การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558 ข้อสอบกระบวนวิชา

LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายจันทร์บอกขายที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้นายอังคารในราคา 5 ล้านบาท นายอังคารมาดูที่ดินแปลงนี้แล้วตอบตกลงซื้อ นายอังคารชําระราคาค่าที่ดินให้นายจันทร์ 1 ล้านบาท ส่วนที่ยังขาดอยู่ นายอังคารจะชําระให้ในวันที่นายจันทร์ไปจดทะเบียนโอน นายจันทร์ได้ส่งมอบที่ดินให้นายอังคาร ในวันทําสัญญา ในวันนัดนายจันทร์ก็หาได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารไม่ นายอังคาร อยู่ในที่ดินแปลงนี้ติดต่อกันมาอีก 12 ปี ที่ดินแปลงนี้มีราคาท้องตลาดสูงขึ้นกว่า 100 ล้านบาท นายจันทร์อยากได้ที่ดินแปลงนี้คืนและขอให้นายอังคารออกไปจากที่ดินแปลงนี้ นายอังคารไม่ยอมออก ดังนี้นายจันทร์จะเรียกที่ดินแปลงนี้คืนจากนายอังคารได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและ สัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาด้ไม่”

วินิจฉัย

“สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด” (หรือสัญญาซื้อขายสําเร็จบริบูรณ์) หมายถึง สัญญาซื้อขาย ที่คู่กรณีคือผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ขายตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อได้ตกลงที่จะชําระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายแล้ว โดยไม่ต้องคํานึงว่าในขณะที่ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันนั้น ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือได้มีการชําระราคากันแล้วหรือไม่

“สัญญาจะซื้อขาย” คือ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่คู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทําสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทําตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กําหนดไว้ในภายหน้า คือ เมื่อได้ไปทําสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง

ตามอุทาหรณ์ การที่นายจันทร์บอกขายที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้นายอังคารในราคา 5 ล้านบาท และนายอังคารตกลงซื้อโดยนายอังคารชําระราคาค่าที่ดินให้นายจันทร์ 1 ล้านบาท ส่วนที่ยังขาดอยู่ นายอังคารจะชําระให้ในวันที่นายจันทร์ไปจดทะเบียนโอน และนายจันทร์ได้ส่งมอบที่ดินให้นายอังคารในวันทําสัญญานั้น กรณีนี้ถือว่าสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตาม มาตรา 456 วรรคสอง เพราะเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่คู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะทําสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อ ได้ไปกระทําตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ในภายหน้า

เมื่อเป็นเพียงลัญญาจะซื้อจะขาย การที่นายจันทร์ได้ส่งมอบที่ดินให้นายอังคารครอบครองนั้น นายอังคารย่อมรู้อยู่แล้วว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของนายจันทร์ยังไม่โอนมาเป็นของนายอังคาร จะโอนก็ต่อเมื่อ นายจันทร์ได้ไปจดทะเบียนโอนให้แก่นายอังคารแล้ว การที่นายอังคารได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว ถือว่าเป็นการครอบครองยึดถือแทนนายจันทร์เท่านั้น ดังนั้นนายอังคารจึงไม่ได้ครอบครองแต่อย่างใด การที่นายอังคารครอบครองและอยู่ในที่ดินแปลงนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 12 ปี จึงไม่ทำให้นายอังคารได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้แต่อย่างใด

เมื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของนายจันทร์ และนายจันทร์อยากได้ที่ดินแปลงนี้คืนและขอให้นายอังคารออกไปจากที่ดินแปลงนี้ นายอังคารก็ต้องออกไปจากที่ดินแปลงนี้ จะไม่ยอมออกไปไม่ได้

สรุป นายจันทร์เรียกที่ดินแปลงนี้คืนจากนายอังคารได้

 

ข้อ 2. นายหนึ่งเป็นนักสะสมรถยนต์โบราณ เมื่อเก็บไว้มากก็ไม่มีสถานที่เพียงพอในการเก็บรักษาจึงต้องการ
นํารถยนต์ส่วนหนึ่งออกขายทอดตลาด หนึ่งในสิบคันเป็นรถยนต์ที่นายหนึ่งทราบดีว่าเป็นรถยนต์ ที่ขโมยมาขายแก่ตน และอีกคันหนึ่งหม้อน้ำชํารุดมีโอกาสจะรั่วได้เสมอ หลังจากการขายทอดตลาด มีการส่งมอบ ชําระราคากันเรียบร้อยแล้ว นายสองประมูลได้ไป 1 คัน ระหว่างขับกลับบ้านปรากฏว่า หม้อน้ำเกิดแตก ส่วนอีก 1 คัน นายสามครอบครองได้เพียงสองอาทิตย์ก็มีนายดํานําตํารวจพร้อม พยานหลักฐานมาแสดงต่อนายสามว่ารถยนต์คันนี้เป็นรถยนต์ของตนที่ถูกขโมยมาจึงมาขอติดตาม เอารถยนต์คืน นายสามก็ยอมคืนให้ไป

(1) นายสองจะฟ้องนายหนึ่งให้รับผิดในความชํารุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้หรือไม่

(2) นายสามจะฟ้องนายหนึ่งให้รับผิดว่าตนถูกรอนสิทธิได้หรือไม่ และถ้าฟ้องได้ภายในกําหนดระยะเวลาเท่าใดนับแต่คืนรถยนต์ให้แก่นายดําไป

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 472 “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่า ผู้ขายต้องรับผิด
ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชํารุดบกพร่องมีอยู่”

มาตรา 473 “ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด”

มาตรา 475 “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สิน โดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น”

มาตรา 481 “ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความ กับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิ เมื่อพ้นกําหนดสามเดือนนับแต่วันคําพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด หรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น”

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชํารุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา 472 นั้น ผู้ขายต้องรับผิด ถ้าทรัพย์สินที่ขายชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดีผู้ขายก็ไม่จําต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องนั้น หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473 เช่น ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด เป็นต้น

ส่วนการรอนสิทธินั้นเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ใน เวลาซื้อขายได้เข้ามาขัดสิทธิให้ผู้ซื้อไม่สามารถครองทรัพย์สินโดยปกติสุขได้ ซึ่งตามมาตรา 475 กําหนดให้ผู้ขาย ต้องรับผิดเพราะเหตุการรอนสิทธินั้น แต่ถ้าหากผู้ซื้อได้ยอมตามที่บุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเหนือกว่านั้นเรียกร้องแล้ว ผู้ซื้อจะต้องฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธินั้นภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้อง มิฉะนั้นจะไม่สามารถฟ้องคดีได้ตามมาตรา 481

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้

(1) การที่นายสองได้ซื้อรถยนต์มาจากการขายทอดตลาดของนายหนึ่งมา 1 คัน และใน ระหว่างขับกลับบ้านปรากฏว่าหม้อน้ำเกิดแตกนั้น ถือว่ามีความชํารุดบกพร่องเกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่นายสองซื้อมา อันเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ โดยหลักแล้วนายหนึ่งผู้ขาย จะต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องนั้นตามมาตรา 472

แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้นายหนึ่งจะต้องรับผิดต่อนายสองเพื่อความชํารุดบกพร่องนั้น แต่เมื่อปรากฏว่ารถยนต์ที่นายสองซื้อมานั้นเป็นการซื้อมาจากการขายทอดตลาด จึงเข้าข้อยกเว้นที่นายหนึ่งผู้ขายไม่ต้อง รับผิดในความชํารุดบกพร่องตามมาตรา 473 (3) ดังนั้น นายสองจะฟ้องนายหนึ่งให้รับผิดในความชํารุดบกพร่อง ที่เกิดขึ้นไม่ได้

(2) การที่นายสามได้ซื้อรถยนต์มาจากการขายทอดตลาดของนายหนึ่งมา 1 คัน แต่เมื่อได้ ครอบครองเพียง 2 อาทิตย์ก็มีนายดํานำตํารวจพร้อมพยานหลักฐานมาแสดงต่อนายสามว่ารถยนต์คันดังกล่าว เป็นของนายดําที่ถูกขโมยมาจึงขอติดตามเอารถยนต์คืน และนายสามก็ยอมคืนให้ไปนั้น ถือเป็นกรณีที่บุคคลภายนอก ซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ในเวลาซื้อขายได้เข้ามาขัดสิทธิทําให้ผู้ซื้อคือนายสามไม่สามารถครอบครอง ทรัพย์สินโดยปกติสุข จึงเป็นกรณีที่ผู้ซื้อถูกรอนสิทธิตามมาตรา 475 ซึ่งผู้ขายจะต้องรับผิดต่อผู้ซื้อ ดังนั้นนายสาม จึงสามารถฟ้องให้นายหนึ่งรับผิดที่ตนถูกรอนสิทธิได้ แต่นายสามจะต้องฟ้องภายในกําหนดเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่ได้ยอมคืนรถยนต์ให้แก่นายดําไปตามมาตรา 481

สรุป

(1) นายสองจะฟ้องให้นายหนึ่งรับผิดในความชํารุดบกพร่องที่เกิดขึ้นไม่ได้
(2) นายสามสามารถฟ้องให้นายหนึ่งรับผิดในกรณีที่นายสามถูกรอนสิทธิได้ แต่จะต้องฟ้องภายในกําหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ยอมคืนรถยนต์ให้แก่นายดําไป

 

ข้อ 3. นายไก่นําพ่อช้าง แม่ช้าง และลูกช้างไปขายฝากไว้กับนายไข่ มีกําหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี พ่อช้างแม่ช้าง ในราคาเชือกละ 5 แสนบาท ส่วนลูกช้างเชือกละ 1 แสนบาท ไถ่คืนพ่อช้างแม่ช้าง เชือกละ 6 แสนบาท และลูกช้าง 2 แสนบาท โดยทําสัญญากันเป็นหนังสือลงลายมือชื่อสองฝ่าย และมีพยาน 2 คน เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี 1 วัน นายไก่ไปขอใช้สิทธิไถ่โดยนําเงินจํานวน 1 ล้าน 1 แสน 5 หมื่นบาท ไปไถ่พ่อช้างแม่ช้าง และ 1 แสน 1 หมื่น 5 พันบาท สําหรับลูกช้าง แต่นายไข่ปฏิเสธ โดยอ้างว่า

(1) สิ้นสุดกําหนดไถ่แล้ว

(2) สินไถ่ไม่ครบ

ข้ออ้างของนายไข่รับฟังได้หรือไม่ นายไก่มีโอกาสจะได้พ่อช้างแม่ช้างคืนหรือไม่ด้วยเหตุผลใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคหนึ่ง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย”

มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”

มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กําหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กําหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา 495 “ถ้าในสัญญามีกําหนดเวลาไถ่เกินไปกว่านั้น ท่านให้ลดลงมาเป็นสิบปีและสามปี ตามประเภททรัพย์

มาตรา 499 “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กําหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก
ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กําหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกิน อัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี”

วินิจฉัย

สัญญาขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ เมื่อเป็นสัญญาซื้อขาย จึงต้องนําบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น การขายฝาก อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ เช่น เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพที่อยู่อาศัยและสัตว์พาหนะ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้ออ้างของนายไข่รับฟังได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

(1) การที่นายไก่นําพ่อช้าง แม่ช้าง ซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ และลูกช้างไปขายฝากไว้ กับนายไข่ มีกําหนดไถ่คืนภายใน 1 ปีนั้น เมื่อกําหนดเวลาไถ่คืนไม่เกินไปกว่าที่กฎหมายกําหนดจึงสามารถตกลงกันได้ ตามมาตรา 494 และ 495 ดังนั้น นายไก่จึงต้องไถ่ทรัพย์สินคืนภายในกําหนด 1 ปี เมื่อนายไก่มาไถ่ทรัพย์สินคืน เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 1 ปี 1 วัน นายไข่จึงสามารถปฏิเสธโดยอ้างว่าสิ้นสุดกําหนดไถ่แล้วได้ กรณีนี้ข้ออ้างของนายไข่ จึงรับฟังได้

(2) การที่นายไก่ขายฝากพ่อช้างและแม่ช้างไว้เชือกละ 5 แสนบาท ส่วนลูกช้างเชือกละ 1 แสนบาท รวมเป็นเงิน 1,100,000 บาท และตกลงว่าจะไถ่คืนพ่อช้างและแม่ช้างเชือกละ 6 แสนบาท และลูกช้าง อีก 2 แสนบาท รวมเป็นเงิน 1,400,000 บาทนั้น จะเห็นได้ว่าสินไถ่ที่กําหนดไว้นั้นสูงกว่าที่กฎหมายกําหนด ดังนั้น นายไก่สามารถใช้สิทธิไถ่คืนทรัพย์สินนั้นได้ในราคา 1,100,000 บาท บวกประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 499 กล่าวคือ นายไก่สามารถไถ่คืนพ่อช้างและแม่ช้างได้ในราคา 1,150,000 บาท และไถ่คืนลูกช้างได้ ในราคา 115,000 บาท ดังนั้นการที่นายไข่ปฏิเสธโดยอ้างว่าสินไถ่ไม่ครบจึงรับฟังไม่ได้

ส่วนกรณีที่นายไก่จะมีโอกาสได้พ่อช้างแม่ช้างคืนได้หรือไม่นั้น เมื่อสัญญาขายฝากพ่อช้างแม่ช้าง เป็นการขายฝากสัตว์พาหนะซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ แต่ไม่ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาขายฝากพ่อช้างแม่ช้างจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในพ่อช้างแม่ช้างจึงยังคงเป็นของนายไก่ นายไก่สามารถเอาพ่อช้างแม่ช้างคืนได้ แต่ต้องคืนเงิน 1,000,000 บาท ให้แก่นายไข่ในฐานลาภมิควรได้

สรุป

(1) ข้ออ้างของนายไข่ที่ว่าสิ้นสุดกําหนดไถ่แล้วรับฟังได้
(2) ข้ออ้างของนายไข่ที่ว่าสินไถ่ไม่ครบรับฟังไม่ได้ นายไก่เอาพ่อช้างแม่ช้างคืนได้ แต่ต้องคืนเงิน 1,000,000 บาท ให้แก่นายไข่

Advertisement