การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายมานะ อายุ 18 ปี ซื้อรถจักรยานยนต์คับหนึ่งจากร้านนางมานี ราคา 18,000 บาท โดยไม่ได้บอกให้นางชูใจมารดารู้ หลังจากซื้อรถจักรยานยนต์มาได้ 7 วัน นางชูใจรู้เรื่องจึงแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ โดยนางชูใจทำหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายดังกล่าว แล้วมอบให้นายมีนาถือไปส่งให้นางมานีที่ร้านของนางมานี แต่ปรากฏว่านางมานีไม่อยู่ นายมีนาจึงได้ส่งหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายนั้นให้ไว้แก่นางเมษาเจ้าของร้านค้าซึ่งอยู่ติดกันร้านของนางมานีรับไว้แทน

ดังนี้ การแสดงเจตนาของนางชูใจที่บอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายมานะและนางมานี มีผลสมบูรณ์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคแรก “การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า ให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา…”

วินิจฉัย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า จะมีผลสมบูรณ์นับตั้งแต่ที่การแสดงเจตนานั้นได้ไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้น คำว่า “ไปถึง” ในที่นี้หมายความว่า การแสดงเจตนานั้นได้ถูกส่งไปอยู่ในเงื้อมมือของผู้รับการแสดงเจตนาแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้รับการแสดงเจตนานั้นจะได้ทราบถึงการแสดงเจตนานั้นหรือไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางชูใจทำหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายมานะกับนางมานี แล้วมอบให้นายมีนาถือไปส่งให้นางมานีที่ร้านของนางมานี แต่ปรากฏว่านางมานีไม่อยู่และนายมีนาได้ส่งหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายดังกล่าวให้ไว้แก่นางเมษาเจ้าของร้านค้าซึ่งอยู่ติดกับร้านของนางมานีรับไว้แทนนั้น กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายดังกล่าวยังไม่ไปอยู่ในเงื้อมมือของนางมานี จึงยังถือไม่ได้ว่าการแสดงเจตนาของนางชูใจได้ไปถึงนางมานี ดังนั้น การแสดงเจตนาของนางชูใจที่บอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายมานะกับนางมานีจึงยังไม่มีผลสมบูรณ์

สรุป

การแสดงเจตนาของนางชูใจที่บอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายมานะกับนางมานียังไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคแรก

 

ข้อ 2. นายส้มโอทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้กับนายแตงโมแปลงหนึ่ง โดยตกลงกันว่าเมื่อนายแตงโมชำระราคาที่ดินให้นายส้มโอครบถ้วนแล้วภายใน 30 วันนับจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย นายส้มโอจึงจะจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับนายแตงโม ครั้นครบกำหนดนัดที่นายแตงโมจะต้องชำระราคาที่ดินให้แก่นายส้มโอ นายแตงโมกลับหลีกเลี่ยงที่จะชำระเงิน นายส้มโอจึงมาระบายความทุกข์ให้นายมะละกอซึ่งเป็นนักเลงหัวไม้ฟัง นายมะละกอได้ยินดังนี้ จึงไปหานายแตงโมแล้วพูดว่า ถ้านายแตงโมไม่ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับนายส้มโอ นายส้มโอก็จะไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้

ด้วยความกลัวนายแตงโมจึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่นายส้มโอให้ท่านวินิจฉัยว่า หนังสือรับสภาพหนี้ที่นายแตงโมทำขึ้นมีผลทางกฎหมายเช่นไร

ธงคำตอบ

หลักกูฏหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 164 “การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น”

มาตรา 165 วรรคแรก “การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่”

มาตรา 166 “การข่มขู่ย่อมทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะ แม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าโดยหลักแล้ว การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ หมายความว่าเป็นการใช้อำนาจบังคับจิตใจของบุคคล เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ การแสดงเจตนานั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ และการข่มขู่นั้นย่อมทำการแสดงเจตนาตกเป็นโมฆียะ แม้จะเป็นการข่มขู่โดยบุคคลภายนอก (มาตรา 164 และมาตรา 166) แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นการข่มขู่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆียะ เช่น การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมตามมาตรา 165 วรรคแรก เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายส้มโอทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้กับนายแตงโม โดยตกลงกันว่าเมื่อนายแตงโมชำระราคาที่ดินให้นายส้มโอครบถ้วนแล้วภายใน 30 วัน นับจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย นายส้มโอจึงจะจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับนายแตงโม แต่เมื่อครบกำหนดนายแตงโมกลับหลีกเลี่ยงที่จะชำระเงินทำให้นายมะละกอซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ไปพูดขู่กับนายแตงโมว่า ถ้านายแตงโมไม่ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับนายส้มโอ นายส้มโอก็จะไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้ และด้วยความกลัวนายแตงโมจึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่นายส้มโอนั้น กรณีเช่นนี้ จะเห็นได้ว่า แม้การแสดงเจตนาเข้าทำนิติกรรมของนายแตงโมคือการทำหนังสือรับสภาพหนี้นั้น เป็นเพราะถูกบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่สัญญาข่มขู่ซึ่งโดยหลักแล้วจะตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 164ประกอบมาตรา 166 ก็ตาม

แต่เมื่อการขู่ของนายมะละกอบุคคลภายนอกนั้น เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมตามมาตรา 165 วรรคแรก ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการขู่ของนายมะละกอบุคคลภายนอกจึงไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่อันจะทำให้การแสดงเจตนาเข้าทำหนังสือรับสภาพหนี้ของนายแตงโมเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

สรุป

หนังสือรับสภาพหนี้ที่นายแตงโมทำขึ้นมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2553 นายหมอกได้ไปซื้ออุปกรณ์ก่อสร้างจากร้านของนายหมึกมาเพื่อซ่อมแซมและต่อเติมบ้าน เป็นจำนวนเงินสองแสนบาท แต่นายหมอกยังไม่ได้ชำระราคาค่าอุปกรณ์ก่อสร้างโดยนัดจะมาชำระราคาให้กับนายหมึกในวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ครั้นเมื่อถึงกำหนดนายหมอกก็มิได้นำเงินมาชำระแต่อย่างใด นายหมึกติดตามทวงถามด้วยวาจาตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 26 สิงหาคม 2555 นายหมอกนำเงินมาชำระให้บางส่วนเป็นเงินห้าหมื่นบาท ส่วนที่เหลือจะนำมาชำระให้ในวันที่ 15 กันยายน 2555 แต่เมื่อถึงกำหนดนายหมอกก็มิได้นำเงินมาชำระอีก นายหมึกจึงนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลในวันที่ 15 กันยายน 2556 นายหมอกต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว นายหมึกอ้างว่าคดียังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2555

อยากทราบว่าข้ออ้างของนายหมึกฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ มาตรา 193/34 “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปะอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อิน รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง”

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/3 “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น

ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ยให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”

มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายหมอกได้ซื้ออุปกรณ์ก่อสร้างจากร้านของนายหมึกเป็นจำนวนเงิน 200,000บาท โดยมีกำหนดชำระราคาในวันที่ 25 สิงหาคม 2553 แต่เมื่อถึงกำหนดนายหมอกก็มิได้นำเงินมาชำระแต่อย่างใด ดังนั้นกรณีนี้อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 26 สิงหาคม 2553 (มาตรา 193/3 วรรคสอง)

และเนื่องจากสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตามมาตรา 193/34 (1) ได้กำหนดให้มีอายุความ 2 ปี ดังนั้นกรณีนี้อายุความ 2 ปีจะครบกำหนดในวันที่ 25 สิงหาคม 2555

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันที่ 26 สิงหาคม 2555 นายหมอกนำเงินมาชำระให้บางส่วนเป็นเงิน 50,000 บาท ซึ่งการชำระหนี้บางส่วนดังกล่าวนั้นเป็นการชำระหนี้เมื่อเลยกำหนดอายุความเดิมมาแล้ว

จึงไม่ถือว่าเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนายหมึกนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลในวันที่ 15 กันยายน 2555โดยอ้างว่าคดียังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความสะดุดหยุดลง

ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2555 นั้น ข้ออ้างของนายหมึกจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

ข้ออ้างของนายหมึกที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความสะดุดหยุดลงแล้วนั้นฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 4. นายกุ้งน้อยทำสัญญาจ้างนายไข่ย้อยก่อสร้างบ้านให้ตนหนึ่งหลังราคา 5 ล้านบาทถ้วน โดยสัญญาก่อสร้างบ้านได้ตกลงให้มีเบี้ยปรับกันไว้ว่าถ้านายไข่ย้อยไม่สร้างบ้านให้สำเร็จจะไปหาช่างคนอื่นมาสร้างให้แทน ต่อมาปรากฎว่านายไข่ย้อยไม่มาสร้างบ้านให้สำเร็จ นายไข่ย้อยจึงต้องไปหานายควายนุ้ยมาสร้างบ้านให้แทน แต่ทว่านายควายนุ้ยคิดราคาค่าก่อสร้าง 6 ล้านบาทถ้วน นายกุ้งน้อยต้องการรีบสร้างบ้านให้เสร็จจึงต้องยอมตกลงด้วย และรู้สึกโกรธที่นายไข่ย้อยไม่รักษาสัญญา จึงมาปรึกษากับท่านเพื่อจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่นายไขย้อยไม่ก่อสร้างบ้านให้ตามสัญญา แต่ไปให้นายควายนุ้ยก่อสร้างบ้านให้แทนโดยคิดราคา 6 ล้านบาทถ้วน ทำให้นายกุ้งน้อยเสียหายต้องจ่ายค่าก่อสร้างเพิ่มอีก 1 ล้านบาทถ้วน ท่านจะให้คำแนะนำทางกฎหมายแก่นายกุ้งน้อยว่าอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งเละพาณิชย์

มาดรา 382 ‘‘ถ้าสัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นให้เป็นเบี้ยปรับไม่ใช่ใช้เป็นจำนวนเงินไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 379 ถึงมาตรา 381 มาใช้บังคับ ถ้าเจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็เป็นอันขาดไป ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกุ้งน้อยทำสัญญาจ้างนายไข่ย้อยก่อสร้างบ้านให้ตนหนึ่งหลังราคา 5 ล้านบาทถ้วน โดยในสัญญาได้มีข้อตกลงให้มีเบี้ยปรับกันไว้ว่า ถ้านายไข่ย้อยไม่สร้างบ้านให้สำเร็จจะไปหาช่างคนอื่นมาสร้างให้แทนนั้น ถือว่าเป็นสัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นให้เป็นเบี้ยปรับ ที่ไม่ใช่ใช้เป็นจำนวนเงินตามมาตรา 382

และเมื่อปรากฏว่านายไข่ย้อยไม่มาสร้างบ้านให้สำเร็จ นายไข่ย้อยจึงต้องไปหานายควายนุ้ยมาสร้างบ้านให้แทนโดยนายควายนุ้ยคิดราคาค่าก่อสร้าง 6 ล้านบาทถ้วน และนายกุ้งน้อยยอมตกลงนั้น ถือว่าการที่นายกุ้งน้อยตกลงให้นายควายนุ้ยมาสร้างบ้านแทนนายไข่ย้อยจึงเป็นการเรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนก็เป็นอันขาดไปตามมาตรา 382 ดังนั้น นายกุ้งน้อยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าสร้างบ้านเพิ่มอีก 1 ล้านบาทถ้วน ที่ต้องจ่ายเพิ่มให้นายควายนุ้ยจากนายไข่ย้อยได้อีก

สรุป

เมื่อนายกุ้งน้อยมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำทางกฎหมายแก่นายกุ้งน้อยดังที่ได้กล่าวไว้ดังกล่าวข้างต้น

Advertisement