การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ1. เด็กหญิงปุ้มปุ้ยเป็นบุตรสาวของนางป้อม วันเกิดเหตุ นายสมหวังพาหมูป่าเดินผ่านบริเวณหน้าบ้านของนางป้อม เด็กหญิงปุ้มปุ้ยไม่เคยเห็นหมูป่า จึงวิ่งออกนอกรั้วบ้านเพื่อไปเล่นกับหมูป่า หมูป่าจึงกัดเด็กหญิงปุ้มปุ้ยได้รับบาดเจ็บ โดยที่นายสมหวังก็ไม่ได้ห้ามปรามหรือปกป้องมิให้หมูป่าของตนกัดเด็กหญิงปุ้มปุ้ยเพราะไม่พอใจที่เด็กเข้ามาใกล้หมูป่าของตน นางป้อมเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงรีบวิ่งออกมาจากบ้านแล้วผลักนายสมหวังล้มลง จากนั้นก็จับหมูป่าไว้เพื่อเป็นประกันค่าเสียหายที่บุตรสาวของตนได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายสมหวังจะต้องรับผิดในเหตุละเมิดอันเกิดขึ้นแก่เด็กหญิงปุ้มปุ้ยหรือไม่ อย่างไร

(ข) นายสมหวังจะเรียกร้องให้นางป้อมรับผิดฐานละเมิดต่อตนได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 วรรคแรก “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆอันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”

มาตรา 449 วรรคแรก “บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”

มาตรา 452 วรรคแรก “ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้ และถ้าจำเป็นโดยพฤติการณ์ แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่หมูป่าของนายสมหวังได้กัดเด็กหญิงปุ้มปุ้ยได้รับบาดเจ็บนั้น ถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ ดังนั้นนายสมหวังในฐานะที่เป็นเจ้าของสัตว์จึงต้องรับผิดในเหตุละเมิดอันเกิดขึ้นแก่เด็กหญิงปุ้มปุ้ยตามมาตรา 433 วรรคแรก และนายสมหวังไม่อาจอ้างข้อแก้ตัวให้ตนพ้นผิดได้ ทั้งนี้เพราะการที่นายสมหวังได้พาหมูป่าซึ่งเป็นสัตว์ดุมาเดินเล่นนั้น ถือว่าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ดุ

(ข) การที่นางป้อมผลักนายสมหวังล้มลงนั้น ถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย จึงถือว่านางป้อมได้กระทำละเมิดต่อนายสมหวังตามมาตรา 420 จึงต้องรันผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสมหวัง และนางป้อมจะอ้างว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 449 วรรคแรก ไม่ได้ เพราะภัยหรือภยันตรายนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว

ส่วนกรณีที่นางป้อมได้จับหมูป่าไว้เพื่อประกันค่าเสียหาย ก็ไม่อาจอ้างนิรโทษกรรมตามมาตรา452 วรรคแรก ได้เพราะหมูป่าหรือสัตว์ไม่ได้เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของนางป้อมแต่อย่างใด

สรุป

(ก) นายสมหวังจะต้องรับผิดในเหตุละเมิดอันเกิดขึ้นแก่เด็กหญิงปุ้มปุ้ยตามมาตรา 433

(ข) นายสมหวังสามารถเรียกร้องให้นางป้อมรับผิดฐานละเมิดต่อตนได้ตามมาตรา 420

 

 

ข้อ2. จำเลยไปเที่ยวชายทะเล ขณะเดินเล่นริมชายหาด เห็นนายขาวซึ่งกำลังว่ายน้ำอยู่ในทะเลเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำ นายขาวตะโกนให้จำเลยช่วย จำเลยไม่ยอมช่วยทั้งๆ ที่จำเลยว่ายน้ำเป็น ท้ายที่สุดปรากฏว่านายขาวจมน้ำถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหริอสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

ดังนั้นในเบื้องต้น จึงจำต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ทำละเมิดมี “การกระทำ” หรือไม่ หากบุคคลไม่มี “การกระทำ” ก็ไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับการกระทำนั้น หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับหรือทำโดยรู้สำนึก นอกจากนี้การกระทำยังหมายความรวมถึงการงดเว้นการเคลื่อนไหวอันพึงต้องทำเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้นด้วย ในส่วนของการงดเว้นอันจะถือว่าเป็นการกระทำตามกฎหมายนั้น หมายถึงการงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้ผลนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น หากบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่ การงดเว้นนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมิว่า จำเลยจะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่ เห็นว่าการที่นายขาวซึ่งกำลังว่ายน้ำในทะเลเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำตาย และจำเลยสามารถช่วยได้แต่ไม่ยอมช่วยปรากฏว่านายขาวจมน้ำตาย เช่นนี้ไม่ถือว่าจำเลยทำละเมิดต่อนายขาวโดยงดเว้น ทั้งนี้เนื่องจากการงดเว้นของจำเลยไม่ถือเป็นการกระทำ เพราะถึงแม้จำเลยจะไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก แต่การที่จำเลยต้องช่วยนายขาวหรือไม่นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลย ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย หน้าที่ตามระเบียบหรือคำสั่งในการปฏิบัติงานหน้าที่ตามสัญญา หรือหน้าที่ตามความสัมพันธ์ที่ก่อขึ้นก่อนแล้ว เป็นเพียงหน้าที่ต้องช่วยเหลือผู้อื่นในฐานะเป็นพลเมืองดีเท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องทำเพื่อป้องกันผล คือ ความตายของนายขาว เมื่อไม่ถือว่าเป็นการกระทำ จึงไม่เป็นละเมิดตามความในมาตรา 420 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิด

สรุป จำเลยไม่ต้องรับผิดในทางละเมิด

 

 

ข้อ 3. จำเลยเขียนจดหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งข้อความว่า “นาย ก. เป็นคนไม่ดี เคยติดคุกติดตะรางมาแล้ว”จากนั้น จำเลยส่งจดหมายไปให้กับนายแดงที่อยู่ต่างจังหวัด โดยจ่าหน้าซองถึงชื่อ นามสกุล และที่อยู่ของนายแดง เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งที่บ้านของนายแดง ปรากฏว่านายแดงไม่อยู่บ้าน มีเพียงนายขาวซึ่งเพิ่งเดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียงมาพักอยู่กับนายแดงที่เป็นเพื่อนกัน เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงยื่นจดหมายไปให้กับนายขาว นายขาวรับจดหมายมาแล้ว ต่อมาได้แกะจดหมายออกอ่านจึงทราบข้อความในจดหมายทุกประการ ข้อเท็จจริงได้ความว่า นาย ก. เป็นคนดี ไม่เคยติดคุกแต่ประการใด

ดังนี้ จำเลยต้องรับผิดในทางละเมิดโดยการกล่าวหรือไขข่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 423 วรรคแรก “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้นแม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้”

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาดรา 423 (หมิ่นประมาททางแพ่ง) มีดังนี้

  1. เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง
  2. ทำให้แพร่หลาย กล่าวคือ กระทำต่อบุคคลที่สามคนเดียวก็ถือว่าแพร่หลายแล้ว โดยบุคคลที่สามต้องสามารถเข้าใจคำกล่าวหรือไขข่าวนั้นได้
  3. มีความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของบุคคลอื่น
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

สำหรับ “บุคคลที่สาม” ที่จะทำให้การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้น หมายความถึง บุคคลที่ได้ยินหรือได้ฟังหรือได้เห็น หรือได้อ่านข้อความที่มีการกล่าวหรือไขข่าว โดยบุคคลนั้นมิใช่ผู้ที่ถูกใส่ความ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ผู้ร่วมกระทำละเมิด หรือสามีภริยาซึ่งกันและกัน หรือผู้แอบดู แอบฟัง หรือแอบรู้เห็นโดยละเมิดซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของผู้อื่น โดยที่ผู้กล่าวหรือไขข่าวมิได้ตั้งใจจะให้ผู้ใดมาล่วงรู้หรือต้องการให้รู้กันเฉพาะกลุ่มของตน

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จำเลยเขียนจดหมายโดยมีข้อความดังกล่าวไปให้นายแดงที่อยู่ต่างจังหวัด ถือได้ว่ามีการกระทำเข้าลักษณะการไขข่าวแล้ว แต่การไขข่าวของจำเลยไม่ได้แพร่หลาย เพราะไม่ได้กระทำต่อบุคคลที่สาม เนื่องจากการที่จำเลยส่งจดหมายไปให้นายแดงแต่นายแดงไม่อยู่บ้าน นายขาวซึ่งเป็นเพื่อนกับนายแดงรับจดหมายไว้แทน และแกะจดหมายออกอ่าน ถือว่านายขาวเป็นผู้แอบดู แอบรู้เห็นโดยละเมิด มิใช่บุคคลที่จำเลยจงใจจะไขข่าวให้ทราบ จึงไม่ถือว่านายขาวเป็นบุคคลที่สาม เมื่อนายขาวไม่ใช่บุคคลที่สาม การไขข่าวของจำเลยจึงไม่ได้แพร่หลาย เมื่อไม่ได้แพร่หลาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดฐานหมิ่นประมาททางแพ่งตามมาตรา 423

สรุป จำเลยไม่ต้องรับผิดทางละเมิดตามมาตรา 423

 

 

ข้อ 4. นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกับนางตั๊กแตน มีบุตรด้วยกันสองคนเป็นฝาแฝดชื่อนางสาวแพง และนางสาวแจง อายุ 21 ปี แต่นางสาวแจงนั้นพิการทางสมองมาตั้งแต่เกิดไม่สามารถดูแลตนเองได้ ตอนที่นางสาวแพงและและนางสาวแจงอายุ 15 ปี นายเอกชัยและนางตั๊กแตนหย่าขาดจากกัน นายมนต์สิทธิ์สงสารจึงได้จดทะเบียนรับนางสาวแพงและนางสาวแจงไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย วันเกิดเหตุนายบันเทิงได้ขับรถบรรทุกเครื่องดนตรีจากกรุงเทพฯ ไปที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อส่งเครื่องดนตรีเสร็จแล้ว ระหว่างเดินทางกลับ นายบันเทิงได้ขับรถด้วยความเร่งรีบเกรงว่าจะกลับไปรับลูกสาวที่กรุงเทพฯ ไม่ทัน ทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนายเอกชัยและนางสาวแพงที่เดินทางไปต่างจังหวัดด้วยกันถึงแก่ความตาย จงวินิจฉัยว่า ใครบ้างที่เป็นผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะจากนายบันเทิงได้

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ”

มาตรา 443 “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 1598/28 “บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา…”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น… คือ

(1)       ผู้สืบสันดาน

(2)       บิดามารดา

(3)       พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบันเทิงได้ขับรถบรรทุกด้วยความเร่งรีบทำให้ไปชนนายเอกชัยและนางสาวแพงถึงแก่ความตายนั้น การกระทำของนายบันเทิงเป็นการทำละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิต และการกระทำของนายบันเทิงสัมพันธ์กับผลของการกระทำ คือความตายของนายเอกชัยและนางสาวแพง นายบันเทิงจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

สำหรับประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือใครบ้างที่เป็นผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากนายบันเทิงนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคแรก ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจากผู้กระทำละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629

กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น ได้แก่ สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งผู้รับบุตรบุญธรรม และบุตรบุญธรรมด้วย แต่ในกรณีของบุตรนั้นจะต้องเป็นบุตรผู้เยาว์ หรือบุตรที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้เท่านั้น

  1. ในกรณีความตายของนายเอกชัย บุคคลผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพได้แก่นางสาวแจงซึ่งเป็นทายาทของนายเอกชัยตามมาตรา 1629 (1)ประกอบมาตรา 1598/28 เพราะแม้นางสาวแจงจะจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของนายมนต์สิทธิ์แล้วก็ตาม ก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา และผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะคือนางสาวแจงเช่นเดียวกัน เพราะนางสาวแจงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอกชัย และเป็นบุตรที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้
  2. ในกรณีความตายของนางสาวแพง บุคคลผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพ ได้แก่ นางตั๊กแตน ซึ่งเป็นทายาทของนางสาวแพงตามมาตรา 1629 (2) ประกอบมาตรา 1598/28 และนางสาวแจงซึ่งเป็นทายาทของนางสาวแพงตามมาตรา 1629 (3) ส่วนผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะ ได้แก่ นางตั๊กแตน ซึ่งเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และนายมนต์สิทธิ์ซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม

สรุป

ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงคพจากนายบันเทิง คือนางสาวแจง ในกรณีความตายของนายเอกชัย และนางตั๊กแตนกับนางสาวแจงในกรณีความตายของนางสาวแพงส่วนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะผู้มีสิทธิเรียกได้คือ นางสาวแจงในกรณีความตายของนายเอกชัยและนางตั๊กแตนกับนายมนต์สิทธิ์ในกรณีความตายของนาวสาวแพง

Advertisement