การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. การตีความกฎหมายคืออะไร เพราะเหตุใดจึงจำเป็นต้องมีการตีความกฎหมาย และการตีความกฎหมายแพ่งและการตีความกฎหมายอาญา มีความแตกต่างกันอย่างไร หรือไม่ อธิบาย

ธงคำตอบ

“การตีความกฎหมาย” คือ การหยั่งทราบว่าถ้อยคำของตัวบทกฎหมายมีความหมายว่าอย่างไรและเหตุที่ต้องมีการตีความกฎหมายก็เพราะว่า ถ้อยคำของตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้มีความไม่ชัดเจนแน่นอน คือมีถ้อยคำที่กำกวมหรือมีความหมายได้หลายทาง จึงมีความจำเป็นต้องมีการตีความเพื่อหยั่งทราบว่าถ้อยคำของตัวบทกฎหมายมีความหมายว่าอย่างไร และเมื่อตีความกฎหมายได้แล้วก็จะได้นำเอากฎหมายนั้นไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่ต้องการวินิจฉัยได้ต่อไป

การตีความกฎหมายแพ่งและการตีความกฎหมายอาญา มีความแตกต่างกันดังนี้คือ

“หลักในการตีความกฎหมายแพ่ง” มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่ง ซึ่งเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ที่ได้บัญญัติว่า “กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ” กล่าวคือ จะต้องค้นหาความหมายของบทบัญญัติของกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายไปพร้อม ๆ กัน จึงจะได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของกฎหมายนั้น โดยแยกได้ดังนี้ คือ

  1. การตีความตามตัวอักษร ซึ่งจะต้องตีความทั้งศัพท์ธรรมดาที่มีความหมายเป็นธรรมดาทั่วไป เช่น คำว่า บุตร บิดามารดา ฯลฯ และศัพท์เฉพาะที่มีความหมายทางเทคนิคหรือทางวิชาการ เช่น คำที่อยู่ในตำรากฎหมายหรือบทความทางกฎหมาย ฯลฯ เพื่อจะได้ทราบความหมายของตัวอักษรเสียก่อน และ
  2. การตีความตามเจตนารมณ์ เพื่อค้นหาความหมายอันแท้จริงของกฎหมายว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายอาจดูได้จากที่มา ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย จากถ้อยคำของบทบัญญัตินั้น ๆ หรือดูจากสถานการณ์ในขณะบัญญัติกฎหมาย รวมถึงจากรายงานการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมายนั้น ๆ ด้วย

“หลักในการตีความกฎหมายอาญา” เนื่องจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ดังนั้น กฎหมายอาญาจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด กล่าวคือ ต้องตีความเฉพาะการกระทำหรืองดเว้นการกระทำเท่าที่ระบุไว้ในกฎหมายเท่านั้น จึงจะเป็นความผิดศาลจะตีความกฎหมายอาญาในทางขยายความไปเอาผิดกับการกระทำซึ่งไม่เป็นความผิดมาลงโทษไม่ไค้ หรือจะตีความย้อนหลังไปลงโทษการกระทำซึ่งในขณะกระทำไม่เป็นความผิดมาลงโทษไม่ได้ และขณะเดียวกันศาลก็จะตีความไปเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดให้รับโทษหนักขึ้นก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ 2. บุคคลย่อมถึงแก่ความตาย หรือถือว่าถึงแก่ความตายในกรณีใดบ้าง อธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ คำอธิบายทุกกรณี

ธงคำตอบ

ตามกฎหมาย บุคคลย่อมถึงแก่ความตายหรือให้ถือว่าถึงแก่ความตายมีได้ 2 กรณี ได้แก่ การตายตามธรรมดา และการถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ซึ่งถือว่าเป็นการตายโดยผลแห่งกฎหมาย

  1. การตายตามธรรมดา หมายถึง การที่บุคคลหมดลมหายใจ และหัวใจหยุดเต้นนั่นเอง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น การที่บุคคลเจ็บป่วยถึงแก่ความตาย หรือประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตาย เป็นต้น เพียงแต่ปัจจุบันในทางการแพทย์นั้น ถือว่าเมื่อแกนสมองตาย ก็ถือได้ว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายและให้สภาพบุคคลสิ้นสุดลง
  2. การตายโดยการถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญตามมาตรา 61 ซึ่งแยกออกเป็น 2 กรณี คือหลักเกณฑ์ ดังนี้คือ

1) การเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดาตามมาตรา 61 วรรคแรก ซึ่งจะต้องประกอบด้วย

(1)       บุคคลนั้นได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่นอนว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นเวลา 5 ปี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีผู้ได้พบเห็น หรือนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้จากภูมิลำเนาไปหรือนับแต่วันที่ได้ทราบข่าวคราวของบุคคลนั้นในครั้งหลังสุดเป็นต้นไป

(2)       ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ “ผู้มีส่วนได้เสีย” หมายถึง บุคคลที่จะมีหรือเกิดสิทธิขึ้น เนื่องจากคำสั่งศาล เช่น สามีภริยา บิดามารดา ลูก หลาน ฯลฯ ของบุคคลที่ไปจากภูมิลำเนานั่นเอง

(3)       ศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ และเมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตาย และทำให้สภาพบุคคลของบุคคลนั้นสิ้นสุดลง

ตัวอย่าง นาย ก. ได้เดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครทราบข่าวคราวของนาย ก. อีกเลย ดังนี้ถ้าครบ 5 ปีนับแต่วันที่นาย ก. ได้หายไป พนักงานอัยการหรือผู้มีส่วนได้เสีย อาจร้องขอต่อศาลให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญได้ และหากศาลมีคำสั่งให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญแล้ว ย่อมถือว่า นาย ก. ได้ถึงแก่ความตาย และทำให้สภาพบุคคลของนาย ก. สิ้นสุดลง

2) การเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ ซึ่งหลักเกณฑ์การเป็นคบสาบสูญในกรณีพิเศษนั้น ก็ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการ เช่นเดียวกับการเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดา เพียงแต่ตามมาตรา 61 วรรคสอง ให้นับระยะเวลาลดลงมาเหลือเพียง 2 ปีเท่านั้น โดยให้นับตั้งแต่

(1)       วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบ หรือสงครามดังกล่าว เช่น นายแดงรับราชการทหารถูกส่งไปรบที่ชายแดน และสูญหายไปในการรบติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี หรือ

(2)       วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางไป อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

เช่น นายแดงเดินทางท่องเที่ยวทางเรือ และเรือถูกพายุพัดจนอับปาง ทำให้นายแดงสูญหายไป เป็นต้น หรือ

(3)       วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ(1)และข้อ (2)ได้ ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

ตัวอย่าง นาย ก. ได้เดินทางไปเที่ยวที่เกาะสิมิลัน ระหว่างการเดินทางเรือได้เจอพายุและอับปางลง ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตาย และสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งนาย ก. ด้วยที่ได้สูญหายไปโดยไม่มีใครได้รับข่าวคราวหรือพบเห็นตัวนาย ก. เลย ดังนี้ถ้า นาง ข. ภริยาของนาย ก. จะร้องขอให้ศาลสั่งให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญ นาง ข. สามารถร้องขอได้เมื่อครบกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่เรืออับปาง โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนด 5 ปีแต่อย่างใด

 

ข้อ 3. นายแดงซึ่งเป็นผู้เยาว์ อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ทำนิติกรรมต่าง ๆดังต่อไปนี้ ผลของนิติกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นอย่างไรบ้าง อธิบาย

  1. นายแดงทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดของตนเองให้แก่น้องชายเพียงคนเดียว
  2. นายแดงได้รับเงิน 50,000 บาท เป็นของขวัญจากลุงโดยไม่มีเงื่อนไขหรือภาระใด ๆ ทั้งสิ้น
  3. นายแดงได้ทำสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์คันหนึ่ง โดยได้รับอนุญาตจากบิดามารดาเพื่อใช้ขับขี่ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 21 “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนการใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 22 “ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง”

มาตรา 25 “ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์”

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา การที่นายแดงซึ่งเป็นผู้เยาว์และมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้วได้ทำนิติกรรมต่าง ๆ นั้น ผลของนิติกรรมดังกล่าวจะเป็นอย่างไรนั้น แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

  1. การที่นายแดงทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดของตนเองให้แก่น้องชายเพียงคนเดียวนั้น นายแดงย่อมสามารถทำได้ และพินัยกรรมดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะนายแดงได้ทำพินัยกรรมในขณะที่มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้วตามมาตรา 25
  2. การที่นายแดงได้รับเงิน 50,000 บาท เป็นของขวัญจากลุงโดยไม่มีเงื่อนไขหรือภาระใด ๆ ทั้งสิ้นนั้น ถือเป็นนิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งซึ่งเป็นนิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว ที่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพังตนเองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมและมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 21 ประกอบมาตรา 22
  3. การที่นายแดงได้ทำสัญญาซื้อรถจักรยาบยนต์โดยได้รับอนุญาตจากบิดามารตา ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม เมื่อเป็นกรณีที่ผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมโดยได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมนิติกรรมใบรูปสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายตามมาตรา 21

สรุป

  1. พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
  2. นิติกรรมการให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
  3. นิติกรรมซื้อขายรถจักรยานยนต์มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

Advertisement