การสอบไล่ภาค 2  ปีการศึกษา 2553 

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1004 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป

Advertisement

คำสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 120 ข้อ)

1. ผู้พิพากษาในศาลประเทศอังกฤษใช้กฎหมายใดในการวินิจฉัยคดี

(1) กฎหมายโรมัน                                             

(2) คำพิพากษาของศาลที่เป็นบรรทัดฐาน

(3) กฎหมายสิบสองโต๊ะ                                  

(4) ประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียน

ตอบ 2  หน้า 22-23 กฎหมายคอมมอน ลอว์ (กฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) เป็นกฎหมายที่ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นตัวบทกฎหมาย ดังนั้นบ่อเกิดของกฎหมายในระบบนี้จึงมาจากคำพิพากษา ซึ่งประเทศที่นิยมใช้กฎหมายระบบนี้ได้แก่ ประเทศอังกฤษและเครือจักรภพอังกฤษ

2. กฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรม ยังมีอิทธิพลต่อประเทศในภาคพื้นยุโรปทั้งที่อาณาจักรโรมันได้ล่มสลายลงไปแล้ว เป็นเพราะเหตุใด

(1) กฎหมายโรมันเป็นเนื้อหาวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัย

(2) การนำกฎหมายโรมันมาใช้แทนจารีตประเพณีที่มีอยู่เดิม

(3) กฎหมายโรมันมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 21,(คำบรรยาย) กฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรม ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แม้ต่อมาอาณาจักรโรมันได้ล่มสลายลงไปก็ได้มีการนำกฎหมายที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวมาใช้ศึกษากันในมหาวิทยาลัย (ครั้งแรกที่เมืองโบโลญญ่า ประเทศอิตาลี) จนเป็นที่แพร่หลายในประเทศในภาคพื้นยุโรป และได้นำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้แทนจารีตประเพณีซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัย

3. ลักษณะประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสเหมือนกับประมวลกฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

(1) มีลักษณะเหมือนกัน เพราะใช้ชื่อประมวลกฎหมายเหมือนกัน

(2) มีลักษณะเหมือนกัน เพราะเป็นกฎหมายแพ่งเหมือนกัน

(3) มีลักษณะไม่เหมือนกัน เพราะไม่มีการจัดแบ่งโครงสร้างเนื้อหาเป็นหมวดหมู่

(4) มีลักษณะไม่เหมือนกัน เพราะระบบกฎหมายแตกต่างกัน

ตอบ 3  หน้า 22 ประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสนั้นจัดทำขึ้นโดยแบ่งโครงสร้างเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ เป็นเรื่องๆอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่างกับประมวลกฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรม ซึ่งถึงแม้จะเป็นต้นกำเนิดของระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ แต่มีลักษณะเป็นการรวบรวมเอากฎหมายต่างๆมาบันทึกไว้ในประมวลกฎหมายเดียวกันเท่านั้นโดยมิได้แบ่งเนื้อหาออกเป็นหมวดหมู่หรือเป็นเรื่องๆแต่อย่างใด

4. ผู้มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาล ได้แก่

(1) พนักงานอัยการ                          

(2) ผู้เสียหาย

(3) ทนายความ                                   

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และ 2

ตอบ 4  หน้า 67  ผู้ที่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาล คือ               

1. ผู้เสียหายเป็นผู้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเอง หรือ 2. ผู้เสียหายมอบคดีให้เจ้าพนังงานในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ คือ พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินคดีแทนให้

5. ข้อใดเป็นลักษณะของกฎหมายอาญา

(1) ออกกฎหมายย้อนหลังลงโทษได้                            

(2) ออกกฎหมายย้อนหลังลงโทษไม่ได้

(3) ย้อนหลังลงโทษได้แล้วแต่ดุลยพินิจศาล

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2  หน้า 54  สาระสำคัญทางกฎหมายอาญา คือ ต้องมีกฎหมายบัญญัติว่า การกระทำใดเป็นความผิดและต้องเป็นกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะซึ่งเกิดการกระทำนั้นด้วย และไม่มีผลย้อนหลังไปลงโทษบุคคลให้หนักขึ้นเป็นอันขาด แต่อาจย้อนหลังเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด กล่าวคือ อาจย้อนหลังไปบัญญัติว่าการกระทำนั้นๆไม่เป็นความผิด หรือเป็นความผิดแต่ยกเว้นโทษให้หรือให้ลงโทษบุคคลน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะทำความผิดได้

6. ผู้เสียหายในคดีอาญาที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนความเสียหายจากกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมจะต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดในเรื่องเกี่ยวกับ

(1) ที่ดิน              

(2) ลักทรัพย์       

(3) ฉ้อโกง          

(4) ชีวิต ร่างกาย จิตใจ

ตอบ 4  ตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 มาตรา 17 ได้บัญญัติว่า ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหาย อันอาจขอรับค่าตอบแทนได้ต้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่              1. ความผิดเกี่ยวกับเพศ       2. ความผิดต่อชีวิต    3. ความผิดต่อร่างกาย 4. ความผิดฐานทำให้แท้งลูก และ 5. ความผิฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บ และคนชรา

7. ข้อใดไม่เป็นความผิดอาญา

(1) นายซิ่งขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ของ น.ส.ดวงดาวเสียหาย

(2) นายซิ่งขับรถยนต์โดยประมาทชนสุนัขของ น.ส.ดวงดาวตาย

(3) นายซิ่งขับรถยนต์เจตนาชนรถยนต์ของ น.ส.ดวงดาวให้เสียหาย

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และ 2

ตอบ 4  หน้า 57  การกระทำที่จะถือว่าเป็นความผิดทางอาญานั้น โดยปกติผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนา แต่การกระทำโดยประมาทนั้นก็อาจเป็นความผิดทางอาญาได้ หากกฎหมายระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า การกระทำนั้นแม้กระทำโดยประมาทก็เป็นความผิด ซึ่งความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม  ปอ. มาตรา 358  กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น ดังนั้น การทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทจึงไม่เป็นความผิดทางอาญา

 8. นายโก๋ดื่มสุราเข้าไปจนเมาแล้วนึกสนุกใช้ปืนยิงเข้าไปในรถยนต์ที่แล่นผ่านมา ลูกกระสุนปืนถูกนายเฮงถึงแก่ความตาย ดังนี้นายโก๋มีความผิด

(1) ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา                             

(2) ฆ่าคนตายโดยเจตนา

(3) ฆ่าคนตายโดยประมาท                               

(4) มีความผิดแต่ได้รับลดโทษเพราะกระทำขณะเมาสุรา

ตอบ 2  หน้า 57-58, (คำบรรยาย)  การกระทำของนายโก๋เป็นการกระทำโดยเจตนาโดยหลักย่อมเล็งเห็นผล คือไม่ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำ แต่โดยลักษณะของการกระทำย่อมเล็งเห็นได้ว่าการกระทำของตนจะเกิดผลขึ้นอย่างไร คือย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าต้องมีคนถูกลูกกระสุนปืนตาย ดังนั้นนายโก๋จึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

9. นายบกเรียนวิชาอยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า แล้วจิตใจฮึกเหิม ได้ท้าให้นายเด่นทดลองฟันตนนายเด่นรับคำท้าใช้มีดฟันนายบกคอขาดถึงแก่ความตาย ดังนี้นายเด่น

(1) ไม่มีความผิดเพราะนายบกยอมให้ฟัน    

(2) มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา

(3) มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

(4) ฆ่าคนตายโดยประมาท

ตอบ 3  หน้า 57-58, (คำบรรยาย) การกระทำของนายเด่น ถือว่าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกและแม้จะไม่ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำ แต่โดยลักษณะของการกระทำ ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำของตนจะเกิดผลขึ้น คือ นายบกคอขาดถึงแก่ความตาย ดังนั้นการกระทำของนายเด่นจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

10. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน

(1) 400 คน         

(2) 450 คน         

(3) 480 คน         

(4) 500 คน

ตอบ 3  หน้า 49  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 93 กำหนดให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนทั้งสิ้น 480 คน โดยมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน 80 คน

หมายเหตุ ** (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2554 กำหนดให้มี ส.ส. แบบแบ่งเขต  375 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 125 คน รวมทั้งสิ้น 500 คน)

11. ข้อใดคือผู้หย่อนความสามารถ

(1) คนล้มละลาย   

(2) คนตาบอดขายลอตเตอรี่  

(3) คนไร้ความสามารถ    

(4) คนสาบสูญ

ตอบ 3  หน้า 133,(คำบรรยาย)  ผู้หย่อนความสามารถ คือ บุคคลที่ถูกกฎหมายจำกัดหรือตัดทอนความสามารถปัจจุบัน มี 4 ประเภท คือ                  

1. ผู้เยาว์        2. คนไร้ความสามารถ    3. คนเสมือนไร้ความสามารถ และ   4. บุคคลวิกลจริต

12. นิติกรรมข้อใดที่ผู้เยาว์ทำได้เอง

(1) นายเออายุ 15 ปี ทำนิติกรรมรับการปลดหนี้จากเจ้าหนี้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

(2) นายหนึ่งอายุ 14 ปี ทำพินัยกรรม

(3) นายหนุ่มกับนางสาวสวยอายุ 18 ปี ทำการสมรสกันเองโดยบิดามารดาไม่ยินยอม

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1  หน้า 136  นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ 1. นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้มาซึ่งสิทธิ หรือหลุดพ้นจากหน้าที่ เช่น การทำนิติกรรมรับการปลดหนี้จากเจ้าหนี้ โดยปราศจากเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน

2. นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว เช่น การจดทะเบียนรับรองบุตร

3. นิติกรรมที่สมแก่ฐานานุรูปและจำเป็นในการดำรงชีวิตตามสมควร เช่น ซื้ออาหารรับประทาน

4. ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์

13. หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านเห็นชอบจากรัฐสภา จะมีผลต่อร่างพระราชบัญญัตินั้นอย่างไร

(1) มีผลทำให้ร่างพระราชบัญญัติตกไป

(2) พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ

(3) ให้รัฐสภาเริ่มพิจารณาใหม่ตั้งแต่วาระแรก

(4) ให้ประธานรัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

ตอบ 3  หน้า 32,(คำบรรยาย) กรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติและทรงใช้สิทธิยับยั้งโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระราชทานคืนมาหรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ไม่มีผลทำให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไป เพียงรัฐสภาจะต้องปรึกษาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ (โดยเริ่มพิจารณาตั้งแต่วาระแรก)

14. กฎหมายที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วแต่ก็ยังมีผลบังคับใช้ชั่วคราวเท่านั้น

(1) พระราชบัญญัติ           

(2) พระราชกำหนด          

(3) พระราชกฤษฎีกา        

(4) พระบรมราชโองการ

ตอบ 2 หน้า 32-33 พระราชกำหนด คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี จึงถือเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยฝ่ายบริหาร โดยผู้เสนอร่างคือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนั้น ซึ่งการตราพระราชกำหนดนั้น จะต้องมีเงื่อนไขในการตรา กล่าวคือ จะต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นจึงต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายชั่วคราวก่อน จนกว่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาจึงจะทำให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเสมือนเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

15. ยุคกฎหมายใดที่เกิดกฎเกณฑ์จากการที่นักกฎหมายใช้เหตุผลสร้างขึ้นนอกเหนือไปจากกฎหมายประเพณี

(1) ยุคกฎหมายลายลักษณ์อักษร                     

(2) ยุคกฎหมายชาวบ้าน

(3) ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย                      

(4) ยุคกฎหมายเทคนิค

ตอบ 3 หน้า 8-9 เนื่องจากกฎหมายในยุคแรกคือกฎหมายชาวบ้านหรือกฎหมายจารีตประเพณีมีไม่เพียงพอ ดังนั้นนักกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่ 2 (ยุคนักกฎหมาย) จึงได้สร้างหลักกฎหมายขึ้นมาเพื่อเสริมกับกฎหมายประเพณี ซึ่งหลักกฎหมายของนักกฎหมายนี้จะเกิดจากการปรุงแต่งเหตุผลในทางกฎหมายที่เกิดจากความคิดในทางกฎหมายของตน ดังนั้นจึงเป็นกฎหมายที่สามัญชนใช้สามัญสำนึกคิดเอาเองไม่ได้ ต้องอาศัยการศึกษาและการเรียนรู้ด้วยเหตุผลจึงเข้าใจซึ่งกฎหมายของนักกฎหมายดังกล่าวที่ยังมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ เรื่องการครอบครองปรปักษ์ และเรื่องสิทธิเรียกร้องขาดอายุความ เป็นต้น

16. ดำแย่งการครอบครองที่ดินของขาวติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี จะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นหลักกฎหมายที่สร้างขึ้นในยุคกฎหมายใด

(1) ยุคกฎหมายชาวบ้าน                                   

(2) ยุคกฎหมายประเพณี

(3) ยุคกฎหมายเทคนิค                                     

(4) ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย

ตอบ 4 ดูคำอธิบายข้อ15. ประกอบ

17. ลักษณะของกฎหมายประเพณีคือ

(1) ได้รับการประพฤติมาเป็นเวลานมนาน                  

(2) มีความชัดเจนแน่นอน

(3) ได้รับปฏิบัติตามอย่างมีเหตุมีผล               

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 7, (คำบรรยาย) กรณีที่จะเป็นกฎหมายประเพณี จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1. องค์ประกอบภายนอก คือ จะต้องมีการประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอเป็นเวลานมนาน และมีความชัดเจนแน่นอน และได้มีการปฏิบัติตามกันมาอย่างมีเหตุมีผล 2. องค์ประกอบภายใน คือ ความรู้สึกนึกคิดในจิตใจของผู้ประพฤติปฏิบัติ ต้องรู้สึกและสำนึกว่าจะต้องทำเช่นนั้น ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะผิด (คือเชื่อว่าเป็นกฎหมายจึงต้องทำ)

18. วิวัฒนาการของกฎหมายยุคใดที่กฎหมายเกิดจากการวินิจฉัยคดีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น

(1) ยุคกฎหมายชาวบ้าน                                                   

(2) ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย

(3) ยุคกฎหมายเทคนิค                                                     

(4) ยุคกฎหมายประเพณี

ตอบ 2  หน้า 8-9, (คำบรรยาย) เนื่องจากสังคมมนุษย์มีการพัฒนาและมีความเจริญขึ้นทำให้ความสัมพันธ์ในสังคมมีความสลับซับซ้อน จนทำให้กฎหมายในยุคแรกคือกฎหมายชาวบ้าน (กฎหมายประเพณี) ที่ใช้อยู่มีไม่เพียงพอที่จะใช้บังคับกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ดังนั้นนักกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่ 2 (ยุคนักกฎหมาย) จึงได้สร้างหลักกฎหมายขึ้นมาเพื่อเสริมกับกฎหมายประเพณีและเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดในคดีที่สลับซับซ้อน เช่น เรื่องสิทธิเรียกร้องขาดอายุความ เรื่องการครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น

19. มาตรา 1341 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ท่านห้ามมิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำหลังคา หรือการปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งทำให้น้ำฝนตกลงยังทรัพย์สินซึ่งอยู่ติดต่อกันท่านคิดว่าจะได้หลักกฎหมายในเรื่องใดจากบทบัญญัติดังกล่าว

(1) หลักความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี                                     

(2) หลักความไว้วางใจโดยสุจริตต่อกัน

(3) หลักคุ้มครองบุคคลที่สาม                                          

(4) หลักสุจริต

ตอบ 1  หน้า 42  บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1337,1341,1342,1343,1349,1352,1353 และ 1355 เป็นบัญญัติของกฎหมายที่ได้บัญญัติขึ้นโดยอาศัยหลักความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปหลักใหญ่หลักหนึ่ง

20. ระบบกฎหมายใดที่ศาลสามารถใช้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงแห่งคดีได้กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้

(1) ระบบคอมมอน ลอว์                                                   

(2) ระบบซีวิล ลอว์

(3) ระบบกฎหมายจารีตประเพณี                                   

(4) ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ตอบ 2  หน้า 19 การที่ศาลสามารถใช้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้นั้น เป็นวิธีอุดช่องว่างแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายซีวิล ลอว์ หรือกฎหมายลายลักษณ์อักษร

21. การเบิกความเท็จเพื่อช่วยเหลือผู้มีอุปการคุณต่อตนเองตามหลักกตัญญุตานั้น เกี่ยวข้องกับกฎหมายและศีลธรรมอย่างไร

(1) ผิดกฎหมายแต่ไม่ผิดศีลธรรม                   

(2) ผิดศีลธรรมแต่ไม่ผิดกฎหมาย

(3) ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม                     

(4) ไม่ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม

ตอบ 1  (LW 104 เลขพิมพ์ 44289 หน้า 39) การเบิกความเท็จนั้นถือว่าผิดกฎหมายเพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด แต่ไม่ผิดศีลธรรมเพราะการเบิกความเท็จดังกล่าวความจริงแล้วทำไปเพื่อช่วยผู้มีอุปการคุณต่อตนซึ่งเป็นไปตามหลักกตัญญุตา

22. กฎเกณฑ์ใดที่ควบคุมความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของมนุษย์ด้วย

(1) ศีลธรรม        

(2) จารีตประเพณี              

(3) กฎหมาย       

(4) ค่านิยม

ตอบ 1  หน้า 19  ศีลธรรม เป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดและควบคุมความประพฤติทั้งภายในและภายนอกของมนุษย์ แต่กฎหมายและจารีตประเพณีจะกำหนดความประพฤติภายนอกของมนุษย์เท่านั้น

23. ระบบกฎหมายใดที่มีอิทธิพลต่อการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส

(1) ระบบกฎหมายโรมัน                                  

(2) ระบบกฎหมายอังกฤษ

(3) ระบบกฎหมายจารีตประเพณี                   

(4) ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์

ตอบ 1 หน้า 21-22, (คำบรรยาย) ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ หรือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นระบบกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากกฎหมายโรมัน หรือมีกฎหมายโรมันเป็นรากฐาน เกิดขึ้นครั้งแรกในภาคพื้นยุโรป (สมัยโรมัน) โดยกษัตริย์จัสติเนียนได้ทรงรวบรวมนักกฎหมายให้ช่วยกันบัญญัติออกมาในรูปกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งต่อมาประเทศฝรั่งเศสได้นำเอากฎหมายนี้มาจัดทำเป็นประมวลกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในภาคพื้นยุโรป และได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นวิชานิติศาสตร์เพื่อใช้ศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ

24. ประเทศใดที่ใช้ระบบกฎหมายซึ่งได้รับอิทธิพลจากกฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียน

(1) สหรัฐอเมริกา              

(2) ออสเตรเลีย  

(3) อังกฤษ          

(4) ไทย

ตอบ 4  หน้า 21-22 ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ หรือกฎหมายลายลักษณ์อักษร (โดยได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียน) ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน สเปน และไทย เป็นต้น ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ หรือกฎหมายจารีตประเพณี ได้แก่ ประเทศอังกฤษและเครือจักรภพอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

25. กฎเกณฑ์ใดที่หากบุคคลฝ่าฝืน การจะได้รับโทษหรือไม่ ไม่สามารถบังคับผู้ฝ่าฝืนได้อย่างจริงจังในปัจจุบัน

(1) จารีตประเพณี             

(2) ศีลธรรม        

(3) ศาสนา          

(4) กฎหมาย

ตอบ 1  หน้า 19 การกระทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ผู้กระทำจะมีความผิดและถูกลงโทษ แต่การกระทำผิดหรือฝ่าฝืนจารีตประเพณีจะได้รับเพียงการติเตียนจากสังคมเท่านั้น

26. การที่นักศึกษาต้องเสียค่าปรับเนื่องจากบัตรประชาชนขาดอายุ เป็นความผิดอาญาหรือไม่

(1) เป็นความผิดอาญาที่เป็นความผิดศีลธรรมด้วย      

(2) เป็นความผิดอาญาในทางเทคนิค

(3) เป็นความผิดอาญาที่ผิดทั้งศีลธรรมและผิดเพราะกฎหมายห้าม        

(4) ไม่เป็นความผิดอาญาใดๆ

ตอบ 2  (คำบรรยาย) ความผิดทางเทคนิค (Technical Offence) คือ ความผิดอาญาที่ไม่ผิดศีลธรรมแต่ผิดเพราะกฎหมายห้าม ซึ่งกฎหมายดังกล่าว คือกฎหมายเทคนิคที่เกิดขึ้นในยุคกฎหมายเทคนิค เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายที่เกี่ยวกับบัตรประชาชน เป็นต้น

27. ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กฎหมายประเพณีในระบบกฎหมายซีวิล ลอว์

(1) ยกเว้นความรับผิดทางอาญาได้                                

(2) กำหนดความรับผิดทางอาญาได้

(3) นำโทษมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรได้    

(4) เพิ่มโทษทางอาญาได้

ตอบ 1 (คำบรรยาย) ข้อจำกัดการใช้กฎหมายจารีตประเพณีในระบบกฎหมายซีวิล ลวอ์ มีดังนี้

1. จะสร้างความผิดทางอาญาขึ้นใหม่ไม่ดี   2. จะนำโทษตามกฎหมายจารีตประเพณีมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรไม่ได้    3. จะเพิ่มโทษอาญาให้สูงกว่าไม่ได้  4. จะกำหนดหน้าที่ของบุคคลเพิ่มไม่ได้

28. ระบบกฎหมายใดที่กฎหมายมิได้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นที่มาของกฎหมายที่มีความสำคัญที่สุด

(1) ระบบคอมมอน ลอว์                                                   

(2) ระบบซีวิล ลอว์

(3) ระบบประมวลกฎหมาย                                              

(4) ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร

ตอบ 1   หน้า 22   กฎหมายระบบคอมมอน ลอว์ หรือระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นระบบกฎหมายที่ไม่ได้มีการเอากฎหมายจารีตประเพณีมาบันทึกเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร เป็นกฎหมายที่เกิดจากจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาล และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมเป็นที่มาของกฎหมาย

29. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย ประกาศใช้ครั้งแรกในรัชสมัยใด

(1) รัชกาลที่ 4                    

(2) รัชกาลที่ 5                    

(3) รัชกาลที่ 6                    

(4) รัชกาลที่ 9

ตอบ 3  หน้า 23, (คำบรรยาย) เดิมประเทศไทยจะรับหลักกฎหมายและหลักปฏิบัติของอังกฤษเข้ามาใช้บังคับ จนถึงปลายรัชกาลที่ 6  ได้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบของกฎหมายไทย โดยรัฐได้ตัดสินใจทำประมวลกฎหมายขึ้นคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพที่ 1และบรรพที่ 2 ซึ่งร่างโดยที่ปรึกษากฎหมายชาวฝรั่งเศสและได้ประกาศใช้เป็นเวลา 2 ปี จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยเปลี่ยนจากการใช้ประมวลกฎหมายตามอย่างประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสมาใช้ประมวลกฎหมายแบบเยอรมัน

30. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระใดที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถขอแปรบัญญัติเพื่ออภิปรายเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติได้อีก

(1) วาระที่ 1 วาระรับหลักการ                                        

(2) วาระที่ 2 วาระเพื่อพิจารณา

(3) วาระที่ 3 วาระลงมติ                                                   

(4) วาระที่ 4 วาระเห็นชอบ

ตอบ 3 หน้า 30  ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น มี 3 วาระ คือ วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เป็นการพิจารณาหลักการโดยทั่วๆ ไปว่าสมควรที่จะรับร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้พิจารณาหรือไม่ วาระที่ 2 ขั้นพิจารณา เป็นการพิจารณาเรียงลำดับมาตราโดยคณะกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงจากร่างเดิม คณะกรรมาธิการต้องชี้แจงเหตุผลในการแก้ไขหรือเพิ่มเติมด้วย และ วาระที่ 3 ขั้นลงมติให้ความเห็นชอบ คือ การลงมติว่าร่างพระราชบัญญัตินั้น สมควรตราเป็นพระราชบัญญัติหรือไม่ โดยจะไม่สามารถขอแปรญัตติเพื่ออภิปรายเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติได้อีก

31. การตราพระราชกำหนดเรื่องใดที่ต้องกระทำโดยด่วนและลับ

(1) ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ                         

(2) ความปลอดภัยของประเทศ

(3) ภาษีอากร                                                      

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3   หน้า 32-33 พระราชกำหนด มี 2 ประเภท ได้แก่

1. พระราชกำหนดทั่วไป  เป็นกรณีที่ตราพระราชกำหนดเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และให้ตราได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้  และ

2. พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีและเงินตรา  เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งต้องพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดินในระหว่างสมัยประชุมสภาเท่านั้น

32. องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบเงื่อนไขว่าในการตราพระราชกำหนด มีความจำเป็นรีบด่วนมิอาจหลีกเลี่ยงได้หรือไม่

(1) สภาผู้แทนราษฎร       

(2) วุฒิสภา         

(3) รัฐสภา          

(4) ศาลรัฐธรรมนูญ

ตอบ 4  หน้า 33  ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าในการตราพระราชกำหนดนั้นเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ (รัฐธรรมนูญฯ ฉบับ พ.ศ. 2550 มาตรา 185 )

33. การเสนอร่างพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ริเริ่มโดย

(1) รัฐมนตรีผู้รักษาการ                                                     

(2) คณะรัฐมนตรี

(3) นายกรัฐมนตรี                                                             

(4) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 20 คน

ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 14. ประกอบ

34. กฎหมายลำดับรองของฝ่ายบริหารต้องอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บท กฎหมายแม่บทในที่นี้ ได้แก่

(1) พระราชกำหนด          

 (2) พระราชกฤษฎีกา       

(3) ประกาศกระทรวง      

(4) กฎกระทรวง

ตอบ 1  หน้า 33 กฎหมายลำดับรองของฝ่ายบริหาร เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวงนั้นสามารถตราขึ้นได้ก็โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บทซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด

35. ข้อใดเป็นที่มาของกฎหมายที่มิได้บัญญัติขึ้น

(1) หลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ                             

(2) หลักความไม่รู้ข้อเท็จจริง แก้ตัวได้

(3) หลักความยินยอมไม่เป็นละเมิด                

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 38-42, (คำบรรยาย) หลักกฎหมายทั่วไปเป็นบ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมายที่มิได้บัญญัติขึ้นอีกประการหนึ่ง โดยหลักกฎหมายทั่วไปอาจเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิม ซึ่งเขียนเป็นสุภาษิตกฎหมายลาติน หรือเป็นหลักกฎหมายที่แฝงอยู่ในบทกฎหมายต่างๆ เช่น หลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ หรือหลักความไม่รู้ข้อเท็จจริง แก้ตัวได หรือหลักความยินยอมไม่ทำให้เป็นละเมิด เป็นต้น

36. ข้อใดถูกต้อง

(1) ระบบซีวิล ลอว์ จะตีความกฎหมายตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด

(2) ระบบซีวิล ลอว์ ถือว่าคำพิพากษาเป็นบ่อเกิดของกฎหมายลำดับแรก

(3) ระบบคอมมอน ลอว์ ศาลจะเป็นผู้สร้างหลักกฎหมาย

(4) ระบบคอมมอน ลอว์ คำพิพากษาเป็นเพียงคำอธิบายการใช้กฎหมาย

ตอบ 3  หน้า 22 ตามหลักของระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ นั้น

1. ถ้ามีหลักกฎหมายซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปอยู่แล้ว ศาลหรือผู้พิพากษาเป็นแต่เพียงผู้แสดงหลักเกณฑ์นั้นๆ แล้วนำมาปรับแก่คดีเท่านั้น

2. ถ้าไม่มีหลักกฎหมายดังกล่าว ก็ให้ศาลหรือผู้พิพากษาเป็นผู้สร้างหลักกฎหมายขึ้นโดยคำพิพากษาและคำพิพากษาของศาลดังกล่าวถือเป็นบรรทัดฐานของศาลต่อๆมาซึ่งเรียกว่า “ Judge Made Law”

37. ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ

(1) นายกรัฐมนตรีสามารถริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติได้

(2) เป็นกฎหมายเฉพาะฝ่ายบริหาร

(3) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญสามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติได้

(4) มีผลบังคับใช้เมื่อผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ตอบ 3   หน้า 28-29 , 32  พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) โดยผู้มีอำนาจตรา คือ พระมหากษัตริย์ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเนื้อหาของพระราชบัญญัตินั้นจะกำหนดเนื้อหาในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีผลใช้บังคับเมื่อประกาศให้ประชาชนทราบแล้วในราชกิจจานุเบกษา และตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 มาตรา 140(3) ให้สิทธิแก่ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญสามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ แต่เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์การและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการเท่านั้น

38. ข้อใดไม่ใช่สาระสำคัญของการพิจารณาคดีอาญา

(1) ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยเสมอ                                 

(2) ต้องเป็นการพิจารณาโดยลับ

(3) ต้องมีการฟ้องร้องเป็นคดีอาญา               

(4) ต้องตั้งทนายความให้จำเลยในคดีอุกฉกรรจ์

ตอบ 2  หน้า 68  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การพิจารณาคดีอาญาจะเริ่มต้นได้ก็จะต้องมีการฟ้องร้องคดีอาญาต่อศาลก่อนโดยอาจจะเป็นการฟ้องโดยผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการก็ได้ (ศาลจะริเริ่มพิจารณาคดีอาญาเองไม่ได้) ซึ่งการพิจารณาและสืบพยานในศาลให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย และในคดีอุกฉกรรจ์ถ้าจำเลยไม่มีทนายให้ศาลตั้งทนายให้เมื่อจำเลยต้องการ

39. นายอ๊อดจ้างนายธงไปฆ่านายโต ต่อมานายอ๊อดเกิดกลัวความผิดจึงไปบอกเลิกการจ้าง นายธงจึงไม่ได้ไปฆ่านายโต ดังนี้ นายอ๊อด

(1) มีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ                      

(2) เป็นผู้ใช้ แต่ไม่ต้องรับโทษ

(3) ไม่มีความผิด                                                 

(4) เป็นผู้ใช้รับโทษ 1 ใน 3

ตอบ 4  หน้า 68  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช่ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยง ส่งเสริมหรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการแต่ถ้าความผิดมิได้กระทำลง เป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียง 1 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

40. สมพรใช้ไม้ตีศีรษะสมชายสามีโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นบาดแผลได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังนี้ การกระทำของสมพร

(1) ไม่เป็นความผิด                                            

(2) มีความผิดแต่กฎหมายยกเว้นโทษให้

(3) มีความผิดแต่ยอมความได้                          

(4) มีความผิดยอมความไม่ได้

ตอบ 4   (คำบรรยาย) ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 เป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความได้ ไม่ว่าผู้ใดกระทำต่อผู้ใด สำหรับการกระทำระหว่างสามีกับภริยา หรือระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน ซึ่งเป็นความผิดแต่กฎหมายยกเว้นโทษให้หรือลดหย่อนโทษให้ หรือให้ยอมความได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งเฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือทำให้เสียทรัพย์ เป็นต้น

41. ถ้าปรากฏว่าผู้กระทำผิด ขณะกระทำไม่มีความรู้สึกผิดชอบเพราะเป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือน โรคจิตหรือจิตบกพร่องประมวลกฎหมายอาญาจะ

(1) ยกเว้นโทษให้                                             

(2) ลดโทษให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของอัตราโทษที่กำหนด

(3) ยกเว้นความผิด                                            

(4) ลดโทษน้อยกว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้เพียงใดก็ได้

ตอบ 1  หน้า 56  การกระทำความผิดใด ถ้าในขณะกระทำบุคคลผู้กระทำไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน กฎหมายอาญา (มาตรา 65) จะยกเว้นโทษให้สำหรับความผิดนั้น

42. แดงจ้างเขียวให้ไปฆ่าขาว เขียวยังไม่ทันไปฆ่าขาว ปรากฏว่าขาวหัวใจวายถึงแก่ความตายไปก่อน ดังนี้ แดง

(1) เป็นตัวการ    

(2) เป็นผู้สนับสนุน          

(3) เป็นผู้ใช้        

(4) ไม่มีความผิดใด

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 39. ประกอบ

43. ข้อใดเป็นการพยายามกระทำความผิดซึ่งไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้

(1) ดำยิงแดง ถูกแดงได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย                 

(2) ดำยิงแดง ปรากฏว่าลูกกระสุนปืนด้าน

(3) ดำยิงแดง แดงหลบกระสุนปืนได้                           

(4) ดำยิงแดง ปรากฏว่าลืมใส่ลูกกระสุน

ตอบ 4  หน้า 1, (คำบรรยาย)  การพยายามกระทำความผิดซึ่งไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เป็นการกระทำความผิดที่ได้กระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่นอนซึ่งอาจจะเป็นเพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำ เช่น ใช้ปืนที่ไม่มีลูกยิงโดยเจตนาฆ่า เป็นต้น หรือเพราะเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อก็ได้ เช่น ยิงกระสุนใส่ตอไม้โดยเข้าใจว่าตอไม้เป็นคนที่ตนต้องการฆ่า เป็นต้น

44. ข้อใดต่อไปนี้ไม่ถูกต้อง

(1) ความผิดส่วนตัวจะสอบสวนได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ไว้ก่อน

(2) พนักงานอัยการจะฟ้องคดีอาญาได้ก็ต่อเมื่อมีการสอบสวนมาแล้ว

(3) โดยปกติศาลไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าพนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดีอาญา

(4) ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องในคดีอาญาไม่ได้ ต้องให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดีอาญา

ตอบ 4  หน้า 67-68  ในการฟ้องคดีอาญานั้น

1. ถ้าพนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดี โดยปกติศาลไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง เพราะพนักงานอัยการจะฟ้องคดีได้ก็ต่อเมื่อได้มีการสอบสวนมาแล้ว

2. ถ้าผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาโดยลำพังตนเอง ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนเสมอเพราะเป็นการฟ้องคดีโดยไม่มีการสอบสวนของพนักงานสอบสวนมาก่อน หรืออาจเป็นการฟ้องคดีในกรณีที่พนักงานสอบสวนสอบสวนแล้ว และมีคำสั่งไม่ฟ้อง

45. ข้อใดเป็นหลักเกณฑ์การตีความตามกฎหมายอาญา

(1) ตีความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ต้องหา                             

(2) ตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด

(3) ตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย                        

(3) ตีความขยายความเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด

ตอบ 2  หน้า 90   กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายพิเศษ การตีความจึงมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกับกฎหมายทั่วไป คือ 1. ต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด

2. จะตีความในทางขยายความให้เป็นการลงโทษหรือเพิ่มโทษผู้กระทำให้หนักขึ้นไม่ได้ และ

3. ในกรณีเป็นที่สงสัย ศาลต้องตีความให้เป็นผลดีแก่ผู้ต้องหาว่าไม่ได้กระทำความผิด

46. สินสมรส ได้แก่

(1) เงินเดือนที่คู่สมรสได้รับก่อนสมรส

(2) ดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารที่หญิงได้มาก่อนสมรส

(3) ลูกหมูซึ่งแม่หมูของภริยาตกลูกเมื่อมีการสมรส

(4) เงินมรดกที่ได้รับในขณะสมรสในฐานะทายาทโดยธรรม

ตอบ 3   หน้า 163 สินสมรส ได้แก่

1. ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือนหรือรางวัลที่ได้จากการถูกลอตเตอรี่

2. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม เมื่อพินัยกรรมระบุว่าให้เป็นสินสมรส

3. ดอกผลของสินส่วนตัว ซึ่งเกิดมีขึ้นเมื่อมีการสมรส เช่น ลูกหมูซึ่งแม่หมูตกลูกเมื่อสมรสแล้ว

(ดอกเบี้ยเงินฝากแม้จะเป็นดอกผลของสินส่วนตัว แต่ได้มาก่อนสมรสจึงไม่เป็นสินสมรสแต่เป็นสินส่วนตัว)

47. กรณีใดต่อไปนี้มิใช่การสิ้นสุดการสมรส

(1) หย่า               

(2) ตาย                

(3) การสาบสูญ  

(4) ศาลพิพากษาให้เพิกถอน

ตอบ 3  หน้า 166  การสมรสสิ้นสุดลงได้โดยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสและการหย่า

(การสาบสูญเป็นเพียงเหตุฟ้องหย่าเท่านั้น)

48. อุปกรณ์ คือ

(1) พวงมาลัยรถยนต์        

(2)ยางอะไหล่ที่อยู่ท้ายรถ

(3) วิทยุติดรถยนต์             

(4) บัวรดน้ำ

ตอบ 2   หน้า 188-189  “อุปกรณ์หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน… จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ไม่ใช่ทรัพย์ที่มีการร่วมสภาพกับทรัพย์ที่เป็นประธานจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งแตกต่างจากส่วนควบ เช่น ยางอะไหล่ที่อยู่ท้ายรถ ปลอกแว่นตา เป็นต้น (พวงมาลัยรถยนต์ถือเป็นส่วนควบของรถยนต์)

49. กรณีใดมิใช่มรดก

(1) สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมของเจ้ามรดก             

(2) สิทธิตามสัญญาเช่า

(3) ที่ดินของเจ้ามรดก                                                       

(4) กำไลทองคำของเจ้ามรดก

ตอบ 2  หน้า 171-172   “มรดกหมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆด้วย เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ (สิทธิตามสัญญาเช่า เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย)

50. มรดกย่อมตกทอดเมื่อ

(1) เปิดพินัยกรรมออกอ่าน                                             

(2) ทายาทแสดงเจตนายอมรับมรดก

(3) ทายาทได้ทราบถึงการตายของเจ้ามรดก 

(4) เจ้ามรดกตาย

ตอบ 4  หน้า 172, (คำบรรยาย) ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคแรก บัญญัติว่า เมื่อบุคคลใดตายมรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาทซึ่งการตกทอดของมรดกนั้น จะตกทอดแก่ทายาททันทีเมื่อเจ้ามรดกตาย

51. บุคคลใดต่อไปนี้มิอาจรับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรม

(1) คู่สมรส                                          

(2) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว

(3) คนรับใช้ของเจ้ามรดก

(4) ศาลเจ้า

ตอบ 4  หน้า 173-175  บุคคลผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่ ญาติของผู้ตายและคู่สมรสของผู้ตาย ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้นและที่สำคัญต้องมีสภาพบุคคลในขณะที่เจ้ามรดกตายด้วย แต่บุคคลผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมนั้นเป็นบุคคลธรรมดาที่เป็นญาติหรือคู่สมรสของผู้ตายหรือไม่ก็ได้ หรืออาจจะเป็นนิติบุคคล เช่น วัด มูลนิธิ ก็ได้ (ศาลเจ้าไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล)

52. ผู้สืบสันดานที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่

(1) บุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้ใช้นามสกุล                 

(2) บุตรบุญธรรมได้จดทะเบียน

(3) บุตรที่เกิดจากบิดาและมารดาที่ได้จดทะเบียนสมรส            

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 173-174  ผู้สืบสันดานที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่ บุตร หลาน เหลน ลื้อ ของเจ้ามรดก ซึ่งทายาทชั้นบุตรที่จะมีสิทธิรับมรดกนั้นหมายถึงบุคคล 3 ประเภท คือ

1. บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน

2. บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองโดยพฤติการณ์ เช่น ให้ใช้นามสกุล แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา เป็นต้น

3. บุตรบุญธรรมที่ได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมแล้ว

53.คนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ พินัยกรรมย่อม

(1) สมบูรณ์   

(2) ตกเป็นโมฆียะ               

(3) ตกเป็นโมฆะ

 (4) จะสมบูรณ์หากได้รับอนุญาตจากศาลด้วย

ตอบ 1  หน้า 177 คนเสมือนไร้ความสามารถทำนินัยกรรมได้สมบูรณ์โดยลำพังตนเอง เพราะพินัยกรรมที่คนเสมือนไร้ความสามารถได้ทำขึ้นนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้าม หรือวางเงื่อนไขไว้แต่อย่างใด

54. ข้อใดต่อไปนี้ไม่ถูกต้อง

(1) หากไม่มีทายาทเป็นผู้รับมรดก ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่แผ่นดิน

(2) การเป็นทายาทโดยธรรมจะต้องถือตามความเป็นจริง

(3) บุคคลที่เป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีสิทธิรับมรดกเสมอ

(4) ผู้รับพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ใดกับเจ้ามรดกก็ได้

ตอบ 3 หน้า 178-179  ทายาทของเจ้ามรดกอาจสูญเสียสิทธิในการรับมรดกได้ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ 1. ถูกตัดมิให้รับมรดก      2. ถูกกำจัดมิให้รับมรดก  3. สละมรดก  4. อายุความมรดก

55. ข้อใดมีลักษณะเป็น กฎเกณฑ์ (Norm) ของรัฐที่ใช้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์

(1) การรณรงค์ให้ผู้ขับรถเมื่อเกิดการง่วงไม่ควรขับรถ

(2) การขอความร่วมมือให้สถานบันเทิงงดจำหน่ายสุราทุกวันพระ

(3) การวางแฟนรายได้เพื่อให้คำนวณอัตราการเสียภาษีน้อย

(4) การปรับสถานบันเทิงที่ฝ่าฝืนไม่ยอมปิดตามเวลาที่กำหนด

ตอบ 4   หน้า 15  กรณีที่จะถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ (Norm) นั้นจะต้องเป็นข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานที่ใช้วัดและใช้กำหนดความประพฤติของสมาชิกของสังคมได้ว่าถูกหรือผิด ให้กระทำการได้หรือห้ามกระทำการ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ถือเป็นสิ่งที่ผิดและจะถูกลงโทษ เช่น ผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษีให้รัฐบาล หรือห้ามเปิดสถานบันเทิงเกินเวลาที่กำหนด เป็นต้น

56. ระบบกฎหมายของประเทศใดที่คำพิพากษาเป็นเพียงคำอธิบายการใช้ตัวบทปรับแก่คดีสามารถเปลี่ยนแปลงหรือกลับคำพิพากษาได้โดยอาศัยเหตุผลที่ดีกว่า

(1) ประเทศไทย                                                  

(2) ประเทศสหรัฐอเมริกา

(3) ประเทศอังกฤษ                                           

(4) ประเทศออสเตรเลีย

ตอบ 1  หน้า 21,24  ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายระบบซีวิล ลอว์ หรือกฎหมายลายลักษณ์อักษร ดังนั้นจึงถือว่าคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงคำอธิบายการใช้ตัวบทกฎหมายปรับแก่คดี ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงหรือกลับคำพิพากษาได้โดยอาศัยเหตุผลความคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับหลักหรือตัวบทกฎหมาย

57. ประเทศที่นิยมให้มีการแบ่งแยกกฎหมายเป็นประเภทต่างๆได้แก่

(1) สหรัฐอเมริกา              

(2) อังกฤษ           

(3) ไทย                

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และข้อ 2

ตอบ 3 หน้า 43  การแบ่งแยกกฎหมายออกเป็นประเภทต่างๆนั้น นิยมทำกันในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซิวิล ลอว์ หรือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และไทย เป็นต้น

58. นายดำต้องการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้นายขาวบิดาของตนซึ่งเป็นคนวิกลจริตให้ตกเป็นคนไร้ความสามารถและตั้งนายดำเป็นผู้อนุบาล นายดำต้องยื่นคำร้องต่อ

(1) ศาลปกครอง                

(2) ศาลอาญา      

(3) ศาลแพ่ง        

(4) ศาลเยาวชนและครอบครัว

ตอบ 3   หน้า 69,220, (คำบรรยาย)  ศาลแพ่ง คือ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีในทางแพ่ง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลพิเศษอื่น โดยจะเป็นคดีที่มีข้อพิพาทหรือไม่มีข้อพิพาทก็ได้ เช่น การร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ หรือการร้องขอให้ศาลตั้งผู้อนุบาล เป็นต้น

59. ข้อใดเป็นสาขาย่อยของกฎหมายมหาชน

(1) กฎหมายรัฐธรรมนูญ                   

(2) กฎหมายปกครอง        

(3) กฎหมายอาญา                                             

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4    หน้า 46-47,50,53  กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร หรือระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา ฯลฯ ส่วนกฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างเอกชนในฐานะเท่าเทียมกัน เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายแรงงาน เป็นต้น

60. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจาก

(1) หัวหน้าพรรคการเมือง              

(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร          

(3) สมาชิกวุฒิสภา                            

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 171 วรรคสอง และ 172 วรรคแรก กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30วันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก

61. การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องกระทำโดย

(1) พระราชกำหนด          

(2) พระราชบัญญัติ           

(3) พระราชกฤษฎีกา        

(4) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

ตอบ 3   หน้า 33  ตามรัฐธรรมนูญ การตราพระราชกฤษฎีกาของพระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีนั้นจะเกิดขึ้นใน 3 กรณีคือ 1. รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตราขึ้นในกิจการที่สำคัญอันเกี่ยวกับฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา, พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร หรือพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร ฯลฯ  2. โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 196  (เรื่องเงินประจำตำแหน่ง บำเหน็จบำนาญและประโยชน์ตอบแทน) 3. โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บท (พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด) ที่ให้อำนาจตราพระราชกฤษฎีการได้

62. แดงใช้ปืนยิงดำ ดำจึงยิงสวนกลับ แดงถึงแก่ความตาย ดังนี้

(1) ดำไม่ต้องรับโทษ เพราะกระทำด้วยความจำเป็น  

(2) ดำไม่มีความผิด เพราะกระทำด้วยความจำเป็น

(3) ดำไม่ต้องรับโทษ เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบ

(4) ดำไม่มีความผิด เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบ

ตอบ 4  หน้า 55-56   การกระทำของดำ เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เมื่อได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้กระทำไม่มีความผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68

63. คดีแพ่งที่ต้องทำเป็นคำร้อง เช่น การยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ถือเป็นคดีแพ่งประเภท

(1) คดีมีข้อพิพาท              

(2) คดีไม่มีข้อพิพาท         

(3) คดีที่มีข้อโต้แย้ง           

(4) คดีที่ต้องมีคู่ความ

ตอบ 2  หน้า 69  คดีแพ่งนั้น แบ่งได้ 2 ประเภท คือ

1. คดีไม่มีข้อพิพาท คือ คดีที่ไม่มีจำเลย เพราะไม่มีคำขอให้ศาลบังคับผู้ใด เป็นแต่ขอให้ศาลแสดงสิทธิของตนหรือให้ตนมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง การฟ้องคดีจึงต้องทำเป็นคำร้อง

2. คดีมีข้อพิพาท คือ คดีที่จะต้องมีจำเลยเข้าเป็นคู่ความด้วย มีการขอให้ศาลบังคับจำเลย การฟ้องคดีจึงต้องทำเป็นคำฟ้อง

64. การที่นายเขียวละเมอถีบนายแดงตกเตียง ดังนี้ นายเขียวมีการกระทำหรือไม่

(1) ไม่มี เพราะไม่ใช่เจตนาของตน

(2) มี เพราะมีการคิด ตัดสินใจ และตกลงกระทำตามที่ได้ตัดสินใจ

(3) ไม่มี เพราะการเคลื่อนไหวไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ

(4) มี เพราะทำให้นายแดงได้รับบาดเจ็บ

ตอบ 3  (คำบรรยาย)  การกระทำ”  ในทางกฎหมายอาญานั้น หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก หรืออยู่ในอำนาจควบคุมบังคับของจิตใจ คือ จิตใจสามารถที่จะบังคับให้มีการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวนั้นได้ (การละเมอไม่ถือว่าอยู่ภายใต้อำนาจบังคับของจิตใจ)

65. ข้อใดที่ทำให้กฎหมายมหาชนแตกต่างจากกฎหมายเอกชน

(1) กฎหมายมหาชนมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์เฉพาะเรื่อง

(2) กฎหมายมหาชนใช้บังคับกับนิติสัมพันธ์ที่ไม่ต้องอาศัยความสมัครใจ

(3) กฎหมายมหาชนมุ่งรักษาผลประโยชน์ของประชาชนแต่ละคน

(4) กฎหมายมหาชนใช้กับคู่กรณีที่เป็นเอกชนเท่านั้นไม่รวมถึงหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง

ตอบ 2 หน้า 44-45  “กฎหมายมหาชนคือ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎรในฐานะที่รัฐเป็นฝ่ายปกครองราษฎร รัฐจึงจำต้องตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับความประพฤติของพลเมืองภายในรัฐ โดยไม่ต้องอาศัยความสมัครใจของผู้ก่อนิติสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย แต่กฎหมายเอกชนเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ ระหว่างเอกชนด้วยกันเองในฐานะเท่าเทียมกัน จึงต้องอาศัยความสมัครใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย

66. โดยหลักกฎหมายอาญาแล้ว การตระเตรียมกระทำความผิด

(1) ยังไม่เป็นความผิด                                        

(2) เป็นความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

(3) เป็นความผิดรับโทษเพียงหนึ่งในสามของความผิดสำเร็จ

(4) เป็นความผิดรับโทษสองในสามของความผิดสำเร็จ

ตอบ 1  หน้า 59-60  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้ลงมือกระทำความผิดแล้วไม่ว่าการกระทำนั้นจะได้กระทำไปตลอดหรือจะบรรลุผลหรือไม่ก็ตาม สำหรับขั้นตอนของความคิด การตกลงใจ และการตระเตรียมการที่จะกระทำความผิดนั้น ในทางกฎหมายยังไม่ถือว่าเป็นความผิดและจะต้องรับโทษแต่อย่างใด (ยกเว้นการตระเตรียมการที่จะกระทำความผิดบางประเภทซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง)

67. ตามหลักกฎหมายอาญา หากไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการกระทำใดเป็นความผิด

(1) ต้องวินิจฉัยโดยใช้จารีตประเพณี            

(2) ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง

(3) ไม่ต้องวินิจฉัยเพราะไม่มีความผิดเกิดขึ้น              

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และข้อ 2

ตอบ 3   หน้า 54,90  กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการกระทำใดเป็นความผิด ย่อมไม่มีความผิด และไม่มีโทษ ( อีกทั้งไม่อาจนำวิธีการอุดช่องว่างตามกฎหมายแพ่งมาใช้บังคับในคดีอาญาได้)

68. รัฐธรรมนูญปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) กำหนดให้ผู้สมัครรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า

(1) 20 ปีบริบูรณ์               

(2) 25 ปีบริบูรณ์                

(3) 30 ปีบริบูรณ์                

(4) 40 ปีบริบูรณ์

ตอบ 2   รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 101 กำหนดให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ ในวันเลือกตั้ง

69. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2550 ) กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดละ

(1)  1 คน             

(2) 2 คน              

(3) 3 คน                              

(4) แล้วแต่จำนวนประชากรโดยคำนวณจากประชากร 1 แสนห้าหมื่นต่อสมาชิกวุฒิสภา

ตอบ 1  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 111 กำหนดให้มีจำนวนสมาชิกวุฒิสภาจำนวนทั้งสิ้น 150 คนโดยมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน และมาจากการสรรหา 74 คน

หมายเหตุ ** ปัจจุบันมีการตั้งอำเภอบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ 77 ดังนั้นในการเลือกตั้งและสรรหาสมาชิกวุฒิสภาวาระหน้า จะประกอบไปด้วยสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และมาจากการสรรหา 73 คน

70. มารดาของสามีลักทรัพย์ลูกสะใภ้

(1) มีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ                      

(2) มีความผิดแต่ยอมความได้

(3) มีความผิดแต่ได้รับการลดโทษ                 

(4) มีความผิดยอมความไม่ได้

ตอบ 4  หน้า 58-59, (คำบรรยาย) การกระทำระหว่างสามีกับภริยา หรือระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน ซึ่งเป็นความผิดแต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ หรือลดหย่อนโทษให้ หรือให้ยอมความได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งเฉพาะทีกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือทำให้เสียทรัพย์ เป็นต้น (จากโจทย์จะเห็นว่าการที่มารดาของสามีลักทรัพย์ลูกสะใภ้นั้น ไม่ใช่กรณีที่บุพการีกระทำต่อผู้สืบสันดาน อันจะเป็นเหตุให้ผู้กระทำมีความผิด แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ หรือลดหย่อนโทษให้ และความผิดฐานลักทรัพย์นั้นยอมความไม่ได้)

71. บุตรลักทรัพย์ของบิดา

(1) มีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ                      

(2) มีความผิดแต่ยอมความได้

(3) มีความผิดยอมความไม่ได้                          

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2  ดูคำอธิบายข้อ 70. ประกอบ (ความผิดฐานลักทรัพย์ ถ้าเป็นการกระทำระหว่างผู้สืบสันดานกับผู้บุพการี ให้ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ และศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้)

72. นิติกรรมข้อใดที่ผู้เยาว์ทำได้ตามลำพังตนเอง

(1) รบการให้ที่ดินติดจำนอง                          

(2) ซื้อรถยนต์เพื่อใช้ขับไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย

(3) จดทะเบียนรับรองบุตร                              

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 3   ดูคำอธิบายข้อ 12. ประกอบ

73. สิ่งใดต่อไปนี้มิใช่ส่วนควบ

(1) บ้านบนที่ดิน                

(2) วิทยุติดรถยนต์             

(3) เลนส์แว่นตา                

(4) ที่งอกริมตลิ่ง

ตอบ 2   หน้า 187  “ส่วนควบของทรัพย์ คือ ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลายทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปหรือสภาพไป เช่น บ้านบนที่ดิน ที่งอกริมตลิ่งเป็นส่วนควบของที่ดิน หรือแว่นตาเป็นส่วนควบของเลนส์ เป็นต้น

74. ข้อใดต่อไปนี้ถูกที่สุด

(1) สิ่งใดที่เป็นทรัพย์สินสิ่งนั้นย่อมเป็นทรัพย์เสมอด้วย

(2) สิ่งใดเป็นทรัพย์สิ่งนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินเสมอ

(3) การจะเป็นทรัพย์หรือทรัพย์สินได้ต้องมีกฎหมายกำหนดโดยเฉพาะ

(4) ทรัพย์และทรัพย์สินมีความหมายเดียวกัน

ตอบ 2  หน้า 181  “ทรัพย์หมายถึง วัตถุมีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เช่น รองเท้า นาฬิกา ตุ๊กตาหมี ฯลฯ ส่วน ทรัพย์สินหมายถึง ทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เช่น พลังงานปรมาณู แก๊ส กรรมสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ฯลฯ ดังนั้นถ้าสิ่งใดเป็นทรัพย์สิ่งนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินเสมอ

75. ข้อใดต่อไปนี้มิใช่ทรัพย์

(1) รองเท้า          

(2) ลิขสิทธิ์         

(3) นาฬิกา          

(4) ตุ๊กตาหมี

ตอบ 2  ดูคำอธิบายข้อ 74. ประกอบ

76. สิ่งใดต่อไปนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์

(1) ต้นพลูที่ปลูกลงในที่ดิน            

(2) เรือยนต์         

(3) รถยนต์          

(4) แพที่ใช้อยู่อาศัย

ตอบ 1  หน้า 182-183  “อสังหาริมทรัพย์หมายถึง ที่ดิน และทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน มีลักษณะเป็นการถาวร หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย (ต้นพลู เป็นไม้ที่มีอายุกว่า 3 ปีเมื่อปลูกบนที่ดินถือว่าเป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินและเป็นส่วนควบกับที่ดินจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์)

77.ดอกเบี้ยเงินกู้ คือ

(1) ดอกผลธรรมดา                                                           

(2) ดอกผลนิตินัย

(3) เป็นทั้งดอกผลธรรมดาและดอกผลนิตินัย             

(4) ไม่ใช่ดอกผล

ตอบ 2  หน้า 190  “ดอกผลนิตินัยหมายถึง ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่น เพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือประโยชน์ในการให้เช่าไปทำกินในที่ดิน

78. ข้อใดถูกต้องที่สุด

(1) ดอกผลธรรมดาบางประเภทสามารถทดแทนดอกผลนิตินัยได้

(2) ทรัพย์บางประเภทสามารถเป็นได้ทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์

(3) เจ้าของที่ทรัพย์สินย่อมมีสิทธิได้ดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3  หน้า 191  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 บัญญัติว่า ภายในบังคับแห่งกฎหมายเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น…

79. บ้านทรงไทยที่ซื้อขายกันโดยซื้อเป็นส่วนๆ ไปประกอบในที่ดินอีกแห่ง คือ

(1) อสังหาริมทรัพย์          

(2) อุปกรณ์         

(3) ส่วนควบ       

(4) สังหาริมทรัพย์

ตอบ 4  (คำบรรยาย) ทรัพย์ใดแม้จะเป็นอสังหาริมทรัพย์แต่ก็อาจจะโอนกันในรูปสังหาริมทรัพย์ก็ได้ เช่น บ้านทรงไทยที่ซื้อขายกันเป็นส่วนๆ ดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการซื้อขายทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน จึงไม่เป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นการซื้อขายทรัพย์ในสภาพของสังหาริมทรัพย์ทั่วไป

80. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยทางนิติกรรม คือ

(1) การครอบครองปรปักษ์                              

(2) สัญญาซื้อขาย

(3) การแย่งสิทธิครอบครอง                            

(4) ที่งอกริมตลิ่ง

ตอบ 2  หน้า 192-194  การได้มาซึ่งสิทธิ์มี 2 กรณี คือ

1. การได้มาโดยทางนิติกรรม เช่น การซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ เป็นต้น และ

2. การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เช่น การได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยอาศัยหลักส่วนควบ หรือโดยทางมรดก เป็นต้น

81. ข้อใดต่อไปนี้มิใช่ทรัยพสิทธิ

(1) สิทธิครอบครอง          

(2) ภาระจำยอม 

(3) กรรมสิทธิ์     

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4  หน้า 192 ทรัพยสิทธิ คือ สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินโดยตรง เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ สิทธิยึดหน่วง ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า เป็นต้น

82. นิติบุคคลมีสิทธิ

(1) เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง

(2) รับโทษทางอาญาทุกโทษ          

(3) รับรองบุตร   

(4) สมรส

ตอบ 1  หน้า 150-151  นิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของตน เช่น อาจเป็นโจทก์ฟ้องคดี หรืออาจถูกฟ้องต่อศาล อีกทั้งยังมีสิทธิหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้แก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น เช่น การสมรส การรับรองบุตร ฯลฯ

83. ข้อใดมิใช่ผู้แทนนิติบุคคล

(1) กรรมการสมาคมเป็นผู้แทนสมาคม                         

(2) พระในวัดเป็นผู้แทนวัด

(3) หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด     

(4) อธิบดีเป็นผู้แทนกรม

ตอบ 2  หน้า 151-152   นิติบุคคล เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ จึงไม่สามารถที่จะแสดงเจตนาหรือทำการใดโดยตนเองได้ ดังนั้น กฎหมายจึงบัญญัติให้นิติบุคคลแสดงเจตนาต่างๆโดยผ่านผู้แทนนิติบุคคล ซึ่งอาจมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ เช่น รัฐมนตรีเป็นผู้แทนกระทรวง อธิบดีเป็นผู้แทนกรม เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนวัดวาอาราม หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้แทนห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว กรรมการเป็นผู้แทนของบริษัทจำกัด คณะกรรมการสมาคมเป็นผู้แทนของสมาคม คณะกรรมการมูลนิธิเป็นผู้แทนของมูลนิธิ เป็นต้น

84. ผู้เยาว์ทำนิติกรรมต่อไปนี้ได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตศาล

(1) ทำพินัยกรรมเมื่ออายุ 15 ปี                        

(2) ประนีประนอมยอมความ

(3) ให้กู้ยืมเงิน                                                   

(4) ขายอสังหาริมทรัพย์

ตอบ 1  หน้า 134-135  ในการทำนิติกรรมของผู้เยาว์นั้น นอกจากผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว มีนิติกรรมบางประเภทผู้เยาว์จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลด้วย เช่น การขายอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า 3 ปี การให้กู้ยืมเงิน หรือการประนีประนอมยอมความ เป็นต้น (การทำพินัยกรรมไม่ต้องขออนุญาตจากศาล)

85. ข้อใดที่คนเสมือนไร้ความสามารถ ทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง

(1) การนำทรัพย์ไปลงทุน                                

(2) กู้ยืมเงิน

(3) ให้กู้ยืมเงิน                                                   

(4) เช่าบ้านอยู่อาศัยเป็นระยะเวลา 1 ปี

ตอบ 4  หน้า 138-139  คนเสมือนไร้ความสามารถ โดยหลักแล้วสามารถทำนิติกรรมใดๆได้สมบูรณ์โดยลำพังตนเอง เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ เช่น การนำทรัพย์สินไปลงทุน การกู้หรือให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกัน จำนอง หรือการเช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลาเกินกว่า 6 เดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลาเกินกว่า 3 ปี (บ้านเป็นอสังหาริมทรัพย์)

86. คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมข้อใดได้ หากผู้อนุบาลยินยอม

(1) นิติกรรมที่เป็นการเฉพาะตัว                    

(2) นิติกรรมที่เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์

(3) นิติกรรมที่ได้ไปซึ่งสิทธิ                            

(4) ทำนิติกรรมใดๆก็ไม่ได้ทั้งสิ้น

ตอบ 1  หน้า 137  คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้นไม่ว่าจะได้ทำนิติกรรมในขณะวิกลจริตหรือไม่ก็ตาม หรือได้ทำนิติกรรมโดยผู้อนุบาลจะได้ยินยอมหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมที่เกี่ยวกับคนไร้ความสามารถต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน เว้นแต่พินัยกรรมซึ่งผู้อนุบาลไม่อาจทำแทนได้ เพราะการทำพินัยกรรมเป็นสิทธิเฉพาะตัว ดังนั้นพินัยกรรมที่คนไร้ความสามารถได้ทำขึ้น หรือให้ผู้อนุบาลทำแทนย่อมตกเป็นโมฆะ

87. ข้อใดไม่ถูกต้อง

(1) บุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้วกฎหมายถือว่าถึงแก่ความตาย

(2) เมื่อบุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

(3) เมื่อบุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ทำให้การสมรสขาดจากกัน

(4) การเป็นคนสาบสูญอาจมีการเพิกถอนคำสั่งได้

ตอบ3  หน้า  146  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแล้วจะมีผลตามกฎหมาย คือ

1. คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (แต่ไม่ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง)

2. ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจปกครองบุตร        3. มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

4. ถือเสมือนว่าบุคคลนั้นสิ้นสภาพบุคคลหรือถึงแก่ความตาย อย่างไรก็ตามหากคนสาบสูญยังมีชีวิตอยู่หรือตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานไว้ ศาลก็อาจเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญได้

88. การสิ้นสภาพบุคคลธรรมดา ได้แก่

(1) ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต 

(2) ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ

(3) ถูกศาลสั่งให้ล้มละลาย                                               

(4) ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ

ตอบ 2  หน้า 140-141  สภาพบุคคลของบุคคลธรรมดาย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย ซึ่งการตายนั้นมีได้ 2 กรณี คือ   1 ตามธรรมดา และ              2. ตายโดยผลของกฎหมาย คือ เมื่อบุคคลนั้นได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ

89. นิติบุคคลแสดงเจตนาต่างๆได้โดย

(1) ผ่านผู้แทนนิติบุคคล                                   

(2) แสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษร

(3) แสดงเจตนาได้ด้วยตัวเอง                         

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1  ดูคำอธิบายข้อ 83. ประกอบ

90. ข้อใดถือเป็นภูมิลำเนานิติบุคคล

(1) ที่ตั้งที่ทำการ                

(2) ภูมิลำเนาเฉพาะการตามข้อตกลง

(3) สาขา                              

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4   หน้า 152-153  ภูมิลำเนาของนิติบุคคลแยกเป็น 3 ประเภท        

1. ที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือที่ตั้งที่ทำการ       

2. ถิ่นที่เลือกเอาเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการตามข้อตกลงหรือตราสารจัดตั้ง   

3. ถิ่นของสำนักงานสาขาในส่วนที่กิจการนั้นได้ทำขึ้น

91. ผู้ปกครองของผู้เยาว์มีได้ในกรณี

(1) ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา                                  

(2) บิดามารดาถูกถอนอำนาจการปกครอง

(3) บิดามารดาหย่าขาดจากกัน                        

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และข้อ 2

ตอบ 4   หน้า 134  ผู้ปกครองของผู้เยาว์ซึ่งจะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม จะมีได้ใน 2 กรณี คือ

1. ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา      (กรณีบิดามารดาตายหรือไม่ปรากฏบิดามารดา)

2. บิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง

92. ทรัพย์ใดต่อไปนี้มิอาจเป็นของหมั้นได้

(1) อาคารพาณิชย์ของชายคู่หมั้น                  

(2) รถยนต์ของชายคู่หมั้น

(3) เงินที่ชายคู่หมั้นกู้ยืมมาเพื่อหมั้น             

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4   หน้า 157  “ของหมั้นหมายถึงทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น ซึ่งอาจจะเป็นทรัพย์สินประเภทใดก็ได้ (ทรัพย์ตาม (1)(2)และ (3) เป็นของหมั้นได้)

93. เมื่อหมั้นแล้ว หากต่อมาคู่หมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมสมรสด้วย เช่นนี้

(1) ร้องขอต่อศาลให้บังคับให้มีการสมรสได้              

(2) เรียกเบี้ยปรับได้

(3) ฝ่ายที่มิใช่ฝ่ายผิดเรียกค่าทดแทนได้                        

(4) แม้ฝ่ายหญิงเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น ก็ริบของหมั้นไว้ได้

ตอบ 3  หน้า 157-158  ถ้าคู่หมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งจะฟ้องบังคับให้มีการสมรสไม่ได้ มีสิทธิ์ก็แต่เฉพาะเรียกค่าทดแทนเนื่องจากมีการผิดสัญญาหมั้นเท่านั้น

94. การสมรสมิอาจสมบูรณ์ได้หาก

(1) มิได้มีการหมั้นมาก่อน

(2) ชายหญิงอายุ 19 ปี ที่ทำการสมรสโดยมิได้รับความยินยอม

(3) มิได้ส่งมอบสินสอด

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 2  หน้า 158-160  เงื่อนไขที่จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ (การสมรสมิอาจสมบูรณ์) มี 5 ประการ คือ             1. ชายและหญิงมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์                           2. ผู้เยาว์ทำการสมรสโดยมิได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือ ผู้ปกครอง        3. การสมรสโดยสำคัญผิดตัวคู่สมรส        4. สมรสโดยถูกกลฉ้อฉล  5. การสมรสเพราะถูกข่มขู่ (การสมรสสามารถทำได้โดยมิต้องมีการหมั้นหรือส่งมอบสินสอดกันก่อนแต่อย่างใด)

95. หญิงอายุ 21 ปี ที่สามีที่ชอบด้วยกฎหมายถึงแก่ความตาย

(1)  หากสมรสใหม่ก่อน 310 วันนับแต่การสมรสเดิมสิ้นสุด การสมรสย่อมตกเป็นโมฆียะ

(2) สมรสใหม่ได้ทันที และการสมรสนั้นสมบูรณ์

(3) หากสมรสใหม่ก่อน 310 วันนับแต่การสมรสเดิมสิ้นสุดการสมรส ย่อมตกเป็นโมฆะ

(4) หากจะสมรสใหม่ก่อน 310 วัน ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน

ตอบ 4  หน้า 160 หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ก็ต่อเมื่อระยะเวลา 310 วันนับแต่วันสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้ว เว้นแต่

1. คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น                      2. สมรสกับคู่สมรสเดิม

3. มีใบรับรองแพทย์ว่ามิได้ตั้งครรภ์                4. มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้ (แต่ถ้ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติได้กล่าว ให้ถือว่าการสมรสยังคงสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นโมฆะ)

96. เงื่อนไขใดที่ไม่ทำให้การสมรสตกเป็นโมฆะ

(1) ผู้รับบุตรธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม                    

(2) บุคคลวิกลจริตสมรสกับบุคคลที่มีสภาพจิตปกติ

(3) สมรสโดยปราศจากความยินยอม                             

(4) สมรสซ้อน

ตอบ 1  หน้า 159-160  เงื่อนไขที่จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆะ มี 4 ประการ คือ

1. สมรสกับบุคคลวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล

2. สมรสกับญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา หรือกับพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน

3. สมรสโดยปราศจากความยินยอมของชายหญิงคู่สมรส และ

4. สมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วหรือที่เรียกว่า สมรสซ้อน

(ผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรมมีผลสมบูรณ์ แต่การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกไป)

97. เงื่อนไขใดที่ไม่ทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ

(1) ชายหญิงอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์                           

(2) สมรสโดยสำคัญผิดตัว

(3) สมรสเพราะถูกข่มขู่                                                   

(4)คู่สมรสที่มีบิดาคนเดียวกัน แต่ต่างมารดากัน

ตอบ 4  ดูคำอธิบายข้อ 94. และ 96. ประกอบ   (การสมรสตามข้อ (4) เป็นโมฆะ ส่วนการสมรสตามข้อ (1) (2) และ (3) เป็นโมฆียะ)

98. หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ได้แก่

(1) สามีกู้ยืมเงินภริยาเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว

(2) ภริยากู้ยืนเงินจากธนาคารเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลบุตร

(3) สามีกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อซื้อวิทยุไว้ฟังที่ทำงาน

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 2  หน้า 164-165  หนี้เกี่ยวกับการจัดการบ้านและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ซึ่งสามีและภริยาจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ (ข้อ (1) เป็นหนี้ระหว่างสามีภริยา (3) เป็นหนี้ส่วนตัว)

99. บุคคลบรรลุนิติภาวะเมื่อ

(1) อายุ 20 ปีบริบูรณ์                        

(2) อายุ 17 ปีบริบูรณ์และสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย

(3) อายุ 16 ปี โดยศาลอนุญาตให้ทำการสมรส            

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 133  บุคคลย่อมบรรลุนิติภาวะในกรณีหนึ่ง คือ 1. เมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือ

2. เมื่อได้ทำการสมรสในขณะที่มีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรืออายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์แต่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสได้

100. สภาพบุคคลเริ่มต้นเมื่อ

(1) นางขาวแท้งบุตรขณะตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน                             

(2) นางดำตั้งครรภ์บุตรเป็นเวลา 8 เดือน

(3) นางเทาคลอดบุตรแล้วแต่หมอยังไม่ตัดสายสะดือ

(4) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3   หน้า 125-126   สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก (โดยจะตัดสายสะดือหรือไม่ไม่สำคัญ) ซึ่งการอยู่รอดเป็นทารกนั้น อาจจะดูการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ หรือดูที่การหายใจ ซึ่งการหายใจนั้นไม่จำกัดว่าจะมีระยะเวลาเท่าใด ดังนั้นทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาจึงยังไม่มีสภาพบุคคล

101. นายน้อยไม่รู้ว่าเกิดเมื่อใด ทราบแต่เกิดปี พ.ศ. 2520 ดังนี้ตามกฎหมายถือว่านายน้อยเกิดเมื่อใด

(1) 1 มกราคม 2520                           

(2) แล้วแต่นายอำเภอท้องที่จะกำหนดว่าเกิดเมื่อใดในปี 2520

(3) 1 เมษายน 2520                           

(4) แล้วแต่นายน้อยจะเลือกว่าเกิดเมื่อใดในปี 2520

ตอบ 1    หน้า 128, (คำบรรยาย) ในกรณีที่ไม่รู้ว่าบุคคลเกิดวันใด เดือนใด แต่รู้ปีเกิด ให้ว่าถือว่าบุคคลนั้นได้เกิดในวันต้นปี ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด ในกรณีที่เกิดก่อนวันที่ 18 ตุลาคม 2483 ให้ถือเอา วันที 1 เมษายน เป็นวันต้นปี หากเกิดภายหลังจากนั้นให้ถือเอาวันที่ 1มกราคม เป็นวันต้นปี ดังนั้นการที่นายน้อยไม่รู้ว่าเกิดเมื่อใดทราบแต่เกิดปี พ.ศ. 2520 ดังนี้ตามกฎหมายถือว่านายน้อยเกิดเมื่อวันที่ 1มกราคม 2520

102. ผลของการเป็นคนไร้ความสามารถเริ่มตั้งแต่เมื่อใด

(1) เริ่มวันที่วิกลจริต                                         

(2) เริ่มวันที่ฟ้องศาล

(3) เริ่มวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา                   

(4) เริ่มวันที่ศาลสั่ง

ตอบ 4  หน้า  138, (คำบรรยาย) การเป็นคนไร้ความสามารถนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ 1. เป็นคนวิกลจริต และ 2. ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และเมื่อศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว ผลของการเป็นคนไร้ความสามารถให้เริ่มนับแต่วันที่ศาลสั่ง (การที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นเรื่องในทางปฏิบัติเท่านั้น)

103. สิทธิหมายถึง

(1) การที่บุคคลทุกคนต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด

(2) หน้าที่ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

(3) ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3  หน้า 97 สิทธิ คือ ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ แบ่งออกเป็น

1. สิทธิในตัวบุคคล เช่น สิทธิในร่างกาย อนามัย ชื่อเสียง ความคิดเห็น

2. สิทธิในตัวทรัพย์สิน เช่น ทรัพยสิทธิ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้

3. สิทธิในครอบครัว เช่น สิทธิในการรับมรดก

4. สิทธิในทางการเมือง เช่น สิทธิเลือกตั้ง

104. นายเอกขายสร้อยคอทองคำให้นายโท โดยนายเอกไม่รู้ว่านายโทวิกลจริต นิติกรรมจะมีผล

(1) ไม่สมบูรณ์    

(2) มีผลสมบูรณ์                 

(3) โมฆะ            

(4) โมฆียะ

ตอบ 2  หน้า 137-138  นิติกรรมที่บุคคลวิกลจริตได้ทำลงจะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อ นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้นขณะวิกลจริต และคู่กรณีอีกฝ่ายได้รู้อยู่แล้วว่าผู้นั้นเป็นคนวิกลจริต

105. ข้อใดคือการสิ้นสภาพบุคคลตามกฎหมาย

(1) การตายตามธรรมชาติ                                

(2) การถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ

(3) คนที่สมองตายไม่สามารถทำอะไรได้เองไม่รู้ผิดชอบชั่วดี 

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และข้อ 2

ตอบ 4  ดูคำอธิบายข้อ 88. ประกอบ

106. ข้อใดถูกต้องที่สุด

(1) ทารกในครรภ์มารดาถือเป็นทายาทแล้ว

(2) สภาพบุคคลเริ่มแต่เมื่อคลอด

(3) เมื่อทารกคลอดแล้วปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่นนี้ ทารกมีสภาพบุคคล

(4) เมื่อทารกคลอดแล้วต้องมีการหายใจอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จึงจะถือว่ามีสภาพบุคคล

ตอบ 3    หน้า 125-127    ทารกในครรภ์มารดายังไม่มีสภาพบุคคล (ดูคำอธิบายข้อ 100. ประกอบ) จึงไม่อาจเป็นทายาทได้ เพราะตามกฎหมายการเป็นทายาทนั้น (ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือทายาทในฐานะผู้รับพินัยกรรม) จะต้องมีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายด้วย แต่ทารกในครรภ์มารดามีสิทธิรับมรดกได้ตามกฎหมาย ถ้าหากว่าภายหลังได้คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกภายใจ 310วันนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย (ป.พ.พ. มาตรา 15 และ 1604)

107 ทารกในครรภ์มารดา ขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

(1) มีสภาพบุคคล

(2) ไม่มีสิทธิรับมรดก

(3) มีสิทธิรับมรดกหากเกิดมารอดอยู่ภายใจ 310 วันนับแต่วันเจ้ามรดกตาย

(4) มีสิทธิรับมรดกถ้าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 106. ประกอบ

108. บุคคลธรรมดาที่กฎหมายมิได้กำหนดภูมิลำเนาให้ ได้แก่

(1) คนเสมือนไร้ความสามารถ                       

(2) คนไร้ความสามารถ

(3) ผู้เยาว์                                                             

(4) ผู้ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล

ตอบ 1  หน้า 131-132  บุคคลที่กฎหมายกำหนดภูมิลำเนาให้ ได้แก่

1. ผู้เยาว์                 2. คนไร้ความสามารถ         3. สามีและภริยา                  4. ข้าราชการ

5. ผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล

109. ข้อใดถูกต้อง

(1) บุคคลฝ่ายเดียวสามารถทำสัญญาได้

(2) สัญญาเกิดขึ้นเมื่อคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน

(3) สัญญาที่ทำขึ้นนั้นจะก่อให้เกิดผลผูกพันในทางกฎหมายทุกกรณี

(4) การเลิกสัญญาต้องตกลงไว้ในเนื้อหาของสัญญาเสมอ

ตอบ 2  หน้า 112  สัญญาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้

1. ต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไปเป็นคู่สัญญา

2. ต้องมีการตกลงยินยอมระหว่างคู่สัญญา กล่าวคือ คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเป็นคำเสนอและอีกฝ่ายแสดงเจตนาเป็นคำสนองรับคำเสนอนั้น สัญญาจึงจะเกิดขึ้น

3. ต้องมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญา ซึ่งวัตถุประสงค์นี้จะต้องไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายต้องไม่เป็นการพ้นวิสัย และต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิฉะนั้นสัญญาจะตกเป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันในทางกฎหมาย

110. การกระทำที่เป็นโมฆียะจะมีผล คือ

(1) ให้สัตยาบันไม่ได้                                       

(2) การกล่าวอ้างไม่กำหนดระยะเวลา

(3) สมบูรณ์จนกว่าจะบอกล้าง                        

(4) ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนกล่าวอ้างได้

ตอบ 3  หน้า 105-107  นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ เป็นนิติกรรมที่เมื่อทำขึ้นมาแล้วจะมีผลใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย จนกว่าจะมีการบอกล้างให้ตกเป็นโมฆะ หรืออาจมีการให้สัตยาบันเพื่อให้นิติกรรมนั้นมีผลใช้บังคับได้อย่างสมบูรณ์ (ส่วนนิติกรรมที่เป็นโมฆะ เป็นนิติกรรมซึ่งเมื่อได้ทำขึ้นมาแล้วจะมีผลเสียเปล่าใช้บังคับกันไม่ได้เสมือนหนึ่งมิได้ทำนิติกรรมนั้นขึ้นมาเลยและจะให้สัตยาบันก็ไม่ได้)

111. ข้อใดมิใช่นิติเหตุ

(1) การเกิด          

(2) การตาย         

(3) การให้           

(4) การละเมิด

ตอบ 3  หน้า 115-117  นิติเหตุ หรือเหตุที่ก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย โดยอาจจะเป็นเหตุที่เกิดจากพฤติการณ์ตามธรรมชาติ เช่น การเกิด การตาย หรืออาจจะเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของบุคคลโดยปราศจากเจตนามุ่งผลในทางกฎหมาย ได้แก่ การจัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ และละเมิด หรืออาจจะเป็นเหตุที่ได้ตาม ป.พ.พ. ลักษณะทรัพย์และทรัพย์สิน เช่น การได้กรรมสิทธิ์โดยหลักส่วนควบ เป็นต้น (การให้เป็นนิติกรรม)

112. ข้อใดทำให้สิทธิระงับ

(1) ขาดตัวผู้ทรงสิทธิ                                        

(2) การชำระหนี้ตามกำหนด

(3) การสูญสิ้นวัตถุแห่งสิทธิ                           

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 122-123  สิทธิอาจจะระงับได้ด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ

1. การขาดตัวผู้ทรงสิทธิ                     2. การระงับแห่งหนี้ เช่น การชำระหนี้ การปลดหนี้ เป็นต้น

3. การสิ้นวัตถุแห่งสิทธิ                      4. การระงับแห่งสิทธิโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

113. องค์ประกอบในการร้องขอศาลให้บุคคลใดเป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ ได้แก่

(1) จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ                      

(2) ตาบอดหูหนวก           

(3) ติดการพนัน

(4) มีความบกพร่องทางร่างกายและไม่สามารถจัดการงานของตนเองได้

ตอบ 4 หน้า 138 , (คำบรรยาย) บุคคลที่จะเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1. มีเหตุบกพร่องบางอย่างตามที่กฎหมายกำหนดไว้

2. ไม่สามารถจัดทำการงานของตนได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัวเพราะเหตุบกพร่อง และ

3. ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

114. การทำนิติกรรมของคนเสมือนไร้ความสามารถ

(1) ผู้พิทักษ์ต้องทำแทนทุกกรณี                     

(2) ผู้พิทักษ์ต้องเป็นผู้ให้ความยินยอมทุกกรณี

(3) คนเสมือนไร้ความสามารถทำเองได้ เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์

(4) ทำอะไรเองไม่ได้เลย ตกเป็นโมฆะหมด

ตอบ 3  หน้า 138-139  คนเสมือนไร้ความสามารถ โดยหลักแล้วสามารถทำนิติกรรมใดๆได้สมบูรณ์โดยลำพังตนเอง เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ เช่น การนำทรัพย์สินไปลงทุน การกู้หรือให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกัน จำนอง หรือการเช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลาเกินกว่า 6 เดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลาเกินกว่า 3 ปี เป็นต้น

115. ข้อใดมิใช่ลักษณะของความยินยอมที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะอนุญาตให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรม

(1) ทำเป็นหนังสือ                                            

(2) ให้ความยินยอมด้วยวาจาก็ได้

(3) ให้ภายหลังจากผู้เยาว์ทำนิติกรรมแล้ว    

(4) ให้ความยินยอมโดยปริยาย

ตอบ 3  (เลขพิมพ์ 44289 หน้า 162 ), (คำบรรยาย) การให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมนั้นไม่มีแบบ จะให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจา หรือโดยปริยายก็ได้ แต่จะต้องให้ก่อนหรือขณะทำนิติกรรม ถ้าให้ความยินยอมภายหลังจากทำนิติกรรมไปแล้วกฎหมายถือว่าเป็นการรับรองนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ ซึ่งเรียกว่าเป็นการให้สัตยาบัน

116. บุคคลใดต่อไปนี้มิอาจทำพินัยกรรมได้เลย

(1) บุคคลวิกลจริต                                             

(2) คนเสมือนไร้ความสามารถ

(3) คนไร้ความสามารถ                                    

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3  หน้า 177 ตามกฎหมายห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมใดๆทั้งสิ้น พินัยกรรมซึ่งคนไร้ความสามารถทำขึ้นจะตกเป็นโมฆะ ส่วนพินัยกรรมซึ่งคนวิกลจริตได้ทำขึ้นจะตกเป็นโมฆะ (เสียเปล่า) ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาทำพินัยกรรมผู้ทำวิกลจริตอยู่ (ส่วนพินัยกรรมซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถทำขึ้น มีผลสมบูรณ์)

117. หากพระภิกษุมรณภาพในขณะที่บวชอยู่ ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างครองสมณเพศจะตกแก่ใคร

(1) แผ่นดิน                                                         

(2) ทายาทโดยธรรม

(3) วัดที่เป็นภูมิลำเนา                                       

(4) ทายาทผู้รับพินัยกรรม

ตอบ 3   หน้า 178  ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นแต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างที่พระภิกษุยังมีชีวิตอยู่ หรือได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดไว้แล้ว

118. หากคนไร้ความสามารถสมรสกับบุคคลที่ไม่ถูกจำกัดความสามารถ จะมีผลอย่างไร

(1) โมฆะ            

(2) โมฆียะ          

(3) สมบูรณ์         

(4) ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล

ตอบ1  ดูคำอธิบายข้อ 96.ประกอบ

119. หากคนเสมือนไร้ความสามารถ สมรสกับบุคคลที่ไม่ถูกจำกัดความสามารถ จะมีผลอย่างไร

(1) โมฆะ            

(2) โมฆียะ          

(3) สมบูรณ์         

(4) ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 96.ประกอบ (คนเสมือนไร้ความสามารถกฎหมายมิได้บัญญัติห้ามทำการสมรสแต่อย่างใด)

120. บุคคลใดต่อไปนี้มิอาจเป็นทายาทโดยธรรมได้

(1) คู่สมรส                                          

(2) ผู้รับบุตรบุญธรรม

(3) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว        

(4) บุตรบุญธรรม

ตอบ 2  หน้า 173-175  ทายาทโดยธรรมมี 2 ประเภท คือ คู่สมรส และญาติ ซึ่งมี 6 ลำดับดังนี้

1. ผู้สืบสันดาน (รวมถึงบุตรบุญธรรม และบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว)

2. บิดามารดา       

3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน      

4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน

5. ปู่ ย่า ตา ยาย     

6. ลุง ป้า น้า อา     (บิดามารดาในที่นี้หมายความถึงบิดามารดาผู้ให้กำเนิดไม่หมายความรวมถึงผู้รับบุตรบุญธรรม กล่าวคือ ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตน)

 

Advertisement