การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายสมชายเป็นหนี้นางคำผกา 100,000 บาท เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้นายสมชายไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ต่อนางคำผกาได้ ดังนั้นด้วยความกลัวว่านางคำผกาจะฟ้องคดีเพื่อยึดรถยนต์คันเดียวที่ตนเหลืออยู่ นายสมชายจึงสมคบกับนายสมศักดิ์ทำการโอนรถคันดังกล่าวให้กับนายสมศักดิ์โดยเสน่หา เพื่อซ่อนเร้นการยึดรถยนต์ของนางคำผกา ต่อมานายสมศักดิ์ติดหนี้การพนันและต้องการใช้เงินจึงขายรถคันดังกล่าวต่อไปให้กับนายสมเดช โดยที่นายสมเดชไม่ทราบถึงการสมคบคิดกันระหว่างนายสมชายกับนายสมศักดิ์ และจ่ายเงินค่ารถคันดังกล่าวให้กับนายสมศักดิ์ไปเป็นจำนวน 500,000 บาท ถัดมาอีก 3 เดือน นายสมเดชได้ขายรถคันดังกล่าวต่อไปให้กับนางสมหญิงโดยที่นางสมหญิงเป็นญาติกับนายสมชายและทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการสมคบคิดกันระหว่างนายสมชายและนายสมศักดิ์ในการโอนรถคันดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงการยึดรถยนต์ของนางคำผกามาโดยตลอด และจ่ายค่ารถคันดังกล่าวให้กับนายสมเดชไปเป็นจำนวน 250,000 บาท

จากข้อเท็จจริงข้างต้น นางคำผกาได้มาขอคำปรึกษาจากท่านว่านางคำผกาจะสามารถฟ้องคดีเพื่อยึดรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 155 วรรคหนึ่ง “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับดูกรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะมีผลตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง คือ ตกเป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กฎหมายมาตรา 155 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติคุ้มครองบุคคลภายนอก โดยห้ามมิให้บุคคลใด ๆ ยกความเป็นโมฆะของการแสดงเจตนาลวงนั้นขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอก ซึ่งเป็นผู้ (1) กระทำการโดยสุจริต และ (2) ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมชายได้สมคบกับนายสมศักดิ์ทำการโอนรถของตนให้กับนายสมศักดิ์โดยเสน่หาด้วยความกลัวว่านางคำผกาเจ้าหนี้ของตนจะฟ้องคดีเพื่อยึดรถยนต์คันดังกล่าวของตนซึ่งเหลืออยู่เพียงคันเดียวเพื่อนำไปชำระหนี้ที่ตนเป็นหนี้นางคำผกานั้น นิติกรรมการโอนรถยนต์คันดังกล่าวระหว่างนายสมชายกับนายสมศักดิ์ถือเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง ดังนั้น นิติกรรมการโอนรถยนต์ดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างนายสมชายกับนายสมศักดิ์แต่อย่างใด

การที่นายสมศักดิ์ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปโอนขายให้แก่นายสฺมเดชโดยนายสมเดชซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ทราบถึงการสมคบคิดกันระหว่างนายสมชายกับนายสมศักดิ์ และได้จ่ายเงินค่ารถคันดังกล่าวให้กับนายสมศักดิ์ไปแล้ว ย่อมถือว่านายสมเดขได้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น

ดังนั้น นายสมเดชจึงได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ นางคำผกาจะยกเรื่องการแสดงเจตนาลวงขึ้นต่อสู้นายสมเดชเพื่อยึดรถยนต์คันดังกล่าวมาชำระหนี้ให้แก่ตนไม่ได้

และเมื่อนายสมเดชได้รับการคุ้มครองแล้ว แม้ต่อมานายสมเดชจะได้ทำการขายรถยนต์คันดังกล่าวต่อให้กับนางสมหญิง แม้นางสมหญิงจะกระทำการโดยไม่สุจริตเพราะทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการสมคบคิดกันระหว่างนายสมชายและนายสมศักดิ์ในการโอนรถคันดังกล่าวมาโดยตลอดก็ตาม ก็จะไม่นำบทบัญญัติมาตรา 155 วรรคหนึ่ง เกี่ยวกับหลักบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมาบังคับใช้อีก ดังนั้น นางคำผกาจึงไม่อาจฟ้องคดีเพื่อยึดรถยนต์คันดังกล่าวจากนางสมหญิงได้อีกเช่นกัน

สรุป

นางคำผกาไม่สามารถฟ้องคดีเพื่อยึดรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่ตนได้

 

ข้อ 2. นายสติจำใจทำนิติกรรมขายที่ดินให้แก่กรมชลประทานทั้ง ๆ ที่นายสติไม่สมัครใจขาย แต่นายสติมีความเชื่อในคำชี้แจงของนายสตังเจ้าหน้าที่กรมชลประทานว่า ถ้าการสร้างทางระบายน้ำขนาดใหญ่ตามโครงการป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทานเสร็จจะทำให้น้ำท่วมที่ดินของนายสติอย่างแน่นอนเพราะที่ดินดังกล่าวอยู่ในแนวการก่อสร้างฯ พอดี นายสติกลัวว่าน้ำจะท่วมที่ดินของตนจริงตามที่นายสตังชี้แจง จึงต้องขายที่ดินให้แก่กรมชลประทานไป โดยที่กรมชลประทานก็ไม่ได้รู้เห็นด้วยกับคำชี้แจงของนายสตังดังกล่าว ต่อมาเมื่อกรมชลประทานสร้างทางระบายน้ำเสร็จ ปรากฏว่าที่ดินของนายสติไม่ได้อยู่ในแนวการก่อสร้างฯ น้ำจึงไม่ท่วมที่ดินของนายสติ

ดังนี้ อยากทราบว่าการแสดงเจตนาซื้อขายที่ดินระหว่างนายสติกับกรมชลประทานมีผลเป็นอย่างไร จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 159 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ

การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสติได้ทำนิติกรรมขายที่ดินให้แก่กรมชลประทานทั้ง ๆ ที่นายสติไม่สมัครใจขาย แต่ที่นายสติต้องขายนั้นก็เพราะเชื่อในคำชี้แจงของนายสตังเจ้าหน้าที่กรมชลประทานว่าถ้าการสร้างทางระบายน้ำขนาดใหญ่ตามโครงการป้องกันน้ำท่วมชองกรมชลประทานเสร็จจะทำให้น้ำท่วมที่ดินของนายสติอย่างแน่นอน เพราะที่ดินดังกล่าวอยู่ในแนวการก่อสร้างฯ พอดี แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการก่อสร้างทางระบายน้ำตามโครงการป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทานแล้วเสร็จ น้ำไม่ท่วมที่ดินของนายสติแต่อย่างใด

ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าการชี้แจงของนายสตังเจ้าหน้าที่กรมชลประทานเป็นการจงใจหลอกลวงนายสติ ทำให้นายสติหลงเชื่อว่าน้ำจะท่วมที่ดินของตนจริง จึงต้องขายที่ดินให้กรมชลประทานไป ซึ่งถ้ามิได้มีการหลอกลวงเช่นว่านั้นนายสติก็คงจะไม่ขายที่ดินของตนเนื่องจากที่ดินไม่ได้อยู่ในแนวของทางระบายน้ำแต่อย่างใด

ดังนั้น การกระทำของนายสตังเจ้าหน้าที่กรมชลประทานจึงถือว่าเป็นกลฉ้อฉลถึงขนาดที่ทำให้นายสติหลงเชื่อ ซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะก็คงจะมิได้ทำขึ้นตามมาตรา 159 วรรคสอง

ดังนั้น นิติกรรมการแสดงเจตนาซื้อขายที่ดินระหว่างกรมชลประทานกับนายสติจึงเป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลและมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1044/2534)

สรุป

การแสดงเจตนาซื้อขายที่ดินระหว่างนายสติกับกรมชลประทานมีผลเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2544 นายเก่งได้ทำสัญญากู้เงินจากนายกล้าเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท มีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2545 เมื่อหนี้ถึงกำหนด นายเก่งไม่นำเงินมาชำระนายกล้าได้ติดตามทวงถามด้วยวาจาตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 25 มิถุนายน 2548 นายกล้าได้ส่งจดหมายทวงถามเพื่อให้นายเก่งชำระหนี้เงินที่กู้ยืมไป นายเก่งก็ไม่นำเงินมาชำระให้ วันที่ 26 มิถุนายน 2555 นายเก่งได้นำที่ดินมาจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าว และได้นำเงินไปชำระให้แก่นายกล้าเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท แต่หลังจากนั้นนายเก่งก็ไม่นำเงินมาชำระให้อีกเลย

ดังนั้นนายกล้าจึงได้บังคับชำระหนี้จากที่ดินที่นายเก่งได้นำมาจำนองได้เงินมาจำนวน 250,000 บาท ปรากฏว่ายังมีหนี้ค้างชำระอีกจำนวน 240,000 บาท ต่อมานายกล้าจึงได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 26 มิถุนายน 2557 เพื่อให้นายเก่งชำระหนี้เงินกู้ที่เหลือจำนวน 240,000 บาท นายเก่งต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2555 แล้ว แต่นายกล้าอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายเก่งฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ”

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”

มาตรา 193/28 “การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้”

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี”

มาตรา 193/35     “ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเปีนหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเก่งได้ทำสัญญากู้เงินจากนายกล้าเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2544 โดยมีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2545 นั้น เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายเก่งไม่นำเงินมาชำระ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 25 มิถุนายน 2545 และเนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 คือ อายุความ 10 ปีมาใช้บังคับ ดังนั้นในกรณีนี้อายุความ 10 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 25 มิถุนายน 2555 เมื่อนายกล้าไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด 10 ปี คือภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2555 สิทธิเรียกร้องของนายกล้าที่มีต่อนายเก่งลูกหนี้ย่อมเป็นอันขาดอายุความตามมาตรา 193/9 นายกล้าไม่มีสิทธิฟ้องร้องบังคับให้นายเก่งชำระหนี้แก่ตนได้ และถ้าหากนายกล้าฟ้องให้นายเก่งชำระหนี้ นายเก่งย่อมสามารถยกเอาอายุความนั้นขึ้นมาเพื่อปฏิเสธการชำระหนี้นั้นได้ตามมาตรา 193/10 ทั้งนี้เพราะในกรณีดังกล่าวนี้อายุความได้ขาดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2555 และการที่นายกล้าได้ส่งจดหมายทวงถามเพื่อให้นายเก่งชำระหนี้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2548 นั้น ก็ไม่ทำให้อายุความ สะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แต่อย่างใด

การที่นายเก่งได้นำที่ดินมาจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงิน และได้นำเงินไปชำระให้แก่นายกล้าเป็นจำนวน 10,000 บาท ในวันที่ 26 มิถุนายน 2555 นั้น ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายเก่งลูกหนี้รับสภาพหนี้แก่นายกล้าเจ้าหนี้แต่อย่างใด เพราะกรณีที่จะถือว่าลูกหนี้ได้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) นั้น ต้องเป็นการกระทำก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะขาดอายุความ

ดังนั้น การกระทำของนายเก่งจึงถือว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/28 และเป็นการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้ว

และเมื่อข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า นายกล้าได้บังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินที่นายเก่งได้นำมาจำนองไว้ แต่ได้เพียง 250,000 บาท ยังคงเหลือหนี้ที่ค้างชำระอีกเป็นจำนวน 240,000 บาท เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ได้ขาดอายุความไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2555 และนายกล้าได้นำคดีมาฟ้องศาลเพื่อให้นายเก่งชำระเงินกู้ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 240,000 บาท ในวันที่ 26 มิถุนายน 2557 นายเก่งย่อมสามารถต่อสู้ได้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว และนายกล้าจะฟ้องให้นายเก่งรับผิดตามมาตรา 193/35 ก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะจำนวนเงินส่วนที่เหลืออีก 240,000 บาทนั้น นายเก่งมิได้รับสภาพความรับผิดไว้แต่อย่างใด

สรุป

ข้อต่อสู้ของนายเก่งที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2555 นั้น ฟังขึ้น

 

ข้อ 4. นายประสงค์ย้ายครอบครัวจากต่างจังหวัดเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้นางสาวหวานและนางสาวแหวนบุตรสาว 2 คนของตนได้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพมหานคร นายประสงค์ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด (คอนโดมิเนียม) จากนายประสิทธิจำนวน 2 โครงการ โดยโครงการแรกสัญญาระบุว่าห้องชุดตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 380 ตารางวา มีพื้นที่จอดรถและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ส่วนโครงการที่สองสัญญาระบุว่า เป็นห้องชุดชั้นบนสุดมองเห็นวิวทิวทัศน์กรุงเทพมหานครได้อย่างสวยงามตามที่นายประสงค์ต้องการ นายประสงค์และบุตรสาวทั้งสองถูกใจอย่างมาก จึงตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดดังกล่าวทั้งสองโครงการโดยชำระราคาจำนวนราคา 3 ล้านบาท และ 4 ล้านบาท ตามลำดับให้แก่นายประสิทธิ

ภายหลังนายประสงค์รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองแล้ว นายประสงค์และบุตรสาวทั้งสองพบว่าอาคารชุดโครงการแรกนั้นความจริงตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนดเนื้อที่เพียง 200 ตารางวา ส่วนโครงการที่สองนายประสิทธิได้ว่าจ้างผู้รับเหมามาก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีก 3 ชั้น โดยมิได้แจ้งให้ตนและบุตรสาวทราบแต่อย่างใด นายประสงค์ฟ้องเรียกเงินคืนจำนวน 3 ล้านบาท โดยอ้างว่าสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดโครงการแรกตกเป็นโมฆะเพราะตนสำคัญผิดในทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมและฟ้องเพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายโครงการที่สองโดยอ้างว่านิติกรรมเป็นโมฆียะเพราะตนแสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินแห่งนิติกรรม

ให้วินิจฉัยว่า นายประสงค์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนจำนวน 3 ล้าน และฟ้องเพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดโครงการที่สองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 156 “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวของบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”

มาตรา 157 “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ

ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีที่ 1 การที่นายประสงค์ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด (คอนโดมิเนียม) จากนายประสิทธิโครงการแรก โดยสัญญาระบุว่าห้องชุดตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 380 ตารางวา แต่ความจริงโฉนดที่ดินมีเนื้อที่เพียง 200 ตารางวานั้น แม้ว่าจำนวนเนื้อที่ที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุดจะมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา แต่การแสดงเจตนาของนายประสงค์ก็ไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันจะมีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 156 เพราะนายประสงค์มีเจตนาทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมิใช่ตกลงจะซื้อจะขายที่ดิน ดังนั้น ที่ดินจึงมิใช่ทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมตามที่นายประสงค์อ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม นายประสงค์สามารถอ้างได้ว่าการผิดเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนเนี้อที่ของที่ดินดังกล่าว ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สิน (อาคารชุด) ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญและมีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 157 แต่เมื่อนิติกรรมซึ่งเป็นโมฆียะนั้นยังมิได้ถูกบอกล้างให้ตกเป็นโมฆะ ดังนั้น นายประสงค์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวน 3 ล้านบาท คืนจากนายประสิทธิ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2493/2553)

กรณีที่ 2 การที่นายประสงค์ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด (คอนโดมิเนียม) จากนายประสิทธิโครงการที่สอง โดยในสัญญาระบุว่าเป็นห้องชุดชั้นบนสุด แต่ปรากฏว่านายประสิทธิกลับจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีก 3 ชั้น โดยมิได้แจ้งให้นายประสงค์และบุตรทั้งสองทราบ นิติกรรมจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้เพราะหากนายประสงค์ได้ทราบก่อนหน้านั้นว่าห้องชุดที่ตนรับโอนมานั้นมิใช่ห้องชุดชั้นบนสุดตามที่ตนต้องการแล้วตนจะไม่รับโอน ดังนั้น นิติกรรมการโอนห้องชุดระหว่างนายประสงค์และนายประสิทธิจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 157 นายประสงค์จึงมีสิทธิฟ้องเพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดโครงการที่สองนั้นได้(เทียบฎีกาที่ 3942/2553)

สรุป

นายประสงค์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนจำนวน 3 ล้านบาท แต่สามารถฟ้องเพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดโครงการที่สองได้

Advertisement