การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางอ่างสั่งให้ลูกจ้างคือนายอาร์ทขับรถไปส่งนางกวางไปงานวันแต่งงานของญาติ เมื่อเลิกงานก็ให้ขับรถกลับบ้านมาเก็บไว้ในโรงรถ โดยนางอ่างสั่งห้ามเด็ดขาดว่านายอาร์ทอย่าขับรถไปที่อื่นใดในเวลาที่รอนางกวาง แต่นายอาร์ทไม่เชื่อฟัง แอบขับรถออกไปแวะทานข้าวต้ม ระหว่างทางนายอาร์ทขับรถด้วยความประมาทชนรถยนต์ที่นายรวยขับเป็นเหตุให้นายรวยถึงแก่ความตายทันที

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าทั้งสองคนต้องร่วมกันรับผิดฐานละเมิดต่อนายรวยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้คำสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแท่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายอาร์ทขับรถด้วยความประมาทชนรถยนต์ที่นายรวยขับเป็นเหตุให้นายรวยถึงแก่ความตายนั้น ความเสียหายถึงแก่ชีวิตของนายรวยและความเสียหายแก่ทรัพย์สินของนายรวยเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของนายอาร์ทตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทำให้เขาได้รับความเสียหาย และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายอาร์ท ดังนั้น นายอาร์ทจึงต้องรับผิดในทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายรวย

สำหรับนางอ่างนั้น เมื่อปรากฏว่าในขณะที่นายอาร์ททำละเมิดต่อนายรวยนั้น นายอาร์ทได้ขับรถไปส่งนางกวางไปงานวันแต่งงานของญาติตามคำสั่งของนางอ่างขึ้งเป็นนายจ้าง แม้ว่านางอ่างจะได้สั่งห้ามเด็ดขาดว่านายอาร์ทอย่าขับรถไปที่อื่นใดก็ตาม การที่นายอารีทไม่เชื่อฟังแอบขับรถออกไปแวะทานข้าวต้มนั้น ถือได้ว่ายังอยู่ในระหว่างที่นายอาร์ทปฏิบัติหน้าที่ใน!ทางการที่จ้างของนางอ่าง การขัดคำสั่งของลูกจ้างไม่อาจนำมาใช้ยันบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด ดังนั้นนางอ่างซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องรับผิดร่วมกันกับนายอาร์ทลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งนายอาร์ทได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นด้วยตามมาตรา 425

สรุป นางอ่างและนายอาร์ทต้องร่วมกันรับผิดฐานละมิดต่อนายรวย

 

 

ข้อ 2. จากข้อเท็จจริงดังกล่าวในข้อ 1. หากนายจ้างของนายรวยได้จัดการทำศพให้แก่นายรวย และได้จ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นให้แก่ลูกจ้างคนใหม่ที่ต้องมาทำงานแทนนายรวยที่ตายไป ทำให้ตนต้องขาดการงานในอุตสาหกรรมไป นายจ้างของนายรวยจะมีสิทธิเรียกร้องให้นายอาร์ทชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายละเมิดได้อย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใดและหากว่านายสุขอายุ 18 ปี บุตรนอกกฎหมายของนายรวยที่ได้ใช้ชื่อนามสกุลของนายรวยได้รับเงินค่าประกันชีวิต จากบริษัทผู้รับประกันไว้หนึ่งล้านบาท นายสุขจะเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 443 “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 1649 วรรคสอง “ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้นในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น”

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ข้อ 1. และข้อ 2. แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีนายจ้างของนายรวย การที่นายจ้างของนายรวยได้จัดการทำศพให้แก่นายรวยนั้น นายจ้างของนายรวยจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนคือค่าปลงศพจากนายอาร์ทไม่ได้ เพราะแม้ว่านายจ้างของนายรวยจะได้จัดการปลงศพของนายรวยไปก็ตาม แต่เมื่อตนมิใช่ทายาทและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพ ตามมาตรา 1649 วรรคสอง จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพตามมาตรา 443 วรรคหนึ่ง

และนอกจากนั้น การที่นายจ้างของนายรวยได้จ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นให้แก่ลูกจ้างคนใหม่ที่ต้องมาทำงานแทนนายรวยที่ตายไปนั้น นายจ้างของนายรวยจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนคือค่าความเสียหายจากการขาดแรงงานในอุตสาหกรรมจากนายอาร์ทไม่ได้ เพราะผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดแรงงานในอุตสาหกรรมตามมาตรา 445 นั้น จะต้องเป็นนายจ้างของลูกจ้างที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อปรากฏว่านายรวยซึ่งเป็นลูกจ้างได้ถูกทำละเมิดแล้วตายทันที สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้างย่อมระงับ นายจ้างจึงไม่อยู่ในฐานะขาดแรงงานจึงไม่อาจเรียกร้องค่าขาดแรงงานตามมาตรา 445 ได้

กรณีนายสุข การที่นายสุขเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายรวยและได้ใช้ชื่อนามสกุลของนายรวยนั้น ย่อมถือว่านายสุขเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤตินัยแล้ว และส่งผลให้นายสุขเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกของนายรวย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629 (1) ดังนั้น นายสุขย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพตามมาตรา 1649 วรรคสอง จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทำศพตามมาตรา 443 วรรคหนึ่งได้ แม้ว่านายจ้างของนายรวยจะได้ช่วยออกค่าทำศพให้หมดแล้ว หรือแม้ว่านายสุขจะได้เงินค่าประกันชีวิตในฐานะผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยแล้วก็ตาม ก็ไม่ตัดสิทธิของนายสุขที่จะเรียกร้องค่าปลงศพจากนายอาร์ทผู้ทำละเมิด

แต่อย่างไรก็ดี แม้นายสุขจะมีสิทธิได้รับมรดกของนายรวยก็ตาม แต่เมื่อนายสุขมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายรวย นายรวย (ผู้ตาย) จึงไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูนายสุขซึ่งเป็นบุตรที่มีชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1564 ดังนั้น นายสุขจะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคท้าย จากนายอาร์ทผู้ทำละเมิดไม่ได้ เพราะตามมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้ทำละเมิดจะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น

สรุป นายจ้างของนายรวยไม่มีสิทธิเรียกร้องให้นายอาร์ทชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายละเมิดได้เลย ส่วนนายสุขสามารถเรียกค่าปลงศพจากนายอาร์ทได้แต่จะเรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้

 

 

ข้อ 3. จำเลยไปเที่ยวชายทะเล ขณะเดินเล่นริมชายหาด เห็นนายขาวซึ่งกำลังว่ายน้ำอยู่ในทะเลเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำ นายขาวตะโกนให้จำเลยช่วย จำเลยไม่ยอมช่วยทั้ง ๆ ที่จำเลยว่ายน้ำเป็น ท้ายที่สุดปรากฏว่านายขาวจมน้ำถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

ดังนั้นในเบื้องต้น จึงจำต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ทำละเมิดมี “การกระทำ” หรือไม่ หากบุคคลไม่มี “การกระทำ” ก็ไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

สำหรับการกระทำนั้น หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับหรือทำโดยรู้สำนึก นอกจากนี้การกระทำยังหมายความรวมถึงการงดเว้นการเคลื่อนไหวอันพึงต้องทำเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้นด้วย ในส่วนของการงดเว้นอันจะถือว่าเป็นการกระทำตามกฎหมายนั้น หมายถึงการงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้ผลนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น หากบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่ การงดเว้นนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่ เห็นว่าการที่นายขาวซึ่งกำลังว่ายน้ำในทะเลเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำตาย และจำเลยสามารถช่วยได้แต่ไม่ยอมช่วยปรากฏว่านายขาวจมน้ำตาย เช่นนี้ไม่ถือว่าจำเลยทำละเมิดต่อนายขาวโดยงดเว้น ทั้งนี้เนื่องจากการงดเว้นของจำเลยไม่ถือเป็นการกระทำ เพราะถึงแม้จำเลยจะไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก แต่การที่จำเลยต้องช่วยนายขาวหรือไม่นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลย ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย หน้าที่ตามระเบียบหรือคำสั่งในการปฏิบัติงาน

หน้าที่ตามสัญญา หรือหน้าที่ตามความสัมพันธ์ที่ก่อขึ้นก่อนแล้ว เป็นเพียงหน้าที่ต้องช่วยเหลือผู้อื่นในฐานะเป็นพลเมืองดีเท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องทำเพื่อป้องกันผล คือ ความตายของนายขาว เมื่อไม่ถือว่าเป็นการกระทำ จึงไม่เป็นละเมิดตามความในมาตรา 420 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิด

สรุป จำเลยไม่ต้องรับผิดในทางละเมิด

 

 

ข้อ 4. นายสมรักอยู่กินด้วยกันโดยจดทะเบียนสมรสกับนางสมศรีมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือนางสาวสมหญิงอายุ 22 ปี ตอนที่นางสาวสมหญิงอายุ 15 ปี นายสมรักและนางสมศรีหย่าขาดจากกัน นางสมศรีได้ไปจดทะเบียนสมรสใหม่กับนายสมจริงมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือเด็กชายสมศักดิ์ อายุ 7 ปี วันเกิดเหตุนางสมศรีเดินทางไปเที่ยวเขาใหญ่ ปรากฏว่าช่วงที่นางสมศรีขับรถลงจากเขาใหญ่นั้น นายแจ่มได้ขับรถบรรทุกแซงตัดหน้ารถยนต์ที่นางสมศรีขับมาในระยะกระชั้นชิด รถบรรทุกของนายแจ่มไปกระแทกกับรถยนต์ของนางสมศรี ทำให้รถยนต์ของนางสมศรีพลิกคว่ำ เป็นเหตุให้นางสมศรีถึงแก่ความตาย

ดังนั้นจงวินิจฉัยว่าบุคคลผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากนายแจ่มนั้นคือใคร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น’’

มาตรา 443 “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแจ่มได้ขับรถบรรทุกแซงตัดหน้ารถยนต์ที่นางสมศรีขับมาในระยะกระชั้นชิดและไปกระแทกกับรถยนต์ของนางสมศรี ทำให้รถยนต์ของนางสมศรีพลิกคว่ำเป็นเหตุให้นางสมศรีถึงแก่ความตายนั้น การกระทำของนายแจ่มเป็นการทำละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิต และการกระทำของนายแจ่มสัมพันธ์กับผลของการกระทำ คือความตายของนางสมศรี ดังนั้น นายแจ่มจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ บุคคลใดบ้างที่จะมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากนายแจ่ม ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

  1. กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจากผู้กระทำละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629

ดังนั้น บุคคลที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพจากนายแจ่ม ได้แก่

(1)       นายสมจริง ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสมศรี

(2)       นางสาวสมหญิงและเด็กชายสมศักดิ์ ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสมศรี

  1. กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น ได้แก่ สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งผู้รับบุตรบุญธรรม และบุตรบุญธรรมด้วย แต่ในกรณีของบุตรนั้นจะต้องเป็นบุตรผู้เยาว์ หรือบุตรที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้เท่านั้น

ดังนั้น บุคคลที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะจากนายแจ่มไ ด้แก่

(1)       นายสมจริง ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสมศรี

(2)       เด็กชายสมศักดิ์ ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสมศรี และเป็นบุตรผู้เยาว์

สำหรับนางสาวสมหญิง แม้จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสมศรี แต่เมื่อมิได้เป็นบุตรผู้เยาว์ หรือเป็นบุตรที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ จึงเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายแจ่มไม่ได้

ส่วนนายสมรักนั้น เมื่อได้หย่าขาดจากนางสมศรีแล้ว จึงมิใช่สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสมศรี จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากนายแจ่ม

สรุป บุคคลที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพจากนายแจ่ม คือนายสมจริงนางสาวสมหญิง และเด็กชายสมศักดิ์

และบุคคลที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะจากนายแจ่ม คือนายสมจริง และเด็กชายสมศักดิ์

Advertisement