การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ขอให้นักศึกษาอธิบายหลักเกณฑ์ และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาโดยละเอียด

ธงคำตอบ

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไว้ดังนี้

(1)       ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามิจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกทั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้

(2)       ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(3)       การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(4)       การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับพฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกทั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตราให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(5)       เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(6)       การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(7)       เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ข้อ 2. จงนำกฎหมายมหาชนไปอธิบายการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินของไทยปัจจุบันตามที่ท่านเข้าใจ

ธงคำตอบ

กฎหมายมหาชนนั้นจะมีความสำคัญต่อการเมืองและการปกครอง (การบริหารราชการแผ่นดิน)ของไทยเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ

กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐ และแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชนปัจจุบัน ได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครองกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตย และการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งแบ่งออกเป็น 3 อำนาจ คือ

  1. อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
  2. อำนาจบริหาร เป็นอำนาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
  3. อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจนี้ คือ ศาล

กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองหรือที่เรียกว่า “การจัดระเบียบราขการบริหาร” รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งทางปกครอง ให้อำนาจในการออกกฎ ให้อำนาจในภารกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

หน่วยงานทางปกครอง ได้แก่ หน่วยงานในราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย เช่น สำนักงานรังวัดเอกชน สถานที่ตรวจสภาพรถยนต์ สภาทนายความ ฯลฯ

เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจในทางปกครองของรัฐ ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงาน ทางปกครอง ฯลฯ

กล่าวโดยสรุป กฎหมายมหาชน ซึ่งปัจจุบันได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครองมีความสำคัญกับการเมืองการปกครอง (การบริหารราชการแผ่นดิน) ของไทยในแง่ที่ว่า เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ และวางหลักในการจัดระเบียบการปกครองของรัฐ รวมทั้งบัญญัติสถานะอำนาจหน้าที่แก่ฝ่ายปกครองในทางปกครองและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนภายในรัฐ หากไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ ฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ เพราะตามหลักการของกฎหมายมหาชนแล้วฝ่ายปกครองจะกระทำการใด ๆ ได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้เท่านั้น

 

ข้อ 3. จงอธิบายการควบคุมการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่าหมายถึงการควบคุมเรื่องใด อย่างไร และดุลพินิจดังกล่าวมีลักษณะอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบมาโดยละเอียด

ธงคำตอบ

การใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ หน่วยงานของรัฐ กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย หรือใช้อำนาจนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น อาจเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ได้ใช้ดุลพินิจกระทำการที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เช่น

(1)       กระทำการข้ามขั้นตอน เช่น ในกรณีกฎหมายบัญญัติให้ก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินการเรื่องสำคัญ ๆ จะต้องถามความเห็นประชาชนก่อน แต่รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ดำเนินการต่าง ๆ โดยไม่ถามความเห็นของประชาชนก่อน ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้โต้แย้ง ถือว่าเป็นการข้ามขั้นตอน เพราะการนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน

(2)       กระหำการโดยปราศจากอำนาจ เช่น กฎหมายไม่ได้กำหนดหรือมอบอำนาจและหน้าที่ในการอนุมัติ อนุญาตให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ แต่เจ้าพนักงานธุรการผู้นั้นไปดำเนินการอนุมัติ หรืออนุญาตแทนปลัดอำเภอโดยไม่มีอำนาจ

(3)       กระหำการผิดแบบ เช่น การออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางกรณีกฎหมายบัญญัติให้ออกเป็นหนังสือ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับไปออกคำสั่งด้วยวาจา ย่อมเป็นการทำผิดแบบที่กฎหมายกำหนด

(4)       กระทำการนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เช่น การที่ผู้บังคับบัญชานำเรื่องการย้ายการโอนมาเป็นการลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เพราะเรื่องการย้ายการโอนข้าราชการสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ต่อตัวข้าราขการเอง มิใช่สร้างขึ้นมาเพื่อลงโทษแก่ตัวข้าราชการผู้นั้น

(5)       กระทำการโดยการสร้างภาระให้ประชาชน เช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐไปสร้างภาระด้านค่าใช้จ่าย หรือไปกำหนดให้ประชาชนกระทำการใด ๆ เพิ่มเติมโดยไม่มีความจำเป็น

(6)       กระทำการโดยมีอคติหรือไม่สุจริต เช่น กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการสั่งปิดโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลองได้เพียง 1 เดือน แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับสั่งปิดโรงงานดังกล่าวถึง 2 เดือน เพราะเคยมีปัญหาส่วนตัวกันมาก่อน ย่อมเป็นการใช้อำนาจโดยมีอคติ

ดังนั้น การควบคุมการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการควบคุมมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ หน่วยงานของรัฐใช้ดุลพินิจกระทำการที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง

และเหตุที่ต้องมีการควบคุมการใช้ดุลพินิจดังกล่าวก็เพราะกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค รัฐ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจเหนือประชาชน ดังนั้นหากไม่มีการควบคุม เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ อาจใช้ดุลพินิจทีไม่ชอบด้วยกฎหมายได้

และการควบคุมการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือที่เรียกว่าเป็นการควบคุมการใช้อำนาจรัฐนั้น แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. การควบคุมแบบป้องกัน หมายถึง ก่อนที่ฝ่ายบริหารจะได้วินิจฉัยสั่งการหรือก่อนจะมีการกระทำในทางปกครอง ที่จะไปกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะมีระบบป้องกันเสียก่อน กล่าวคือ มีกฎหมายกำหนดกระบวนการ หรือขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนที่จะมีคำสั่งออกไป

การควบคุมแบบป้องกัน จึงเป็นวิธีการที่ช่วยเสริมการควบคุมโดยทางศาล เพราะฝ่ายปกครองจะต้องระมัดระวังในขั้นตอนการพิจารณาออกคำสั่ง ทำให้การกระทำของฝ่ายปกครองมีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดคดีที่จะมีไปสู่ศาลอีกทางหนึ่งด้วย

  1. การควบคุมแบบแก้ไข หรือการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง หลังการใช้อำนาจทางปกครองไปแล้ว และเกิดปัญหาจากการใช้อำนาจทางการปกครองนั้นขึ้น จึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยวิธีใด วิธีหนึ่งหรือหลายวิธีตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้

วิธีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐที่ดีที่สุด คือ การควบคุมแบบแล้ไข (ภายหลัง) ที่เรียกว่า ใช้ระบบตุลาการ (ศาลคู่) นั่นคือ ศาลปกครอง เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีระบบการพิจารณาที่ใช้ศาล และมีกฎหมายรองรับทำให้การพิจารณาพิพากษาเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างยิ่ง อาทิเช่น กฎหมายจัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กฎหมายว่าด้วยความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539

Advertisement