การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549
 
ข้อสอบกระบวนวิชา  MCS 2201 การเขียนข่าว
 
คำแนะนำ  ข้อสอบมีทั้งหมด  6  ข้อ  ให้นักศึกษาทำทุกข้อ
ข้อ  1  จงตอบคำถามต่อไปนี้ 
 
ข่าวการเมือง  ครอบคลุมเนื้อหาด้านใดบ้าง  ยกตัวอย่างข่าวและแหล่งข่าวในสถานการณ์จริงประกอบการอธิบาย
 
แนวคำตอบ
 
ข่าวการเมือง  หมายถึง  การรายงานข่าวที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน  กิจกรรมความเคลื่อนไหวในการปฏิบัติงานทางการเมืองการปกครองของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล  รวมทั้งรายงานกิจกรรมความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ  ซึ่งรับอาสาเข้ามารักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้ประชาชนเจ้าของประเทศได้รับทราบ  โดยจะมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องต่างๆ  
 
1)    การจัดการเลือกตั้ง  การรณรงค์หาเสียง  นโยบายของพรรค
 
2)    การจัดตั้งรัฐบาล
 
3)    การกำหนดนโยบาย  การแถลง  การปฏิบัติงานตามนโยบาย
4)    กระบวนการออกกฎหมายของรัฐสภา  การดำเนินงานของรัฐสภา  กรรมาธิการ
 
5)    การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง  ข้าราชการประจำ  องค์กรอิสระต่างๆ  การเปิดอภิปราย
 
6)    บทบาทของพรรคฝ่ายค้าน  วุฒิสภา
7)    ความคิดเห็นของ  ส.ส.  ต่อประเด็นปัญหาต่างๆ  ในรัฐสภา
 
8)    การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ  กกต.  ปปช.  ปปง.  คตง.
9)    ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ตัวอย่างข่าวการเมือง  ข่าวนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ
จากข่าวการเมืองข้างต้นต้องอาศัยแหล่งข่าว  ดังนี้
 
1       แหล่งข่าวประจำ  เช่น  นายกรัฐมนตรี  ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร  กระทรวงมหาดไทย  ทำเนียบรัฐบาล  อธิบดีกรมชลประทานซึ่งรับหน้าที่ดูแลเรื่องการระบายน้ำ  เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยนำท่วม  กรมอุตุนิยมวิทยา  เป็นต้น
 
2       แหล่งข่าวพิเศษ  เช่น  ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ  เป็นต้น
 
3       แหล่งข่าวจากสิ่งตีพิมพ์  เช่น  แถลงการณ์เกี่ยวกับผลการประชุมเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วม  ข่าวแจกเรื่องการรายงานพยากรณ์อากาศ  แฟ้มข่าวเก่าหรือเอกสารทางวิชาการที่มีสถิติข้อมูลการเกิดอุทกภัยในปีต่างๆ  เป็นต้น
 
ข่าวอาชญากรรม  หมายถึง  ข่าวที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาประเด็นใดบ้าง  จงอธิบาย
 
แนวคำตอบ
 
ข่าวอาชญากรรม  หมายถึง ข่าวการรายงานเหตุการณ์และความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการกระทำผิดทางอาญา  ซึ่งผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการได้พิจารณาเลือกสรรแล้วด้วยความเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระทำผิดทางอาญาดังกล่าวจะเป็นที่สนใจของผู้อ่านส่วนใหญ่หรือบางส่วน  โดยจะมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องต่างๆ  ได้แก่  ข่าวฆาตกรรม  อุบัติเหตุ  อุบัติภัย  ภัยพิบัติ  การประท้วง  จลาจล  ฆ่าตัวตาย  ข่าวสะท้อนสังคม  ความผิดทางอาญาต่างๆ  เป็นต้น
 
เนื้อหาของข่าวอาชญากรรมจะเกี่ยวข้องกับประเด็น  ต่อไปนี้
 
1)    เหตุการณ์เกิดขึ้นและสิ้นสุดอย่างไร  นำไปสู่ปัญหาใด
 
2)    สาเหตุของเหตุการณ์  วิธีการก่ออาชญากรรม
 
3)    การวางแผนติดตาม  การปราบปรามของเจ้าหน้าที่
 
4)    ความคืบหน้าของคดี
 
5)    ปัญหาในการจับกุมหรือการทำงานของเจ้าหน้าที่.
 
6)    การป้องกันหรือลดคดีอาชญากรรม
 
7)    ความคิดเห็นของบุคคลหลายฝ่าย  เช่น  นายกรัฐมนตรี  ร.ม.ต.  ผบ.ตร.  นักวิชาการ ฯลฯ
 
เนื้อหาของข่าวอาชญากรรมที่ผู้สื่อข่าวต้องรวบรวมจะเกี่ยวข้องกับประเด็น  ต่อไปนี้
1       ความเสียหายต่อชีวิต  ทรัพย์สิน
 
2       วิธีการของอาชญากรรม
 
3       เบาะแส  วัตถุพยาน  ร่อยรอย
 
4       สาเหตุของการก่ออาชญากรรม
 
5       คำให้การของผู้เคราะห์ร้าย
 
6       รายงานของตำรวจ
 
7       การจับกุม  การตั้งข้อหา
ข้อ  2  ประเด็นข่าวคืออะไร  มีวิธีการคิดและจับประเด็นข่าวอย่างไรบ้าง  ยกตัวอย่างประกอบ
ประเด็นข่าว  (News  Pegs)  หมายถึง  การหยิบยกประเด็นเหตุการณ์  ความคิดเห็น  หรือข้อเท็จจริงในแง่มุมใดมุมหนึ่ง  ซึ่งมีความสำคัญและเป็นที่น่าสนใจของผู้รับสารมานำเสนอและรายงานเป็นข่าว  ดังนั้น  “ประเด็นข่าว”  จึงมีความหมายต่างๆ  
–          แง่มุมของเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด
 
–          แง่มุมที่ผู้สื่อข่าวตัดสินว่าสำคัญที่สุดในการนำเสนอไปยังประชาชน
 
–          แง่มุมที่สำคัญที่สุดที่ประชาชนควรได้รับรู้
 
–          แง่มุมที่ยังเป็นเงื่อนงำ
อย่างไรก็ตาม  ประเด็นข่าวอาจแบ่งเป็นประเด็นข่าวตามเหตุการณ์  ประเด็นข่าวตามสภาพทั่วไปจากการสังเกต  และประเด็นข่าวตามสมมุติฐาน
วิธีการคิดและจับประเด็นข่าว  จะอาศัยหลักการซึ่งสรุปได้
 
1)    อาศัยองค์ประกอบของข่าว  (News  Values)  ในการพิจารณา  
–          ผลกระทบ
 
–          ความเด่นของบุคคล  องค์การ
 
–          ความใกล้ชิด  อุทาหรณ์
2)    ความรู้เชิงลึกในการคาดเดาสถานการณ์  แนวโน้ม  ซึ่งผู้สื่อข่าวควรเพิ่มความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์  การเมืองการปกครอง  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  ฯลฯ
3)    การมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น  ซึ่งจะต้องอาศัยการสังเกตสิ่งรอบตัวว่าคนๆนี้  ทำอย่างนี้ทำไม  ต้องการอะไร
ตัวอย่างเช่น  ข่าวเรื่องราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น  นอกจากผู้สื่อข่าวจะรายงานในประเด็นข่าวตามเหตุการณ์  คือ  เรื่องอัตราราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมแล้ว  ผู้สื่อข่าวจะรายงานในประเด็นข่าวตามสภาพทั่วไปจากการสังเกต  ซึ่งเป็นผลกระทบที่ตามมาจากเหตุการณ์ภาวะน้ำมันแพง  เช่น
–          การปรับราคาสินค้า  และมาตรการในการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น  รวมทั้งความคิดเห็นของผู้ผลิต  ผู้จัดจำหน่าย  และผู้บริโภค
 
–          การปรับค่าจ้างแรงงานในภาวะที่ค่าครองชีพเพิ่มสูง
 
–          การปรับราคาค่าขนส่งมวลชนในประเทศไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง  รถ  บขส.  รถไฟ  และเครื่องบิน 
ข้อ  3  ผู้สื่อข่าวมีเกณฑ์อะไรบ้างในการพิจารณาข่าวว่าจะนำเสนอเรื่องใดในข่าว  จงอธิบาย
แนวคำตอบ
เหตุการณ์ที่ได้รับการรายงานเป็นข่าวส่วนใหญ่นั้น  ผู้สื่อข่าวมักมีกระบวนการกลั่นกรองและคัดเลือกในชั้นแรกว่าจะนำเสนอเรื่องใดบ้าง  โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ของ  “องค์ประกอบของเหตุการณ์  หรือคุณค่าเชิงข่าว (New  Values)”  
 
1       ความมีชื่อเสียง  (Prominence)  คือ  เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีชื่อเสียง  เช่น  นายกรัฐมนตรี  นักการเมือง  นักธุรกิจ  ดารา  นักร้อง  นักกีฬา ฯลฯ  รวมทั้งสถานที่ที่มีชื่อเสียงด้วย
2       ความใกล้ชิด (Proximity)  คือ  ความใกล้ชิดทั้งทางกายและทางใจระหว่างผู้อ่านและบุคคลหรือสิ่งต่างๆที่ตกเป็นข่าว  โดยมนุษย์ทั่วไปมักให้ความสนใจเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง  ครอบครัว  ญาติพี่น้อง  เพื่อนฝูง  ฯลฯ  หรือสนใจในเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นใกล้ตัว  ดังนั้นความใกล้ชิดจึงอาจเป็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางจิตใจ  ความคิด  สถานที่  หรือบุคคลซึ่งมีความผูกพันทางใดทางหนึ่งกับผู้อ่าน
3       ความทันต่อเวลา  (Timeliness)  คือ  เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดสดๆร้อนๆ  เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องการที่จะได้รับรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ    อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่แม้จะเกิดขึ้นมานานนับร้อยปีแล้ว  แต่เพิ่งมีการค้นพบความเป็นไปของเหตุการณ์ดังกล่าว  ก็เป็นที่สนใจของผู้อ่านได้เช่นกัน
4       ปุถุชนสนใจ  (Human  Interest)  คือ  เหตุการณ์ที่ก่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์โศกเศร้าเห็นอกเห็นใจ  ดีใจ  รัก  เกลียด  โกรธ  กลัว  อิจฉาริษยา  สงสัยใคร่รู้ ฯลฯ  มักจะทำให้เหตุการณ์นั้นมีคุณค่าข่าวสูงและเร้าให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ
5       ความขัดแย้ง  (Conflict)  คือ  เหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ในลักษณะของความขัดแย้งทั้งทางกายและทางความคิด  ซึ่งเริ่มตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับชาติ  เช่น  การทะเลาะวิวาท  การสู้รบ  ฆ่าฟัน  การแข่งขันกีฬา ฯลฯ
6       ผลกระทบ (Consequence)  คือ  เหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมากทั้งทางตรงหรือทางอ้อม  ซึ่งมีผลทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลง  ดังนั้นประชาชนจึงควรรับรู้เรื่องเหล่านี้เพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์  หรือมีความเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นมีผลต่อตนเองอย่างไรบ้าง
7       ความมีเงื่อนงำ  (Suspense)  คือ  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วยังไม่สามารถจะคลี่คลายหรือตีแผ่หาสาเหตุได้  รวมถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่ทราบผลแน่ชัด  เช่น  การแข่งขันกีฬา  การประกวดนางงาม  เป็นต้น
8       ภัยพิบัติและความก้าวหน้า  (Disaster  and  Progress)  คือ  เหตุการณ์ที่ไม่ปกติธรรมดา  เช่น  การเกิดแผ่นดินไหว  เกิดพายุใหญ่  หรือเกิดอุทกภัยที่ทำให้มีคนได้รับบาดเจ็บล้มตาย  ในขณะเดียวกัน  เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการพยายามเอาชนะธรรมชาติ  การประดิษฐ์คิดค้น  ความก้าวหน้าทางวิทยาการ  และการค้นพบตัวยารักษาโรคต่างๆ  นั้นต่างก็เป็นเรื่องที่คนสนใจด้วยเช่นกัน
9       เพศ  (Sex)  คือ  พฤติกรรมในเชิงความสัมพันธ์ของมนุษย์ทั้งเพศหญิงและเพศชาย  ทั้งในรูปแบบที่ปกติและผิดปกติ  ไม่ว่าจะเป็นความรัก  การแต่งงาน  การหย่าร้าง  เรื่องของพวก  เกย์ – เลสเบี้ยน  ความผิดปกติทางเพศ  และการประกวดนางงาม  เป็นต้น
10  ความแปลกประหลาดผิดธรรมดา  (Oddity  or  Unusualness) คือ  เรื่องราวที่แปลกประหลาดผิดไปจากปกติธรรมดา  เป็นเรื่องที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน  ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเป็น เรื่องที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  หรือเป็นเรื่องที่มนุษย์จงใจสร้างขึ้นเพื่อให้ผิดปกติ  ทั้งนี้รวมถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องทางด้านความเชื่อ  ไสยศาสตร์  ความมหัศจรรย์  ปาฏิหาริย์ต่างๆ  และเหตุการณ์การกระทำบางอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้
นอกจากองค์ระกอบหลักทั้ง  10  ข้อข้างต้นแล้ว  ยังมีองค์ประกอบย่อยอื่นๆ  เช่น  ขนาดความใหญ่โตของเหตุการณ์  และองค์ประกอบภายนอกเหตุการณ์  เช่น  นโยบายของหนังสือพิมพ์  และนโยบายการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์  ซึ่งทำให้เหตุการณ์นั้นๆ  มีคุณค่าข่าวมากน้อยลดหลั่นกันไป
ข้อ  4  เมื่อผู้สื่อข่าวรายงานเรื่องราวต่างๆ  มายังกองบรรณาธิการแล้วไม่ใช่ทุกเรื่องทุกประเด็นจะได้รับการเสนอเป็นข่าว  เนื่องจากต้องมีกระบวนการกลั่นกรองว่าจะนำเสนอเรื่องใดบ้าง  ผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือกข่าวใช้หลักการอะไรในการพิจารณา (ไม่ใช่หลักเกณฑ์อย่างเดียวกับการพิจารณาคุณค่าข่าว)
แนวคำตอบ
เมื่อผู้สื่อข่าวรายงานเรื่องราวต่างๆมายังกองบรรณาธิการแล้ว  ผู้ทำหน้าที่คัดเลือกข่าวมักมีกระบวนการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งว่าจะนำเสนอเรื่องใดบ้าง  โดยใช้หลักการของ  “ผู้รักษาประตู”  (Gate  Keeper)  มาคัดเลือกข่าว  ซึ่งมีอยู่  5  ประการ  คือ
1       ความน่าสนใจ  หมายถึง  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วทำให้ประชาชนสนใจใคร่รู้อยากติดตามโดยข่าวที่น่าสนใจคือข่าวที่ผู้อ่านมีความตั้งใจต้องการจะอ่านมากที่สุด  ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าอะไรคือสิ่งที่น่าสนใจ  ซึ่งนักหนังสือพิมพ์และบุคคลที่คัดเลือกข่าวได้กำหนดแนวการวัดความสนใจของผู้อ่านไว้หลายประการ  อย่างไรก็ตาม  หนังสือพิมพ์ที่มีแนวนโยบายแตกต่างกัน  เช่น  หนังสือพิมพ์ที่เน้นคุณภาพ  และหนังสือพิมพ์ประชานิยม  จะมีแนวการวัดความสนใจที่ต่างกัน  ทำให้ความเล็ก/ใหญ่ของข่าวไม่เท่ากัน
2       ความสำคัญ  หมายถึง  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วมีความสำคัญต่อตัวเรา  ผู้อ่าน  สังคมและคนทั้งประเทศ  ซึ่งหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะจัดลำดับความสำคัญของข่าวไม่เท่ากัน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายสภาพแวดล้อมความเป็นจริง  สังคม  และองค์ประกอบอื่นๆ 
3       ความชอบธรรม  หมายถึง  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วมีความถูกต้องทางจริยธรรม  คุณธรรมและศีลธรรม  โดยนักหนังสือพิมพ์ต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม  และความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์อันชอบธรรมของปัจเจกชน  สถาบัน  ประเทศชาติ  ด้วยการพยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ไม่ว่าจะตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดแห่งเงื่อนไขใดๆก็ตาม
4       ความมีประโยชน์  หมายถึง  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน  หรือสามารถยกระดับสติปัญญาและรสนิยมของผู้อ่านหรือไม่หากรายงานเรื่องนั้นออกไป
5       ความสดต่อสมัย  หมายถึง  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆใหม่ๆ  โดยเหตุการณ์ใดมีความสดมากก็ยิ่งมีคุณค่าข่าวสูงและเป็นที่สนใจของผู้อ่านมาก  ดังนั้นจึงปรากฏคำว่าเมื่อวานนี้  เมื่อเช้านี้  และวันนี้อยู่ในรายงานข่าวเพื่อแสดงถึงความสดและความฉับไวของการรายงานข่าวตลอดเวลา
ข้อ  5  หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกัน  เช่น  บางฉบับให้ความสำคัญกับเรื่องอื้อฉาวของคนดัง  บางฉบับเน้นข่าวการเมือง  บางฉบับเสนอข่าวสังคมที่เน้นกลุ่มคนดังไฮโซ  บางฉบับเสนอข่าวของชาวบ้าน  ข่าวภูมิภาค  หรือบางฉบับมีข่าวสิ่งแวดล้อม  ตามหลักการแล้วปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล  องค์กร  และสภาพสังคมอย่างไร  จงอธิบาย
แนวคำตอบ
หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกัน  ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้จะขึ้นอยู่กับ “ปัจจัยที่มีผลต่อการประเมินคุณค่าข่าว”  ดังนี้
1       ปัจจัยด้านบุคคล  (ผู้สื่อข่าว  หัวหน้าข่าว  บรรณาธิการที่เกี่ยวข้อง)  
 
–          เชื้อชาติ  ศาสนา  คือ  อคติเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติและศาสนา  เพราะบุคคลที่มีเชื้อชาติและศาสนาที่ต่างกัน  ก็ย่อมเกิดความลำเอียงในการเลือกแง่มุมของข่าวที่จะนำมาเสนอ
–          ค่านิยม  สำนึก  และมุมมอง  ซึ่งแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางการศึกษา
–          ความเป็นวิชาชีพ  คือ  หนังสือพิมพ์จะต้องมีอุดมการณ์และวิญญาณแห่งวิชาชีพโดยต้องรู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ  ควรหรือไม่ควรลงข่าว
–          การรับรู้และความสนใจของผู้รับสาร  คือ  การประเมินเรื่องที่คิดว่าผู้อ่านน่าจะให้ความสนใจมากที่สุด
2       ปัจจัยด้านองค์กร  แบ่งออกเป็น
 
นโยบายของสื่อ  ได้แก่
–          ความเป็นเจ้าของสื่อ  คือ  หนังสือพิมพ์มีใครเป็นเจ้าของสื่อ  หรือมีใครเป็นผู้โฆษณารายใหญ่  หนังสือพิมพ์นั้นก็อาจเน้นเสนอข่าวที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าของสื่อ  หรือผู้โฆษณารายนั้นๆ
–          นโยบายการบริหาร  คือ  หนังสือพิมพ์มีนโยบายเน้นทำกำไร  เอาตัวรอดหรือเน้นชิงส่วนแบ่งตลาด  ซึ่งมีผลให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกันไปตามนโยบายการบริหาร
–          นโยบายด้านข่าว / เนื้อหา  คือ  หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะเน้นประเภทของข่าวที่จะนำเสนอ  ความลึก  ลีลาการเขียน ฯลฯ  ที่แตกต่างกัน
วัฒนธรรมองค์กร  คือ  แบบปฏิบัติขององค์กรนั้นๆ  ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร  ได้แก่
–          จรรยาบรรณ  คือ  ข้อควรปฏิบัติของแต่ละองค์กร  ซึ่งอาจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้
–          การเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ด้อยโอกาส  หรือรากหญ้า
–          การให้ความหมายกับข่าวบางประเภท  เช่น  ข่าวสังคม  ข่าววัฒนธรรม  ข่าวสิ่งแวดล้อม  ข่าวท้องถิ่น ฯลฯ  ว่าจะเน้นนำเสนอหรือไม่
3       ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางการเมือง  การปกครอง  และสังคม  ซึ่งมีผลทำให้บางเรื่องรายงานได้  แต่บางเรื่องรายงานไม่ได้  ได้แก่
–          ความมั่นคง  ผลประโยชน์ของชาติ
–          ผลประโยชน์ทางการเมืองระดับประเทศ  และนานาชาติ
ข้อ  6  จากข้อเท็จจริงต่อไปนี้
6.1            จงเขียนข่าวจากข้อเท็จจริงที่กำหนดให้
–                    ชื่อโครงการ : การสัมมนาทางวิชาการเรื่อง  “ยุทธศาสตร์การสื่อสารในการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง”
 
–                    จัดโดยโครงการศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต  สาขาวิชาการสื่อสารการพัฒนา  นักศึกษาปริญญาโทรุ่นที่  1  มหาวิทยาลัยรามคำแหง
 
–                    หลักการและเหตุผล  โครงการศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต  สาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการเห็นสมควรจัดโครงการดังกล่าวด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารในการเข้ามามีบทบาทในการสร้างความรู้  ความเข้าใจที่ถูก้องเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกไปสู่กลุ่มเป้าหมายทั่วทุกภาคส่วน
–                    กลุ่มเป้าหมาย  นักศึกษาปริญญาโททุกโครงการใน  ม.ราม  สื่อสารมวลชน  และผู้สนใจทั่วไป
 
–                    วัตถุประสงค์
1)    เพื่อเป็นการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงสู่สาธารณชนให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง  และเล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวคิดต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาประเทศ
2)    เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของการสื่อสารที่มีความสำคัญต่อการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
3)    เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้เทคนิควิธีการด้านการสื่อสารในมิติต่างๆ  รวมถึงรูปแบบของการบูรณาการการสื่อสารที่องค์กรด้านการสื่อสารมวลชนต่างๆ  นำมาใช้ในการเผยแพร่แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่กลุ่มเป้าหมาย
4)    เพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงและเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในด้านการให้บริการความรู้สู่สังคม
–                    ระยะเวลาการดำเนินงาน  สมมุติเป็นวันอังคารที่  26  ก.ย.  2549 
 
–                    ผลที่คาดว่าจะได้รับ  สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับตัวพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  ได้อย่างรู้เท่าทันกัน  สื่อสารมวลชนสามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปขยายผลให้ประชาชนได้ทราบอย่างถูกต้องและกว้างขวาง  เกิดการมีส่วนร่วมและเกิดเครือข่ายจากทุกภาคประชาชน
–                    กำหนดการ  8.30  น.  ลงทะเบียน  9.00  น.  พิธีเปิดสัมมนาโดยอธิการบดีรังสรรค์  แสงสุข  อธิการบดีมหาวิทยาลัยราม  1  เวลา  10.15  น.  ปาฐกถาเรื่อง  “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ”  โดยดร.  สุเมธ  ตันติเวชกุล  เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา  13.00  น.  อภิปรายเรื่อง  “ยุทธศาสตร์การสื่อสารในการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง”  โดย  ดร.สมเกียรติ  อ่อนวิมล  รองศาสตราจารย์คิม  ไชยแสนสุข  และนักวิชาการสื่อสารมวลชน  16.00  น.  ปิดการสัมมนา
 
–                    สำรองที่นั่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่  โทร  0-2310-8449, 0-2310-8480
แนวคำตอบ
รามคำแหงเชิญร่วมฟังสัมมนา  ตอบรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
มหาวิทยาลัยรามคำแหงเชิญชวนนักศึกษาปริญญาโททุกโครงการในมหาวิทยาลัยรามคำแหง  สื่อสารมวลชน  และผู้สนใจทั่วไป  เข้าร่วมฟังการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง  “ยุทธศาสตร์การสื่อสารในการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง”  ซึ่งจัดโดยนักศึกษาปริญญาโทรุ่นที่  1  โครงการศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต  สาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการ  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ในวันอังคารที่  26  กันยายน  2549  โดยมีวิทยากรที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมการสัมมนามากมาย  อาทิ  ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล  เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา  และดร.สมเกียรติ  อ่อนวิมล
โครงการศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต  สาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการ  ได้จัดโครงการสัมมนาดังกล่าวขึ้นด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารในการเข้ามามีบทบาทสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกไปสู่กลุ่มเป้าหมายทุกภาคส่วน
วัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ก็เพื่อเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่สาธารณชนให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง  และเล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวคิดต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาประเทศ  อีกทั้งเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของการสื่อสารที่มีความสำคัญต่อการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  และให้ได้เรียนรู้เทคนิควิธีการด้านการสื่อสารในมิติต่างๆ  รวมถึงรูปแบบของการบูรณาการการสื่อสารที่องค์กรด้านการสื่อสารมวลชนต่างๆนำมาใช้เผยแพร่แนวคิดดังกล่าว  ตลอดจนเพื่อให้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงและเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในด้านการบริการความรู้สู่สังคม
ทั้งนี้ทางผู้จัดหวังผลเพื่อที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับตัวพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  ได้อย่างรู้เท่ากัน  รวมทั้งเพื่อให้สื่อสารมวลชนสามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปขยายผลให้ประชาชนได้ทราบอย่างถูกต้องและกว้างขวาง  จนเกิดการมีส่วนร่วมและเกิดเครือข่ายจากทุกภาคประชาชน
สำหรับรายละเอียดของกำหนดการสัมมนา  มีดังนี้
 
08.30  น.              ลงทะเบียน
 
09.00  น.              พิธีเปิดสัมมนาโดยอธิการบดีรังสรรค์  แสงสุข  อธิการบดี  ม.ร.
 
10.15  น.             ปาฐกถาเรื่อง  “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ”  โดย  ดร. สุเมธ  ตันติเวชกุล                        
 
                      เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
 
13.00  น.              อภิปรายเรื่อง  “ยุทธศาสตร์การสื่อสารในการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง”  โดย
 
                            ดร.สมเกียรติ  อ่อนวิมล     รศ.คิม  ไชยแสนสุข  และนักวิชาการสื่อสารมวลชน
 
16.00  น.             ปิดการสัมมนา
 
ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  โทร  0-2310-8449,  0-2310-8480 
 
6.2            หากท่านได้รับมอบหมายให้รายงานข่าวเกี่ยวกับการสัมมนาดังกล่าว  หลังการสัมมนาจบแล้ว  เพื่อนำเสนอในวันรุ่งขึ้น  ท่านจะสัมภาษณ์แหล่งข่าวใดเพิ่มเติมและสัมภาษณ์ในประเด็นใด  และเมื่อนำข่าวมาเขียน  เนื้อหาข่าวควรนำเสนอเรื่องใดบ้าง
 
แนวคำตอบ
จากข่าวการสัมมนาข้างต้นนักข่าวต้องสัมภาษณ์แหล่งข่าวเพิ่มเติมในประเด็น  ต่อไปนี้
1       สัมภาษณ์อธิการบดีรังสรรค์  แสงสุข  อธิการบดี  ม.ร.  ถึงความรู้สึกที่รามคำแหงได้มีส่วนร่วมในการจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ  นอกจากนี้ยังอาจสัมภาษณ์เป้าหมายสำคัญในการจัดงาน  และการดำเนินงานด้านอื่นๆ  ของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่แนวคิดดังกล่าวเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ตรงกัน
2       สัมภาษณ์  รศ.คิม  ไชยแสนสุข  รองอธิการบดีฝ่ายบริหารในฐานะประธานกรรมการการโครงการศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต  สาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการ  ถึงเทคนิควิธีการสื่อสารในมิติต่างๆ  ของรามคำแหงที่จะนำมาใช้เผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
3       สัมภาษณ์  ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล  เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา  ถึงความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่จะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและพัฒนาประเทศ  นอกจากนี้ยังอาจสัมภาษณ์ความรู้สึกที่มีต่อรามคำแหงในฐานะที่มีส่วนร่วมในการเผยแพร่แนวคิดดังกล่าวไปสู่คนทั่วไปให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
4       สัมภาษณ์  ดร.สมเกียรติ  อ่อนวิมล  และนักวิชาการสื่อสารมวลชนอื่นๆ  ที่เข้าร่วมอภิปราย  ถึงบทบาทของสื่อสารมวลชนในการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในปัจจุบัน  และการดำเนินการอื่นๆของแวดวงสื่อสารมวลชนในการนำปรัชญาดังกล่าวไปขยายผลให้ประชาชนได้ทราบอย่างถูกต้องและกว้างขวาง
5       สัมภาษณ์ผู้มีชื่อเสียงที่เข้าร่วมฟังสัมมนาในครั้งนี้ถึงประโยชน์ที่ได้รับ
เนื้อหาของข่าวข้างต้นควรนำเสนอในเรื่อง  ต่อไปนี้
ส่วนความนำ  จะเป็นส่วนที่สรุปย่อประเด็นสำคัญๆ  ของการสัมมนาเอาไว้ว่าใครกล่าวสัมมนาและอภิปราย  มีใจความโดยสรุปว่าอะไรบ้าง  รวมทั้งอาจมีการอ้างคำพูดเด่นๆ  บางประโยคของผู้สัมมนาและอภิปรายมาประกอบในความนำ  เพื่อเน้นให้การสัมมนาและอภิปรายนั้นมีน้ำหนักมากขึ้น  และอาจมีการระบุโอกาสที่มีการสัมมนาเข้าไปด้วยก็ได้  หากโอกาสดังกล่าวมีความสำคัญ
ส่วนเนื้อข่าว  ส่วนแรกจะต้องรายงานให้ผู้อ่านทราบถึงรายละเอียดของการสัมมนานั้น  โดยควรกล่าวถึงรายละเอียดสำคัญ  เช่น  วัน  เวลา  สถานที่  จำนวนผู้ฟังโดยประมาณ  และผู้มีชื่อเสียงที่เข้าร่วมฟังการสัมมนาครั้งนี้เสียก่อน  ส่วนย่อหน้าต่อมาของเนื้อข่าวจะกล่าวถึงรายละเอียดของการสัมมนาที่มีความสำคัญลดหลั่นกันตามลำดับ  โดยควรนำเสนอในลักษณะของการแยกแยะประเด็นต่างๆ  ที่ผู้สัมมนาและอภิปรายกล่าว  รวมทั้งมีการหยิบยกข้อความเด่นๆ  ขึ้นมาเสนอในรูปของการเขียนอ้างคำพูดโดยตรง  เพื่อให้มีชีวิตชีวา  น่าอ่าน  ทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกเสมือนได้ร่วมฟังการสัมมนาด้วยตนเองยิ่งขึ้น  โดยพยายามมองหาประเด็นใหม่ๆ  ที่ผู้อ่านยังไม่เคยทราบมาก่อนเพื่อนำมารายงาน
อย่างไรก็ตาม  ถ้าต้องการให้ข่าวที่รายงานแตกต่างจากข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆหรือสื่ออื่นๆ  ผู้สื่อข่าวอาจนำคำสัมภาษณ์ของผู้สัมมนาและอภิปรายจากการสัมภาษณ์เป็นการส่วนตัวก่อนหรือหลังการสัมมนามารายงาน  ซึ่งก็จะทำให้ได้ข้อมูลรายละเอียดที่น่าสนใจมากขึ้น

Advertisement