การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  MCS 2201 การเขียนข่าว

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบมีทั้งหมด  8  ข้อ  ให้นักศึกษาทำทุกข้อ

ข้อ  1  ความนำและส่วนเชื่อมมีลักษณะอย่างไร  และสำคัญอย่างไรต่อการรายงานข่าว  จงอธิบาย

แนวคำตอบ

ความนำ  (Lead)

ความนำ  คือ  ย่อหน้าแรกของข่าว  ซึ่งจัดเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของข่าว  และเป็นส่วนที่เขียนยากที่สุดด้วย  ซึ่งอาจมีความยาวเพียง  1  ย่อหน้าสั้นๆ  เท่านั้น  โดยการเขียนความนำควรเน้นที่ตัวข่าว  หรือเน้นรายละเอียดที่สำคัญและน่าสนใจ  จากนั้นผู้สื่อข่าวต้องสรุปข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น  โดยพิจารณาเฉพาะประเด็นสำคัญที่คาดว่าผู้อ่านอยากรู้มากที่สุดตามเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น  และควรเขียนเป็นประโยคที่สั้น  ชัดเจน  เข้าใจง่าย

ความสำคัญของความนำ  

1       ช่วยสรุปสาระสำคัญของข่าวเพื่อให้ผู้อ่านที่อาจจะเพียงมองผ่านๆ  ก็สามารถตัดสินได้ตั้งแต่แรกว่าจะอ่านข่าวนั้นต่อไปหรือไม่

2       ช่วยให้ผู้อ่านไม่ต้องเสียเวลามาก  เพราะแม้ว่าจะอ่านเฉพาะแต่ความนำ  ผู้อ่านก็จะทราบเรื่องทั้งหมดโดยย่อ

ลักษณะของความนำที่ดี

1       ต้องกระชับ  เพื่อช่วยให้ผู้อ่านอ่านและทำความเข้าใจได้ง่าย

2       มีความชัดเจนเฉพาะเจาะจงจนทำให้ผู้อ่านนึกถึงภาพเหตุการณ์  หรือจินตนาการถึงสภาพที่เกิดขึ้นได้

3       ให้คำที่มีความหมายหนักแน่นเพื่อเร้าความสนใจของผู้อ่าน  และอาจสร้างความน่าตื่นเต้นมีสีสันหรือภาพพจน์

4       เน้นถึงระดับความสำคัญของข่าวนั้น  เช่น  ระบุถึงจำนวนเงิน  อาคาร  วัตถุอื่นๆ  หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นชีวิต  การบาดเจ็บ  หรือมูลค่าของความสูญเสียครั้งนั้น

5       ควรเน้นเรื่องไม่ปกติ  สิ่งที่คาดไม่ถึง  หรือสิ่งที่ไม่คาดฝัน  ซึ่งมีความสำคัญหรือมีแนวโน้มว่าจะมีความสำคัญต่อไปในอนาคต  และเป็นเรื่องที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้

6       ควรมีเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับผู้อ่าน  โดยควรระบุบุคคล  สถานที่  และเหตุการณ์ที่ผู้อ่านคุ้นเคย

7       ต้องกล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดของเรื่องก่อน

8       ไม่มีความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนในความนำ

9       การอ้างคำพูดหรือความเห็นของแหล่งข่าวจะต้องระบุว่าเป็นแหล่งข่าว  ไม่ใช่ของผู้เขียน

10  เข้าใจง่ายและตรงประเด็น  เพื่อให้ผู้อ่านจับใจความได้เร็ว  ไม่ต้องเสียเวลาอ่านมาก

ส่วนเชื่อม  (Neck  or  Bridge)

ส่วนเชื่อม  คือ  การเขียนข้อความเชื่อมระหว่างความนำกับเนื้อข่าว  ซึ่งเป็นย่อหน้าถัดไปจากความนำ  แต่ในบางข่าวอาจจะวางส่วนเชื่อมไว้ท้ายข่าวก็ได้  โดยส่วนเชื่อมอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อข่าว  แต่เรามักจะพบส่วนเชื่อมในข่าวตาม  (Follow – up  Story) คือ  ข่าวที่เคยเกิดขึ้นและได้รับการนำเสนอไปแล้ว  แต่เมื่อมีเหตุการณ์ใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต  ผู้สื่อข่าวก็มักจะเขียนข่าวโดยใช้ส่วนเชื่อมมาอธิบายความเดิมนั้น

ความสำคัญของส่วนเชื่อม  มีดังนี้

1       ช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจความเดิมและเหตุการณ์ที่เป็นข่าวได้ง่ายขึ้น

2       ช่วยสร้างความต่อเนื่องให้ผู้อ่านสามารถดำเนินความคิดไปในแนวทางเดียว  ไม่ให้เกิดความสับสนในลำดับเนื้อหาเหตุการณ์

ลักษณะของส่วนเชื่อมที่ดี  มีดังนี้

1       ต้องเป็นส่วนขยายเพื่อให้ความนำสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  หรือเป็นข้อมูลสำคัญในส่วนที่ความนำนั้นยังขาดอยู่  ซึ่งต้องมีความกลมกลืนกับข้อความในความนำนั้นด้วย  เช่น  เมื่อความนำไม่อาจระบุเวลา  สถานที่เกิดเหตุ ฯลฯ  เนื่องจากจะมีความยาวเยิ่นเย้อก็สามารถนำเสนอไว้ในส่วนเชื่อมได้

2       ต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับคุณลักษณะของบุคคลในข่าว  ซึ่งไม่อาจระบุไว้ในความนำได้  เช่น  การระบุชื่อ  นามสกุล  อายุ  ที่อยู่  และอาชีพ  เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักบุคคลในข่าวมากขึ้น

3       ต้องให้ภูมิหลังและความเป็นมาของเหตุการณ์ที่เป็นข่าวนั้นๆ  ในกรณีที่เป็นข่าวต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ในอดีต  เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจข้อมูลข่าวได้ง่ายขึ้น

ข้อ  2  หากนักศึกษาต้องรายงานข่าวอดีตนายกรัฐมนตรีเสียชีวิต  ควรต้องรายงานประเด็นเนื้อหาใดบ้าง

แนวคำตอบ

การรายงานข่าวอดีตนายกรัฐมนตรีเสียชีวิตควรนำเสนอประเด็นเนื้อหา  ดังนี้

1       ประเด็นสำคัญในความนำ  ควรเริ่มต้นด้วยการสรุปข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดของผู้เสียชีวิต  คือ  ชื่อ  นามสกุล  อาชีพ  หรือตำแหน่งสูงสุด  อายุ  สาเหตุการเสียชีวิต  วันที่  เวลา  และสถานที่ที่เสียชีวิต

2       ประเด็นในเนื้อเรื่อง  แบ่งออกได้ดังนี้

–          ย่อหน้าแรก  สรุปลำดับเหตุการณ์ก่อนการเสียชีวิตอย่างสั้นๆ  ถ้าป่วยเป็นโรคเริ่มป่วยมาตั้งแต่เมื่อไร  มีอาการเป็นอย่างไร  รักษาโรงพยาบาลไหน  จากนั้นจึงระบุเหตุการณ์ตื่นเต้นขณะที่ผู้ตายใกล้จะเสียชีวิต  หรือเหตุผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ตายก่อนจะเสียชีวิต  โดยอาจเล่าเหตุการณ์แบบนาทีต่อนาทีหรืออาจอ้างคำพูดของแพทย์  หรือผู้ใกล้ชิดที่เห็นเหตุการณ์ก็ได้

–          ย่อหน้าต่อไป  จะเป็นรายละเอียดของพิธีศพและพิธีสวดพระอภิธรรมว่าจัดที่ใด  ใช้เวลากี่วัน  ผู้ใดเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม  กำหนดการบรรจุศพ  และกำหนดดารฌาปนกิจ

–          ย่อหน้าสุดท้าย  เป็นส่วนของภูมิหลังหรือประวัติของผู้ตายว่าเป็นชาวจังหวัดใด  จบการศึกษาจากที่ใดบ้าง  มีชื่อเสียงในฐานะอะไร  ซึ่งอาจเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับอาชีพการงาน  ตำแหน่งในสังคมที่ได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง  มีผลงานดีเด่นอะไรที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป  รวมทั้งผู้เสียชีวิตมีภรรยาและบุตรธิดากี่คน  ชื่ออะไรบ้าง  มีบุพการีและญาติพี่น้องที่มีชื่อเสียงเป็นใครบ้าง

ข้อ  3  ข่าวการเมือง  ครอบคลุมเนื้อหาด้านใดบ้าง  ยกตัวอย่างข่าวและแหล่งข่าวประกอบ

แนวคำตอบ

ข่าวการเมือง  หมายถึง  การรายงานข่าวที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน  กิจกรรมความเคลื่อนไหวในการปฏิบัติงานทางการเมืองการปกครองของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล  รวมทั้งรายงานกิจกรรมความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ  ซึ่งรับอาสาเข้ามารักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้ประชาชนเจ้าของประเทศได้รับทราบ  โดยจะมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องต่างๆ  

1)    การจัดการเลือกตั้ง  การรณรงค์หาเสียง  นโยบายของพรรค

2)    การจัดตั้งรัฐบาล

3)    การกำหนดนโยบาย  การแถลง  การปฏิบัติงานตามนโยบาย

4)    กระบวนการออกกฎหมายของรัฐสภา  การดำเนินงานของรัฐสภา  กรรมาธิการ

5)    การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง  ข้าราชการประจำ  องค์กรอิสระต่างๆ  การเปิดอภิปราย

6)    บทบาทของพรรคฝ่ายค้าน  วุฒิสภา

7)    ความคิดเห็นของ  ส.ส.  ต่อประเด็นปัญหาต่างๆ  ในรัฐสภา

8)    ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

9)    การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ  กกต.  ป.ป.ช.  ป.ป.ง.  ค.ต.ง.

ตัวอย่างข่าวการเมือง  ข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี  ซึ่งต้องอาศัยแหล่งข่าว

1       แหล่งข่าวประจำ  คือ  บุคคลหรือสถานที่ซึ่งหนังสือพิมพ์ส่งผู้สื่อข่าวไปประจำตามแหล่งนั้นๆ  เช่น  รัฐสภา  ทำเนียบรัฐบาล  พรรคการเมืองต่างๆ  นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีที่ได้รับการปรับเปลี่ยนเข้ามา  หรือถูกปรับเปลี่ยนออกไป  ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ฯลฯ

2       แหล่งข่าวพิเศษ  คือ  แหล่งข่าวที่อาจอยู่  ณ  สถานที่เกิดเหตุ  ผู้ที่เกี่ยวข้อง  ผู้เห็นเหตุการณ์  และผู้ที่สนิทสนมคุ้นเคยกับผู้สื่อข่าวเป็นการส่วนตัว  ซึ่งอาจเป็นแหล่งข่าวเปิด  (แหล่งข่าวที่ได้รับการระบุชื่อและคุณลักษณะในข่าว)  หรือเป็นแหล่งข่าวปิด  (แหล่งข่าวที่ไม่ต้องการให้ชื่อและคุณลักษณะถูกระบุในข่าว)  เช่น  รัฐมนตรีที่เป็นคนใกล้ชิด  นักการเมืองในสังกัดพรรครัฐบาลที่เป็นแหล่งข่าวระดับสูง  หรืออาจไปสัมภาษณ์ความคิดเห็นของนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองหลังปรับคณะรัฐมนตรี ฯลฯ

3       แหล่งข่าวจากสิ่งตีพิมพ์  คือ  เอกสารหรือสิ่งตีพิมพ์ซึ่งเป็นแหล่งข่าวสำคัญ  เช่น  ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่มีการปรับเปลี่ยนเข้ามาใหม่  เอกสารเกี่ยวกับประวัติของรัฐมนตรีเพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการเขียนข่าว ฯลฯ

ข้อ  4  จงอธิบายว่าปัจจัยด้านบุคคล  สภาพการเมืองการปกครอง  และองค์กร  มีผลทำให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละชิ้น  แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร

แนวคำตอบ

หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกัน  ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้จะขึ้นอยู่กับ  ปัจจัยที่มีผลต่อการประเมินคุณค่าข่าว  ดังนี้

1       ปัจจัยด้านบุคคล  (ผู้สื่อข่าว  หัวหน้าข่าว  บรรณาธิการที่เกี่ยวข้อง)  ได้แก่

–          เชื้อชาติ  ศาสนา  คือ  อคติเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติและศาสนา  เพราะบุคคลที่มีเชื้อชาติและศาสนาที่ต่างกัน  ก็ย่อมเกิดความลำเอียงในการเลือกแง่มุมของข่าวที่จะนำมาเสนอ

–          ค่านิยม  สำนึก  และมุมมอง  ซึ่งแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางการศึกษา

 

–          ความเป็นวิชาชีพ  คือ  หนังสือพิมพ์จะต้องมีอุดมการณ์และวิญญาณแห่งวิชาชีพโดยต้องรู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ  ควรหรือไม่ควรลงข่าว

–          การรับรู้และความสนใจของผู้รับสาร  คือ  การประเมินเรื่องที่คิดว่าผู้อ่านน่าจะให้ความสนใจมากที่สุด

2       ปัจจัยด้านองค์กร  แบ่งออกเป็น

นโยบายของสื่อ  ได้แก่

–          ความเป็นเจ้าของสื่อ  คือ  หนังสือพิมพ์มีใครเป็นเจ้าของสื่อ  หรือมีใครเป็นผู้โฆษณารายใหญ่  หนังสือพิมพ์นั้นก็อาจเน้นเสนอข่าวที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าของสื่อ  หรือผู้โฆษณารายนั้นๆ

–          นโยบายการบริหาร  คือ  หนังสือพิมพ์มีนโยบายเน้นทำกำไร  เอาตัวรอดหรือเน้นชิงส่วนแบ่งตลาด  ซึ่งมีผลให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกันไปตามนโยบายการบริหาร

–          นโยบายด้านข่าว / เนื้อหา  คือ  หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะเน้นประเภทของข่าวที่จะนำเสนอ  ความลึก  ลีลาการเขียน ฯลฯ  ที่แตกต่างกัน

            วัฒนธรรมองค์กร  คือ  แบบปฏิบัติขององค์กรนั้นๆ  ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร  ได้แก่

–          จรรยาบรรณ  คือ  ข้อควรปฏิบัติของแต่ละองค์กร  ซึ่งอาจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

–          การเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ด้อยโอกาส  หรือรากหญ้า

–          การให้ความหมายกับข่าวบางประเภท  เช่น  ข่าวสังคม  ข่าววัฒนธรรม  ข่าวสิ่งแวดล้อม  ข่าวท้องถิ่น ฯลฯ  ว่าจะเน้นนำเสนอหรือไม่

3       ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางการเมือง  การปกครอง  และสังคม  ซึ่งมีผลทำให้บางเรื่องรายงานได้  แต่บางเรื่องรายงานไม่ได้  ได้แก่

–          ความมั่นคง  ผลประโยชน์ของชาติ

–          ผลประโยชน์ทางการเมืองระดับประเทศ  และนานาชาติ

ข้อ  5  การลอบสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ทหารและพลเรือนใน  3  จังหวัดชายแดนใต้  โดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้รับการรายงานเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องในสื่อมวลชนทุกแขนง  เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าข่าวด้านใดบ้าง

แนวคำตอบ

เหตุการณ์ข้างต้นได้รับการรายงานเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าเชิงข่าว (New  Values)  ดังนี้

1       ความมีชื่อเสียง  (Prominenec)  คือ เหตุการณ์ข้างต้นเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่มีชื่อเสียงได้แก่  จังหวัด  3  จังหวัดในเขตชายแดนภาคใต้  คือ  จังหวัดยะลา  ปัตตานี  และนราธิวาส  ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยและมักเกิดเหตุการณ์รุนแรงอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ

2       ความใกล้ชิด  (Proximity)  คือ  ความใกล้ชิดทั้งทางกายและทางใจระหว่างผู้อ่านและบุคคลหรือสิ่งต่างๆ  ที่ตกเป็นข่าว  รวมทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่เป็นภัยใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนใต้  และผู้คนในจังหวัดใกล้เคียง  ซึ่งส่งผลให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต  จึงได้รับความสนใจจากผู้อ่านเป็นอย่างมาก

3       ความทันต่อเวลา  (Timeliness)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น  สดๆร้อนๆทำให้ได้รับความสนใจ  เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องการที่จะได้รับรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ

4       ปุถุชนสนใจ  (Human  Interest)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นก่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์หวาดกลัว  เกลียดและโกรธคนร้าย  รวมทั้งเกิดความสงสารเห็นใจญาติมิตรและครอบครัวของผู้เสียชีวิต  จึงทำให้ข่าวนี้มีคุณค่าข่าวสูงและเร้าให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ

5       ความขัดแย้ง  (Conflict)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ในลักษณะของความขัดแย้งทั้งทางกายและทางความคิด  ซึ่งเป็นความขัดแย้งระดับชาติหรือระดับประเทศที่มักจะนำไปสู่ความเสียหาย

6       ผลกระทบ  (Consequence)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมากทั้งทางตรงและทางอ้อม  ซึ่งมีผลให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง  เช่น  ประชาชนใน  3  จังหวัดชาแดนภาคใต้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข  เพราะเกิดความหวาดกลัว  เสียขวัญและกำลังใจ  รวมทั้งเกิดความไม่มั่นใจในความปลอดภัย  นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ  ดังนั้นประชาชนจึงควรรับรู้เรื่องเหล่านี้เพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์ดังกล่าว

7       ความมีเงื่อนงำ  (Suspense)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นไม่สามารถคลี่คลายหรือตีแผ่หาสาเหตุได้  และยังไม่ทราบผลแน่ชัด  เช่น  ตำรวจยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายและผู้ที่อยู่เบื้องหลังได้  นอกจากนี้รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้  ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันได้เช่นกัน

 

ข้อ  6  จากข่าวต่อไปนี้

6.1            ข่าวนี้รายงานโดยใช้รูปแบบการเขียนประเภทใด  รูปแบบดังกล่าวมีจุดเด่นอย่างไรบ้าง

6.2            จงเขียนข่าวนี้เป็นข่าวสั้นรูปแบบพีระมิดหัวกลับ  โดยคงใจความสำคัญไว้ทั้งหมด

หนังสือของยาย

มีค่ามากจริงๆสำหรับหนังสือของคุณยายเล่มนี้

“It’s  Time  to  Call  911  :  What  to  do  in  an  Emergency?”  คือหนังสือที่คุณยายของเด็กชายโทนี่  ชาร์ป  เคยซื้อส่งไปให้หลานชายวัย  4  ขวบ  อ่านเมื่อหลายเดือนที่แล้ว

หนังสือเล่มนี้สามารถทำให้เด็กชายชาวเมืองแฟร์แบงก์  รัฐอลาสกา  สหรัฐอเมริกา  สามารถ
โทรแจ้ง  911  ให้มาช่วยแม่ที่เป็นลมหมดสติได้ทันเวลา  ระหว่างอยู่กับแม่ที่บ้านแค่  2  คน  เหตุเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

แม่ผมไม่สบาย  แม่ต้องการรถพยาบาล

เธอเป็นลมและนอนหลับไปแล้ว

คุณช่วยเรียกรถพยาบาลให้ด้วยได้ไหม

เมื่อพ่อกลับมาถึง  พ่อคงจะรู้ว่าแม่ไม่สบายเป็นอะไร

ทั้งหมดนั้น  ก็คือเสียงของโทนี่ที่เจ้าหน้าที่  911  บันทึกไว้  แล้วรีบส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วย  โดยหนูน้อยยังอธิบายบอกทางไปบ้านแก่เจ้าหน้าที่ได้ถูกด้วย

หลังจากรอดมาได้  นางคอร์ตนี่ย์  มารดาของเด็กชาย  เล่าว่า  ลูกชายเคยอ่านหนังสือเล่มนั้นบ่อยมากจนจำได้ขึ้นใจ  ซึ่งเป็นหนังสือแบบอินเตอร์แอคทีฟ  โดยมีการให้รางวัลเป็นเสียงไซเรนของรถพยาบาลและคำชมว่า  เก่งมาก  เมื่อผู้อ่านทำได้ถูกต้อง

สำหรับความเก่งกาจหนนี้  โทนี่ได้รับรางวัลจากพ่อแม่เป็นตุ๊กตาหมีที่เขาอยากได้มาก  และสุนัขเป็นๆอีก  2  ตัว  แล้วยังได้เหรียญประกาศเกียรติคุณ  จาก  911  ด้วย  สมควรได้จริงๆ

6.1            ข่าวนี้รายงานโดยใช้รูปแบบการเขียนประเภทใด  รูปแบบดังกล่าวมีจุดเด่นอย่างไรบ้าง

แนวคำตอบ

ข่าวข้างต้นรายงานโดยใช้รูปแบบการเขียนข่าวแบบ  พีระมิดหัวตั้ง  (Upright  Pyramid)  ซึ่งมีจุดเด่น  คือ  มักใช้กับเหตุการณ์สั้นๆ  โดยมีลีลาการเขียนให้อ่านสนุกคล้ายเรื่องสั้น  ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกขบขัน  เก็บไคลแม็กซ์  (Climax)  หรือประเด็นสำคัญของเรื่องไว้เสนอในตอนจบของเนื้อข่าว  ซึ่งสำนักพิมพ์มักนำข่าวที่เขียนในรูปแบบนี้มาใช้ตกแต่งหน้าข่าวให้น่าอ่านยิ่งขึ้น  เรียกว่า  ข่าวสั้นขำขัน  (Page  Brightener)  นอกจากนี้ยังนำมาใช้กับข่าวทั่วไป  เช่น  ข่าวอาชญากรรมที่ต้องการรายงานรายละเอียดของเหตุการณ์เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้อ่าน  แต่จะไม่เหมาะกับเรื่องหนักๆ  ที่จริงจัง  เช่น  เรื่องเศรษฐกิจ  การเมือง

โครงสร้างการเขียนข่าวแบบพีระมิดหัวตั้ง  มีดังนี้

ความนำ /  เกริ่นนำ  (ย่อหน้าแรกจะเป็นส่วนเริ่มเรื่องหรือความนำ  ซึ่งมักเขียนเป็นประโยคสั้นๆ  ในลักษณะเกริ่นนำเรื่อง)

เนื้อข่าว  (เนื้อข่าวจะเป็นข้อเท็จจริงที่ค่อยๆเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ)

เนื้อข่าวย่อหน้าสุดท้าย  (จะเป็นส่วนสรุปเรื่องที่เป็นไคลแม็กซ์หรือประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่อง  ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้อ่านอยากรู้มากที่สุด)

6.2            จงเขียนข่าวนี้เป็นข่าวสั้นรูปแบบพีระมิดหัวกลับ  โดยคงใจความสำคัญไว้ทั้งหมด

หนังสือของยาย

มีค่ามากจริงๆสำหรับหนังสือของคุณยายเล่มนี้

“It’s  Time  to  Call  911  :  What  to  do  in  an  Emergency?”  คือหนังสือที่คุณยายของเด็กชายโทนี่  ชาร์ป  เคยซื้อส่งไปให้หลานชายวัย  4  ขวบ  อ่านเมื่อหลายเดือนที่แล้ว

หนังสือเล่มนี้สามารถทำให้เด็กชายชาวเมืองแฟร์แบงก์  รัฐอลาสกา  สหรัฐอเมริกา  สามารถ
โทรแจ้ง  911  ให้มาช่วยแม่ที่เป็นลมหมดสติได้ทันเวลา  ระหว่างอยู่กับแม่ที่บ้านแค่  2  คน  เหตุเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

แม่ผมไม่สบาย  แม่ต้องการรถพยาบาล

เธอเป็นลมและนอนหลับไปแล้ว

คุณช่วยเรียกรถพยาบาลให้ด้วยได้ไหม

เมื่อพ่อกลับมาถึง  พ่อคงจะรู้ว่าแม่ไม่สบายเป็นอะไร

ทั้งหมดนั้น  ก็คือเสียงของโทนี่ที่เจ้าหน้าที่  911  บันทึกไว้  แล้วรีบส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วย  โดยหนูน้อยยังอธิบายบอกทางไปบ้านแก่เจ้าหน้าที่ได้ถูกด้วย

หลังจากรอดมาได้  นางคอร์ตนี่ย์  มารดาของเด็กชาย  เล่าว่า  ลูกชายเคยอ่านหนังสือเล่มนั้นบ่อยมากจนจำได้ขึ้นใจ  ซึ่งเป็นหนังสือแบบอินเตอร์แอคทีฟ  โดยมีการให้รางวัลเป็นเสียงไซเรนของรถพยาบาลและคำชมว่า  เก่งมาก  เมื่อผู้อ่านทำได้ถูกต้อง

สำหรับความเก่งกาจหนนี้  โทนี่ได้รับรางวัลจากพ่อแม่เป็นตุ๊กตาหมีที่เขาอยากได้มาก  และสุนัขเป็นๆอีก  2  ตัว  แล้วยังได้เหรียญประกาศเกียรติคุณ  จาก  911  ด้วย  สมควรได้จริงๆ

แนวคำตอบ

หัวข่าว  หนูน้อยมะกัน  4  ขวบแม่รอดชีวิต

เนื้อข่าว  เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา  เด็กชายโทนี่  ชาร์ป  อายุ  4  ปี  ชาวเมืองแฟร์แบงก์  รัฐอลาสกาสหรัฐอเมริกา  ได้โทรศัพท์แจ้ง  911  ห้าช่วยมารดาที่เป็นลมหมดสติได้ทันเวลา  ระหว่างที่อาศัยอยู่กับมารดาที่บ้านแค่  2  คน  โดยหนูน้อยสามารถอธิบายทางไปบ้านแก่เจ้าหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง  ทำให้เขาได้รับเหรียญประกาศเกียรติคุณจาก  911  และยังได้รับรางวัลจากบิดามารดาเป็นตุ๊กตาหมี  และสุนัขอีก   2  ตัว

  แม่ผมไม่สบาย  แม่ต้องการรถพยาบาล  เธอเป็นลมและนอนหลับไปแล้ว  คุณช่วยเรียกรถพยาบาลให้ด้วยได้ไหม  เมื่อพ่อกลับมาถึง  พ่อคงจะรู้ว่าแม่ไม่สบายเป็นอะไร

สำหรับสาเหตุของวีรกรรมครั้งนี้  นางคอร์ตนีย์  ชาร์ป  มารดาของเด็กชาย  ซึ่งรอดชีวิตมาได้กล่าวว่า  อาจเป็นเพราะเมื่อหลายเดือนก่อน  ลูกชายได้รับหนังสือจากคุณยาย  เรื่อง  “It’s  Time  to  Call  911  :  What  to  do  in  an  Emergency?”  และอ่านหนังสือเล่มนั้นบ่อยมากจนจำได้ขึ้นใจ  ซึ่งเป็นหนังสือแบบโต้ตอบได้  (Interactive)  โดยมีการให้รางวัลเป็นเสียงไซเรนของรถพยาบาล  และคำชมว่า  เก่งมาก  เมื่อผู้อ่านทำได้ถูกต้อง

 

ข้อ  7  การระบุลักษณะบุคคล  (Identification)  ในการรายงานข่าวอุบัติเหตุ  ข่าวกีฬา  และข่าวการเมือง  มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

แนวคำตอบ

คุณลักษณะ  (Identification)  ของแหล่งข่าวที่เป็นบุคคลในการรายงานข่าวอุบัติเหตุ  ข่าวกีฬา  และข่าวการเมือง  มีความเหมือนและแตกต่างกัน

1       ชื่อ  นามสกุลของบุคคลที่เป็นแหล่งข่าว  และบุคคลที่ตกเป็นข่าว  ซึ่งจะต้องระบุอยู่เสมอในข่าวทุกประเภท

2       อายุ  ข่าวทั่วไปมักไม่นิยมระบุอายุของผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าว  ยกเว้นข่าวอาชญากรรม  ข่าวอุบัติเหตุ  หรือข่าวมรณกรรม  เช่น  กรณีข่าวข่มขืนมักมีการระบุอายุของผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นเด็ก  ส่วนข่าวอาชญากรรมก็มักระบุอายุของผู้ตาย  ผู้ต้องสงสัย  และผู้ต้องหา  แต่บางครั้งข่าวกีฬาก็มีการเอ่ยถึงอายุด้วยเช่นกัน  เช่น  น้องตุ้ม  ปริญญา  เกียรติบุษบา  นักมวยไทยวัย  18  ปี

3       อาชีพ  จะไม่นิยมระบุในข่าวการเมือง  เพราะข่าวการเมืองมักมีการระบุยศหรือตำแหน่ง  เช่น  ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  หรือยศของข้าราชการ  ทหาร  ตำรวจ  ฯลฯ  ซึ่งบ่งบอกถึงอาชีพอยู่แล้ว  จึงไม่จำเป็นต้องระบุอีก  แต่ถ้าเป็นข่าวสัมภาษณ์บุคคลเพื่อให้แสดงความคิดเห็น  อาจมีการระบุอาชีพของแหล่งข่าวเพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้แก่ข่าว

นอกจากนี้ในข่าวกีฬา  ข่าวอุบัติเหตุ  และข่าวอาชญากรรมก็มีการระบุอาชีพ  และหากอาชีพของผู้ตกเป็นข่าวขัดแย้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กับข่าวได้มากขึ้น  หรือการระบุอาชีพของบุคคลธรรมดาที่ไม่มีชื่อเสียงก็จะทำให้ผู้อ่านเกิดแนวคิด  มีความเข้าใจ  และรู้สึกใกล้ชิดกับบุคคลนั้นๆเพิ่มขึ้น

4       ยศหรือตำแหน่ง  จะต้องระบุลงไปในข่าวทุกประเภท  ถ้าบุคคลในข่าวมีชื่อเสียง  มียศหรือตำแหน่งหน้าที่การงานสูง  หรือเป็นข้าราชการ  ทหาร  ตำรวจ  เพื่อให้ผู้อ่านตระหนักถึงความสำคัญของบุคคลผู้นั้น  เช่น  พล.อ. เปรม  ติณสูลานนท์  องคมนตรี

5       เกียรติภูมิหรือชื่อเสียง  จะต้องระบุลงไปในข่าวทุกประเภท  ถ้าบุคคลในข่าวเคยทำประโยชน์แก่สังคมในด้านใดด้านหนึ่ง  จนได้รับยกย่องจากกลุ่มคนในสังคม  เช่น  เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี  อดีตนางงามจักรวาล  อดีตแชมป์โลกแบนตั้มเวตสภามวยโลก ฯลฯ

6       บุคคลที่เคยปรากฏเป็นข่าวมาแล้ว  ในการรายงานข่าวทุกประเภท  บางครั้งก็จำเป็นต้องอธิบายถึงภูมิหลังหรือความเดิมของเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต  ถ้าบุคคลในข่าวเคยตกเป็นข่าว  หรือเคยได้รับยกย่องมาก่อน  แล้วต่อมามีความคืบหน้าอย่างใดอย่างหนึ่งเพิ่มเติมขึ้นมา  เช่น  นายแดง  สมบูรณ์  ผู้ต้องหาจ้างวานฆ่าดาราชื่อดัง  ประสบอุบัติเหตุรถชนเสียชีวิต

7       ที่อยู่  ได้แก่  บ้านเลขที่  ถนน  ตำบล  อำเภอ  จังหวัด  ซึ่งมักนิยมระบุในข่าวอาชญากรรมและข่าวอุบัติเหตุ  โดยเฉพาะที่อยู่ของผู้ก่อเหตุ  ผู้เคราะห์ร้าย  และผู้ที่เกี่ยวข้อง  (ส่วนใหญ่จะลงที่อยู่ของคนตายมากกว่าคนเป็น)

8       ชื่อเล่น  มักนิยมระบุในข่าวบันเทิงและข่าวกีฬา  ซึ่งบางคนอาจใช้ชื่อจริง  ชื่อที่ตั้งใหม่  เพื่อใช้ในวงการนั้นๆ  หรือใช้นางแฝง  นามปากกา  เช่น  ซิโก้  เกียรติศักดิ์  เสนาเมือง  เบิร์ด  ธงไชย  แมคอินไตย  ฯลฯ

9       ฉายาหรือการตั้งใหม่  บางครั้งหนังสือพิมพ์อาจตั้งฉายาให้แก่บุคคลที่ตกเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ  ซึ่งมีทั้งการตั้งฉายาเพื่อยกย่องหรือเสียดสีประชดประชัน  มักพบในข่าวบันเทิงและข่าวกีฬา  เช่น  บุญศักดิ์  พลสนะ  นักแบดมินตันไทย  มีฉายาว่า  ซุปเปอร์แมน  คัทลียา  แมคอินทอช  มีฉายาว่า  เจ้าหญิงแห่งวงการบันเทิง  ฯลฯ  นอกจากนี้ในข่าวการเมืองบางครั้งก็มีการตั้งฉายาไว้ในพาดหัวข่าว  เช่น  นายชวน  หลีกภัย  มีฉายาว่า  มีดโกนอาบน้ำผึ้ง  พล.อ. ชวลิต  ยงใจยุทธ  มีฉายาว่า  ขงเบ้ง  ฯลฯ 

10  ญาติมิตร  ถ้าบุคคลในข่าวมีญาติมิตรหรือมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีชื่อเสียง  ก็ต้องระบุลงไปในข่าวด้วย  เพื่อให้เรื่องราวของบุคคลนั้นเป็นที่น่าสนใจขึ้นมา  เช่น  ข่าวอุบัติเหตุของนายกันต์พิทักษ์  ปัจฉิมสวัสดิ์  ซึ่งขับรถชนผู้โดยสารรถประจำทางเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน  ก็มีการระบุว่าเป็นลูกชายของอดีตนางสาวไทย  และเป็นหลานชายของอดีต  ผบ.ตร.  เป็นต้น

11  งานอดิเรก  ถ้าบุคคลในข่าวไม่มียศ  ตำแหน่ง  หรือไม่มีชื่อเสียง  ก็อาจจะระบุงานอดิเรกที่ทำให้ผู้อ่านทึ่งได้  เช่น  นักสะสมพระเครื่องชื่อดังในวงการเซียนพระ  ประสบอุบัติเหตุล้มหัวฟาดพื้นเสียชีวิตในห้องน้ำ  เป็นต้น

ข้อ  8  จากข้อมูลต่อไปนี้  จงเขียนข่าวสั้น

ความสามารถในการรับข้อมูลข่าวสารและการใช้สารสนเทศขององค์กรอาจไม่สำคัญเท่าความสามารถในการปรับตัว  การเรียนรู้  การสร้างและใช้ความรู้ที่นำไปสู่การเพิ่มคุณค่าและมูลค่าขององค์กร  นี่คือคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นองค์กรอัจฉริยะ  การจัดการความรู้หรือ  KM  มีส่วนเสริมสร้างความเป็นอัจฉริยะให้กับองค์กรของท่านได้อย่างไร?  หาคำอบได้ในงานสัมมนา     “KM   เพื่อการพัฒนาองค์กรอัจฉริยะ”  (KM  for  Building  the  Intelligent  Organization)  วันอังคารที่  5  มิถุนายน  2550  เวลา  09.00  16.30  น.  เปิดลงทะเบียน  08.00 น.  ณ  โงแรมมิราเคิล  แกรนด์  ห้องมิราเคิล  แกรนด์  A,B  จากวิทยากรระดับชาติ 

ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  ผอ.สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  ดร.ประพนธ์  ผาสุกยืด  ผอ.ฝ่ายส่งเสริมการสื่อสารพัฒนาการเรียนรู้  สคส.  ดร.วรภัทร์  ภู่เจริญ  ที่ปรึกษาด้านการวางกลยุทธ์และพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน  ดร.เกศรา  รักชาติ  ผู้เชี่ยวชาญด้าน  Learning  Organization  Leadership  Coaching  Communication  &  Interpersonal  Skills  ที่จะมาชวนท่านแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และนำเสนอประสบการณ์การพัฒนาองค์กรด้วยหลักการบริหารสมัยใหม่ที่ไม่ทิ้งรากเหง้าของความเป็นไทย

ลงทะเบียนและชำระเงิน ภายใน  18  พ.ค. 1,500  บาท / คน
ลงทะเบียนและชำระเงิน

(พร้อมกัน  3  คนขึ้นไป

ภายใน  18  พ.ค. 1,200  บาท / คน
ลงทะเบียนและชำระเงิน ตั้งแต่  19  25  พ.ค. 2,000  บาท / คน

 

การชำระเงินค่าสัมมนา  โอนเงินเข้าธนาคารกรุงไทย  สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  ชื่อบัญชีกองทุนสนับสนุนการวิจัย  สคส.  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์  www.kmi.or.th  หรือโทร  0-2298-0664  ต่อ  332

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  อาคาร  sm  ชั้น  25  ถ.พหลโยธิน  พญาไทกรุงเทพฯ  โทรสาร  0-2298-0057

จัดโดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  (สกว.)

แนวคำตอบ

หัวข่าว  สคส.  จัดสัมมนาการจัดการความรู้  KM  เพื่อสร้างองค์กรอัจฉริยะ

เนื้อข่าว  สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สคส.)  และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  (สกว.)  จัดงานสัมมนาเรื่อง  “KM  เพื่อการพัฒนาองค์กรอัจฉริยะ”  (KM  for  Building  the  Intelligent  Organization)  ในวันอังคารที่  5  มิถุนายน  2550  เวลา  09.00  16.30  น.และเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา  08.00  น.  ณ  โรงแรมมิราเคิล  แกรนด์  ห้องมิราเคิลแกรนด์  A,B  โดยมีวิทยากรระดับชาติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอประสบการณ์การพัฒนาองค์กรด้วยหลักการบริหารสมัยใหม่ที่ไม่ทิ้งรากเหง้าของความเป็นไทย  อาทิ  ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช  ผอ.สคส.ดร. ประพนธ์  ผาสุกยืด  ผอ. ฝ่ายส่งเสริมการสื่อสารพัฒนาการเรียนรู้  สคส.,  ดร. วรภัทร์  ภู่เจริญ  ที่ปรึกษาด้านการวางกลยุทธ์และพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน  และ  ดร. เกศรา  รักชาติ  ผู้เชี่ยวชาญด้าน  Learning  Organization  Leadership  Coaching  Communication  &  Interpersonal  Skills

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้ในวันที่  18  พฤษภาคม  2550  ค่าลงทะเบียน  1,500  บาท / คน  และ  1,200  บาท / คน  (กรณีลงทะเบียนพร้อมกัน  3  คนขึ้นไป)  หรือลงทะเบียนในระหว่างวันที่  19  25  พฤษภาคม  2550  ค่าลงทะเบียน  2,000  บาท / คน  โดยโอนเงินชำระค่าลงทะเบียนเข้าธนาคารกรุงไทย  สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  ชื่อบัญชีกองทุนสนับสนุนการวิจัย  สคส.  และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  อาคาร  sm  ชั้น  25  ถ.  พหลโยธิน  กรุงเทพฯ  โทรศัพท์  0-2298  0664 ต่อ  332    โทรสาร 0-2298-0057  หรือเว็บไซต์  www.kmi.or.th

Advertisement