การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายหนึ่งต้องการนำภาพวาดสีน้ำมันของตนออกขายทอดตลาด แต่เนื่องจากนายหนึ่งดำเนินการขายทอดตลาดด้วยตนเองไม่ได้ จึงมอบให้นายสองเป็นผู้ดำเนินการขายทอดตลาดแทนตน โดยการขายทอดตลาดซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2558 ได้มีผู้เข้าชมการขายทอดตลาดกว่า 50 คน แต่มีผู้เข้าสู้ราคาหรือผู้ประมูลซื้อทรัพย์เพียง 2 คน คือ นายสองและนายสาม โดยนายสองเป็นผู้ให้ราคาสูงที่สุดถึง 100,000 บาท จนนายสองได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลซื้อภาพวาดสีน้ำมัน นายสามรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการขายทอดตลาดครั้งนี้ เพราะกฎหมายห้ามไม่ให้นายสองผู้ทอดตลาดเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดที่นายสองเป็นผู้อำนวยการตาม ป.พ.พ. มาตรา 511 ซึ่งบัญญัติว่า “ท่านห้ามมิให้ผู้ทอดตลาดเข้าสู้ราคา หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดซึ่งตนเป็นผู้อำนวยการเอง”

ให้วินิจฉัยว่าการขายทอดตลาดภาพวาดรายนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ในการตกลงทำนิติกรรมกันนั้น วัตถุประสงค์ของนิติกรรมนั้นจะต้องไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จะต้องไม่เป็นการพ้นวิสัย และจะต้องไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถ้านิติกรรมใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสองซึ่งเป็นผู้ดำเนินการขายทอดตลาดได้เข้าสู้ราคาซื้อภาพวาดสีน้ำมันของนายหนึ่งที่ตนเป็นผู้อำนวยการขายนั้น แม้นายสองจะเป็นผู้ให้ราคาสูงที่สุดก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 511 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ผู้ทอดตลาดเข้าสู้ราคา ดังนั้น การซื้อขายภาพวาดในการขายทอดตลาดรายนี้จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3062/2538)

สรุป

การขายทอดตลาดภาพวาดรายนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายเอกได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์ BMW ทะเบียน 1234 กรุงเทพมหานคร ราคา 2,000,000 บาท จากนายโทคันหนึ่ง โดยนายโทรับปากกับนายเอกว่ารถยนต์คันนี้เป็นรถยนต์มือสอง แต่มีสภาพดีไม่เคยเฉี่ยวชน และขับมาแล้วเพียง 3,000 กิโลเมตร หลังจากที่นายเอกซื้อรถยนต์ได้เพียง 2 – 3 วัน นายเอกได้นำรถยนต์เข้าตรวจสภาพจึงทราบว่ารถยนต์ที่ตนซื้อมานั้นได้ขับมาแล้วถึง 40,000 กิโลเมตร

นายเอกรู้สึกหนักใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถ้านายเอกได้รู้ความจริงเช่นนี้นายเอกจะไม่ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าวเลย

ให้วินิจฉัยว่านายเอกได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่ได้ซื้อมาหรือไม่ มีผลทางกฎหมายเช่นไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 157 “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ

ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากนายโทโดยนายเอกไม่ทราบว่ารถยนต์คันนั้นได้ขับมาแล้วถึง 40,000 กิโลเมตรนั้น ถือได้ว่านายเอกได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญ เพราะถ้านายเอกไม่ได้สำคัญผิดคือทราบความจริงดังกล่าว นายเอกก็คงจะไม่ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวเลย ดังนั้น สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายเอกและนายโทจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 157 ซึ่งนายเอกสามารถบอกล้างได้ และเมื่อนายเอกได้บอกล้างแล้วสัญญาซื้อขายย่อมตกเป็นโมฆะมาแต่แรก

สรุป

นายเอกได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่ได้ซื้อมาและสัญญาซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆียะ ซึ่งนายเอกสามารถบอกล้างได้

 

ข้อ 3. นายกุ้งและนายปลาได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1234 โดยทั้งคู่ได้มีข้อตกลงว่าเมื่อนายกุ้งผู้จะซื้อได้ชำระราคาที่ดินให้นายปลาผู้จะขายเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาทครบถ้วนแล้ว นายปลาจึงจะจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายกุ้ง อย่างไรก็ดี นายกุ้งและนายปลาตระหนักดีว่าในการทำสัญญาจะซื้อจะขายครั้งนี้ควรมีการวางมัดจำไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าได้มีสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างนายกุ้งและนายปลาขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นประกันว่าในอนาคตนายกุ้งจะชำระราคาที่ดินให้นายปลาครบถ้วนและนายปลาจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้นายกุ้งเช่นกัน

ดังนั้น ในวันที่เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน นายกุ้งผู้จะซื้อจึงได้มอบสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาทพร้อมกับโฉนดที่ดินเลขที่ 5678 ให้นายปลายึดถือไว้เป็นมัดจำ

ภายหลังต่อมาเมื่อนายกุ้งได้นำเงินสดจำนวน 1,000,000 บาท มาชำระให้นายปลาครบถ้วนแล้ว นายปลากลับปฏิเสธที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับนายกุ้ง เนื่องจากราคาที่ดินในท้องตลาดสูงขึ้นเป็นอย่างมากด้วยความกลัดกลุ้มใจ นายกุ้งจึงมาขอคำปรึกษาจากท่าน

ท่านในฐานะทนายความจะให้คำปรึกษาแก่นายกุ้งเช่นไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 377 “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย”

มาตรา 378 “มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ

(3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว กรณีที่จะเป็นมัดจำตามมาตรา 377 นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา และมัดจำนั้นอาจเป็นเงินหรือสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าในตัวเองก็ได้ เมื่อสร้อยคอทองคำเป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าในตัวเองจึงส่งมอบให้แก่กันเป็นมัดจำได้ ส่วนโฉนดที่ดินไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าในตัวเอง จึงไม่อาจส่งมอบให้ไว้แก่กันเพื่อเป็นมัดจำได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกุ้งได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายปลาและในวันทำสัญญานายกุ้งผู้จะซื้อได้มอบสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ให้แก่นายปลา โดยตกลงกันว่าในอนาคตนายกุ้งจะชำระราคาที่ดินให้นายปลาครบถ้วน และนายปลาจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้นายกุ้งเช่นกันนั้น ถือว่าสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินย่อมเป็นมัดจำตามมาตรา 377 ภายหลังต่อมาเมื่อนายกุ้งได้นำเงินสดจำนวน 1,000,000 บาท มาชำระให้นายปลา แต่นายปลากลับปฏิเสธที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับนายกุ้ง ย่อมถือว่านายปลาฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ นายปลาจึงต้องส่งสร้อยคอทองคำที่ได้รับไว้คืนให้แก่นายกุ้งตามมาตรา 378 (3)

ส่วนโฉนดที่ดินซึ่งมิใช่มัดจำตามมาตรา 377 นายปลาก็ต้องส่งมอบคืนให้แก่นายกุ้งเช่นเดียวกัน

สรุป

ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นายกุ้งดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 4. นายเอทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับนายบีในราคา 2,000,000 บาท โดยในวันทำสัญญานายเอและนายบีได้ทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นายเอได้ส่งมอบที่ดินให้นายบีในวันเดียวกัน นอกจากนี้นายบียังได้ชำระเงินค่าที่ดินจำนวน 1,000,000 บาท ให้นายเอด้วย ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,000,000 บาท จะชำระภายใน 6 เดือน เมื่อผ่านไปได้ 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญา นายบีถูกให้ออกจากงานทำให้นายบีไม่สามารถชำระเงินที่เหลือภายในกำหนดได้ นายเอจึงได้ทำหนังสือทวงถามให้นายบีนำเงินส่วนที่เหลือมาชำระภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับหนังสือฉบับนี้ มิเช่นนั้นนายเอจะบอกเลิกสัญญาขายที่ดิน หลังจากนายบีได้รับหนังสือกว่า 7 วัน นายบีก็ยังไม่ได้นำเงินมาชำระให้แก่นายเอ

ให้วินิจฉัยว่า นายเอจะบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 387 “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้”

มาตรา 391 วรรคแรก “เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่”

วินิจฉัย

การบอกเลิกสัญญาในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ตามมาตรา 387 นั้น นอกจากเจ้าหนี้จะบอกกล่าวเตือนให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนแล้ว เจ้าหนี้จะแสดงเจตนารวมไปด้วยทีเดียวก็ได้ว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดให้ตามที่บอกกล่าวก็ให้ถือว่าเป็นอันเลิกสัญญาทันที โดยไม่จำเป็นที่เจ้าหนี้จะต้องแสดงเจตนาเลิกสัญญาไปอีกครั้งหนึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาที่กำหนดให้นั้นแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับนายบีโดยได้ทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น แม้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อขายกันจะได้โอนไปยังนายบีผู้ซื้อแล้วก็ตาม

แต่เมื่อนายบีผู้ซื้อยังชำระราคาให้แก่นายเอผู้ขายไม่ครบถ้วน จึงเป็นกรณีที่นายบีซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ให้แก่นายเอซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง และการที่นายบีไม่ชำระหนี้เพราะถูกออกจากงานนั้นก็มิใช่เหตุที่จะอ้างตามกฎหมายเพื่อไม่ชำระหนี้แต่อย่างใด

ดังนั้น นายเอจึงมีสิทธิกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้นายบีชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้นายเอภายในกำหนดระยะเวลานั้นได้ตามมาตรา 387 และเมื่อนายเอได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว นายเอย่อมมีสิทธิเรียกที่ดินคืนจากนายบีได้ตามมาตรา 391 วรรคแรก (คำพิพากษาฎีกาที่ 3601/2538)

การที่นายเอได้มีหนังสือแจ้งให้นายบีนำเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือมาชำระภายใน 7 วันนับแต่ได้รับหนังสือนั้น ถือได้ว่าเป็นการบอกกล่าวแก่นายบีแล้ว เมื่อนายบีไม่ชำระราคาภายในกำหนด นายเอย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ และการที่นายเอได้แจ้งแก่นายบีด้วยว่า หากนายบีไม่ชำระเงินให้นายเอภายในกำหนดก็ขอบอกเลิกสัญญานั้น ถือได้ว่านายเอได้แสดงเจตนาเลิกสัญญาต่อนายบีแล้ว

ดังนั้น สัญญาซื้อขายจึงเป็นอันเลิกกันโดยนายเอไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาแก่นายบีอีก (เทียบคำพิพากษาฎีกาที 2331/2522)

สรุป

นายเอไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินอีก เพราะสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นอันเลิกกันแล้วตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

Advertisement