การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ขอให้นักศึกษาอธิบายสาระสำคัญของหลักนิติรัฐ (Legal State) ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 เรียกว่า“ระบบนับถือกฎหมาย” ซึ่งเนื้อหาของกฎหมายที่ใช้ในการปกครองที่อ้างหลักนิติรัฐ เนื้อหาของกฎหมายควรเป็นธรรม ยุติธรรม เป็นยุติธรรมรัฐ เป็นกฎหมายที่ดีและเป็นประโยชน์สาธารณะอย่างไรให้อธิบายประกอบมาด้วย

ธงคำตอบ

ตาม “ทฤษฎีเสรีนิยม” จะกำหนดให้รัฐอยู่ภายใต้กฎหมาย ทั้งนี้เพราะทฤษฎีนี้เน้นเรื่องเสรีภาพของปัจเจกชน ซึ่งถือว่ารัฐจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือจำกัดเสรีภาพของบุคคลตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายที่มีอยู่ ทฤษฎีนี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแนวความคิดของนักกฎหมายชาวฝรั่งเศสชื่อ กาเร เดอ มัลแบร์ (Carre de Malberg) อันทำให้เกิดแนวความคิดในการให้รัฐอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งอาจอธิบายแนวความคิดดังกลาวได้ดังนี้คือ

  1. แนวความคิดเรื่องการจำกัดตนเอง (Auto-limitation) และ
  2. แนวความคิดเรืองนิติรัฐ (Legal State)

ลักษณะสำคัญของ “นิติรัฐ” อธิบายโดยสรุปได้ว่า “นิติรัฐเป็นรัฐที่ต้องยอมตนอยู่ใต้ระบบกฎหมายในความสัมพันธ์กับปัจเจกชนและเพื่อคุ้มครองสถานะของปัจเจกชนโดยรัฐยอมตนอยู่ใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนด” ดังนั้นใน “นิติรัฐ” การกระทำของรัฐต่อปัจเจกชนจึงมีอยู่สองนัย คือ

  1. รัฐต้องกำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
  2. รัฐต้องกำหนดวิธีการและมาตรการซึ่งรัฐหรือหน่วยงานของรัฐสามารถใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด

ซึ่งกฎเกณฑ์ทั้ง 2 ประการดังกล่าวทำให้เกิดผล คือ “การจำกัดอำนาจรัฐ” หมายความว่าการใช้ “อำนาจรัฐ” จะต้องอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายที่รัฐกำหนด

ด้วยเหตุนี้ เมื่อฝ่ายปกครองเข้าไปมีนิติสัมพันธ์กับประชาชน ฝ่ายปกครองจึงไม่สามารถจะฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นได้ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเป็นนิติรัฐที่มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างสมบูรณ์แล้ว กรณีก็จะเข้มงวดถึงกับว่าถ้าไม่มีกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้ ฝ่ายปกครองก็ไม่อาจจะกระทำการใด ๆ อันเป็นการบังคับประชาชนได้เลยถ้าประชาชนไม่สมัครใจ ซึ่งหมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้โดยตรงหรือโดยปริยาย ฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถใช้มาตรการอย่างใด ๆ ต่อประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครองได้เลย

ใน “นิติรัฐ” แม้จะมีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้ ฝ่ายปกครองก็ยังต้องดำเนินการตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้นั้น ด้วย “วิธีการ” และตาม “ขั้นตอน” ที่กฎหมายกำหนด หรืออาจจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายปกครองซึ่งเป็นองค์กรใช้อำนาจรัฐจะกระทำการอย่างใด ๆ ต่อประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้ และด้วยวิธีการที่ระบบกฎหมายในขณะนั้นได้กำหนดไว้ เท่านั้น

หากฝ่ายปกครองละเมิดหลักการแห่ง “นิติรัฐ” ดังกล่าว ประชาชนก็สามารถดำเนินคดีกับการกระทำที่มิชอบทุกประเภทของฝ่ายปกครองโดยการร้องขอต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยขอให้ “ยกเลิก” หรือขอให้“เพิกถอน” หรือขอให้ “เปลี่ยนแปลงแก้ไข” การกระทำหรือคำสั่งอันมิชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครองนั้นได้

กล่าวโดยสรุป “นิติรัฐ” ก็คือ ระบบที่สร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นหลักในการป้องกันและแก้ไขเยียวยาการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจของฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครอง “สิทธิและเสรีภาพของประชาชน” นั่นเอง

ดังนั้นสาระสำคัญของหลักนิติรัฐ ก็คือ

  1. การจำกัดการไข้อำนาจรัฐหรือการจำกัดการใช้อำนาจของผู้ปกครอง โดยจะต้องให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และกฎหมายนั้นต้องเป็นกฎหมายที่ดี
  2. ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ปกครอง
  3. เนื้อหาของการปกครองโดยหลักนิติรัฐ (Legal State) กฎหมายนั้นต้องถูกต้องเป็นธรรม ยุติธรรม สมเหตุสมผล ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่ดี ซึ่งกฎหมายต้องห้ามไม่ให้กระทำในสิ่งที่ชั่วร้าย ไม่ใช่เอาสิ่งชั่วร้ายมาเป็นกติกาของสังคม การปกครองโดยกฎหมายดังกล่าวนี้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทรงเรียกว่า “ระบบนับถือกฎหมาย”

ข้อ 2. จงนำกฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชนไปใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน พร้อมยกตัวอย่างให้ครบถ้วน

ธงคำตอบ

“กฎหมายมหาชน” คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน ปัจจุบันได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง ซึ่งกฎหมายปกครองนั้นอาจจะอยู่ในชื่อของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประมวลกฎหมายหรืออาจจะอยู่ในชื่อของประกาศคณะปฏิวัติก็ได้

กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 อำนาจ คือ

  1. อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
  2. อำนาจบริหาร เป็นอำนาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
  3. อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจนี้ คือ ศาล

กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองหรือที่เรียกว่า “การจัดระเบียบราชการบริหาร” รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งทางปกครองให้อำนาจในการออกกฎ ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

จากหลักการต่าง ๆ ที่ได้อธิบายมาแล้วทั้งหมด จึงเห็นได้ว่า กฎหมายมหาชนไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายปกครองซึ่งอาจจะอยู่ในชื่อของกฎหมายใด ๆ ก็ตาม มีความสำคัญต่อการเมือง การปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินของไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นกฎหมายที่มีวัตถุบ่ระสงค์ในการวางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐ รวมทั้งการบัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐทั้งองค์กร ฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรฝ่ายบริหาร และองค์กรฝ่ายตุลาการ และยังได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ในทางปกครองของ ฝ่ายปกครอง ได้แก่ อำนาจหน้าที่ในการคำเนินการจัดทำบริการสาธารณะ อำนาจในการออกกฎหรือคำสั่ง อำนาจในการกระทำทางปกครองและอำนาจในการทำสัญญาทางปกครอง ซึ่งกรณีดังกล่าวหากไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ องค์กรของรัฐและฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถที่จะดำเนินการใด ๆ ได้ ทั้งนี้เพราะตามหลักของกฎหมายมหาชนองค์กรของรัฐและฝ่ายปกครองจะกระทำการใด ๆ ได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้เท่านั้น

ส่วนหลักกฎหมายมหาชนที่มีความสำคัญต่อการเมืองการปกครอง และการบริหารราชการแผ่นดินนั้นมีหลักการที่สำคัญ ๆ หลายประการ เช่น

  1. หลักความชอบด้วยกฎหมาย หมายถึง การใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร และองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ จะต้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้เท่านั้น จะใช้อำนาจหน้าที่นอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้มิได้
  2. หลักประโยชน์สาธารณะ หมายถึง การใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายต่าง ๆจะต้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ใช่เป็นการสนองตอบต่อความต้องการของคนบางกลุ่มบางพวกหรือเพื่อใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ
  3. หลักความยุติธรรม หมายถึง การใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายต่าง ๆ จะต้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่กับบุคคลทุกคนในสังคมอย่างเสมอภาคกัน และจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม

และนอกจากนั้นยังมีหลักกฎหมายมหาชนที่มีความสำคัญต่อการเมืองการปกครอง และการบริหารราชการแผ่นดินอีกหลายประการ เช่น หลักความซื่อสัตย์สุจริต หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นต้น

ข้อ 3. จากการศึกษา การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย มีหลักหรือทฤษฎีกฎหมายมหาชนเรื่องใดบ้างทีมีความเกี่ยวข้อง ขอให้นักศึกษาหยิบยกหลักหรือทฤษฎีกฎหมายมหาชนดังกล่าวมาอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างประกอบมา 4-5 หลักกฎหมาย จงอธิบาย

ธงคำตอบ

กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองหรือที่เรียกว่า “การจัดระเบียบราชการบริหาร” รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครอง

ที่เรียกว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย แบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

  1. ราชการบริหารส่วนกลาง หมายความถึง ราชการที่ฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนทั่วทั้งอาณาเขตของประเทศ เช่น การรักษาความสงบภายใน การป้องกันประเทศ การคมนาคม การคลัง เป็นต้น

องค์การที่จัดทำราชการบริหารส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนกลางและมีอำนาจหน้าที่จัดทำราชการในอำนาจหน้าที่ของคนตลอดทั้งประเทศ

  1. ราชการบริหารส่วนภูมิภาค หมายความถึง ราชการของกระทรวง ทบวง กรม อันเป็นองค์กรของราชการบริหารส่วนกลางที่ได้แบ่งแยกออกไปจัดทำตามเขตการปกครองต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนในเขตการปกครองนั้น ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ออกไปประจำตามเขตการปกครองนั้น ๆ เพื่อบริหารราชการภายใต้การบังคับบัญชาของราชการบริหารส่วนกลาง ซึ่งราชการบริหารส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัด อำเภอ รวมตลอดถึงตำบลและหมู่บ้าน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าในส่วนภูมิภาค
  2. ราชการบริหารส่วนห้องถิ่น หมายความถึง ราชการบางอย่างที่รัฐมอบหมายให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจัดทำเอง เพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนเฉพาะในเขตท้องถิ่นนั้นโดยมีเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเอง ซึ่งตามหลักไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลาง

องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

สำหรับหลักกฎหมายปกครองที่เกี่ยวข้องกับหลักการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย(การจัดตั้งองค์กรทางปกครอง) ได้แก่ หลักการรวมอำนาจ หลักการแบ่งอำนาจ และหลักการกระจายอำนาจ

  1. ราชการบริพารส่วนกลางยึดหลักการรวมอำนาจ

หลักการรวมอำนาจ คือ หลักการปกครองที่อำนาจในการตัดสินใจทั้งหลายจะอยู่ที่ส่วนกลางทั้งสิ้น จะไม่มีการมอบอำนาจการตัดสินใจบางระดับบางเรื่องไปให้แก่เจ้าหน้าที่ของส่วนกลางที่ถูกส่งออกไปประจำอยู่ในภูมิภาค และไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจตัดสินใจในระดับท้องถิ่นเลย มีการรวมกำลังในการบังคับต่าง ๆ เช่น กำลังทหารและกำลังตำรวจให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลางทั้งสิ้น รวมทั้งมีลำดับขั้นการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีข้อดีคือ ทำให้รัฐบาลมั่นคง แต่มีข้อเสียคือ เกิดความล่าข้าและขาดประสิทธิภาพในการตัดสินใจในท้องถิ่นห่างไกล และการตัดสินใจย่อมทำได้ไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น เนื่องจากผู้ตัดสินใจมิใช่คนของท้องถิ่นจึงไม่อาจรู้ถึงความต้องการของคนในท้องถิ่นเท่าที่ควร

  1. ราชการบริหารส่วนภูมิภาคยึดหลักการแบ่งอำนาจ

หลักการแบ่งอำนาจ คือ หลักการที่รัฐมอบอำนาจในการตัดสินใจบางประการของรัฐในส่วนกลางให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐ แต่ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ในแต่ละท้องที่การปกครอง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในระบบบังคับบัญชาของการปกครองส่วนกลางอยู่ตลอดเวลา เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด, นายอำเภอ เป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทย, ศึกษาธิการจังหวัด, ป่าไม้จังหวัด, สรรพากรจังหวัด ฯลฯ

เป็นตัวแทนของกระทรวงทบวง กรม ต่าง ๆในส่วนกลาง เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องรับคำสั่งจากส่วนกลางเพื่อไปปฏิบัติตามแผนและนโยบายที่ส่วนกลางได้ให้ไว้ เพียงแต่เจ้าหน้าที่เหล่านี้อาจมีอำนาจตัดสินใจในบางเรื่องบางระดับโดยไม่ต้องส่งเรื่องเข้ามาขออนุญาต อนุมัติจากส่วนกลางเพื่อความละดวกเท่านั้นเอง

  1. ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นยึดหลักการกระจายอำนาจ

หลักการกระจายอำนาจ เป็นวิธีการที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรอื่นนอกจากองค์กรของส่วนกลาง ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง และสามารถดำเนินการบริการสาธารณะได้โดยอิสระ มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตนเอง มีความเป็นอิสระในการจัดทำบริการสาธารณะที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ต้องขอรับคำสั่งจากส่วนกลาง ส่วนกลางเพียงแต่คอยกำกับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยถูกต้องเท่านั้น มิได้เข้าไปบังคับบัญชาหรืออำนวยการเอง

นอกจากนี้ยังมีหลักกฎหมายปกครองที่ได้กำหนดความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนราชการอีกด้วยคือ หลักการควบคุมแบบบังคับบัญชา และหลักการควบคุมแบบกำกับดูแล ดังนี้

การควบคุมบังคับบัญชา คือ อำนาจที่หัวหน้าหน่วยงานใช้ปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเช่น การที่รัฐมนตรีใช้อำนาจบังคับบัญชาเหนือเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในกระทรวง อำนาจบังคับบัญชาเป็นอำนาจที่ ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งการใด ๆ ก็ได้ตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสม สามารถกลับ แก้ ยกเลิก เพิกถอน คำสั่ง หรือการกระทำของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้เสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นประการอื่น อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจบังคับบัญชานี้ก็ต้องชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ว่าจะใช้ไปในทางที่เหมาะสมแต่ขัดต่อกฎหมายได้

  1. ราชการบริหารส่วนกลางและราชการบริหารส่วนภูมิภาคกับราชการบริหารส่วนท้องถิ่นมีการควบคุมแบบกำกับดูแล

การควบคุมกำกับดูแล คือ การควบคุมที่ไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรควบคุมกำกับ จึงเป็นอำนาจที่มีเงื่อนไข คือ จะใช้ได้ต่อเมื่อกฎหมายให้อำนาจไว้และต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด ในการควบคุมกำกับนั้นองค์กรควบคุมกำกับไม่มีอำนาจสั่งการให้องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับปฏิบัติตามที่ตนเห็นสมควร องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้นองค์กรควบคุมจึงเป็นแต่ควบคุมกำกับให้องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

 

Advertisement