การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายไก่ตกลงขายอูฐแม่ลูกให้กับนายไข่ อูฐแม่ 3 แสนบาท อูฐลูก 1 แสนบาท โดยนายไก่ส่งมอบอูฐทั้ง
2 ตัวให้แก่นายไข่ และนายไก่ยินยอมให้นายไข่ชําระราคา 2 แสนบาทก่อน ส่วนที่เหลืออีก 2 แสนบาท ให้ชําระภายใน 10 วัน นับแต่ส่งมอบอูฐ รุ่งขึ้นมีนายดํามาขอซื้ออูฐแม่ลูกจากนายไก่เสนอซื้อ 5 แสนบาท นายไก่เลยมาขออฐคืนโดยอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะเป็นการซื้อขายสัตว์พาหนะ

(1) สัญญาซื้อขายอฐระหว่างนายไก่และนายไข่เป็นสัญญาซื้อขายประเภทไหน

(2) ใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อูฐแม่ลูก

(3) ข้ออ้างของนายไก่ที่ว่าสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะรับฟังได้หรือไม่

(4) ถ้านายไข่ไม่ยอมชําระค่าอูฐที่เหลือ 2 แสนบาท นายไก่จะฟ้องบังคับได้หรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้ มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกัน เป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย”

มาตรา 458 “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทําสัญญา ซื้อขายกัน”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 456 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ได้แก่ เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะ จะต้องทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ

แต่ถ้าเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง หรือเป็นสัญญาซื้อขาย สังหาริมทรัพย์ทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ถ้าจะ ฟ้องร้องบังคับคดีกันเกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่ 20,000 บาท ขึ้นไป จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือมีการวางประจํา (มัดจํา) ไว้ หรือได้มีการชําระหนี้กันบางส่วนแล้ว (มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้

(1) สัญญาซื้อขายอฐระหว่างนายไก่และนายไข่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เพราะเป็นการตกลงซื้อขายทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดาทั่วไป มิใช่เป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ กล่าวคือ มิใช่เป็นการซื้อขายสัตว์พาหนะ ซึ่งได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือ ลา ล่อ แต่อย่างใด

(2) เมื่อเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ธรรมดา กรรมสิทธิ์ในอูฐแม่ลูกย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ นับตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทําสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 458 ดังนั้น นายไข่ผู้ซื้อจึงเป็นเจ้าของอูฐแม่ลูก

(3) สัญญาซื้อขายอูฐระหว่างนายไก่และนายไข่ เมื่อเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ทั่ว ๆ ไป จึงไม่ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ดังนั้น สัญญาซื้อขายอูฐระหว่างนายไก่และนายไข่จึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆะ การที่นายไก่อ้างว่าสัญญาซื้อขาย เป็นโมฆะเพราะเป็นการซื้อขายสัตว์พาหนะนั้น ข้ออ้างของนายไก่จึงรับฟังไม่ได้

(4) ถ้านายไข่ไม่ยอมชําระค่าอูฐที่เหลือ 2 แสนบาท นายไก่ย่อมสามารถฟ้องบังคับนายไข่ได้ เพราะการตกลงซื้อขายอฐระหว่างนายไก่และนายไข่นั้น เป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาเกินกว่า 20,000 บาท และมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ กล่าวคือ การที่นายไก่ได้ส่งมอบอูฐทั้ง 2 ตัวให้แก่นายไข่ และนายไข่ ได้ชําระค่าอูฐให้แก่นายไก่แล้วเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น ถือว่าได้มีการชําระหนี้บางส่วนแล้ว (ตามมาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม)

สรุป

(1) สัญญาซื้อขายอูฐระหว่างนายไก่และนายไข่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด

(2) นายไข่ผู้ซื้อเป็นเจ้าของอูฐแม่ลูก

(3) ข้ออ้างของนายไก่ที่ว่าสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะรับฟังไม่ได้

(4) นายไก่ฟ้องบังคับให้นายไข่ชําระค่าอูฐที่เหลือ 2 แสนบาทได้

 

ข้อ 2. นายหนึ่งเป็นพ่อค้าขายสินค้าใช้แล้วที่ตลาดโรงเกลือประเภทรองเท้า นายสองไปเลือกซื้อรองเท้าคัชชูประเภท 2 คู่ 100 บาท มา 6 คู่ หลังจากรับมอบมาแล้ว และชําระราคา นายสองใส่ไปทํางานปรากฏว่า พื้นหลุด บางคู่ปากอ้า นายสองฟ้องนายหนึ่งให้รับผิดชอบในความชํารุดบกพร่องที่เกิดขึ้นกับรองเท้าที่ซื้อมาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 472 “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้ เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่า ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชํารุดบกพร่องมีอยู่”

มาตรา 473 “ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชํารุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้น หากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน

(2) ถ้าความชํารุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเรา ทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้คิดเอื้อน

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด”

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชํารุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา 472 นั้น ผู้ขายต้องรับผิด ถ้าทรัพย์สินที่ขายชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดี ผู้ขายก็ไม่จําต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องนั้น หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473 เช่น ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชํารุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้น หากได้ใช้ความระมัดระวัง อันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสองซื้อรองเท้า 6 คู่ จากนายหนึ่ง และเมื่อนายสองใส่ไปทํางาน ปรากฏว่าพื้นหลุด บางคู่ปากอ้านั้น ย่อมถือว่ารองเท้าที่ตกลงซื้อขายกันนั้นมีความชํารุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อม ความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ซึ่งโดยหลักแล้ว นายหนึ่งผู้ขายจะต้องรับผิดต่อนายสองผู้ซื้อ ตามมาตรา 472
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายหนึ่งเป็นพ่อค้าขายสินค้าใช้แล้วที่ตลาดโรงเกลือ ประเภทรองเท้า นายสองในฐานะวิญญูชนย่อมทราบดีว่าเป็นของใช้แล้ว และนายสองก็เลือกด้วยตนเอง โดยซื้อ รองเท้าประเภท 2 คู่ 100 บาท ตกคู่ละ 50 บาท ย่อมมีโอกาสชํารุดได้มาก จึงเป็นกรณีที่นายสองผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ ในเวลาซื้อขายว่ามีความชํารุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมาย ได้แต่วิญญูชน จึงเข้าข้อยกเว้นที่นายหนึ่งผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องตามมาตรา 473 (1)

ดังนั้น นายสองผู้ซื้อจึงไม่สามารถฟ้องนายหนึ่งให้รับผิดชอบในความชํารุดบกพร่องที่เกิดขึ้นกับรองเท้าที่ซื้อมาได้

สรุป นายสองฟ้องนายหนึ่งให้รับผิดชอบในความชํารุดบกพร่องที่เกิดขึ้นกับรองเท้าที่ซื้อมาไม่ได้

 

ข้อ 3. นายห้านําบ้านเรือนไทยสร้างด้วยไม้สักทองมูลค่าหลายล้านบาท พร้อมที่ดินไปทําเป็นหนังสือ
จดทะเบียนขายฝากไว้กับนายหก ในราคา 5 ล้านบาท ไถ่คืนในราคาเดิมบวกประโยชน์อีก 15 เปอร์เซ็นต์ มีกําหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี เมื่อนายหกรับซื้อฝากไว้ได้เพียง 1 เดือน เกิดพายุฝนลมแรงทําให้เรือนไทย ซึ่งนายหกรับซื้อฝากไว้พังทลายลงมาทั้งหลัง บางส่วนก็ถูกลมพัดปลิวหายไป เมื่อเหตุการณ์สงบลง นายหกไปบังคับให้นายห้ามาไถ่บ้านและที่ดินคืนแต่นายห้าปฏิเสธ และเสนอว่าถ้าอยากให้ไถ่คืนนัก จะมาไถ่คืนในราคา 1 ล้านบาทเท่านั้น และนายหกต้องซ่อมบ้านให้เหมือนเดิม ตามกฎหมายขายฝาก

(1) นายหกมีสิทธิจะไปบังคับให้นายห้ามาไถ่บ้านคืนได้หรือไม่

(2) ข้อเสนอของนายห้าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”

มาตรา 499 “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กําหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก
ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กําหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกิน อัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี”

มาตรา 501 “ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น ท่านว่าต้องส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่ แต่ถ้าหากว่า ทรัพย์สินนั้นถูกทําลายหรือทําให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน”

วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

(1) ตามกฎหมาย สัญญาขายฝากนั้น คือ สัญญาซื้อขายอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อทําสัญญากันแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่า ผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์สินนั้นคืนได้ ซึ่งสิทธิในการไถ่นี้ เป็นสิทธิหรืออํานาจของผู้ขายหรือเจ้าของเดิมที่จะใช้สิทธิในการไถ่คืนหรือไม่ก็ได้ (มาตรา 491)

ตามอุทาหรณ์ การที่นายห้านําบ้านเรือนไทยพร้อมที่ดินไปทําเป็นหนังสือและจดทะเบียน ขายฝากไว้กับนายหกโดยมีกําหนดไถ่คืนภายใน 1 ปีนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากนายหกรับซื้อฝากไว้ได้ เพียง 1 เดือน เกิดพายุฝนลมแรงทําให้บ้านเรือนไทยซึ่งนายหกรับซื้อฝากไว้พังทลายลงมาทั้งหลัง บางส่วนก็ถูก ลมพัดปลิวหายไป ดังนี้ เมื่อสิทธิในการไถ่เป็นสิทธิหรืออํานาจของนายห้าเจ้าของเดิม นายห้าจึงมีสิทธิที่จะเลือก ไถ่บ้านและที่ดินคืนหรือไม่ก็ได้ตามมาตรา 491 ดังนั้นเมื่อนายห้าปฏิเสธที่จะใช้สิทธิไถ่ นายหกจึงไม่มีสิทธิที่จะไป บังคับให้นายห้ามาไถ่บ้านคืน

(2) ตามบทบัญญัติมาตรา 501 ได้กําหนดหน้าที่ของผู้ซื้อฝากเอาไว้ว่า ผู้ซื้อฝากจะต้อง สงวนรักษาทรัพย์สินที่ซื้อฝากอย่างวิญญชนทั่วไปจะพึงสงวนรักษาและใช้ทรัพย์สินของตน และต้องส่งคืนตามสภาพ ที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่ ถ้าหากว่าทรัพย์สินนั้นถูกทําลายหรือทําให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อฝาก ผู้ซื้อฝาก ก็จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

ตามอุทาหรณ์ การที่บ้านเรือนไทยได้พังทลายลงทั้งหลังนั้นเป็นเพราะเกิดพายุฝนลมแรง มิได้เกิดจากความผิดของนายหกผู้ซื้อฝากแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นโดยจะโทษนายหกผู้มีหน้าที่ รับไถ่มิได้ และมิใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทําของนายหก แต่เกิดจากภัยธรรมชาติและเป็นเหตุพ้นวิสัย ดังนั้น ถ้านายห้าจะไถ่บ้านและที่ดินคืน นายห้าจึงต้องใช้เงิน 5 ล้านบาท บวกประโยชน์อีก 15 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา เพราะสินไถ่ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญานั้นไม่เกินหรือสูงกว่าที่กฎหมายได้กําหนดไว้ (มาตรา 499) การที่นายห้าเสนอว่าถ้าจะให้ไถ่คืนจะขอไถ่คืนในราคา 1 ล้านบาท และให้นายหกซ่อมบ้านให้เหมือนเดิมด้วยนั้น ข้อเสนอของนายห้าดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(1) นายหกไม่มีสิทธิจะไปบังคับให้นายห้ามาไถ่บ้านคืน
(2) ข้อเสนอของนายห้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement