การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายหมึกครอบครองทำไร่ในที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งเดิมเป็นหนองน้ำสาธารณะที่ตื้นเขินขึ้นจนเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า หลังจากนั้น 10 ปี นายหมึกได้ทำสัญญาเป็นหนังสือขายที่ดินแปลงนี้ให้นางกุ้ง นางกุ้งครอบครองต่อมาได้ 1 ปี นางกุ้งได้ให้เพื่อนของตนซึ่งเป็นข้าราชการของสำนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ให้ โดยที่ทางราชการยังไม่เคยประกาศให้ประชาชนจับจองเป็นเจ้าของแต่อย่างใด หลังจากนั้น 2 ปี ทางราชการต้องการที่ดินดังกล่าวทำแก้มลิงตามโครงการป้องกันน้ำท่วม จึงแจ้งให้นางกุ้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดแล้วย้ายออกไปจากที่ดินนั้น

ดังนี้ นางกุ้งจะต้องย้ายออกไปหรือไม่ และนางกุ้งจะอ้างสิทธิใด ๆ เหนือที่ดินนั้นได้บ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแฟงและพาณิชย์

มาตรา 1304 “สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น

(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน”

มาตรา 1305 “ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 1306 “ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายหมึกครอบครองทำไร่ในที่ดินซึ่งเดิมเป็นหนองน้ำสาธารณะที่ตื้นเขินขึ้นจนเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้น เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (1) ดังนั้น แม้นายหมึกจะครอบครองนานเท่าใด นายหมึกก็จะไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะตามมาตรา 1306 ได้บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

การที่นายหมึกได้ทำสัญญาขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางกุ้งนั้น ก็ไม่ทำให้นางกุ้งซึ่งซื้อที่ดินจากนายหมึกได้กรรมสิทธิหรือสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนให้แก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น(มาตรา 1305) ส่วนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่นางกุ้งได้มานั้นก็เป็นการได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะทางราชการยังไม่ได้ประกาศให้ประชาชนจับจองเป็นเจ้าของแต่อย่างใด

ดังนั้น เมื่อทางราชการต้องการที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อทำแก้มลิงตามโครงการป้องกันน้ำท่วมและได้แจ้งให้นางกุ้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดแล้วย้ายออกไปจากที่ดินนั้น นางกุ้งก็จะต้องย้ายออกไป และจะอ้างสิทธิใด ๆ เหนือที่ดินนั้นไม่ได้เลย

สรุป

นางกุ้งจะต้องย้ายออกไปจากที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ได้เลย

 

ข้อ 2. นายอึ่งซื้อรถยนต์มือสองคันหนึ่งในราคา 500,000 บาท จากบริษัท ไฮโซมอเตอร์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยนายอึ่งไม่รู้ว่าเป็นรถยนต์ที่คนร้ายขโมยของนายกบไปขายที่บริษัท ไฮใซมอเตอร์ จำกัด หลังจากซื้อรถยนต์มาแล้ว นายอึ่งได้ซื้อล้อแม็กซ์มาเปลี่ยนล้อใหม่ทั้งหมดสี่ล้อเป็นเงิน 80,000 บาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับคนร้ายได้ และนายกบเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวเรียกให้นายอึ่งส่งมอบรถยนต์คืนให้กับตน

ดังนี้ระหว่างนายอึ่งกับนายกบจะมีสิทธิเรียกร้องใด ๆ ต่อกันในรถยนต์และล้อแม็กซ์ดังกล่าวได้บ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1316 “ถ้าเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ไซร้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของรวมแห่งทรัพย์ที่รวมเข้ากัน แต่ละคนมีส่วนตามค่าแห่งทรัพย์ของตนในเวลาที่รวมเข้ากับทรัพย์อื่น

ถ้าทรัพย์อันหนึ่งอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธานไซร้ ท่านว่าเจ้าของทรัพย์นั้นเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รวมเข้ากันแต่ผู้เดียว แต่ต้องใช้ค่าแห่งทรัพย์อื่น ๆ ให้แก่เจ้าของทรัพย์นั้น ๆ”

มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1332 ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตว่า ไม่จำต้องคืนทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ถ้าหากบุคคลนั้นได้ซื้อทรัพย์สินนั้นมาจากการขายทอดตลาด หรือจากในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอึ่งได้ซื้อรถยนต์มือสองคันหนึ่งในราคา 500,000 บาท จากบริษัทไฮโซมอเตอร์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วนั้น ถือว่าเป็นกรณี

ที่นายอึ่งได้ซื้อทรัพย์สินจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตามมาตรา 1332 และเมื่อเป็นการซื้อโดยสุจริตเพราะนายอึ่งไม่รู้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่คนร้ายขโมยของนายกบมาขายไว้กับบริษัท ไฮโซมอเตอร์ จำกัด

ดังนั้นนายอึ่งจึงได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 1332 กล่าวคือ นายอึ่งไม่ต้องคืนรถยนต์ให้กับนายกบ เว้นแต่นายกบจะต้องชดใช้ราคาที่ซื้อมาคือ 500,000 บาท ส่วนการที่นายอึ่งได้ซื้อล้อแม็กซ์มาเปลี่ยนใหม่ทั้งสี่ล้อเป็นเงิน 80,000 บาทนั้น ถือเป็นการเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันเป็นส่วนควบโดยมีรถยนต์เป็นทรัพย์ประธาน ซึ่งตามมาตรา 1316 ได้บัญญัติให้ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์เป็นเจ้าของล้อแม็กซ์นั้น แต่ต้องชดใช้ราคาล้อแม็กซ์ให้กับเจ้าของล้อแม็กซ์ ดังนั้น ถ้านายอึ่งคืนรถยนต์ไห้แก่นายกบเพราะนายกบได้ชดใช้ราคาที่ซื้อมาให้แก่นายอึ่ง นายกบย่อมเป็นเจ้าของรถยนต์และเป็นเจ้าของล้อแม็กซ์นั้น แต่นายกบต้องชดใช้ราคาล้อแม็กซ์ให้แก่นายอึ่งอีก 80,000 บาท

สรุป

นายอึ่งไม่จำต้องคืนรถยนต์ให้แก่นายกบและเป็นเจ้าของล้อแม็กซ์ดังกล่าว เว้นแต่นายกบจะชดใช้ราคารถยนต์ที่นายอึ่งซื้อมา 300,000 บาท และถ้านายกบได้ชดใช้ราคารถยนต์ที่ซื้อมาให้แก่นายอึ่ง นายกบก็จะเป็นเจ้าของรถยนต์และเป็นเจ้าของล้อแม็กซ์นั้น แต่จะต้องชดใช้ราคาล้อแม็กซ์ให้แก่นายอึ่งอีก 80,000 บาท

 

ข้อ 3. ดำครอบครองทำนาในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของขาวติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี โดยดำบอกกับชาวบ้านแถบนั้นว่าที่ดินเป็นของดำแล้ว ส่วนขาวไม่รู้เรื่องนี้เลย เมื่อขึ้นปีที่ 6 ดำไปทำงานรับจ้างที่สิงคโปร์ โดยมีข้อตกลงจ้างเป็นเวลา 3 ปี ในระหว่างนั้นจึงมอบหมายให้แดงมาครอบครองทำนาแทน แต่ดำไปทำงานได้เพียง 1 ปี ก็ถูกนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง ดำจึงกลับเมืองไทยและเข้ามาทำนาในที่ดินของขาวต่อด้วยตนเองได้อีก 2 ปี ปรากฏว่าเมื่อขาวรู้ว่าดำเข้ามาทำนาในที่ดินของตนจึงแจ้งให้ดำย้ายออกไป ดังนี้ ดำจะต่อสู้ได้หรือไม่ว่าดำได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของขาวแล้วโดยการครอบครองปรปักษ์เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1368 “บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้”

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ ”

มาตรา 1384 “ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร และได้คืนภายในเวลาปีหนึ่งนับตั้งแต่วันขาดยึดถือหรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้ ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

  1. เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์
  2. ได้ครอบครองโดยความสงบ
  3. ครอบครองโดยเปิดเผย
  4. ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ
  5. ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

ตามอุทาหรณ์ การที่ดำครอบครองดำนาในที่ดินมีโฉนดของขาวนั้น ดำจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ก็ต่อเมื่อได้ครอบครองติดต่อกันจนครบกำหนด 10 บี

การที่ดำครอบครองได้ 5 ปี ถึงปีที่ 6 ดำได้ไปทำงานที่สิงคโปร์นั้น โดยหลักย่อมถือได้ว่าเป็นการขาดยึดถือทรัพย์สินคือที่ดินนั้นแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าดำได้มอบหมายให้แดงมาครอบครองทำนาแทน จึงเท่ากับว่าดำยังไม่ได้ขาดการยึดถือทรัพย์สิน เพราะดำให้ผู้อื่นยึดถือไว้แทนตามมาตรา 1368 ดังนั้น การครอบครองของดำจึงมิได้สะดุดหยุดลงและถือว่าดำได้ครอบครองที่ดินของขาวมาแล้วเป็นเวลา 6 ปี และการที่ดำกลับเมืองไทยและได้เข้ามาทำนในที่ดินของขาวต่อด้วยตนเองอีก 2 ปีนั้น ย่อมถือว่าดำได้ครอบครองที่ดินของขาวมาแล้วเป็นเวลาเพียง 8 ปี จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของขาวติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ดังนั้นเมื่อขาวรู้ว่าดำเขามาทำนาในที่ดินของตนและได้แจ้งให้ดำย้ายออกไป ดำจึงไม่สามารถต่อสู้ขาวได้ว่าดำได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของขาวแล้วโดยการครอบครองปรปักษ์

สรุป

ดำจะต่อสู้ขาวว่าดำได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของขาวแล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ไม่ได้

 

ข้อ 4. เอกเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่ง เอกได้ทำข้อตกลงกับโทและตรีเพื่อวางสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของโทและตรี แต่การวางสายไฟฟ้าจะต้องผ่านที่ดินของจัตวาด้วย เอกไม่สามารถติดต่อจัตวาได้จึงวางเสาไฟฟ้าผ่านที่ดินของจัตวาไปด้วยโดยไม่ได้ตกลงเรื่องนี้กับจัตวาจนถึงวันนี้ เอกวางสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของโทตรี และจัตวามาได้ 12 ปีแล้ว สิทธิที่เอกมีบนทีดินของโท ตรี และจัตวา คือสิทธิประเภทใด และการได้สิทธิบนที่ดินของโท ตรี และจัตวามีวิธิการได้มาที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร จงอธิบาย

(ให้นักศึกษาตอบตามหลักของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 4 ว่าด้วยทรัพย์สิน)

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ ”

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1401 “ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโคยอนุโลม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้ทำข้อตกลงกับโทและตรีเพื่อวางสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของโทและตรีนั้น สิทธิที่เอกมีอยู่บนที่ดินของโทและตรีคือสิทธิประเภทภาระจำยอมตามมาตรา 1387

เพราะเป็นกรณีที่ที่ดินของโทและตรีต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้โทและตรีต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์คือที่ดินของเอก และเป็นภาระจำยอมที่เอกได้มาโดยนิติกรรม

ส่วนการที่เอกได้วางสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของจัตวาโดยมิได้ตกลงกับจัตวานั้น เมื่อปรากฎว่าเอกได้วางสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของจัตวามาได้ 12 ปีแล้ว สิทธิที่เอกได้รับบนที่ดินของจัตวาถือว่าเป็นสิทธิประเภทภาระจำยอมตามมาตรา 1387 เช่นเดียวกัน แต่เป็นภาระจำยอมที่เอกได้มาโดยอายุความตามมาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382

สำหรับการได้สิทธิของเอกบนที่ดินของโท ตรี และจัตวา ซึ่งถือว่าเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (ประเภทภาระจำยอม) นั้นจะแตกต่างกับดังนี้ คือ

  1. การได้สิทธิของเอกบนที่ดินของโทและตรี ซึ่งเป็นการได้ภาระจำยอมโดยนิติกรรมนั้น จะมีผลตามมาตรา 1299 วรรคแรก กล่าวคือ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ คือจะใช้ยันต่อบุคคลทั่วไปหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ เพียงแต่จะบริบูรณ์ในฐานะบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่กรณีเท่านั้น
  2. การได้สิทธิของเอกบนที่ดินของจัตวา ซึ่งเป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความ (โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม) นั้น จะมีผลตามมาตรา 1299 วรรคสอง กล่าวคือ สิทธิของผู้ได้มาย่อมบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิสามารถใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่กรณีและใช้ยันบุคคลทั่วไปได้ เพียงแต่ถ้าตราบใดยังมิได้จดทะเบียนสิทธิการได้มากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้

Advertisement