การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. กฎหมายต้องมีคุณลักษณะเช่นไร และกฎหมายตามเนื้อความ และกฎหมายตามแบบพิธีหมายความว่า อย่างไร อธิบาย

ธงคำตอบ

กฎหมาย คือ ส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มีต่อกันภายในองค์กรทางสังคมที่มนุษย์เป็นสมาชิกสังกัดอยู่ นอกจากนี้กฎหมายยังหมายรวมถึงกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับองค์กรทางสังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่และในหมู่ประเทศที่มีอารยะด้วย ซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของประเทศเหล่านั้น สำหรับกฎหมายในส่วนนี้ได้แก่ กฎหมายระหว่างประเทศนั่นเอง

สำหรับสิ่งที่เป็นกฎหมายต้องมีลักษณะ ดังนี้

  1. กฎหมายต้องมาจากรัฏฐาธิปัตย์ คือ มาจากบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐหรือของประเทศในการตรากฎหมาย
  2. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป คือ กฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้วย่อมมีผลใช้บังคับกับบุคคลทุกคนที่อยู่ในรัฐหรือในประเทศนั้น ๆ อย่างเสมอภาค ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

แต่อาจจะมีข้อยกเว้นบ้างในบางกรณี เช่น ในกรณีของทูต หรือกงสุลที่เข้ามาในประเทศไทย เป็นต้น

  1. กฎหมายต้องใช้ได้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก คือ เมื่อได้มีการประกาศใช้กฎหมายใดแล้ว ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิก กฎหมายย่อมมีผลใช้บังคับอยู่เสมอ ซึ่งการยกเลิกกฎหมายอาจเป็นการยกเลิกโดยบทบัญญัติของกฎหมายนั้นเอง หรือมีกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า หรือมีการยกเลิกโดยปริยายเมื่อกฎหมายเก่าขัดกับกฎหมายใหม่
  2. กฎหมายนั้นประชาชนจำต้องปฏิบัติตาม ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องให้กระทำการหรือเป็นเรื่องให้ละเว้นกระทำการก็ได้ ซึ่งถ้ามีผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษ
  3. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ซึ่งสภาพบังคับตามกฎหมายนั้นมีได้ทั้งในทางอาญาและในทางแพ่ง

–           สภาพบังคับในทางอาญา คือ “โทษ” นั่นเอง ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้มี 5 ชนิด โดยเรียงจากโทษหนักที่สุดไปยังโทษเบาที่สุด ได้แก่

  1. ประหารชีวิต
  2. จำคุก
  3. กักขัง
  4. ปรับ
  5. ริบทรัพย์สิน

–           สภาพบังคับในทางแพ่ง หรือความรับผิดในทางแพ่งนั้น คือ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กัน ได้แก่ การคืนทรัพย์ การชดใช้ราคาแทนทรัพย์ และรวมถึงการชดใช้ค่าเสียหายด้วย

ซึ่งกฎหมายที่มีลักษณะครบองค์ประกอบทั้ง 5 ประการ ดังกล่าวข้างต้นนั้น จัดเป็นกฎหมายประเภทที่เรียกกันว่า “กฎหมายตามเนื้อความ”

ส่วนกฎหมายอีกประเภทหนึ่ง แม้จะผ่านกระบวนการบัญญัติกฎหมายตามปกติ แต่ก็มีลักษณะไม่ครบองค์ประกอบที่เป็นกฎหมายตามเนื้อความ เช่น ไม่มีบทบัญญัติกำหนดความประพฤติของมนุษย์ซึ่งหากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ กฎหมายจำพวกนี้มักจะเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เช่น การตราพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน หรือเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้ เรียกว่า “กฎหมายตามแบบพิธี”

 

ข้อ 2. การทำนิติกรรมของบุคคลดังต่อไปนี้ มีผลอย่างไรในทางกฎหมาย อธิบาย

(1) ผู้เยาว์อายุ 15 ปีบริบูรณ์ ทำพินัยกรรมขึ้นมา 1 ฉบับ

(2) คนไร้ความสามารถ ทำพินัยกรรมขึ้นมา 1 ฉบับ

(3) คนเสมือนไร้ความสามารถ ทำพินัยกรรมขึ้นมา 1 ฉบับ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมของผู้หย่อนความสามารถไว้ดังนี้

มาตรา 25 “ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์”

มาตรา 1703 “พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 1704 “พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้น ผู้ทำจริตวิกลอยู่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ และคนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม พินัยกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไรนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

(1) ผู้เยาว์อายุ 15 ปีบริบูรณ์ ทำพินัยกรรม พินัยกรรมย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายตามมาตรา 25 ประกอบมาตรา 1703

(2) คนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม พินัยกรรมย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1704 วรรคหนึ่ง

(3) คนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม พินัยกรรมย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ทั้งนี้เพราะกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีผลเป็นโมฆะ หรือโมฆียะแต่อย่างใด อีกทั้งการทำพินัยกรรมของคนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ก็มิใช่การกระทำที่เป็นการขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 34 แต่อย่างใด

สรุป

(1) ผู้เยาว์อายุ 15 ปีบริบูรณ์ทำพินัยกรรม มีผลสมบูรณ์

(2) คนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม มีผลเป็นโมฆะ

(3) คนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม มีผลสมบูรณ์

 

ข้อ 3. บุคคลย่อมถึงแก่ความตาย หรือให้ถือว่าถึงแก่ความตายในกรณีใดบ้าง อธิบายโดยละเอียดพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

ตามกฎหมาย บุคคลย่อมถึงแก่ความตายหรือให้ถือว่าถึงแก่ความตายมีได้ 2 กรณี ได้แก่ การตายตามธรรมดา และการถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ซึ่งถือว่าเป็นการตายโดยผลแห่งกฎหมาย

  1. การตายตามธรรมดา หมายถึง การที่บุคคลหมดลมหายใจ และหัวใจหยุดเต้นนั่นเอง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น การที่บุคคลเจ็บป่วยถึงแก่ความตาย หรือประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตาย เป็นต้น เพียงแต่ปัจจุบันในทางการแพทย์นั้น ถือว่าเมื่อแกนสมองตาย ก็ถือได้ว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายและให้สภาพบุคคลสิ้นสุดลง
  2. การตายโดยการถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญตามมาตรา 61 ซึ่งแยกออกเป็น 2 กรณี คือหลักเกณฑ์ ดังนี้คือ

1) การเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดาตามมาตรา 61 วรรคแรก ซึ่งจะต้องประกอบด้วย

(1)       บุคคลนั้นได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่นอนว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นเวลา 5 ปี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีผู้ได้พบเห็น หรือนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้จากภูมิลำเนาไปหรือนับแต่วันที่ได้ทราบข่าวคราวของบุคคลนั้นในครั้งหลังสุดเป็นต้นไป

(2)       ผู้มิส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ “ผู้มีส่วนได้เสีย” หมายถึง บุคคลที่จะมีหรือเกิดสิทธิขึ้น เนื่องจากคำสั่งศาล เช่น สามีภริยา บิดามารดา ลูก หลาน ฯลฯ ของบุคคลที่ไปจากภูมิลำเนานั่นเอง

(3)       ศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ และเมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตาย และทำให้สภาพบุคคลของบุคคลนั้นสิ้นสุดลง

ตัวอย่าง นาย ก. ได้เดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครทราบข่าวคราวของนาย ก. อีกเลย ดังนี้ถ้าครบ 5 ปีนับแต่วันที่นาย ก. ได้หายไป พนักงานอัยการหรือผู้มีส่วนได้เสีย อาจร้องขอต่อศาลให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญได้ และหากศาลมีคำสั่งให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญแล้ว ย่อมถือว่า นาย ก. ได้ถึงแก่ความตาย และทำให้สภาพบุคคลของนาย ก. สิ้นสุดลง

2) การเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ ซึ่งหลักเกณฑ์การเป็นคนสาบสูญในกรณีพิเศษนั้น ก็ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการ เช่นเดียวกับการเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดา เพียงแต่ตามมาตรา 61 วรรคสอง ให้นับระยะเวลาลดลงมาเหลือเพียง 2 ปีเท่านั้น โดยให้นับตั้งแต่

(1)       วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบ หรือสงครามดังกล่าว เช่น นายแดงรับราชการทหารถูกส่งไปรบที่ชายแดน และสูญหายไปในการรบติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี หรือ

(2)       วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางไป อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

เช่น นายแดงเดินทางท่องเที่ยวทางเรือ และเรือถูกพายุพัดจนอับปาง ทำให้นายแดงสูญหายไป เป็นต้น หรือ

(3)       วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ(1)และข้อ (2)ได้ ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น ตัวอย่าง นาย ก. ได้เดินทางไปเที่ยวที่เกาะสิมิลัน ระหว่างการเดินทางเรือได้เจอพายุและอับปางลง ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตาย และสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งนาย ก. ด้วยที่ได้สูญหายไปโดยไม่มีใครได้รับข่าวคราวหรือพบเห็นตัวนาย ก. เลย ดังนี้ถ้า นาง ข. ภริยาของนาย ก. จะร้องขอให้ศาลสั่งให้นาย ก.เป็นคนสาบสูญ นาง ข. สามารถร้องขอได้เมื่อครบกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่เรืออับปาง โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนด 5 ปีแต่อย่างใด

Advertisement