การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. จันทร์จ้างอังคารปลูกสร้างบ้านในที่ดินของตนโดยมีข้อตกลงกันว่า จันทร์จะต้องจัดการให้ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินประมาณ 50 ครอบครัว ออกไปจากที่ดินให้หมดภายในกำหนดวันที่ 20 มกราคม 2558 และอังคารจะทำการก่อสร้างบ้านตามสัญญาทันที ปรากฏว่าจันทร์ละเลยไม่จัดการให้ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินออกไปจากที่ดิน จนสิ้นสุดวันที่ 20 มกราคม 2558 ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 209 “ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการอันใด ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นจะต้องทำก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 209 มีหลักว่า ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นการแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการใดหากเจ้าหนี้มิได้กระทำการอันนั้นภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ ลูกหนี้ก็ไม่จำเป็นต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ และถือว่าเจ้าหนี้ผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อน ทั้งจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดในการไม่ชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้หาได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์จ้างอังคารปลูกสร้างบ้านในที่ดินของตนโดยมีข้อตกลงกันว่าจันทร์จะต้องจัดการให้ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินประมาณ 50 ครอบครัว ออกไปจากที่ดินให้หมดภายในกำหนดวันที่ 20 มกราคม 2558 และอังคารจะทำการก่อสร้างบ้านตามสัญญาทันทีนั้น ถือเป็นเรื่องการชำระหนี้ที่เจ้าหนี้จะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยมีการตกลงกำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะต้องกระทำการไว้เป็นที่แน่นอน ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้คือจันทร์ละเลยไม่จัดการให้ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินออกไปจากที่ดิน จนสิ้นสุดวันที่ 20 มกราคม 2558 จันทร์เจ้าหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีเมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นตามมาตรา 209

สรุป จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ 2. จันทร์มีหนี้ที่จะต้องโอนโรงภาพยนตร์พร้อมอุปกรณ์ให้แก่อังคารตามสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล ต่อมาปรากฏว่าโรงภาพยนตร์พร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวนั้นถูกเพลิงไหม้หมด จันทร์จึงโอนให้แก่อังคารไม่ได้ แต่เนื่องจากจันทร์ได้เอาประกันภัยโรงภาพยนตร์พร้อมอุปกรณ์นั้นไว้กับบริษัทประกันภัย ในกรณีดังกล่าวนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ถ้าอังคารประสงค์จะเข้าเรียกร้องเอาสินไหมทดแทนนั้นเสียเองจากบริษัทประกันภัย จะทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคสอง “ช่วงทรัพย์ ได้แก่ เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่งในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับทรัพย์สินอันก่อน”

มาตรา 228 วรรคแรก “ถ้าพฤติการณ์ซึ่งทำให้การชำระหนี้เป็นอันพ้นวิสัยนั้น เป็นผลให้ลูกหนี้ได้มาซึ่งของแทนก็ดี หรือได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์อันจะพึงได้แก่ตนนั้นก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ส่งมอบของแทนที่ได้รับไว้ หรือจะเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้”

วินิจฉัย

“ช่วงทรัพย์” หมายถึง การเปลี่ยนตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้โดยผลของกฎหมาย เป็นการเอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่งในฐานะอย่างเดียวกัน (มาตรา 226 วรรคสอง) และถ้าในกรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้สูญหายหรือถูกทำลาย และเป็นผลให้ลูกหนี้ได้ทรัพย์อื่นหรือค่าสินไหมทดแทนมา ก็ให้เอาทรัพย์หรือค่าสินไหมทดแทนนั้นเข้าแทนที่ทรัพย์ที่สูญหายหรือถูกทำลาย ซึ่งจะมีผลทำให้เจ้าหนี้สามารถเรียกให้ลูกหนี้ส่งมอบของแทนที่ได้รับไว้ หรือจะเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้(มาตรา 228 วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องช่วงทรัพย์ เมื่อการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย กล่าวคือจันทร์ลูกหนี้ไม่สามารถที่จะโอนโรงภาพยนตร์พร้อมอุปกรณ์ให้แก่อังคารเพราะทรัพย์ดังกล่าวได้ถูกเพลิงไหม้หมด แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจันทร์มีสิทธิที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากจันทร์ได้เอาประกันภัยโรงภาพยนตร์พร้อมอุปกรณ์นั้นไว้กับบริษัทประกันภัย ดังนั้น อังคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจันทร์ย่อมสามารถเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนนั้นจากบริษัทประกันภัยได้ตามมาตรา 228 วรรคแรก

สรุป อังคารสามารถเข้าเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนนั้นจากบริษัทประกันภัยได้

 

 

ข้อ 3. ทรัพย์สินของหนึ่งมีเพียงเฉพาะแต่ที่ดิน 1 แปลงหากว่า

ก. หนึ่งทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้สอง ต่อมาหนึ่งกลับนำที่ดินนั้นไปจำนองประกันหนี้เงินกู้ไว้กับสาม กรณีหนึ่ง กับ

ข. หนึ่งจำนองที่ดินประกันหนี้เงินกู้ไว้กับสอง และต่อมากลับนำที่ดินนั้นไปทำสัญญาจะขายให้สามอีกกรณีหนึ่ง สองจะขอเพิกถอนสัญญาในแต่ละกรณีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 213 วรรคแรก “ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับขำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดซช่องให้ทำเช่นนั้นได้…”

มาตรา 214 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายบอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย”

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ตามมาตรา 237 วรรคแรก แต่ถ้านิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงนั้นไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่อย่างใด กล่าวคือ แม้ลูกหนี้จะได้ทำนิติกรรมนั้นลูกหนี้ก็ยังมีทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ยังสามารถที่จะบังคับชำระหนี้ได้ ดังนี้ เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

ก. การที่หนึ่งทำสัญญาจะขายที่ดินของหนึ่งซึ่งมีอยู่เพียงแปลงเดียวให้แก่สอง แต่ต่อมาหนึ่งกลับนำที่ดินแปลงนั้นไปจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้กับสามนั้น การที่หนึ่งเอาที่ดินไปจำนองกับสามถือว่าเป็นนิติกรรมฉ้อฉล เพราะเป็นนิติกรรมที่หนึ่งได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางทำให้สองเจ้าหนี้เสียเปรียบ

ดังนั้น สองเจ้าหนี้สามารถขอเพิกถอนสัญญาจำนองดังกล่าวได้ตามมาตรา 237 วรรคแรก

ข. การที่หนึ่ง จำนองที่ดินประกันหนี้เงินกู้ไว้กับสองและต่อมากลับนำที่ดินนั้นไปทำสัญญาจะขายให้กับสามนั้น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยอยูที่ว่า การกระทำของหนึ่งลูกหนี้ที่ได้เอาที่ดินไปทำสัญญาจะขายให้กับสามนั้น จะทำให้สองเจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่ กรณีนี้เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 213 วรรคแรก และมาตรา 214 ที่ว่า ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนเจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ และภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงนั้น

หมายถึง การที่เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งหมดนั้น กฎหมายมีข้อยกเว้นไว้ว่าถ้าเป็นเรื่องของสัญญาจำนองแล้วก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 733 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 214 กล่าวคือ ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินที่จำนองไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะโอนไปกี่ทอด จำนองก็ย่อมจะติดไปด้วยเสมอ ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้รับจำนองย่อมสามารถที่จะบังคับจำนองเอากับทรัพย์สินที่จำนองได้เสมอเช่นเดียวกัน

ดังนั้น กรณีดังกล่าวแม้หนึ่งจะได้เอาที่ดินที่ติดจำนองไปทำสัญญาจะขายให้กับสาม จึงไม่ถือว่าเป็นทางที่ทำให้สองเจ้าหนี้เสียเปรียบ เพราะแม้ที่ดินนั้นจะโอนไปเป็นของสาม สองเจ้าหนี้ก็ยังสามารถบังคับจำนองเอากับที่ดินที่ติดจำนองนั้นได้ สองจึงไม่สามารถขอเพิกถอนสัญญาจะขายนั้นได้

สรุป

ก. สองเจ้าหนี้ขอเพิกถอนสัญญาจำนองได้

ข. สองเจ้าหนี้ขอเพิกถอนสัญญาจะขายไม่ได้

 

 

ข้อ 4. ก. ประมูลได้งานก่อสร้างถนนจากกรมทางหลวงในวงเงินสามร้อยล้านบาท และนำสัญญาที่ทำกับกรมทางหลวงเสนอต่อธนาคาร ขอกู้เงินมาดำเนินการ โดยโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับค่าก่อสร้างจากกรมทางหลวงให้กับธนาคารผู้ให้กู้ และได้บอกกล่าวให้กรมทางหลวงทราบแล้ว แต่ ก. ผิดสัญญา ก. ไปรับค่าก่อสร้างจากกรมทางหลวงแต่ละงวดด้วยตนเอง แล้วนำไปชำระหนี้เงินกู้กับธนาคารซึ่งรับชำระไว้แล้วก็ไม่ได้ดำเนินการใด เช่น แจ้งให้กรมทางหลวงทราบให้ระงับการจ่ายเงินแก่ ก. เป็นต้น งานก่อสร้างแล้วเสร็จ กรมทางหลวงชำระค่าจ้างให้ ก. ครบถ้วนแล้ว แต่ ก. ยังมีหนี้เงินกู้ดังกล่าวค้างชำระธนาคารอยู่อีกยี่สิบล้านบาท ธนาคารจะเรียกบังคับชำระหนี้และค่าสินไหมทดแทนจากกรมทางหลวงฐานผิดสัญญาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 222 วรรคแรก “การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่ เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น”

มาตรา 223 “ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรวิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้แม้ทั้งที่ความผิดของฝ่ายผู้ที่เสียหายจะมีแต่เพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้หรือเพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย อนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา 220 นั้นท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม”

มาตรา 306 วรรคแรก “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอก ได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก. ได้นำสัญญาที่ทำกับกรมทางหลวงเสนอต่อธนาคารเพื่อขอกู้เงินมาดำเนินการก่อสร้างถนน โดยโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับค่าก่อสร้างจากกรมทางหลวงให้กับธนาคารผู้ให้กู้ และได้บอกกล่าวให้กรมทางหลวงทราบแล้วนั้น ถือเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง เมื่อได้ทำเป็นหนังสือและได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้แล้ว การโอนจึงมีผลสมบูรณ์และใช้

ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ได้ตามมาตรา 306 วรรคแรก กล่าวคือ ธนาคารในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องนั้น สามารถเรียกให้กรมทางหลวงลูกหนี้ชำระเงินค่าก่อสร้างถนนให้แก่ตนได้ และตามข้อเท็จจริงเมื่อปรากฏว่ายังมีหนี้เงินกู้ค้างชำระธนาคารอยู่อีก 20 ล้านบาทนั้น โดยหลักแล้วธนาคารย่อมสามารถที่จะเรียกบังคับชำระหนี้และค่าสินไหมทดแทนจากกรมทางหลวงได้ตามมาตรา 222 วรรคแรก ประกอบมาตรา 306 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ ก. ผิดสัญญากับธนาคารผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง โดย ก. ไปรับค่าก่อสร้างจากกรมทางหลวงแต่ละงวดด้วยตนเองแล้วนำไปชำระหนี้เงินกู้กับธนาคารซึ่งรับชำระไว้แล้วก็ไม่ได้ดำเนินการใด เช่น ไม่ได้แจ้งให้กรมทางหลวงทราบเพื่อให้ระงับการจ่ายเงินแก่ ก. นั้น ถือว่าธนาคารผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะ เจ้าหนี้ และเป็นฝ่ายผู้เสียหายได้รู้อยู่แล้ว ยอมให้ ก. ผู้โอนไปรับเงินแทนโดยไม่มีอำนาจและปล่อยปละละเลยไม่บอกกล่าวเตือนให้กรมทางหลวงลูกหนี้ได้ทราบ ดังนั้นจึงถือว่าธนาคารเจ้าหนี้มีส่วนผิดไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ธนาคารจึงบังคับชำระหนี้และค่าสินไหมทดแทนจากกรมทางหลวงอีกไม่ได้ตามมาตรา 223

สรุป ธนาคารจะเรียกบังคับชำระหนี้และค่าสินไหมทดแทนจากกรมทางหลวงฐานผิดสัญญาไม่ได้

Advertisement