การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559 ข้อสอบกระบวนวิชา

LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. หนังสือสัญญาซื้อขายอูฐระหว่างนายเมฆและนายหมอกข้อหนึ่งระบุว่า “นายเมฆได้ตกลงซื้ออูฐจากนายหมอกในราคา 50,000 บาท โดยชําระเงินให้แก่นายหมอกในวันทําสัญญานี้เป็นจํานวนเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 40,000 บาท จะชําระให้ภายใน 30 วัน” ครั้นเมื่อถึงกําหนดวันดังกล่าว นายเมฆไม่สามารถนําเงินมาชําระให้แก่นายหมอกได้

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายหมอกสามารถฟ้องร้องบังคับคดีเรียกให้นายเมฆนําเงินมาชําระได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้ มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกัน เป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 456 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ชนิดพิเศษ ได้แก่ เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะ จะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ

แต่ถ้าเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง หรือเป็นสัญญาซื้อขาย สังหาริมทรัพย์ทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ถ้าจะฟ้องร้องบังคับคดีกันเกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่ 20,000 บาท ขึ้นไป จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือมีการวางประจํา (มัดจํา) ไว้ หรือได้มีการชําระหนี้กันบางส่วนแล้ว (มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาซื้อขายอูฐระหว่างนายเมฆและนายหมอกเป็นสัญญาซื้อขาย ทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดาทั่วไป มิใช่เป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ กล่าวคือ มิใช่เป็น การซื้อขายสัตว์พาหนะ ซึ่งได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือ ลา ล่อ แต่อย่างใด ดังนั้น สัญญาซื้อขายอูฐระหว่างนายเมฆ และนายหมอกจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับให้ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง สัญญาซื้อขายอูฐดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หนังสือสัญญาซื้อขายอูฐระหว่างนายเมฆและนายหมอก มีข้อความระบุว่า “นายเมฆได้ตกลงซื้ออฐจากนายหมอกในราคา 50,000 บาท โดยชําระเงินให้แก่นายหมอกในวันทําสัญญานี้เป็นจํานวนเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 40,000 บาท จะชําระให้ภายใน 30 วัน” นั้น ย่อมถือว่า เป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาเป็นเงินเกินกว่า 20,000 บาท และมีหลักฐานในการฟ้องร้อง บังคับคดีกันได้ กล่าวคือ สัญญาซื้อขายดังกล่าวได้มีการทําเป็นหนังสือ และได้มีการชําระหนี้บางส่วนโดยนายเมฆ ผู้ซื้อได้ชําระเงินค่าอูฐให้นายหมอกแล้ว 10,000 บาท ดังนั้น เมื่อถึงกําหนดวันดังกล่าวนายเมฆไม่สามารถนําเงิน มาชําระให้แก่นายหมอกได้ นายหมอกย่อมสามารถฟ้องร้องบังคับคดีเรียกให้นายเมฆนําเงินมาชําระได้ (ตาม มาตรา 456 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม)

สรุป นายหมอกสามารถฟ้องร้องบังคับคดีเรียกให้นายเมฆนําเงินมาชําระได้

 

ข้อ 2. นายยิ่งตกลงทําสัญญาซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายยงระบุที่ดินที่ซื้อขายกัน จํานวน 100 ไร่ ราคาไร่ละ10,000 บาท แต่เมื่อทําการรังวัดที่ดินแล้วเนื้อที่ดินตามโฉนดกลับมีมากถึง 108 ไร่ ดังนี้ ให้ท่าน
วินิจฉัยว่าในการส่งมอบมากกว่าเช่นนี้ นายยิ่งมีสิทธิที่จะทําอย่างไรได้บ้าง

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 466 “ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น หากว่าได้ระบุจํานวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ และผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่ได้สัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือจะรับเอาไว้และใช้ราคา ตามส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก
อนึ่ง ถ้าขาดตกบกพร่องหรือจํานวนไม่เกินร้อยละห้าแห่งเนื้อที่ทั้งหมดอันได้ระบุไว้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจําต้องรับเอาและใช้ราคาตามส่วน…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายยิ่งตกลงทําสัญญาซื้อที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ จากนายยงโดยระบุที่ดินที่ซื้อขายกันจํานวน 100 ไร่ ราคาไร่ละ 10,000 บาท แต่เมื่อทําการรังวัดที่ดินแล้วเนื้อที่ดิน ตามโฉนดกลับมีมากถึง 108 ไร่ นั้น กรณีดังกล่าวถือได้ว่า ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินมีจํานวนมากไปกว่าที่ได้ตกลงไว้ ในสัญญา และเมื่อจํานวนส่วนที่มากกว่าที่ทั้งคู่ได้ตกลงซื้อขายกัน คือจํานวน 8 ไร่ นั้น มีจํานวนเกินกว่าร้อยละ 5 แห่งเนื้อที่ทั้งหมดที่ได้ระบุไว้ในสัญญา ดังนั้นนายยิ่งผู้ซื้อจึงมีสิทธิที่จะบอกปัดไม่รับมอบที่ดินทั้งแปลงไว้ หรือจะรับเอาไว้แล้วใช้ราคาที่ดินตามส่วนเป็นเงิน 1,080,000 บาทก็ได้ ตามแต่จะเลือก (มาตรา 466 วรรคหนึ่ง ประกอบวรรคสอง)

สรุป นายยิ่งมีสิทธิบอกปัดไม่รับมอบที่ดินทั้งแปลง หรือจะรับมอบเอาไว้แล้วใช้ราคาที่ดิน ให้แก่นายยงตามส่วนเป็นเงิน 1,080,000 บาทก็ได้ ตามแต่จะเลือก

 

ข้อ 3. นายอาทิตย์ได้ทําสัญญาขายฝากแจกันโบราณลายครามใบหนึ่งของนายอาทิตย์ไว้กับนายจันทร์ โดยทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งนายอาทิตย์และนายจันทร์ ในราคา 50,000 บาท กําหนดเวลาไถ่ 5 ปี และตกลงไว้ในสัญญาขายฝากว่านายจันทร์จะไม่นําแจกันใบนี้ไปขายต่อให้ผู้อื่น สินไถ่เท่ากับ ราคาขายฝาก เมื่อขายฝากไปได้เพียง 3 เดือน นายจันทร์ได้ขายแจกันใบนั้นไปให้นายศุกร์ในราคา 80,000 บาท ขายฝากไปได้ 2 ปีกับหกเดือน นายอาทิตย์ตาย นายพุธไม่ทราบว่าบิดาได้ขายฝาก แจกันใบนั้นไว้กับนายจันทร์ มาทราบเมื่อนายอาทิตย์ตายไปได้ 1 ปี นายพุธซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของนายอาทิตย์ได้มาขอซื้อคืนแจกันใบนี้คืนจากนายจันทร์ แต่นายจันทร์ได้บอกว่าตนขายแจกัน ใบนั้นให้นายศุกร์ไปแล้ว นายพุธจึงมาขอไถ่คืนแจกันใบนั้นจากนายศุกร์ ถ้าท่านเป็นนายศุกร์จะปฏิเสธไม่ให้นายพุธไถ่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และนายพุธจะฟ้องว่านายจันทร์ผิดสัญญาได้หรือไม่ ให้นักศึกษาอธิบายข้อกฎหมายให้ละเอียด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”

มาตรา 493 “ในการขายฝากคู่สัญญาจะตกลงกันไม่ให้ผู้ซื้อจําหน่ายทรัพย์สินซึ่งขายฝากก็ได้ ถ้าและผู้ซื้อจําหน่ายทรัพย์สินนั้นฝ่าฝืนสัญญาไซร้ ก็ต้องรับผิดต่อผู้ขายในความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น”

มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กําหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย”

มาตรา 495 “ถ้าในสัญญามีกําหนดเวลาไถ่เกินไปกว่านั้น ท่านให้ลดลงมาเป็นสิบปีและสามปี ตามประเภททรัพย์”

มาตรา 497 “สิทธิ์ในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้แต่บุคคลเหล่านี้ คือ
(1) ผู้ขายเดิม หรือทายาทของผู้ขายเดิม…” มาตรา 498 “สิทธิ์ในการไถ่ทรัพย์สินนั้นจะพึงใช้ได้เฉพาะต่อบุคคลเหล่านี้ คือ
(2) ผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ในเวลาโอนว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์ได้ทําสัญญาขายฝากแจกันโบราณลายครามใบหนึ่งของ นายอาทิตย์ไว้กับนายจันทร์ โดยทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายอาทิตย์และนายจันทร์ในราคา 50,000 บาท มีกําหนดเวลาไถ่ 5 ปีนั้น สัญญาขายฝากย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 491 เพียงแต่การขายฝากแจกันฯ ดังกล่าว เป็นการขายฝากทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตามกฎหมายจะต้องกําหนดเวลาไถ่ไว้ไม่เกิน 3 ปี ดังนั้น เมื่อคู่สัญญาได้กําหนดเวลาไถ่ไว้ 5 ปี กําหนดเวลาไถ่จึงต้องลดลงมาเหลือเพียง 3 ปีนับแต่เวลาที่ได้ทําสัญญาซื้อขาย (ขายฝาก) ตามมาตรา 494 (2) และมาตรา 495

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากที่ได้ทําสัญญาขายฝากได้เพียง 3 เดือน นายจันทร์ได้ขาย แจกันใบนั้นให้แก่นายศุกร์ในราคา 80,000 บาท และเมื่อขายฝากไปได้ 2 ปี กับ 6 เดือน นายอาทิตย์ตาย นายพุธ ซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของนายอาทิตย์ได้ทราบว่าบิดาได้ขายฝากแจกันใบนั้นไว้กับนายจันทร์เมื่อนายอาทิตย์ได้ ตายไปแล้ว 1 ปี ดังนี้ แม้นายพุธจะเป็นทายาทของนายอาทิตย์ผู้ขายเดิมตามมาตรา 497 (1) จะมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินคืนจากนายศุกร์ ซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 498 (2) ก็ตาม แต่เมื่อนายพุธได้มาขอไถ่คืนแจกันใบนั้น จากนายศุกร์เมื่อพ้นกําหนดเวลา 3 ปีนับแต่วันทําสัญญาขายฝากแล้ว นายศุกร์จึงสามารถปฏิเสธไม่ให้นายพุธ ไถ่คืนแจกันใบนั้นได้ตามมาตรา 494 (2) ประกอบมาตรา 495

ส่วนตามข้อตกลงในการขายฝากที่ห้ามมิให้นายจันทร์นําแจกันใบนี้ไปขายต่อให้แก่ผู้อื่นนั้น คู่สัญญาสามารถตกลงกันได้ตามมาตรา 493 และเมื่อนายจันทร์นําแจกันไปขายต่อให้แก่นายศุกร์ ซึ่งถือว่านายจันทร์ ผิดข้อตกลงในสัญญาขายฝากก็ตาม แต่เมื่อนายพุธได้ไปขอไถ่คืนเมื่อพ้นกําหนดเวลาไถ่คืนแล้ว ดังนั้น เมื่อนายศุกร์ ปฏิเสธไม่ให้นายพุธไถ่คืน นายพุธจะฟ้องนายจันทร์ว่านายจันทร์ผิดสัญญาไม่ได้

สรุป นายศุกร์จะปฏิเสธไม่ให้นายพุธไถ่คืนแจกันได้ และนายพุธจะฟ้องว่านายจันทร์ ผิดสัญญาไม่ได้

Advertisement