยนายขาวระยะประชิดตัว นายขาวชกหน้านายดําครั้งเดียว นายดําหกล้มแขนหัก นายขาวจะต้องรับผิดอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาทหรือ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

วินิจฉัย
การกระทําที่จะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะมีผลทําให้ผู้กระทําไม่มีความผิด และไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 68 ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ

(1) มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
(2) ภยันตรายนั้นเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
(3) ผู้กระทําจําต้องกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายนั้น
(4) ต้องได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวชกหน้านายดําทําให้นายดําหกล้มแขนหักนั้น ถือว่านายขาว ได้กระทําต่อนายดําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการกระทํา และในขณะเดียวกันนายขาวก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น ซึ่งโดยหลักการแล้วนายขาวจะต้องรับผิดทางอาญา ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เหตุที่นายขาวได้ชกหน้านายดํานั้น เป็นเพราะนายดําได้เดินเข้าไปหานายขาว และเงื้อมือจะต่อยนายขาวในระยะประชิดตัว ซึ่งลักษณะการกระทําของนายดํานั้น ย่อมถือได้ว่ามีภยันตรายซึ่ง เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้นกับนายขาว และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง นายขาวจึงต้อง กระทําคือการชกหน้านายดําเพื่อป้องกันสิทธิของตน อีกทั้งการที่นายขาวได้ชกหน้านายดําเพียงครั้งเดียวย่อมถือว่า นายขาวได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ ดังนั้น การกระทําของนายขาวจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ของการกระทําอัน เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 นายขาวจึงไม่มีความผิดและไม่ต้องรับผิดทางอาญา

สรุป
นายขาวไม่ต้องรับผิดทางอาญาเพราะเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. บันดาลโทสะ (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72) มีหลักกฎหมายและผลอย่างไรบ้าง จงอธิบายและยกตัวอย่าง

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

“บันดาลโทสะ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72 สามารถแยกพิจารณาได้ 2 ประการ คือ หลักเกณฑ์การกระทําความผิดเพราะบันดาลโทสะ และผลของการกระทําความผิดเพราะบันดาลโทสะ

1. หลักเกณฑ์การกระทําความผิดเพราะบันดาลโทสะ แบ่งออกได้เป็น 3 ประการ คือ

1) ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ซึ่งการข่มเหงคือการรังแกนั่นเอง โดยการ ข่มเหงนั้นอาจจะทําโดยใช้กําลังกายประทุษร้าย กล่าววาจาเสียดสีหยาบคาย หรือแสดงกิริยาอาการเป็นการเย้ยหยันสบประมาทผู้กระทําผิดก็ได้ แต่ต้องมีพฤติการณ์ร้ายแรงโดยไม่ชอบธรรม ซึ่งอาจจะเป็นการข่มเหงผู้กระทําผิด โดยตรงหรือข่มเหงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทําผิด เช่น บิดา บุตร หรือคู่สมรสของผู้กระทําผิดก็ได้

2) การข่มเหงเช่นนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทําผิดบันดาลโทสะ หมายความว่า การข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมนั้น ได้ทําให้ผู้กระทําผิดเกิดความโกรธ ความฉุนเฉียว ขุ่นเคืองอารมณ์ขึ้นมาจนไม่สามารถควบคุมสติสัมปชัญญะได้เช่นบุคคลธรรมดา

3) ผู้กระทําได้กระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น หมายความว่า ผู้กระทําผิดจะต้องได้กระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงโดยตรง และต้องกระทําในขณะที่มีโทสะอยู่ กล่าวคือได้กระทําความผิดในระยะเวลา ต่อเนื่องใกล้ชิดกับการบันดาลโทสะ คือการบันดาลโทสะยังไม่ขาดตอนนั้นเอง

ตัวอย่าง เช่น ผู้ตายไล่ตามน้องสาวจําเลยเพื่อข่มขืน มีคนขัดขวางและจับผู้ตายขัง โดยผู้ตายได้ร้องด่าจําเลยตลอดเวลา และยังเตะพวกของจําเลยแล้ววิ่งหนีไป จําเลยได้ถือมีดพร้าไล่ตามผู้ตายไป และฟัน ผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนี้ ย่อมถือว่าการกระทําของจําเลยเป็นการกระทําโดยบันดาลโทสะ

หรือ ผู้ตายลอบทําชู้กับภริยาจําเลย จําเลยกลับจากธุระมาพบขณะกําลังเปิดมุ้งหนีออกมาจากมุ้งของภริยา จําเลยจึงเอาขวานไล่ฟันถึงตาย ดังนี้ ถือว่าจําเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และได้กระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น การกระทําของจําเลยจึงเป็นการกระทําโดยบันดาลโทสะ

2. ผลของการกระทําความผิดเพราะบันดาลโทสะ
การกระทําความผิดเพราะบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72 นั้น ศาลจะลงโทษผู้กระทําความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่จะไม่ลงโทษเลยไม่ได้

 

ข้อ 3. ขณะที่นายดํากับนายขาวกําลังนั่งดื่มสุราอยู่ที่สนามหญ้าหน้าบ้าน นายโก๋กับพวกอีกห้าคนซึ่งเคยมีเรื่องชกต่อยกันมาก่อนเดินผ่านมาได้เข้ารุมทําร้ายชกต่อยเตะจนนายดํากับนายขาวล้มลงกับพื้น และก็ยังรุมกันกระทืบซ้ำอีก นายขาวจึงคว้ามีดแทงสวนไป 1 ที่ ถูกพวกนายโก๋ตายไปหนึ่งคน มีคนร้องตะโกนว่าตํารวจมา ๆ นายโก๋กับพวกที่เหลือจึงรีบวิ่งหนีไป นายดําลุกขึ้นมาได้วิ่งเข้าไปในบ้านคว้าปืนพกวิ่งติดตามพวกนายโก๋ ใช้ปืนยิงใส่นายโก๋กับพวกที่กําลังวิ่งหนีไป 4 นัด กระสุนนัดหนึ่ง ถูกนายโก๋ถึงแก่ความตาย กระสุนอีกนัดหนึ่งพลาดไปถูกนายโชคดีซึ่งกําลังเดินจะไปซื้อก๋วยเตี๋ยว ให้ภริยาได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังนี้ นายขาวและนายดําจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่ และจะยกเหตุใดมายกเว้นความผิด ยกเว้นโทษหรือลดโทษได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายขาวและนายดําจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่ และจะยกเหตุใด มายกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ หรือลดโทษได้หรือไม่ อย่างไร แยกพิจารณาได้ดังนี้

ในกรณีของนายขาว
การที่นายโก๋กับพวกอีก 5 คนซึ่งเดินผ่านมาขณะที่นายดํากับนายขาวกําลังดื่มสุราอยู่ที่สนามหญ้าหน้าบ้าน และนายโก๋กับพวกได้เข้ารุมทําร้ายชกต่อยเตะจนนายดํากับนายขาวล้มลงกับพื้นและยังรุมกันกระทืบซ้ำ ทําให้นายขาวคว้ามีดแทงสวนไป 1 ที ถูกพวกของนายโก๋ตายไปหนึ่งคนนั้น แม้การกระทําของนายขาวจะถือว่า ได้กระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกัน นายขาวได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น ซึ่งโดยหลักแล้วนายขาวจะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อการกระทําของนายขาวนั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ จึงถือเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 58 ดังนั้น นายขาวจึงไม่มีความผิดและไม่ต้อง รับผิดทางอาญา

กรณีของนายดํา
การที่นายดําได้ใช้ปืนยิงใส่นายโก๋กับพวกที่กําลังวิ่งหนีไป 4 นัด และกระสุนนัดหนึ่งถูกนายโก๋ ถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายดําถือว่าเป็นการกระทําต่อนายโก๋โดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันนายดําได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น ดังนั้น นายดําจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่านายโก๋ตายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง และการที่นายดําได้ใช้ปืนยิงนายโก๋กับพวกนั้น นอกจากกระสุนปืนนัดหนึ่งจะถูกนายโก๋ถึงแก่ ความตายแล้ว กระสุนอีกนัดหนึ่งยังพลาดไปถูกนายโชคดีได้รับบาดเจ็บสาหัสด้วยนั้น ผลของการกระทําที่เกิดกับนายโชคดีเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไปจึงต้องถือว่านายดําได้กระทําโดยเจตนาต่อนายโชคดีบุคคลซึ่งได้รับผลร้าย จากการกระทํานั้นด้วยตามมาตรา 60 ดังนั้น นายดําจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่านายโชคดีด้วยตาม มาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 60 และมาตรา 80 วรรคหนึ่ง

การกระทําของนายดํานั้น เมื่อปรากฏว่า นายดําได้กระทําในขณะที่นายโก๋กับพวกที่เหลือได้วิ่งหนี ไปแล้ว เนื่องจากมีคนตะโกนว่าตํารวจมา ๆ ดังนั้น นายดําจะอ้างว่าเป็นการกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้น จากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดทางอาญาตาม มาตรา 68 ไม่ได้ เพราะภยันตรายนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว จึงไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึงอันจะต้องป้องกันอีก แต่อย่างไรก็ตาม การกระทําของนายดําที่ได้ใช้ปืนยิงนายโก๋กับพวกในขณะนั้น เนื่องจากถูกนายโก๋กับพวกได้เข้ารุมทําร้ายชกต่อยเตะจนนายดําล้มลงและยังรุมกันกระทืบซ้ำนั้น ถือว่านายดําถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอัน ไม่เป็นธรรม นายดําจึงสามารถอ้างเหตุว่าได้กระทําโดยบันดาลโทสะตามมาตรา 72 เพื่อให้ศาลลดหย่อนผ่อนโทษได้

สรุป
นายขาวไม่ต้องรับผิดทางอาญาโดยอ้างเหตุว่าเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบ ด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ได้ ส่วนนายดําต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่านายโก๋ตายโดยเจตนา และพยายามฆ่า นายโชคดี แต่สามารถอ้างเหตุบันดาลโทสะตามมาตรา 72 เพื่อให้ศาลลดหย่อนผ่อนโทษได้

 

ข้อ 4. นายปั้งจ้างนายจอมให้ฆ่านายโก๋ด้วยเงินห้าแสนบาท นายจอมได้ไปขอยืมรถจักรยานยนต์และปืนจากนายกว้าง นายกว้างให้ยืมโดยรู้ว่านายจอมจะเอาไปใช้ในการฆ่านายโก๋ นายจอมได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามหานายโก๋ นายบ่างรู้ว่านายจอมกําลังตามฆ่านายโก๋จึงแอบมาบอกที่อยู่ของนายโก๋ นายจอมรู้ที่อยู่ของนายโก๋แล้วจึงขับขี่รถจักรยานยนต์ไปที่บ้านของนายโก๋ เห็นนายโก๋จําได้ว่าเป็นเพื่อนนักเรียนกันมาก่อนจึงไม่ชักปืนออกมายิงและขับขี่รถจักรยานยนต์กลับไป ดังนี้ นายปั้ง นายกว้าง เละนายบ่างจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่ จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา”

มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยง ส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด

ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ…”

มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้ สําหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น”

วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 59 วรรคหนึ่งที่ว่า บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําการซึ่งกฎหมายได้บัญญัติไว้เป็นความผิดนั้น คําว่าได้มีการกระทํานี้ จะต้องเลยขั้นตระเตรียมการมาจนถึงขั้นลงมือกระทําแล้ว แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายจอมได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปที่บ้านของนายโก๋ เห็นนายโก๋ จําได้ว่าเป็นเพื่อนนักเรียนกันมาก่อนจึงไม่ชักปืนออกมายิงและขับขี่รถจักรยานยนต์กลับไปนั้น การกระทําของนายจอมจึงอยู่เพียงขั้นตระเตรียมการ ยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทําความผิดแต่อย่างใด ดังนั้น นายจอมจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

ส่วนนายปั้ง นายกว้าง และนายบ่าง จะต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายปั้ง
การที่นายปั้งจ้างนายจอมให้ฆ่านายโก๋ด้วยเงินห้าแสนบาทนั้น ถือเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทําความผิดแล้วตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง นายปั้งจึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ แต่เมื่อผู้ถูกใช้คือนายจอมไม่ได้ลงมือกระทําความผิดตามที่ถูกใช้ ดังนั้น นายปั้งผู้ใช้จึงต้องรับโทษเพียง 1 ใน 3 ของโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดนั้นตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 84 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

กรณีของนายกว้างและนายบ่าง
การที่นายกว้างได้ให้นายจอมยืมรถจักรยานยนต์และปืนไปฆ่านายโก๋ และการที่นายบ่างได้ บอกที่อยู่ของนายโก๋ทําให้นายจอมรู้ที่อยู่ของนายโก๋นั้น การกระทําของนายกว้างและนายบ่างถือเป็นการกระทําโดยมีเจตนาให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นในการกระทําความผิดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 นั้น จะต้องเป็นการกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อนหรือขณะกระทําความผิด แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายจอมยัง ไม่ได้ลงมือกระทําความผิด ดังนั้น นายกว้างและนายบ่างจึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

สรุป
นายปั้งต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้และต้องรับโทษในอัตรา 1 ใน 3 ของโทษที่ กําหนดไว้สําหรับความผิดที่ได้ใช้นั้น
นายกว้างและนายบ่างไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุน

Advertisement