การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา 2555 

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ   ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน) 

ข้อ  1

(ก)   ในกรณีมีการแสดงเจตนาทำนิติกรรม  หลังจากผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  ผู้แสดงเจตนาตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  ตามหลักทั่วไป  การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใด  ให้อธิบายโดยสังเขป

(ข)  นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี  ส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอขายที่ดินแปลงหนึ่งพร้อมบ้านหนึ่งหลังของตน ที่จังหวัดสระบุรีให้แก่นางจันทร์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานีในราคาสองล้าน บาท  หลังจากส่งจดหมายไปแล้ว  3  วัน  นายอาทิตย์ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ  นางจันทร์ได้ทราบข่าวว่านายอาทิตย์ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว  

แต่อยากได้ที่ดินและบ้านที่นายอาทิตย์เสนอขาย  นางจันทร์จึงเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์ตอบตกลงซื้อที่ดินและบ้านส่งไปให้นายอาทิตย์  ณ  ที่อยู่ของนายอาทิตย์  กรณีปรากฏว่านายอังคารบุตรของนายอาทิตย์ซึ่งพักอาศัยอยู่ที่บ้านของนายอาทิตย์ได้รับจดหมายดังกล่าวไว้  ดังนี้  สัญญาซื้อขายที่ดินและบ้าน  ระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทร์เกิดขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

(ก)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป  แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

อธิบาย  จากหลักการข้างต้นจะเห็นได้ว่า  ในกรณีที่มีการแสดงเจตนาทำนิติกรรม  ผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาออกไปแล้ว  หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนาถึงแก่ความตาย  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถตามหลักทั่วไปในมาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนานั้นไม่เสื่อมเสียไปตามตัวบุคคลผู้แสดงเจตนา  เมื่อการแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนาแล้ว  การแสดงเจตนานั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  169  วรรคแรก

(ข)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป  แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ 

มาตรา  360  บทบัญญัติแห่งมาตรา  169  วรรคสองนั้น  ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดงหรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น  คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า  ผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติของ  ป.พ.พ.  มาตรา  360  นั้น  ข้อความที่ว่า  “ผู้เสนอ … ตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ”  จะต้องตีความในความหมายอย่างกว้าง  กล่าวคือ  ให้หมายความทั้งกรณีที่ผู้เสนอถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  และกรณีที่ผู้เสนอถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถด้วย 

ดังนั้น  กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี  ได้ส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอขายที่ดินแปลงหนึ่งพร้อมบ้านหนึ่งหลังของตนให้แก่นางจันทร์  ซึ่งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี  และปรากฏว่าก่อนที่นางจันทร์จะทำคำสนองตอบตกลงซื้อที่ดินและขายบ้านของนายอาทิตย์นั้น  นางจันทร์ได้รู้อยู่แล้วว่านายอาทิตย์ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว  กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  360  ซึ่งมิให้นำมาตรา  169  วรรคสอง  มาใช้บังคับ  จึงมีผลให้การแสดงเจตนาเสนอขายที่ดินและบ้านของนายอาทิตย์เป็นอันเสื่อมเสียไป  คือถือว่าไม่มีการแสดงเจตนาเสนอขายที่ดินและบ้านของนายอาทิตย์นั่นเอง

และเมื่อถือว่ากรณีดังกล่าวไม่มีคำเสนอของนายอาทิตย์  มีแต่เพียงคำสนองของนางจันทร์  ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทร์จึงไม่เกิดขึ้น 

สรุป  สัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทร์  ไม่เกิดขึ้นตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 


ข้อ  2  นาย  ก  เป็นหนี้เงินกู้ยืมนาย  ข  จำนวน  
500,000  บาท  เมื่อครบกำหนดชำระคืน  นาย  ก  ผิดนัดไม่ชำระหนี้  นาย  ข  จึงขู่นาย  ก  ว่า  ถ้าไม่ทำหนังสือรับสภาพหนี้  หรือไม่หาทรัพย์มาเป็นประกัน  จะฟ้องเรียกเงินกู้ยืมนั้นต่อศาล  ด้วยความกลัว  นาย  ก  จึงนำแหวนเพชรวงหนึ่งมาส่งมอบให้แก่นาย  ข  ต่อมานาย  ก  ได้มาปรึกษาท่านว่าจะใช้สิทธิบอกล้างโดยอ้างว่าการส่งมอบแหวนเพชรเป็นหลักประกันนั้นเป็นเพราะการข่มขู่ของนาย  ข

ให้ท่านให้คำปรึกษาแก่นาย  ก  โดยอ้างหลักกฎหมายประกอบคำปรึกษานั้น

ธงคำตอบ

มาตรา  164  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา  165  วรรคแรก  การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าว  จะเห็นได้ว่าโดยหลักแล้ว  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่หมายความว่า  เป็นการใช้อำนาจบังคับจิตใจของบุคคล  เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ  การแสดงเจตนานั้น

ย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา  164    แต่มีข้อยกเว้นว่า  ถ้าเป็นการข่มขู่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมทำได้  ไม่ตกเป็นโมฆียะ  เช่น   การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม  ตามมาตรา  165  วรรคแรก  ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย  เป็นการใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างที่ปกติคนทั่วไปเขาใช้กัน  เช่น  การใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้หนี้ตน  เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  เป็นหนี้เงินกู้ยืม  นาย  ข  จำนวน  500,000  บาท  เมื่อครบกำหนดชำระคืน  นาย  ก  ผิดนัดไม่ชำระหนี้  นาย  ข  จึงขู่นาย  ก  ว่า  ถ้าไม่ทำหนังสือรับสภาพหนี้หรือไม่หาทรัพย์มาเป็นประกัน  นาย  ข  จะฟ้องเรียกเงินกู้ยืมนั้นต่อศาล  ด้วยความกลัว  นาย  ก  จึงนำแหวนเพชรวงหนึ่งมาส่งมอบให้แก่นาย  ข  นั้น  แม้ว่าการแสดงเจตนาของนาย  ก  จะเป็นการแสดงเจตนาเนื่องจากถูกนาย  ข  ขู่ก็ตาม  แต่เมื่อการขู่ของนาย  ข  นั้น  เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม  ตามมาตรา  165  วรรคแรก  ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย  และเป็นการใช้สิทธิซึ่งนาย  ข  มีสิทธิจะฟ้องนาย  ก  ต่อศาลได้อยู่แล้ว  ดังนั้นการขู่ของนาย  ข  จึงไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่อันจะทำให้การแสดงเจตนาของนาย  ก  เป็นโมฆียะแต่อย่างใด  นาย  ก  จะใช้สิทธิบอกล้าง  โดยอ้างว่า  การส่งมอบแหวนเพชรเป็นหลักประกัน  เป็นการแสดงเจตนาที่เป็นโมฆียะเนื่องจากการข่มขู่ของนาย  ข  ไม่ได้

สรุป  เมื่อนาย  ก  มาปรึกษาข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นาย  ก  ว่า  นาย  ก  ไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาจำนำแต่อย่างใด  ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 


ข้อ  3  เมื่อวันที่  10  กุมภาพันธ์  2552  นางดวงจันทร์ได้ไปดัดฟันที่คลินิกทันตกรรมของนายวันชัย  นายวันชัยได้คิดเงินค่าดัดฟันเป็นเงินจำนวน  
50,000  บาท  เมื่อดัดฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว  นางดวงจันทร์ได้จ่ายเงินค่าดัดฟันจำนวน  5,000  บาท  ส่วนเงินที่เหลืออีก  45,000  บาท  ขอเชื่อไว้ก่อน  และจะนำมาชำระให้ในวันที่  25  กุมภาพันธ์  2552  เมื่อถึงกำหนดชำระ  นางดวงจันทร์ไม่มีเงินมาชำระ  นายวันชัยได้ทวงถามตลอดมา  แต่นางดวงจันทร์ก็ไม่นำเงินมาชำระ  

จนกระทั่งวันที่  20  กุมภาพันธ์  2554  ซึ่งเหลือเวลาอีก  5  วัน  จะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  นางดวงจันทร์ได้นำเงินไปชำระให้นายวันชัยอีก  5,000  บาท  หลังจากนั้นก็ไม่ได้นำมาชำระให้อีกเลย  นายวันชัยจึงนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  3  กันยายน  2555  นางดวงจันทร์ต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  แต่นายวันชัยอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ  เพราะอายุความสะดุดหยุดลง  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนางดวงจันทร์ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ป.พ.พ.  มาตรา  193/34  “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี 

(15)  ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม  ทันตกรรม … เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป”

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน  ชำระดอกเบี้ย  ให้ประกัน  หรือกระทำการใดๆ  อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา  193/15  เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว  ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด  ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางดวงจันทร์ได้เป็นหนี้ค่าดัดฟันกับนายวันชัย  เมื่อวันที่  10  กุมภาพันธ์  2552  และจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่  25  กุมภาพันธ์  2552  แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดชำระ  นางดวงจันทร์ไม่มีเงินชำระ  จนกระทั่งวันที่  20  กุมภาพันธ์  2554  ซึ่งเหลือเวลาอีก  5  วันจะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  193/34 (15)  นางดวงจันทร์ได้นำเงินไปชำระให้นายวันชัยจำนวน  5,000  บาทนั้น  การกระทำของนางดวงจันทร์ลูกหนี้  ถือว่าเป็นการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บางส่วน  จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  193/14(1)

แต่เมื่อกรณีดังกล่าว  ถือว่าอายุความได้สะดุดหยุดลงในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2554  จึงต้องเริ่มต้นนับอายุความใหม่อีก  2  ปี  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  193/15  ดังนั้นอายุความ  2  ปี  จะครบกำหนดในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2556  เมื่อนายวันชัยได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  3  กันยายน  2555  คดีจึงไม่ขาดอายุความ  นางดวงจันทร์จะต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้วไม่ได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของนางดวงจันทร์ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  4  คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ข้อเท็จจริงได้ความว่า  นางสมศรีเลี้ยงวัวไว้จำนวน  20  ตัว  นางสมศรีตกลงขายวัวจำนวน  20  ตัวนั้นให้แก่นายสมหวังในราคา  2  ล้านบาท  กำหนดชำระราคาวัวและส่งมอบวัวดังกล่าวกันในวันที่  31  ตุลาคม  2555  แต่เมื่อถึงวันที่  28  ตุลาคม  2555  เกิดโรควัวบ้าระบาดอย่างหนัก  ในจังหวัดที่นางสมศรีอยู่  ทำให้วัวของนางสมศรีติดเชื้อโรควัวบ้า  ทางราชการจึงต้องทำการฆ่าวัวจำนวน  20  ตัว  ด้วยการฝังทั้งเป็นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค  นางสมศรีจึงไม่สามารถส่งมอบวัวจำนวน  20  ตัว  ให้แก่นายสมหวังได้  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายสมหวังต้องชำระราคาวัวให้แก่นางสมศรีหรือไม่  เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  370  วรรคหนึ่ง  ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมี วัตถุประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและ ทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง  อันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้  ท่านว่า  การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นางสมศรีได้ตกลงขายวัวของตนทั้งหมด  20  ตัว  ให้แก่นายสมหวังในราคา  2  ล้านบาทนั้น  สัญญาซื้อขายวัวระหว่างนางสมศรีกับนายสมหวัง  เป็นการทำสัญญาต่างตอบแทน  มีวัตถุประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง  เมื่อปรากฏว่าวัวที่นางสมศรีจะต้องส่งมอบให้แก่นายสมหวัง  ได้ถูกทางราชการทำการฆ่าทั้งหมดเนื่องจากติดเชื้อโรควัวบ้า  ทำให้นางสมศรีไม่สามารถส่งมอบวัวจำนวน  20  ตัวให้แก่นายสมหวังได้  จึงเป็นกรณีที่ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญา  สูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอันจะโทษนางสมศรี  (ลูกหนี้ในอันที่จะส่งมอบวัว)  ไม่ได้  การสูญหรือเสียหายนั้นจึงตกเป็นพับแก่นายสมหวัง  (เจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับมอบวัว)  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  370  วรรคแรก

ดังนั้น  ถึงแม้ว่านางสมศรีจะไม่สามารถส่งมอบวัวให้แก่นายสมหวังได้  นายสมหวังก็ยังต้องชำระราคาวัวให้แก่นางสมศรีเต็มจำนวน  ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาคือ  2  ล้านบาท

สรุป  นายสมหวังต้องชำระราคาวัวให้แก่นางสมศรีเต็มจำนวน  ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาคือ  2  ล้านบาท

Advertisement