การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ช่องว่างของกฎหมายคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีการบัญญัติถึงวิธีการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้ว่าอย่างไรบ้าง อธิบาย

ธงคำตอบ

ช่องว่างแห่งกฎหมาย คือ กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณอักษรที่จะนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้กล่าวคือ ผู้ใช้กฎหมายหากฎหมายเพื่อนำมาปรับใช้แก่กรณีไม่พบนั่นเอง

โดยปกติช่องว่างแห่งกฎหมายเกิดจากการที่ผู้ร่างกฎหมายคิดไปไม่ถึงว่าจะมีช่องว่างในกฎหมาย อาจจะเป็นเพราะผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถที่จะนึกถึงช่องว่างของกฎหมายนั้นได้ เพราะยังไม่มีเหตุการณ์อันทำให้ช่องว่างนั้นเกิดขึ้น

ซึ่งหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ว่า

“เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป ”

กล่าวคือ เมื่อมีคดีหรือข้อพิพาทเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ ให้ศาลวินิจฉัยตามลำดับ ดังนี้

  1. ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งห้องถิ่น หมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี ซึ่งจารีตประเพณีก็คือ ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนบุคคลทั่วไปรู้สึกว่าเป็นข้อบังคับที่จะนำมาใช้ได้ และมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั่นเอง เช่น จารีตประเพณีการค้าฃองธนาคารพาณิชย์ จารีตประเพณีเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น
  2. ในกรณีที่ไม่มีจารีตประเพณีแห่งห้องถิ่น ให้วินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หมายความว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้ ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน เช่น การขุดหลุมรับน้ำโสโครก หลุมรับปุ๋ย หรือหลุมรับขยะมูลฝอย มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าจะขุดในระยะสองเมตรจากแนวเขตที่ดินไม่ได้ (มาตรา 1342) แต่หลุมที่รับกากสารเคมีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าขุดได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในเรื่องการขุดหลุมรับกากสารเคมี มีเหตุผลที่ควรจะห้ามมิให้ขุดในระยะที่ใกล้เคียงกับแนวเขตที่ดิน เพราะอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลที่อยู่ในที่ดินข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงนำเอามาตรา 1342 มาใช้เทียบเคียงกับการขุดหลุมรับกากสารเคมีได้ เป็นต้น
  3. ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ให้วินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายทั่วไป กรณีนี้เป็นวิธี การอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งประการสุดท้ายหมายความว่า ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรไม่มีจารีตประเพณี และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน หรือสุภาษิตของกฎหมาย หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้ เช่น สัญญาต้องเป็นสัญญา ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเกิดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งขึ้น ศาลจะต้องใช้หลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เพื่อวินิจฉัยคดีที่เกิดขึ้น จะยกฟ้องโดยอาศัยเหตุว่าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาวินิจฉัยไม่ได้

 

ข้อ 2. นายตี๋เดินทางไปท่องเที่ยวเมืองปักกิ่งประเทศจีน ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ในขณะที่เครื่องบินเข้าใกล้ทะเลจีนใต้ ปรากฏถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายยิงตกและไม่มีใครพบหรือได้ข่าวนายตี๋อีกเลย นางสาวหมวยเล็กภริยาที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสของนายตี๋และนางหมวยใหญ่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายต่างไปร้องขอต่อศาล ขอให้ศาลสั่งให้นายตี๋เป็นบุคคลสาบสูญ

ให้นักศึกษาให้คำแนะนำว่าใครเป็นผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้นายตี๋เป็นบุคคลสาบสูญและจะเริ่มไปใช้สิทธิดังกล่าวได้เมื่อใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1)       นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)       นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

(3)       นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายตี๋เดินทางไปท่องเที่ยวเมืองปักกิ่ง ประเทศจีนโดยเครื่องบิน และในขณะที่เครื่องบินเข้าใกล้ทะเลจีนใต้ ปรากฏว่าถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายยิงตกและไม่มีใครพบหรือได้ข่าวนายตี๋อีกเลยนั้น ถือว่านายตี๋ได้สูญหายไปโดยไม่มีใครรู้แน่ว่านายตี๋ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ในกรณีพิเศษตามมาตรา 61 วรรคสอง (2) เพราะหายไปเนื่องจากยานพาหนะที่บุคคลดังกล่าวเดินทางถูกทำลาย ดังนั้นนระยะเวลาที่ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะสามารถร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้นายตี๋เป็นคนสาบสูญจึงต้องนับระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ยานพาหนะที่นายตี๋ใช้เดินทางคือเครื่องบินนั้นนถูกทำลาย และเมื่อเครื่องบินถูกยิงตกในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ระยะเวลาที่ครบกำหนด 2 ปี คือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 ดังนั้นถ้าผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้นายตี๋เป็นคนสาบสูญ จึงสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ตั้งแต่ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป

สำหรับผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางสาวหมวยเล็กเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายตี๋ ส่วนนางหมวยใหญ่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายตี๋ กรณีนี้ จึงถือว่าเฉพาะนางหมวยใหญ่เท่านั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับกรณีที่ศาลจะมีคำสั่งให้นายตี๋เป็นคนสาบสูญ ดังนั้น นางหมวยใหญ่แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้นายตี๋เป็นคนสาบสูญ โดยนางหมวยใหญ่สามารถที่จะไปใช้สิทธิทางศาลได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป

สรุป

นางหมวยใหญ่แต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้นายตี๋เป็นคนสาบสูญ โดยเริ่มไปใช้สิทธิทางศาลได้ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป

 

ข้อ 3. นายไก่อายุย่างเข้า 15 ปี ทำพินัยกรรมขึ้น 1 ฉบับ กำหนดว่าเมื่อตนถึงแก่ความตายให้ยกเงินสดของตนในธนาคารให้แก่มูลนิธิสุนัขป่วยไร้เจ้าของจำนวน 1 ล้านบาท ต่อมาเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ นางไข่มารดาร้องขอต่อศาลให้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถเพราะจิตฟั่นเพืเอน ศาลสั่งให้ตามขอและตั้งนางไข่มารดาเป็นผู้พิทักษ์ หลังจากนั้นนายไก่ยืมเงินนางบัวสาวใช้ไป 500 บาท เพื่อไปซื้ออาหารรับประทาน อาการป่วยทางจิตของนายไก่รุนแรงขึ้นถึงขั้นวิกลจริต ต่อมาไปซื้อรถยนต์จากนายดำ 1 คันในราคา 2 ล้านบาท ในขณะกำลังวิกลจริต แต่นายดำไม่ทราบว่าวิกลจริต นางไข่มารดาจึงไปร้องขอต่อศาลให้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และศาลได้ตั้งนางไข่เป็นผู้อนุบาล นางไข่เห็นว่าลูกชายชอบขับรถยนต์มากจึงอนุญาตให้ไปซื้อรถสปอร์ตอีก 1 คัน จากนายแดงในราคา 5 ล้านบาท

การทำพินัยกรรม การยืมเงิน การซื้อรถยนต์จากนายดำ และจากนายแดง ซึ่งนายไก่ทำขึ้นมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 25 “ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์”

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 30 “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลงการนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ ”

มาตรา 1703 “พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

1)         ตามมาตรา 25 นั้น กฎหมายได้บัญญัติให้ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ หากผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ เสมือนว่ามิได้มีการทำพินัยกรรมนั้นเลยตามมาตรา 1703

ตามปัญหา การที่นายไก่อายุย่างเข้า 15 ปียังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ได้ทำพินัยกรรมขึ้น 1 ฉบับ โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงแก่ความตายให้ยกเงินสดของตนในธนาคารให้แก่มูลนิธิสุนัขป่วยไร้เจ้าของ จำนวน 1 ล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 25 ดังนั้นพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1703

2)         โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้โดยลำพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน คนเสมือนไร้ความสามารถจะทำต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายไก่คนเสมือนไร้ความสามารถได้ยืมเงินนางบัวสาวใช้ไป 500 บาท โดยที่นางไข่ผู้พิทักษ์มิได้รู้เห็นยินยอมแต่อย่างใดนั้น การยืมเงินดังกล่าวย่อมมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 34 (3) ประกอบวรรคท้าย

3)         โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำนิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทำนิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา การที่นายไก่คนวิกลจริตได้ไปซื้อรถยนต์จากนายดำ 1 คันในขณะที่กำลังวิกลจริตอยู่ เมื่อนายดำไม่ทราบว่านายไก่เป็นคนวิกลจริต ดังนั้น นิติกรรมการซื้อรถยนต์จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

4)         ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้นถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายไก่คนไร้ความสามารถได้ทำนิติกรรมโดยไปซื้อรถสปอร์ตจากนายแดงในราคา 5 ล้านบาทนั้น แม้การทำนิติกรรมดังกล่าวของนายไก่จะได้รับอนุญาต คือได้รับความยินยอมจากนางไข่ผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

สรุป

1) การทำพินัยกรรมมีผลเป็นโมฆะ

2) การยืมเงินมีผลเป็นโมฆียะ

3) การซื้อรถยนต์จากนายดำมีผลสมบูรณ์

4) การซื้อรถยนต์จากนายแดงมีผลเป็นโมฆียะ

Advertisement