การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. สมศรีและสมรักตกลงที่จะแต่งงานกัน แต่สมรักบอกสมศรีว่าค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงานนั้นสมรักมีไม่พอที่จะสามารถจัดงานแต่งงานได้ สมศรีจึงเป็นฝ่ายเตรียมการแต่งงานและเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงานไปจำนวนสองแสนบาท ตลอดระยะเวลาที่ทั้งสองอยู่กินด้วยกับฉันสามีภริยาสมศรีต้องการให้สมรักนั้นไปจดทะเบียนสมรสกับตนเอง เพราะสมศรีต้องการเป็นภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายและกลัวว่าในอนาคตถ้าสมรักไปแต่งงานใหม่และไปจดทะเบียนสมรสก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ แต่สมรักก็ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับสมศรี ทำให้สมศรีไม่ต้องการที่จะใช้ชีวิตคู่กับสมรักต่อไป

ดังนี้จงวินิจฉัยว่า สมศรีจะฟ้องร้องให้สมรักรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดในการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงานไปจำนวนสองแสนบาทได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สมศรีได้เตรียมการแต่งงานและเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงานไปจำนวนสองแสนบาทนั้น เป็นการกระทำที่เกิดจากความสมัครใจของสมศรีเอง มิได้เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของสมรักที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของสมศรีแต่อย่างใด ดังนั้นจะถือว่าสมรักได้กระทำละเมิดต่อสมศรีไม่ได้ สมรักจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับสมศรี (เทียบฎีกาที่ 45/2532)

ดังนั้นสมศรีจะฟ้องร้องให้สมรักรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดในการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงานไปจำนวนสองแสบบาทไม่ได้

สรุป สมศรีจะฟ้องร้องให้สมรักรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดในกรณีดังกล่าวไม่ได้

 

 

ข้อ 2. เอกชัยและเอกวิทย์เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินซึ่งตกเป็นทางภาระจำยอมให้ทั้งสองคนใช้เป็นทางรถและใช้ในกิจการสาธารณูปโภคได้โดยได้จดบันทึกภาระจำยอมไว้ที่เจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เพียงแต่เอกชัยไม่ได้ลงขอไว้ในบันทึกเท่านั้น ต่อมาอีกสองปีเอกภาพได้สมัครเป็นลูกจ้างของเอกชัย ทำหน้าที่ดูแลซ่อมแซมเครื่องจักรและสิ่งต่าง ๆ ภายในบริเวณโรงงาน วันหนึ่งเอกชัยได้สั่งให้เอกภาพทำการปักเสาคอนกรีต 4 ต้น ในทางซึ่งเอกภาพไม่ทราบว่าเป็นทางภาระจำยอมนั้น รวมทั้งยังสั่งให้ทำคานบนเสาและติดป้ายห้ามรถเข้าออก เมื่อเอกภาพกระทำตามคำสั่งของนายจ้าง จึงทำให้เอกวิทย์ไม่สามารถนำรถเข้าออกผ่านทางภาระจำยอมนั้นได้จะต้องขับอ้อมไปอีกทางหนึ่งซึ่งต้องเสียเวลาอีก 20 นาที

ดังนี้ให้ท่านวินิจวัยว่า เอกวิทย์จะฟ้องร้องให้เอกชัยและเอกภาพรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ เอกวิทย์จะฟ้องร้องให้เอกชัยและเอกภาพรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของเอกภาพ การที่เอกภาพได้ทำการปักเสาคอนกรีต 4 ต้น รวมทั้งทำคานบนเสาและติดป้ายห้ามรถเข้าออกในทางภาระจำยอม จนทำให้เอกวิทย์ไม่สามารถนำรถเข้าออกผ่านทางภาระจำยอมนั้นได้แม้การกระทำของเอกภาพจะทำให้เอกวิทย์ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่เมื่อเอกภาพได้กระทำตามคำสั่งของนายจ้างโดยไม่ทราบว่าเป็นทางภาระจำยอม จะถือว่าเอกภาพได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เอกวิทย์ได้รับความเสียหายไม่ได้ การกระทำของเอกภาพจึงไม่เป็นการทำละเมิดตามมาตรา 420 ดังนั้นเอกวิทย์จะฟ้องรองให้เอกภาพรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดไม่ได้

กรณีของเอกชัย เมื่อการกระทำของเอกภาพซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อเอกวิทย์ ดังนั้นเอกชัยซึ่งเป็นนายจ้างจึงไม่ต้องร่วมกับรับผิดกับเอกภาพ เพราะตามมาตรา 425 นั้นนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกันกับลูกจ้างก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้ทำละเมิดต่อบุคคลอื่น และได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม การที่เอกชัยได้สั่งให้เอกภาพกระทำการดังกล่าวทั้งที่ทราบว่าเป็นทางภาระจำยอมและจะทำให้เอกวิทย์ได้รับความเสียหายต่อสิทธิในการใช้ทางภาระจำยอมนั้น ดังนั้นจึงถือว่าเอกชัยได้ทำละเมิดต่อเอกวิทย์ตามมาตรา 420 ด้วยตนเองโดยใช้เอกภาพเป็นเครื่องมือในการทำละเมิด เอกวิทย์จึงสามารถฟ้องร้องให้เอกชัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้ตามมาตรา 420

สรุป เอกวิทย์สามารถฟ้องร้องให้เอกชัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้ตามมาตรา420 แต่จะฟ้องร้องเอกภาพไม่ได้

 

 

ข้อ 3. นายจันเลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่ง ซึ่งมีนิสัยดุร้าย มักกัดคนในบ้านเป็นประจำ นายจันจึงนำไปปล่อยให้อยู่นอกบ้านและไม่เลี้ยงอีกต่อไป แต่สุนัขดังกลาวก็ยังคงวนเวียนอยู่ไม่ห่างจากรั้วบ้านของนายจันปรากฎว่านายแจ่มเพื่อนบ้านของนายจันเห็นสุนัขตัวดังกล่าวซึ่งเป็นสุนัขดุถูกปล่อยออกมาให้อยู่นอกบ้านแล้ว นายแจ่มจึงยุสุนัขนั้นให้กัดนายเจี๊ยบซึ่งเดินผ่านหน้าบ้านของนายจับพอดี เป็นเหตุให้นายเจี๊ยบได้รับบาดเจ็บเป็นแผลลึกต้องเย็บ 20 เข็ม

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า ใครต้องมารับผิดกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเจี๊ยบ รับผิดอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแฟงและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น

เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นยอมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ใครต้องมารับผิดกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเจี๊ยบ หรือไม่ อย่างไรนั้นเห็นว่า การที่นายจันไล่สุนัขออกจากบ้าน และต่อมาสุนัขตัวดังกล่าวได้กัดนายเจี๊ยบจนบาดเจ็บเป็นแผลลึกจนต้องเย็บ 20 เข็มนั้น กรณีนี้นายจันไม่ต้องรับผิดต่อนายเจี๊ยบตามมาตรา 433 อันว่าด้วยความเสียหายที่เกิดจากสัตว์ เพราะเมื่อนายจันไล่สุนัขออกจากบ้าน ไม่เลี้ยงดูอีกต่อไปแล้วนั้น สุนัขตัวดังกล่าวจึงเป็นสุนัขไม่มีเจ้าของ นายจันจึงมิใช่เจ้าของหรือผู้รับเลี้ยงรับรักษาสุนัขดังกล่าว อันจะต้องรับผิดตามมาตรา 433 แต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายจันไล่สุนัขออกจากบ้านโดยที่ตนเองรู้ว่าสุนัขดังกล่าวมีนิสัยดุร้ายกัดคนเป็นประจำนั้น นายจันย่อมคาดหมายได้โดยวิญญูชนว่าสุนัขอาจเป็นอันตรายต่อผู้คนที่เดินผ่านไปมาได้ การกระทำของนายจันจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย และการกระทำของนายจันสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น คือ การบาดเจ็บของนายเจี๊ยบ ดังนั้น การกระทำของนายจันจึงเป็นการละเมิดตามมาตรา 420 นายจันจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเจี๊ยบ

และการที่นายแจ่มยุสุนัขให้กัดนายเจี๊ยบ จนเป็นเหตุให้นายเจี๊ยบได้รับบาดเจ็บนั้น ถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายแจ่ม จึงถือว่านายแจ่มได้กระทำละเมิดต่อนายเจี๊ยบตามมาตรา 420 นายแจ่มจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายเจี๊ยบ

สรุป นายจันและนายแจ่มจะต้องรับผิดกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเจี๊ยบตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ 4. นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันโดยจดทะเบียนสมรสกับนางตั๊กแตน มีบุตรด้วยกันสองคนเป็นฝาแฝดชื่อนางสาวแพง และนางสาวแจง อายุ 21 ปี แต่นางสาวแจงนั้นพิการทางสมองมาตั้งแต่เกิดไม่สามารถดูแลตนเองได้ ตอนที่นางสาวแพงและและนางสาวแจงอายุ 15 ปี นายเอกชัยและนางตั๊กแตนหย่าขาดจากกัน นายมนต์สิทธิ์สงสารจึงได้จดทะเบียนรับนางสาวแพงและนางสาวแจงไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย วันเกิดเหตุนายบันเทิงได้ขับรถบรรทุกเครื่องดนตรีจากกรุงเทพฯ ไปที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อส่งเครื่องดนตรีเสร็จแล้ว ระหว่างเดินทางกลับนายบันเทิงได้ขับรถด้วยความเร่งรีบเกรงว่าจะกลับไปรับลูกสาวที่กรุงเทพฯ ไม่ทัน ทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนายเอกชัยและนางสาวแพงที่เดินทางไปต่างจังหวัดด้วยกันถึงแก่ความตาย

จงวินิจฉัยว่า ใครบ้างที่เป็นผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะจากนายบันเทิงได้

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 443 “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 1598/28 “บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ใบครอบครัวที่ได้กำเนิดมา…”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น… คือ

(1)       ผู้สืบสันดาน

(2)       บิดามารดา

(3)       พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบันเทิงได้ขับรถบรรทุกด้วยความเร่งรีบทำให้ไปชนนายเอกชัยและนางสาวแพงถึงแก่ความตายนั้น การกระทำของนายบันเทิงเป็นการทำละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลนเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิต และการกระทำของนายบันเทิงสัมพันธ์กับผลฃองการกระทำ คือความตายของนายเอกชัยและนางสาวแพง นายบันเทิงจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

สำหรับประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือใครบ้างที่เป็นผู้มิสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากนายบันเทิงนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจากผู้กระทำละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629

กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น ได้แก่ สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งผู้รับบุตรบุญธรรม และบุตรบุญธรรมด้วย แต่ในกรณีของบุตรนั้นจะต้องเป็นบุตรผู้เยาว์ หรือบุตรที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้เท่านั้น

  1. ในกรณีความตายของนายเอกชัย บุคคลผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพ ได้แก่ นางสาวแจง ซึ่งเป็นทายาทของนายเอกชัยตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1598/28 เพราะแม้นางสาวแจงจะจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของนายมนต์สิทธิ์แล้วก็ตาม ก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา และผู้มิสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะคือนางสาวแจงเช่นเดียวกัน เพราะนางสาวแจงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอกชัย และเป็นบุตรที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้
  2. ในกรณีความตายของนางสาวแพง บุคคลผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพ ได้แก่ นางตั๊กแตน ซึ่งเป็นทายาทของนางสาวแพงตามมาตรา 1629 (2) ประกอบมาตรา 1598/28 และนางสาวแจงซึ่งเป็นทายาทของนางสาวแพงตามมาตรา 1629 (3) ส่วนผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุบการะ ได้แก่ นางตั๊กแตน ซี่งเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และนายมนต์สิทธิ์ซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม

สรุป ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงคพจากนายบันเทิง คือ นางสาวแจงในกรณีความตายของนายเอกขัย และนางตั๊กแตนกับนางสาวแจงในกรณีความตายของนางสาวแพงส่วนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะผู้มีสิทธิเรียกได้ คือ นางสาวแจงในกรณีความตายของนายเอกชัยและนางตั๊กแตนกับนายมนต์สิทธิ์ในกรณีความตายของนาวสาวแพง

Advertisement