การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ขอให้นักศึกษาอธิบายสาระสำคัญของหลักนิติรัฐ (Legal State) ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 เรียกว่า “ระบบนับถือกฎหมาย” ซึ่งเนื้อหาของกฎหมายที่ใช้ในการปกครองที่อ้างหลักนิติรัฐ เนื้อหาของกฎหมายควรเป็นธรรม ยุติธรรม เป็นยุติธรรมรัฐ เป็นกฎหมายที่ดี และเป็นประโยขน์สาธารณะอย่างไร ให้อธิบายประกอบมาด้วย

ธงคำตอบ

ตาม “ทฤษฎีเสรีนิยม” จะกำหนดให้รัฐอยู่ภายใต้กฎหมาย ทั้งนี้เพราะทฤษฎีนี้เน้นเรื่องเสรีภาพของปัจเจกชน ซึ่งถือว่ารัฐจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือจำกัดเสรีภาพของบุคคลตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายที่มีอยู่ ทฤษฎีนี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแนวความคิดของนักกฎหมายชาวฝรั่งเศสชื่อ กาเร เดอ มัลแบร์ (Carre de Malberg) อันทำให้เกิดแนวความคิดในการให้รัฐอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งอาจอธิบายแนวความคิดดังกลาวได้ดังนี้คือ

  1. แนวความคิดเรื่องการจำกัดตนเอง (Auto-limitation) และ
  2. แนวความคิดเรืองนิติรัฐ (Legal State)

ลักษณะสำคัญของ “นิติรัฐ” อธิบายโดยสรุปได้ว่า “นิติรัฐเป็นรัฐที่ต้องยอมตนอยู่ใต้ระบบกฎหมายในความสัมพันธ์กับปัจเจกชนและเพื่อคุ้มครองสถานะของปัจเจกชนโดยรัฐยอมตนอยู่ใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนด” ดังนั้นใน “นิติรัฐ” การกระทำของรัฐต่อปัจเจกชนจึงมีอยู่สองนัย คือ

  1. รัฐต้องกำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
  2. รัฐต้องกำหนดวิธีการและมาตรการซึ่งรัฐหรือหน่วยงานของรัฐสามารถใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด

ซึ่งกฎเกณฑ์ทั้ง 2 ประการดังกล่าวทำให้เกิดผล คือ “การจำกัดอำนาจรัฐ” หมายความว่าการใช้ “อำนาจรัฐ” จะต้องอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายที่รัฐกำหนด

ด้วยเหตุนี้ เมื่อฝ่ายปกครองเข้าไปมีนิติสัมพันธ์กับประชาชน ฝ่ายปกครองจึงไม่สามารถจะฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นได้ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเป็นนิติรัฐที่มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างสมบูรณ์แล้ว กรณีก็จะเข้มงวดถึงกับว่าถ้าไม่มีกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้ ฝ่ายปกครองก็ไม่อาจจะกระทำการใด ๆ อันเป็นการบังคับประชาชนได้เลยถ้าประชาชนไม่สมัครใจ ซึ่งหมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้โดยตรงหรือโดยปริยาย ฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถใช้มาตรการอย่างใด ๆ ต่อประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครองได้เลย

ใน “นิติรัฐ” แม้จะมีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้ ฝ่ายปกครองก็ยังต้องดำเนินการตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้นั้น ด้วย “วิธีการ” และตาม “ขั้นตอน” ที่กฎหมายกำหนด หรืออาจจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายปกครองซึ่งเป็นองค์กรใช้อำนาจรัฐจะกระทำการอย่างใด ๆ ต่อประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้ และด้วยวิธีการที่ระบบกฎหมายในขณะนั้นได้กำหนดไว้ เท่านั้น

หากฝ่ายปกครองละเมิดหลักการแห่ง “นิติรัฐ” ดังกล่าว ประชาชนก็สามารถดำเนินคดีกับการกระทำที่มิชอบทุกประเภทของฝ่ายปกครองโดยการร้องขอต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยขอให้ “ยกเลิก” หรือขอให้“เพิกถอน” หรือขอให้ “เปลี่ยนแปลงแก้ไข” การกระทำหรือคำสั่งอันมิชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครองนั้นได้

กล่าวโดยสรุป “นิติรัฐ” ก็คือ ระบบที่สร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นหลักในการป้องกันและแก้ไขเยียวยาการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจของฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครอง “สิทธิและเสรีภาพของประชาชน” นั่นเอง

ดังนั้นสาระสำคัญของหลักนิติรัฐ ก็คือ

  1. การจำกัดการไข้อำนาจรัฐหรือการจำกัดการใช้อำนาจของผู้ปกครอง โดยจะต้องให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และกฎหมายนั้นต้องเป็นกฎหมายที่ดี
  2. ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ปกครอง
  3. เนื้อหาของการปกครองโดยหลักนิติรัฐ (Legal State) กฎหมายนั้นต้องถูกต้องเป็นธรรม ยุติธรรม สมเหตุสมผล ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่ดี ซึ่งกฎหมายต้องห้ามไม่ให้กระทำในสิ่งที่ชั่วร้าย ไม่ใช่เอาสิ่งชั่วร้ายมาเป็นกติกาของสังคม การปกครองโดยกฎหมายดังกล่าวนี้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทรงเรียกว่า “ระบบนับถือกฎหมาย”

 

ข้อ 2. จงอธิบายอย่างละเอียดว่า กฎหมายมหาชน และหลักกฎหมายมหาชน มีความสำคัญ และมีความเกี่ยวข้องกับตัวนักศึกษาอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างให้ครบถ้วนชัดเจน

ธงคำตอบ

“กฎหมายมหาชน” คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ฃองประชาชนส่วนใหญ่ ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน ปัจจุบันได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง ซึ่งกฎหมายปกครองนั้นอาจจะอยู่ในชื่อของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประมวลกฎหมายหรืออาจจะอยู่ในชื่อของประกาคคณะปฏิวัติก็ได้

กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 อำนาจ คือ

  1. อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
  2. อำนาจบริหาร เป็นอำนาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
  3. อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจนี้ คือ ศาล

กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองหรือที่เรียกว่า “การจัดระเบียบราชการบริหาร” รวมทั้งการรางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งทางปกครอง ให้อำนาจในการออกกฎ ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

ซึ่งในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญรวมทั้งการใช้อำนาจทางปกครองในการออกกฎ ออกคำสั่งทางปกครอง หรือการกระทำทางปกครองในรูปแบบอื่นและการทำสัญญาทางปกครองขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ก็เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมของประเทศ ซึ่งรวมทั้งเพื่อประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าด้วย ดังนั้นในการใช้อำนาจต่าง ๆ หรือการกระทำต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงต้องมีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ด้วย เพราะถ้าไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ องค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะไม่สามารถที่จะดำเนินการใด ๆ ได้

และนอกจากนั้น ในการใช้อำนาจต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะต้องได้ใช้อำนาจโดยถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนด้วย เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความสุจริต หลักประโยซน์สาธารณะ หลักความยุติธรรม และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นต้น

หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะใช้อำนาจทางปกครองเพื่อออกกฎ เช่น ระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยหรือออกคำสั่งทางปกครอง หรือกระทำการทางปกครองในรูปแบบอื่น หรือการทำสัญญาทางปกครองในการบริหารมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ฃองมหาวิทยาลัยและนักศึกษาทุกคน รวมทั้งข้าพเจ้าด้วยนั้นก็จะต้องมีกฎหมายมหาชน ซึ่งในที่นี้คือ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกฎหมายปกครองได้บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ด้วย และจะต้องใช้อำนาจและหน้าที่นั้นโดยถูกต้องตามหลักการต่าง ๆ ของกฎหมายมหาชนดังกล่าวข้างต้นด้วย เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยได้ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือเป็นการใช้อำนาจโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ หรือได้ใช้อำนาจและหน้าที่ไม่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนแล้ว ย่อมอาจก่อให้เกิดข้อพิพาท เรียกว่า ข้อพิพาททางปกครองขึ้นมาได้ และเมื่อเกิดข้อพิพาททางปกครองหรือคดีปกครองขึ้นมาแล้ว ก็สามารถนำข้อพิพาทนั้นไปฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชน จะมีความสัมพันธ์และมีความสำคัญต่อข้าพเจ้า ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. จงระบุพระนามของพระบิดาแห่งกฎหมายมหาชนไทย พร้อมทั้งกล่าวถึงพระเกียรติคุณของพระองค์มาพอสังเขป

ธงคำตอบ

พระบิดาแห่งกฎหมายมหาชนไทย คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

ทั้งนี้เพราะเมื่อพระองค์ได้ทรงขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์ได้ทรงปฏิรูปเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองเพื่อแก้ไขปรับปรุงและเพื่อจัดการกับปัญหาในด้านต่าง ๆ หลายประการที่สำคัญ ได้แก่

  1. การปฏิรูประบบราชการ

ในระบบการปกครองของกรุงรัตนโกสินทร์ตอบต้นจะมีรูปแบบที่เหมือนกับสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มีอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง ได้แก่ สมุหนายก และสมุหกลาโหม และมีจัตุสดมภ์ทั้ง 4 ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา เมื่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้านเมืองเจริญมากขึ้น อารยธรรมแบบตะวันตกหลาย ๆ ด้านเริ่มเข้ามาในสังคมไทย การปกครองและการบริหารราชการแบบเดิมไม่เหมาะสมกับกาลสมัย พระองค์จึงทรงปฏิรูปการปกครองเพื่อ “สร้างรัฐชาติ” โดยทรงจัดระเบียบราชการบริหารส่วนกลางเสียใหม่ โดยได้ทรงเปลี่ยนแปลงจากการปกครองแบบ “จัตุสดมภ์” แบบเดิม มาเป็นแบ่งส่วนราชการออกเป็น กระทรวง ทบวงกรม ซึ่งทำให้กระทรวง ทบวง กรม เป็นหน่วยงานของราชการบริหารส่วนกลางตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

  1. การปฏิรูประบบกฎหมาย

สำหรับประเทศไทยนั้น เดิมจะรับหลักกฎหมายและหลักปฏิบัติของอังกฤษ (ระบบจารีตประเพณี) มาใช้ในการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีและในการสอนในโรงเรียนสอบกฎหมาย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชประสงค์ปฏิรูปกฎหมายไทยให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าระบบกฎหมายของไทยมีแนวโน้มไปทางระบบประมวลกฎหมาย พระองค์จึงได้ทรงจัดทำประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทยขึ้น คือ กฎหมายลักษณะอาญา และนอกจากกฎหมายลักษณะอาญาแล้ว ยังมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งประมวลกฎหมายดังกล่าวนี้ยังคงใช้เป็นพื้นฐานของกฎหมายมาจนถึงปัจจุบัน

  1. การปฏิรูประบบศาล

การปฏิรูประบบศาลเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญยิ่งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าการปฏิรูประบบศาลจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้หลุดพ้นจากความเสียเปรียบและข้อยุ่งยากจากสนธิสัญญาสงวนสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เพราะว่าชาวต่างชาติรังเกียจวิธีปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ของศาลไทยในขณะนั้น พระองค์จึงได้ทรงสถาปนากระทรวงยุติธรรมขึ้น และจัดระเบียบของศาลไทยให้เป็นสากลขึ้น ทรงรวบรวมศาลพิจารณาคดีแพ่งของราษฎรและคดีอาญาซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ให้มาอยู่ในความดูแลของกระทรวงยุติธรรมแห่งเดียว เพื่อให้มีมาตรฐานและไม่ให้เกิดความซับซ้อน

  1. การปฏิรูประบบสังคม

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงปฏิรูปสังคมที่สำคัญคือการทรงเลิกทาสและยกเลิกระบบไพร่ที่ชาติตะวันตกได้ยกมาเป็นข้อดูถูกว่าสังคมไทยล้าหลังและละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน

 

Advertisement