การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. หลักการปกครองโดยกฎหมายหรือหลักการที่รัชกาลที่ 4 ทรงเรียกว่าระบบนับถือกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันที่กล่าวถึงหลักการนี้อยู่เสมอคือ หลักนิติรัฐ (Legal State) คือรัฐในระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงขอให้นักศึกษาอธิบายสาระสำคัญของ “ระบบนับถือกฎหมาย” หรือ “หลักนิติรัฐ” (Legal State) ว่ามีสาระสำคัญอย่างไร และหลักนิติรัฐนั้นเนื้อหาของกฎหมายต้องเป็นกฎหมายที่ดี หรือมีความยุติธรรมเป็นยุติธรรมรัฐหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ตาม “ทฤษฎีเสรีนิยม” จะกำหนดให้รัฐอยู่ภายใต้กฎหมาย ทั้งนี้เพราะทฤษฎีนี้เน้นเรื่องเสรีภาพของปัจเจกชน ซึ่งถือว่ารัฐจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือจำกัดเสรีภาพของบุคคลตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายที่มีอยู่ ทฤษฎีนี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแนวความคิดของนักกฎหมายชาวฝรั่งเศสชื่อกาเร เดอ มัลแบร์ (Carre de Malberg) อันทำให้เกิดแนวความคิดในการให้รัฐอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งอาจอธิบายแนวความคิดดังกล่าวได้ดังนี้คือ

  1. แนวความคิดเรื่องการจำกัดตนเอง (Auto-limitation) และ
  2. แนวความคิดเรื่องนิติรัฐ (Legal State)

ลักษณะสำคัญของ “นิติรัฐ” อธิบายโดยสรุปได้ว่า “นิติรัฐเป็นรัฐที่ต้องยอมตนอยู่ใต้ระบบกฎหมายในความสัมพันธ์กับปัจเจกชนและเพื่อคุ้มครองสถานะของปัจเจกชนโดยรัฐยอมตนอยู่ใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนด” ดังนั้นใน “นิติรัฐ” การกระทำของรัฐต่อปัจเจกชนจึงมีอยู่สองนัย คือ

  1. รัฐต้องกำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
  2. รัฐต้องกำหนดวิธีการและมาตรการซึ่งรัฐหรือหน่วยงานของรัฐสามารถใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด

ซึ่งกฎเกณฑ์ทั้ง 2 ประการดังกล่าวทำให้เกิดผล คือ “การจำกัดอำนาจรัฐ” หมายความว่าการใช้ “อำนาจรัฐ” จะต้องอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายที่รัฐกำหนด

ด้วยเหตุนี้ เมื่อฝ่ายปกครองเข้าไปมีนิติสัมพันธ์กับประชาชน ฝ่ายปกครองจึงไม่สามารถจะฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นได้ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเป็นนิติรัฐที่มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างสมบูรณ์แล้ว กรณีก็จะเข้มงวดถึงกับว่าถ้าไม่มีกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้ ฝ่ายปกครองก็ไม่อาจจะกระทำการใด ๆ อันเป็นการบังคับประชาชนได้เลยถ้าประชาชนไม่สมัครใจ ซึ่งหมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้โดยตรงหรือโดยปริยาย ฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถใช้มาตรการอย่างใด ๆ ต่อประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครองได้เลย

ใน “นิติรัฐ” แม้จะมีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้ ฝ่ายปกครองก็ยังต้องดำเนินการตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้นั้นด้วย “วิธีการ” และตาม “ขั้นตอน” ที่กฎหมายกำหนด หรืออาจจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายปกครองซึ่งเป็นองค์กรใช้อำนาจรัฐจะกระทำการอย่างใด ๆ ต่อประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้ และด้วยวิธีการที่ระบบกฎหมายในขณะนั้นได้กำหนดไว้ เท่านั้น

หากฝ่ายปกครองละเมิดหลักการแห่ง “นิติรัฐ” ดังกล่าว ประชาชนก็สามารถดำเนินคดีกับการกระทำที่มิชอบทุกประเภทของฝ่ายปกครองโดยการร้องขอต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยขอให้ “ยกเลิก” หรือขอให้“เพิกถอน” หรือขอให้ “เปลี่ยนแปลงแก้ไข” การกระทำหรือคำสั่งอันมิชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครองนั้นได้

กล่าวโดยสรุป “นิติรัฐ” ก็คือ ระบบที่สร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นหลักในการป้องกันและแก้ไขเยียวยาการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจของฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครอง “สิทธิและเสรีภาพของประชาชน” นั้นเอง

ดังนั้นสาระสำคัญของนิติรัฐ ก็คือ

  1. การจำกัดการใช้อำนาจรัฐหรือการจำกัดทารใช้อำนาจของผู้ปกครอง โดยจะต้องให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และกฎหมายนั้นต้องเป็นกฎหมายที่ดี
  2. ต้องคุ้มครองสิทธิเสริภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ปกครอง
  1. เนื้อหาของการปกครองโดยหลักนิติรัฐ (Legal state) กฎหมายนั้นต้องถูกต้องเป็นธรรม ยุติธรรม สมเหตุสมผล ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่ดี ซึ่งกฎหมายต้องห้ามไม่ให้กระทำในสิ่งที่ชั่วร้าย ไม่ใช่เอาสิ่งชั่วร้ายมาเป็นกติกาของสังคม การปกครองโดยกฎหมายดังกล่าวนี้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทรงเรียกว่า “ระบบนับถือกฎหมาย”

ข้อ 2. จงอธิบายว่ากฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชนมีความสัมพันธ์และมีความสำคัญต่อตัวนักศึกษาอย่างไร

ธงคำตอบ

“กฎหมายมหาชน” คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ฃองประชาชนส่วนใหญ่ ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน ปัจจุบันได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง ซึ่งกฎหมายปกครองนั้นอาจจะอยู่ในชื่อของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประมวลกฎหมายหรืออาจจะอยู่ในชื่อของประกาคคณะปฏิวัติก็ได้

กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 อำนาจ คือ

  1. อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
  2. อำนาจบริหาร เป็นอำนาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
  3. อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจนี้ คือ ศาล

กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองหรือที่เรียกว่า “การจัดระเบียบราชการบริหาร” รวมทั้งการรางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งทางปกครอง ให้อำนาจในการออกกฎ ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

ซึ่งในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญรวมทั้งการใช้อำนาจทางปกครองในการออกกฎ ออกคำสั่งทางปกครอง หรือการกระทำทางปกครองในรูปแบบอื่นและการทำสัญญาทางปกครองขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ก็เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมของประเทศ ซึ่งรวมทั้งเพื่อประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าด้วย ดังนั้นในการใช้อำนาจต่าง ๆ หรือการกระทำต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงต้องมีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ด้วย เพราะถ้าไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ องค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะไม่สามารถที่จะดำเนินการใด ๆ ได้

และนอกจากนั้น ในการใช้อำนาจต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะต้องได้ใช้อำนาจโดยถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนด้วย เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความสุจริต หลักประโยซน์สาธารณะ หลักความยุติธรรม และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นต้น

หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะใช้อำนาจทางปกครองเพื่อออกกฎ เช่น ระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยหรือออกคำสั่งทางปกครอง หรือกระทำการทางปกครองในรูปแบบอื่น หรือการทำสัญญาทางปกครองในการบริหารมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ฃองมหาวิทยาลัยและนักศึกษาทุกคน รวมทั้งข้าพเจ้าด้วยนั้นก็จะต้องมีกฎหมายมหาชน ซึ่งในที่นี้คือ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกฎหมายปกครองได้บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ด้วย และจะต้องใช้อำนาจและหน้าที่นั้นโดยถูกต้องตามหลักการต่าง ๆ ของกฎหมายมหาชนดังกล่าวข้างต้นด้วย เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยได้ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือเป็นการใช้อำนาจโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ หรือได้ใช้อำนาจและหน้าที่ไม่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนแล้ว ย่อมอาจก่อให้เกิดข้อพิพาท เรียกว่า ข้อพิพาททางปกครองขึ้นมาได้ และเมื่อเกิดข้อพิพาททางปกครองหรือคดีปกครองขึ้นมาแล้ว ก็สามารถนำข้อพิพาทนั้นไปฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชน จะมีความสัมพันธ์และมีความสำคัญต่อข้าพเจ้า ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

ข้อ 3. จงอธิบายทฤษฎี การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ โดยละเอียด พร้อมทั้งอธิบายวิวัฒนาการของการจัดตั้งศาลปกครองของไทย

ธงคำตอบ

การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ หมายถึง การควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ หน่วยงานของรัฐนั่นเอง ซึ่งการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีได้ 2 รูปแบบ คือ

  1. อำนาจผูกพัน คือ อำนาจหน้าที่ที่องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐต้องปฏิบัติเมื่อมีข้อเท็จจริง

อย่างใด ๆ เกิดขึ้นตามที่กฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ได้บัญญัติกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนี้องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐจะต้องออกคำสั่ง และคำสั่งนั้นต้องมีเนื้อความเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น เรื่องการร้องขอจดทะเบียนสมรส เมื่อชายและหญิงผู้ร้องขอมีคุณสมบัติครบถ้วนและปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการสมรสที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. แล้ว นายทะเบียนครอบครัวจะต้องทำการจดทะเบียนสมรสให้แก่ผู้ร้องขอเสมอ เป็นต้น

  1. อำนาจดุลพินิจ อำนาจดุลพินิจแตกต่างกับอำนาจผูกพันข้างต้น กล่าวคือ อำนาจดุลพินิจเป็นอำนาจที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหรือองค์กรฝ่ายปกครองของรัฐสามารถเลือกตัดสินใจออกคำสั่ง หรือเลือกสั่งการอย่างใด ๆ ได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เพื่อให้บรรลุตามความมุ่งหมายหรือตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

กล่าวอีกนัยหนึ่ง อำนาจดุลพินิจก็คือ อำนาจที่กฎหมายเปิดช่องให้องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐมีอิสระในการตัดสินใจเมื่อมีเหตุการณ์หรือมีข้อเท็จจริงใด ๆ ที่กำหนดไว้เกิดขึ้น

เหตุที่ต้องมีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวก็เพราะกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค รัฐ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจเหนือประชาชนหากไม่มีการควบคุม เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐอาจใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ การใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ หน่วยงานของรัฐ กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย หรือใช้อำนาจนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน

วิธีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. การควบคุมแบบป้องกัน หมายถึง ก่อนที่ฝ่ายบริหารจะได้วินิจฉัยสั่งการหรือก่อนจะมีการกระทำในทางปกครอง ที่จะไปกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมีระบบป้องกันเสียก่อน กล่าวคือ มีกฎหมายกำหนดกระบวนการ หรือขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนที่จะมีคำสั่งออกไป

กระบวนการควบคุมดังกล่าวในกฎหมายของต่างประเทศมีตัวอย่างเช่น

–           การโต้แย้งคัดค้าน คือ ผู้ที่อาจเสียหายจากการกระทำของฝ่ายปกครองจะต้องสามารถแสดงข้อโต้แย้งของตนได้ก่อนมีการกระทำนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยง “การปกครองที่ดื้อดึง”

–           การปรึกษาหารือ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

–           การให้เหตุผล เพื่อเป็นหลักประกันในการควบคุมการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง

–           หลักการไม่มีส่วนได้เสีย กล่าวคือ ผู้มีอำนาจสั่งการทางปกครองต้องไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่สั่งการนั้น

–           การไต่สวนทั่วไปเป็นวิธีการที่กำหนดให้ฝ่ายปกครองต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริงโดยทำการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลที่มีส่วนได้เสีย แล้วทำเป็นรายงานก่อนที่ฝ่ายปกครองจะตัดสินใจกระทำการที่จะมีผลกระทบผู้มีส่วนได้เสีย

การควบคุมแบบป้องกัน จึงเป็นวิธีการที่ช่วยเสริมการควบคุมโดยทางศาล เพราะฝ่ายปกครองจะต้องระมัดระวังในขั้นตอนการพิจารณาออกคำสั่ง ทำให้การกระทำของฝ่ายปกครองมีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดคดีที่จะมีไปสู่ศาลอีกทางหนึ่งด้วย

  1. การควบคุมแบบแก้ไข หรือการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง หลังการใช้อำนาจทางปกครองไปแล้ว สามารถกระทำได้หลายวิธี ดังนี้

1)         การควบคุมโดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหารเอง เช่น

–           การร้องทุกข์

–           การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยทางปกครอง

2)         การควบคุมโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหาร เช่น

– การควบคุมโดยทางการเมือง ได้แก่ การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

–           การควบคุมโดยองค์กรพิเศษ ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน

–           การควบคุมโดยศาลปกครอง

การควบคุมแบบแก้ไขนี้ เป็นการใช้อำนาจทางปกครองไปแล้ว และเกิดปัญหาจากการใช้อำนาจทางการปกครองนั้นขึ้น จึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้

วิวัฒนาการของการจัดดั้งศาลปกครองของไทย

ศาลปกครองของไทย เป็นผลผลิตที่เกิดจากวิวัฒนาการทางความคิดในระบบกฎหมายไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ทำกับอังกฤษใน พ.ศ. 2398 ซึ่งเป็นการทำให้เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของประเทศไทยให้แก่ชาติมหาอำนาจตะวันตก

ทำให้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงต้องเร่งรีบปฏิรูประบบกฎหมายของประเทศไทยโดยเร่งด่วน โดยเลือกที่จะนำระบบประมวลกฎหมายของฝรั่งเศสมาเป็นต้นแบบ ด้วยเหตุผลที่ว่าสามารถคัดลอกกฎหมายลายลักษณ์อักษรมาใช้ได้เลย ซึ่งจะทำให้การปฏิรูปกฎหมายของไทยเกิดความรวดเร็วขึ้น

ความพยายามก่อตั้งศาลปกครองของไทยนั้นได้มีมายาวนานกว่า 130 ปี โดยในปี พ.ศ. 2417พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้วางรากฐานให้กับศาลปกครองของไทย โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ เคาน์ซิล ออฟ สเตต (Council of State) “จัดตั้งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” ซึ่งมีอิทธิพลในการจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากราชการ ซึ่งในเวลาต่อมาคือ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” และ “คณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์” รวมทั้ง “คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์”ตามลำดับ จนต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้มีบทบัญญัติให้จัดตั้งศาลปกครองขึ้น และในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นสำเร็จ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. 2542 และตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ดังกล่าว ก็ได้บัญญัติถึงคดีพิพาทประเภทใด ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทำให้ทราบถึงความแตกต่างของขอบเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง

Advertisement