การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 ช่องว่างของกฎหมายคืออะไร เกิดขึ้นอย่างไร ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีการบัญญัติวิธีการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้ว่าอย่างไรบ้าง อธิบาย

ธงคำตอบ

ช่องว่างแห่งกฎหมาย คือ กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณอักษรที่จะนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้กล่าวคือ ผู้ใช้กฎหมายหากฎหมายเพื่อนำมาปรับใช้แก่กรณีไม่พบนั่นเอง

โดยปกติช่องว่างแห่งกฎหมายเกิดจากการที่ผู้ร่างกฎหมายคิดไปไม่ถึงว่าจะมีช่องว่างในกฎหมาย อาจจะเป็นเพราะผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถที่จะนึกถึงช่องว่างของกฎหมายนั้นได้ เพราะยังไม่มีเหตุการณ์อันทำให้ช่องว่างนั้นเกิดขึ้น

ซึ่งหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ว่า

“เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป ”

กล่าวคือ เมื่อมีคดีหรือข้อพิพาทเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ ให้ศาลวินิจฉัยตามลำดับ ดังนี้

  1. ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งห้องถิ่น หมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี ซึ่งจารีตประเพณีก็คือ ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนบุคคลทั่วไปรู้สึกว่าเป็นข้อบังคับที่จะนำมาใช้ได้ และมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั่นเอง เช่น จารีตประเพณีการค้าฃองธนาคารพาณิชย์ จารีตประเพณีเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น
  2. ในกรณีที่ไม่มีจารีตประเพณีแห่งห้องถิ่น ให้วินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หมายความว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้ ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน เช่น การขุดหลุมรับน้ำโสโครก หลุมรับปุ๋ย หรือหลุมรับขยะมูลฝอย มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าจะขุดในระยะสองเมตรจากแนวเขตที่ดินไม่ได้ (มาตรา 1342) แต่หลุมที่รับกากสารเคมีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าขุดได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในเรื่องการขุดหลุมรับกากสารเคมี มีเหตุผลที่ควรจะห้ามมิให้ขุดในระยะที่ใกล้เคียงกับแนวเขตที่ดิน เพราะอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลที่อยู่ในที่ดินข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงนำเอามาตรา 1342 มาใช้เทียบเคียงกับการขุดหลุมรับกากสารเคมีได้ เป็นต้น
  3. ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ให้วินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายทั่วไป กรณีนี้เป็นวิธี การอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งประการสุดท้ายหมายความว่า ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรไม่มีจารีตประเพณี และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน หรือสุภาษิตของกฎหมาย หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้ เช่น สัญญาต้องเป็นสัญญา ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเกิดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งขึ้น ศาลจะต้องใช้หลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เพื่อวินิจฉัยคดีที่เกิดขึ้น จะยกฟ้องโดยอาศัยเหตุว่าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาวินิจฉัยไม่ได้

 

ข้อ 2. นายโชคดีเดินทางไปเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่พร้อมกับเพื่อน ๆ และในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553 นายโชคดีและคณะได้ไปเที่ยวน้ำตกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ในขณะที่กำลังสนุกสนานกับการเล่นน้ำตกอยู่นั้นได้เกิดน้ำป่าไหลหลากพัดนายโชคดีและคณะหายไป และไม่มีใครพบหรือได้ข่าวนายโชคดีและคณะอีกเลย นางโชติรสภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโชคดีจะมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้นายโชคดีเป็นบุคคลสาบสูญได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และจะเริ่มไปใช้สิทธิได้เมื่อใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไวั(น (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโชคดีได้ถูกน้ำป่าไหลหลากพัดหายไปนั้น ลือว่านายโชคดีตกอยู่ในเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิต และเมื่อไม่มีใครพบหรือได้ข่าวนายโชคดีอีกเลย จึงถือว่านายโชคดีได้สูญหายไปในกรณีพิเศษตามมาตรา 61 วรรคสอง (3) ดังนั้น ถ้าผู้มีส่วนได้เสียจะใช้สิทธิในการร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้นายโชคดีเป็นคนสาบสูญนั้น จะใช้สิทธิได้เมื่อครบกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตได้ผ่านพ้นไป เมื่อปรากฏว่าเหตุอันตรายแก่ชีวิตคือน้ำป่าไหลหลากนั้นได้ผ่านพ้นไปในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553 ดังนั้นวันครบกำหนด 2 ปีดังกล่าวคือวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555 ผู้มีส่วนได้เสีย จึงสามารถเริ่มไปใช้สิทธิทางศาลได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

และตามกฎหมายนั้น บุคคลที่จะมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้นายโชคดีเป็นบุคคลสาบสูญจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางโชติรสเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโชคดี ดังนั้น นางโชติรสจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิที่จะไปร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้นายโชคดีเป็นบุคคลสาบสูญได้

สรุป

นางโชติรสมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้นายโชคดีเป็นบุคคลสาบสูญได้และจะเริ่มไปใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

 

ข้อ 3. นายไก่อายุย่างเข้า 15 ปี ทำพินัยกรรมขึ้นหนึ่งฉบับ กำหนดว่าเมื่อตนถึงแก่ความตายให้เงินสด 1 ล้านในบัญชีธนาคารของตนตกเป็นของมูลนิธิไทยตาสว่าง ต่อมามีความเจ็บป่วยทางจิตประเภทจิตฟั่นเฟือน ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งนางไข่เป็นผู้พิทักษ์ นายไก่ให้เพื่อนยืมเงินไป 5,000บาท โดยนางไข่มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยแต่อย่างใด ต่อมานายไก่เจ็บป่วยรุนแรงขึ้นถึงขั้นวิกลจริต ระหว่างนั้นนายไก่ไปซื้อรถยนต์จากนายดำ 1 คัน ในขณะกำลังวิกลจริตแต่นายดำไม่ทราบ

หลังจากนั้นศาลมีคำสั่งให้นายไก่เป็นคนไร้ความสามารถ และให้นางไข่เป็นผู้อนุบาล นางไข่เห็นลูกชายชอบขับรถมากจึงอนุญาตให้นายไก่ไปซื้อรถแข่งจากนายแดง 1 คัน มูลค่า 10 ล้านบาท

พินัยกรรม การให้เพื่อนยืมเงิน การซื้อรถยนต์ การซื้อรถแข่ง ซึ่งนายไก่ทำขึ้นมีผลในทางกฎหมาย อย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 25 “ผู้เยาวอาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์”

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 30 “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลงการนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1703 “พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

1)         ตามมาตรา 25 นั้น กฎหมายได้บัญญัติให้ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ หากผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ เสมือนว่ามิได้มีการทำพินัยกรรมนั้นเลยตามมาตรา 1703

ตามปัญหา การที่นายไก่ซึ่งมีอายุย่างเข้า 15 ปี ยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ได้ทำพินัยกรรมโดยกำหนดว่าเมื่อตนถึงแก่ความตายให้เงินสด 1 ล้านบาทในบัญชีธนาคารของตนตกเป็นของมูลนิธิไทยตาสว่างนั้น ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 25 ดังนั้นพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1703

2)         โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้โดยลำพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน คนเสมือนไร้ความสามารถจะทำต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายไก่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมเงินเป็นจำนวน 5,000 บาทโดยที่นางไข่ผู้พิทักษ์มิได้รู้เห็นยินยอมแต่อย่างใดนั้น การให้ยืมดังกล่าวย่อมมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 34 (3) ประกอบวรรคท้าย

3)         โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำนิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทำนิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา การที่นายไก่คนวิกลจริตได้ไปซื้อรถยนต์จากนายดำ 1 คันในขณะที่กำลังวิกลจริตอยู่ เมื่อนายดำไม่ทราบว่านายไก่เป็นคนวิกลจริต ดังนั้น นิติกรรมการซื้อรถยนต์จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

4)         ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้นถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายไก่คนไร้ความสามารถได้ทำนิติกรรมโดยการไปซื้อรถแข่งนั้นถึงแม้การทำนิติกรรมดังกล่าวของนายไก่จะได้รับอนุญาต คือได้รับความยินยอมจากนางไข่ผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

สรุป

1) การทำพินัยกรรมมีผลเป็นโมฆะ

2) การให้เพื่อนยืมเงินมีผลเป็นโมฆียะ

3) การซื้อรถยนต์มีผลสมบูรณ์

4) การซื้อรถแข่งเป็นโมฆียะ

Advertisement