การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1นายหนึ่งเป็นเจ้าของสุนัขดุอยู่หนึ่งตัว วันเกิดเหตุ นายหนึ่งพาสุนัขเข้าไปในบ้านของนายสองเพื่อให้สุนัขขโมยรองเท้าของนายสอง เมื่อนายสองเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้ใช้ไม้ตีสุนัข ทำให้สุนัขได้รับนาดเจ็บ และสุนัขได้รับความเจ็บปวดจึงวิ่งเตลิดไปกัดเด็กชายสามที่เดินผ่านหน้าบ้านมาพอดี ทำให้เด็กชายสามได้รับบาดเจ็บสาหัส

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ใครจะเรียกให้ใครรับผิดได้บ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆอันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”

มาตรา 449 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่นายหนึ่งพาสุนัขเข้าไปในบ้านของนายสองเพื่อให้สุนัขขโมยรองเท้าของนายสองนั้น ถือว่านายหนึ่งได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อนายสองตามมาตรา 420 แล้ว เพราะเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ ดังนั้นนายหนึ่งต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสอง แต่นายหนึ่งไม่ต้องรับผิดต่อนายสองตามมาตรา 433เพราะมิใช่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์

ประเด็นที่ 2 การที่นายสองได้ใช้ไม้ตีสุนัขทำให้สุนัขได้รับบาดเจ็บนั้น แม้การกระทำของนายสองจะเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินก็ตาม แต่เมื่อนายสองได้กระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง และได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทำของนายสองจึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น นายสองจึงสามารถอ้างได้ว่าตนได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449 วรรคหนึ่ง นายสองจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายหนึ่ง

ประเด็นที่ 3 การที่สุนัขของนายหนึ่งไปกัดเด็กชายสามจนทำให้เด็กชายสามได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ถือได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ตามมาตรา 433 เพราะมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อของนายหนึ่งหรือนายสอง ดังนั้น นายหนึ่งซึ่งเปีนเจ้าของสัตว์ที่ไปก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เด็กชายสาม

สรุป

นายหนึ่งต้องรับผิดต่อนายสองฐานกระทำละเมิดตามมาตรา 420

นายสองไม่ต้องรับผิดต่อนายหนึ่งเพราะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449

นายหนึ่งต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเด็กชายสามตามมาตรา 433

 

 

ข้อ 2. จากข้อเท็จจริงตามข้อ 1. ปรากฏว่า

(ก) เด็กชายสามถูกพาส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน จากนั้นเด็กชายสามทนพิษบาดแผลไม่ไหว เด็กชายสามถึงแก่ความตาย และหากว่าเด็กชายสามเป็นบุตรของนางสี่เป็นบุตรบุญธรรมของนายห้า และเป็นลูกจ้างของนายหก ให้วินิจฉัยถึงสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนของนางสี่ นายห้า และนายหก

(ข) สุนัขของนายหนึ่งได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการ นายหนึ่งจะเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่ไม่อาจตีราคาเป็นเงินได้ตามมาตรา 446 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้หรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 443 “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถบระกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 445 “ในกรณีทำให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก’ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย”

มาตรา 446 วรรคหนึ่ง “ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็’ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญา หรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว ”

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ข้อ 1. แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่เด็กขายสามได้ถึงแก่ความตายภายหลังจากเกิดเหตุได้ 5 วัน โดยไม่ได้ถึงแก่

ความตายในทันทีนั้น สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทน (โดยผู้เสิยหายทางอ้อม) จะมิขึ้นตามมาดรา 443 ได้แก่ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพ (มาตรา 443 วรรคหนึ่ง) ค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย (มาตรา 443 วรรคสอง) และค่าขาดไร้อุปการะ (มาตรา 443 วรรคสาม)

รวมทั้งมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน คือค่าขาดแรงงานในครัวเรือนและในอุตสาหกรรมตามมาตรา 445 ด้วย

ส่วนนางสี่ นายห้า และนายหก จะมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวได้หรือไม่แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีนางสี่ เมื่อนางสี่เป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมของเด็กชายสาม นางสี่จึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 443 ได้ทั้งหมด ได้แก่ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพ ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ และค่าขาดไร้อุปการะ แต่นางสี่ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 445 คือค่าขาดแรงงานในครัวเรือน เพราะเมื่อเด็กชายสามไปเป็นบุตรบุญธรรมของนายห้าแล้ว อำนาจการปกครองบุตรจึงตกไปอยู่กับนายห้าผู้รับบุตรบุญธรรม ซึ่งจะทำให้นายห้าสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้

กรณีนายห้า เมื่อเด็กชายสามเป็นบุตรบุญธรรมของนายห้า เด็กชายสามจึงอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของนายห้า และถือวานายห้าเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรบุญธรรม ซึ่งตามกฎหมายครอบครัวบุตรบุญธรรมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรม ดังนั้น นายห้าจึงมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคสาม และค่าขาดแรงงานในครัวเรือนตามมาตรา 445 ได้ แต่นายห้าไม่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพ และค่ารักษาพยาบาลก่อนตายตามมาตรา 443 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เพราะนายห้าไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเด็กชายสาม

กรณีนายหก เมื่อนายหกมิใช่บิดาหรือทายาทของเด็กชายสาม เป็นเพียงนายจ้างของเด็กชายสามเท่านั้น ดังนั้น นายหกจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 443 และจะเรียกค่าขาดแรงงานในอุตสาหกรรมตามมาตรา 445 ก็ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะเมื่อเด็กชายสามได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว สัญญาจ้างย่อมระงับสิ้นไป สิทธิของนายจ้างในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 445 จึงหมดไปด้วย

(ข) การที่สุนัขของนายหนึ่งได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการนั้น นายหนึ่งจะเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่ไม่อาจตีราคาเป็นเงินได้ตามมาตรา 446 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ เพราะการเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรานี้ ใช้เฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนและทำให้คนได้รับความเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยหรือเสียเสรีภาพเท่านั้น ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสัตว์

สรุป

(ก) นางสี่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 443 ได้ทั้งหมด แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 445 ไม่ได้ นายห้ามีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้เฉพาะตามมาตรา 443 วรรคสามและมาตรา 445, นายหกไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนใด ๆ ได้เลย

(ข) นายหนึ่งจะเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่ไม่อาจตีราคาได้ตามมาตรา 446 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้

 

 

ข้อ 3. นายน้อยไปเที่ยวพักผ่อนที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งกับครอบครัว ได้พบเจอกับนายหน่อ คู่อริที่กำลังเดินเล่นอยู่ริมชายหาดพร้อมกับเสือโคร่งซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงตัวโปรด โดยล่ามเชือกไว้ที่ต้นคอ เมื่อนายหน่อหันมาเห็นนายน้อยจึงออกคำสั่งให้เสือโคร่งวิ่งเข้าตะปบนายน้อยทันที นายน้อยพลิกตัวหลบ ทำให้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ขณะนายน้อยกำลังเดินกลับมาที่ห้องเพื่อรักษาแผล ก็โดนยุงลายหลายตัวในรีสอร์ทกัดจนเป็นไข้เลือดออก นายน้อยจึงฟ้องนายหน่อและเจ้าของรีสอร์ทให้ต้องรับผิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้วินิจฉัยว่า นายหน่อและเจ้าของรีสอร์ทต้องรับผิดต้อนายน้อยหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ”

มาตรา 433 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆอันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหน่อออกคำสั่งให้เสือโคร่งสัตว์เลี้ยงตัวโปรดวิ่งเข้าตะปบนายน้อยทำให้นายน้อยได้รับบาดเจ็บนั้น ความเสียหายที่นายน้อยได้รับมิใช่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ตามมาตรา 433 แต่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำละเมิดของนายหน่อตามมาตรา 420 กล่าวคือ การที่นายหน่อเป็นคนออกคำสั่งให้เสือโคร่งวิ่งเข้าไปทำร้ายนายน้อยนั้น ถือว่านายหน่อได้กระทำโดยจงใจต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ ดังนั้น นายหน่อจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายน้อย

ส่วนกรณีที่นายน้อยโดนยุงลายหลายตัวในรีสอร์ทกัดจนเป็นไข้เลือดออกนั้น ก็มิใช่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ตามมาตรา 433 เพราะแม้ยุงลายจะอยู่ในรีสอร์ท แต่เจ้าของรีสอร์ทก็ไม่ได้เป็นเจ้าของยุงลาย หรือเป็นผู้รับเลี้ยงรับรักษายุงลายแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อยุงลายเป็นสัตว์ไม่มีเจ้าของ นายน้อยผู้เสียหายจึงเรียกให้เจ้าของรีสอร์ทรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้

สรุป นายหน่อต้องรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อนายน้อยตามมาตรา 420 ส่วนเจ้าของรีสอร์ทไม่ต้องรับผิดต่อนายน้อย

 

 

ข้อ 4. นางสาวแสงจันทร์อยู่ด้วยกันฉันสามีภริยากับนายแสงอาทิตย์ ต่อมานางสาวแสงจันทร์ตายระหว่างคลอดบุตรสาวชื่อว่า ด.ญ.แสงเดือน ซึ่งเกิดมาสมองพิการมาแต่กำเนิด นายแสงอาทิตย์จึงทั้งรักและเอ็นดู ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้ใช้นามสกุล ต่อมานายแสงอาทิตย์ได้ถูกนายมืดทำร้ายจนถึงแก่ความตายเนื่องจากความบาดหมางในที่ทำงาน ส่งผลให้ ด.ญ.แสงเดือนขาดคนอุปการะ และเกิดอาการทุกข์ระทมเสียใจเป็นอย่างมาก ถึงกับกรีดร้องจนสลบไปหลายครั้ง

ให้วินิจฉัยว่า ด.ญ.แสงเดือนจะเรียกให้นายมืดจ่ายค่าขาดไร้อุปการะ และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแท่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 443 วรรคสาม “ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 446 วรรคหนึ่ง “ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกับไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมืดทำร้ายนายแสงอาทิตย์จนนายแสงอาทิตย์ถึงแก่ความตายนั้นการกระทำของนายมืดถือเป็นการทำละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิต ดังนั้น นายมืดจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน ส่วน ด.ญ.แสงเดือนจะเรียกให้นายมืดจ่ายค่าขาดไร้อุปการะ และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินได้หรือไม่นั้น

แยกพิจารณาได้ดังนี้

  1. การเรียกค่าขาดไร้อุปการะ ในการฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่เป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ด.ญ.แสงเดือนเป็นบุตรที่เกิดกับนางสาวแสงจันทร์ซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับนายแสงอาทิตย์ และแม้ว่านายแสงอาทิตย์จะให้การอุปการะและให้ ด.ญ.แสงเดือนใช้นามสกุลของตน ก็เพียงแต่ทำให้ ด.ญ.แสงเดือนเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองโดยพฤตินัยเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ ด.ญ.แสงเดือนเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายแสงอาทิตย์แต่อย่างใด

นายแสงอาทิตย์ (ผู้ตาย) จึงมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู ด.ญ.แสงเดือน แม้จะปรากฏว่า ด.ญ.แสงเดือนจะเกิดมาสมองพิการเลี้ยงตัวเองไม่ได้ก็ตาม ดังนั้น ด.ญ.แสงเดือนจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายมืดตามมาตรา 443 วรรคสาม

  1. การเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามมาตรา 446วรรคหนึ่งนั้น จะเรียกได้ก็ต่อเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแก่ร่างกาย อนามัยของผู้ถูกทำละเมิดหรือเสียเสรีภาพเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายแสงอาทิตย์ถึงแก่ความตาย จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ ด.ญ.แสงเดือนในอันที่จะฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน

สรุป ด.ญ.แสงเดือนจะเรียกให้นายมืดจ่ายค่าขาดไร้อุปการะและค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินไม่ได้

Advertisement