การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา LW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน

ข้อ 1.  นายธนพลได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งจากนายธนทรัพย์ ในระหว่างสัญญาปรากฏข่าวลือว่าทางการจะตัดถนนผ่านที่ดินในบริเวณดังกล่าวทำให้ราคาที่ดินขยับสูงขึ้นหลายเท่าตัว ธนพลจึงมาปรึกษาท่านซึ่งเป็นทนายความว่าตนต้องการจะฟ้องให้นายธนทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับตนและรับเงินส่วนที่เหลือไปหรือมิฉะนั้นก็ขอให้ศาลมีคำสั่ง แสดงว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ดังนี้ ท่านจะแนะนำนายธนพลอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งหรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

วินิจฉัย

ในการนำคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใดๆ จะทำได้เสมอไป ผู้ที่จะนำเสนอคดีต่อศาลได้จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติ มาตรา 55 แล้วได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

1.    กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำฟ้องยื่นต่อศาล ตามมาตรา 55 และมาตรา 172

2.    กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล เพราะเหตุว่ามีความจำเป็นเกิดขึ้น ซึ่งกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลได้ ให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาล ตามมาตรา 55 และมาตรา 188(1)

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้าพเจ้าจะแนะนำนายธนพลว่า นายธนพลยังไม่อาจฟ้องนายธนทรัพย์ต่อศาลได้ เพราะยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่านายธนทรัพย์ได้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดอันถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของนายธนพล กล่าวคือ นายธนทรัพย์ผู้จะขายยังมิได้ผิดสัญญาจะซื้อขายจดทะเบียนโอนที่ดินให้บุคคลอื่นไป อีกทั้งเมื่อพิจารณาตามกฎหมายสารบัญญัติแล้วก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น นายธนพลจะใช้สิทธิทางศาลได้แต่อย่างใด เพราะสัญญาจะซื้อขายที่ดินย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อคู่สัญญาทำสัญญาตกลงกัน และมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือวางมัดจำ หรือมีการชำระหนี้บางส่วน หาจำต้องให้ศาลมีคำสั่งว่าสัญญาจะซื้อขายมีผลบังคับตามกฎหมายอีกไม่ ดังนั้นในกรณีนี้นายธนพลจึงไม่อาจฟ้องนายธนทรัพย์ต่อศาลเพื่อบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขาย และไม่อาจใช้สิทธิทางศาลให้ศาลมีคำสั่งดังกล่าวได้ ตามมาตรา 55


สรุป ข้าพเจ้าจะแนะนำนายธนพลว่า นายธนพลยังไม่อาจฟ้องนายธนทรัพย์ต่อศาลหรือใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งดังกล่าวได้

ข้อ 2. คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องลูกหนี้เป็นจำเลยต่อศาลขอให้ชำระหนี้ จำเลยยื่นคำให้การ แต่มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ จำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำให้การขอให้ศาลหมายเรียกผู้ค้ำประกันเข้ามาเป็นจำเลยร่วม  ศาลได้หมายเรียกผู้ค้ำประกันเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องขอของจำเลย ผู้ค้ำประกันให้การต่อสู้ว่า  ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง โจทก์แถลงคัดค้านว่าผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยร่วมจะยื่นคำให้การไม่ได้ เพราะเป็นการใช้สิทธินอกจากสิทธิที่จำเลยเดิมมีอยู่ ศาลไม่ฟังคำคัดค้านของโจทก์ พิจารณาแล้วเห็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้มีผลไปถึงลูกหนี้ด้วย ดังนี้ คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57 บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด(3) ด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี (ก) ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเป็นคำร้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี…มาตรา 58 วรรคแรก ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามอนุมาตรา (1) และ (3) แห่งมาตราก่อนนี้ มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ซึ่งโดยเฉพาะผู้ร้องสอดอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง คัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้ ถามค้านพยานที่ได้สืบมาแล้ว และคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมมาตรา 59 บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้(1)    บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งทำได้โดย หรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อ คู่ความร่วมคนอื่นๆด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่นๆ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นจำเลยร่วมจะยื่นคำให้การนอกเหนือจากคำให้การเดิมได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยโดยตรง หากแต่ศาลได้หมายเรียกผู้ค้ำประกันเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องของจำเลย ตามมาตรา 57(3) (ก) กรณีเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นจำเลยร่วมมีสิทธิเสมือนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ตามมาตรา 58 วรรคแรก อันทำให้จำเลยร่วมมีสิทธิยื่นคำให้การโดยยกอายุความขึ้นต่อสู้คดีได้ ดังนั้น คำคัดค้านของโจทก์ในกรณีนี้จึงฟังไม่ขึ้น (ฎ. 2527/2525)

ส่วนประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า เมื่อจำเลยร่วมยื่นคำให้การยกอายุความเป็นข้อต่อสู้ และศาลพิจารณาแล้วว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เช่นนี้จะมีผลไปถึงจำเลยลูกหนี้ด้วยหรือไม่ เห็นว่าการที่โจทก์ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นจำเลยต่อศาลขอให้ชำระหนี้และผู้ค้ำประกันก็ได้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีดังกล่าว ซึ่งต้องรับผิดเมื่อจำเลยลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ จึงเป็นกรณีที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นคู่ความในคดีเดียวกัน เมื่อได้ความจำเลยร่วมได้ยื่นคำให้การต่อสู้ในเรื่องของอายุความไว้ กรณีเช่นนี้ถือว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งได้กระทำโดยจำเลยร่วมให้ถือว่าได้กระทำโดยจำเลยด้วย ตามมาตรา  59(1) เพราะมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ทั้งนี้แม้จำเลยจะมิได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ก็ตาม ดังนั้น การที่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้มีผลถึงลูกหนี้ด้วย จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (ฎ. 6246/2540, ฎ. 839/2535)

สรุป คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. นายไทยมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้เดินทางไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พบกับนายจอห์นสัญชาติอเมริกัน มีภูมิลำเนาอยู่ที่นิวยอร์ก และได้ตกลงเช่าซื้ออาคารชุดของนายจอห์น ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย โดยทำสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาเมื่อนายไทยได้ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว จึงขอให้นายจอห์นจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดดังกล่าวให้กับนายไทย แต่นายจอห์นไม่ดำเนินการ ดังนี้ นายไทยประสงค์จะฟ้องต่อศาลไทย ขอให้บังคับนายจอห์นจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดดังกล่าวแก่นายไทย จะฟ้องต่อเขตศาลใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 ทวิ คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

วินิจฉัย

ตามมาตรา 4 ทวิ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า เมื่อเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ในการเสนอคำฟ้องต่อศาลอาจเสนอโดย

1.)    ศาลที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตศาล กรณีเช่นนี้ ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรหรือไม่ก็ตาม หรือ
2.)    ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาในเขตศาล

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไทยประสงค์จะฟ้องต่อศาลไทยขอให้บังคับนายจอห์นจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดดังกล่าวให้แก่นายไทย ถือว่าเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ (ฎ, 1115/2523) จึงอยู่ในบังคับมาตรา 4 ทวิ กรณีเช่นนี้นายไทยจึงสามารถฟ้องนายจอห์นต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ อันถือว่าศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงว่าจอห์นจะมีสัญชาติใดก็ตาม

สรุป นายไทยสามารถฟ้องนายจอห์นให้โอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดดังกล่าวแก่นายไทยต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยืมแหวนเพชร 1 วง ราคา 5,000,000 บาท ของโจทก์ไปแล้วไม่ส่งคืน ขอบังคับให้จำเลยคืนแหวนเพชรแก่โจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติ ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่ามีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยให้จำเลยคืนแหวนเพชรให้แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะทรัพย์ที่พิพาทมีราคาสูงศาลยังไม่ได้สืบพยานหลักฐานโจทก์ก่อนวินิจฉัยชี้ขาดคดี ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่
ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

                มาตรา 198 ทวิ วรรคแรกและวรรคสอง ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

                เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลสิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

                วินิจฉัย

                กรณีตามอุทาหรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยยืมแหวนเพชรแล้วไม่ส่งคืน ขอบังคับให้จำเลยคืนแหวนเพชรให้แก่โจทก์ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ถือเป็นเรื่องที่ศาลมีอำนาจวินิจฉัยให้โจทก์ชนะคดีได้โดยไม่สืบพยานเพราะคำฟ้องดังกล่าวมิใช่คำฟ้องเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ที่ศาลต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสอง แต่อย่างใด กรณีเช่นนี้ เมื่อศาลเห็นว่าคดีมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายศาลจึงมีอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ ตามมาตรา  198 ทวิ วรรคแรก ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะทรัพย์ที่พิพาทมีราคาสูงศาลยังไม่ได้สืบพยานหลักฐานโจทก์ก่อนวินิจฉัยชี้ขาด จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

Advertisement