การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4008 กฎหมายที่ดิน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ที่ดินซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้น ถ้าทำสัญญาซื้อขายกันเองและส่งมอบที่ดินให้แก่กัน อยากทราบว่าผู้ซื้อจะนำที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ กรณีขอออกเป็นการเฉพาะราย

ธงคำตอบ

มาตรา 4 ทวิ นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 59 ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะรายไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 58 แล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร ให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองด้วย

มาตรา 59 ทวิ ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ถ้ามีความจำเป็นจะขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

วินิจฉัย

การซื้อขายที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยทำสัญญาซื้อขายกันเอง มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือเป็นการโอนที่ไม่ทำตามกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ ที่กำหนดว่า “การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” การซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ ส่งผลให้ผู้ซื้อซึ่งผู้ขายส่งมอบที่ดินให้เป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ

เมื่อผู้ซื้อประสงค์จะนำที่ดินมาขอออกโฉนด กรณีขอออกเป็นการเฉพาะราย จึงต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 และมาตรา 59 ทวิ

สำหรับการขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินได้ จะต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน กล่าวคือ เป็นเจ้าของที่ดินที่มีหนังสือแสดงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อผู้ซื้อเป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด เนื่องจากการโอนดังกล่าวฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ ผู้ซื้อจึงขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 วรรคแรกไม่ได้ อีกทั้งในกรณีดังกล่าวนี้ผู้ซื้อก็จะอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองต่อเนื่อง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 วรรคสอง ไม่ได้เช่นกัน เพราะผู้ซื้อมิใช่ผู้ครอบครองต่อเนื่องจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)

ส่วนผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิได้นั้น กฎหมายกำหนดว่า จะต้องเป็นผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 5 เท่านั้น เมื่อได้ความว่า ผู้ซื้อเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ภายหลังวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497) จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าว ดังนั้นผู้ซื้อจึงไม่สามารถขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ได้เช่นกัน

สรุป ผู้ซื้อเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จึงขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 และมาตรา 59 ทวิ ไม่ได้เลย

ข้อ 2 นายเล็กได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินโดนรัฐจัดที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยให้แก่ประชาชน ทางราชการออกใบจองให้ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ต่อมาใน พ.ศ. 2549 นายเล็กได้ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายใหญ่แทนหนี้เงินซึ่งนายเล็กกู้ยืมมา นายใหญ่เข้าครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจนได้รับโฉนดที่ดินจากทางราชการใน พ.ศ. 2550 ขณะนี้นายใหญ่จะจดทะเบียนขายที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายเอก ดังนี้อยากทราบว่านายใหญ่จะขายที่ดินนั้นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 58 ทวิ วรรคแรก วรรคสองและวรรคห้า เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่ หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ

(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับและไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์

พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง แต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก

วินิจฉัย

นายเล็กเป็นผู้รอบครองที่ดินที่มีใบจอง โดยทางราชการออกใบจองให้ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งที่ดินที่มีใบจองนี้เป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว นายเล็กผู้ครอบครองจึงโอนให้ใครไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดกตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง

เมื่อได้ความว่า ในปี พ.ศ. 2549 นายเล็กได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวตีใช้หนี้ให้แก่นายใหญ่แทนหนี้เงินที่นายเล็กกู้ยืมมา ซึ่งการยกให้ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ให้ใช้ ฯ มาตรา 8 วรรคสอง ทั้งก็มิใช่เป็นการตกทอดทางมรดกแต่อย่างใด ในกรณีดังกล่าว แม้นายใหญ่จะได้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาก็ไม่ทำให้นายใหญ่เป็นผู้ครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน

แต่อย่างไรก็ดี การยกที่ดินตีใช้หนี้โดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันนั้น มีผลทำให้นายใหญ่เป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (หลังวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497) ซึ่งการที่นายใหญ่ครอบครองและทำประโยชน์มาจนได้รับโฉนดจากทางราชการ ใน พ.ศ. 2550 ถือว่านายใหญ่เป็นผู้ได้รับโฉนดที่ดินเนื่องจากเป็นผู้ครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 วรรคสอง (3) นายใหญ่จึงอยู่ในบังคับห้ามโอนที่ดินภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เว้แต่จะเข้าข้อยกเว้น ตามมาตรา 58 ทวิ วรรคห้าตอนท้าย

ดังนั้น การที่นายใหญ่ประสงค์จะโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายเอกจึงไม่สามารถโอนได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เพราะเป็นการโอนภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่ได้รับโฉนด ทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย เพราะไม่ใช่การโอนตกทอดโดยทางมรดกแต่อย่างใด

สรุป นายใหญ่ไม่สามารถจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นายเอก

ข้อ 3 นายศุกร์เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน นายศุกร์ต้องการจะขายที่ดินนั้นให้แก่นายอาทิตย์ จึงให้วินิจฉัยว่าในประเด็นต่อไปนี้

(ก) นายศุกร์จะไปทำการจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่นายอาทิตย์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) ถ้าการซื้อขายได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองและส่งมอบที่ดินให้แก่กัน ต่อมามีประกาศของทางราชการ เพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น นายอาทิตย์ผู้ซื้อจะนำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใ

ธงคำตอบ

มาตรา 58 วรรคแรก วรรคสองและวรรคสาม เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรจะให้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในจังหวัดใดในปีใด ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดจังหวัดที่จะทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์สำหรับปีนั้น เขตจังหวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่รวมท้องที่ที่ทางราชการได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร

เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่และวันเริ่มต้นของการเดินสำรวจรังวัดในท้องที่นั้น โดยปิดประกาศไว้ ณ สำนักงานที่ดิน ที่ว่าการอำเภอ ที่ว่าการกิ่งอำเภอ ที่ทำการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่ก่อนวันเริ่มต้นสำรวจไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

เมื่อได้มีประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดตามวรรคสอง ให้บุคคลตามมาตรา 58 ทวิ วรรคสองหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว นำพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมาย เพื่อทำการสำรวจรังวัดแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินของตนตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้นัดหมาย

มาตรา 58 ทวิ วรรคแรก วรรคสองและวรรคสาม เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่ หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ

(1) ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า ได้ทำประโยชน์แล้ว หรือเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินตามวรรคสอง (1) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

ตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ที่ดินที่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ให้โอนกันได้

วินิจฉัย

(ก) นายศุกร์จะไปทำการจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่นายอาทิตย์ได้หรือไม่ เห็นว่า นายศุกร์เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินโดยมีสิทธิครอบครอง ซึ่งการจะพิจารณาว่าผู้มีสิทธิครอบครองจะโอนที่ดินให้แก่กันได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าที่ดินดังกล่าวได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วหรือไม่ตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 9

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ที่ดินที่มีเพียงหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 9 ดังนั้น การที่นายศุกร์ประสงค์จะไปทำการจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่นายอาทิตย์ จึงไม่สามารถทำได้

แต่อย่างไรก็ดี ที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง แม้จะโอนไม่ได้ตามกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่ก็สามารถโอนกันได้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387

(ข) การที่นายศุกร์เจ้าของที่ดินที่มีเพียงหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นายอาทิตย์โดยทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองและส่งมอบที่ดินให้แก่กัน กรณีเช่นนี้ เมื่อที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว การโอนดังกล่าวจึงฝ่าฝืน พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 9

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อนายศุกร์ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่นายอาทิตย์แล้ว กรณีจึงถือว่านายอาทิตย์เป็นบุคคลซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจากนายศุกร์ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง เพราะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคสาม กำหนดว่า ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองตามวรรคสาม (1) ให้หมายความรวมถึง ผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

เมื่อมีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน (ออกทั้งตำบล) ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 วรรคแรกและวรรคสอง นายอาทิตย์จึงไปขอออกโฉนดที่ดินได้ เพราะนายอาทิตย์เป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคสาม ซึ่งกฎหมายให้ถือเป็นบุคคลตามมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (1) โดยนายอาทิตย์ต้องมานำพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมายเพื่อทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่ หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินของตนตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้นัดหมายตามมาตรา 58 วรรคสามแล้วนายอาทิตย์จะได้รับโฉนดที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (1)

สรุป

(ก) นายศุกร์จดทะเบียนขายที่ดินไม่ได้

(ข) นายอาทิตย์ขอออกโฉนดที่ดินได้

ข้อ 4 นายทวีเป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล ขณะนี้นายทวีต้องการจะจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกลงในโฉนดที่ดินซึ่งเป็นมรดก ดังนี้ให้ท่านแนะนำขั้นตอนการจดทะเบียนในกรณีดังกล่าว

ธงคำตอบ

อธิบาย

โดยหลักแล้ว การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกอาจมีได้หลายกรณี กล่าวคือ ผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม และผู้จัดการมรดกโดยมติของทายาท

สำหรับนายทวีซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล ถ้าต้องการจะจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกลงในโฉนดที่ดินซึ่งเป็นมรดก มีขั้นตอนการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 82 ดังนี้

1 นายทวีผู้จัดการมรดกต้องยื่นคำขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 71 พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานต่อไปนี้

1.1) หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน คือ โฉนดที่ดิน

1.2) หลักฐานการตายของเจ้ามรดก

1.3) หลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดก คือ สำเนาคำสั่งศาล

2 พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน และกรณีนี้นายทวีซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนตามคำขอให้ได้เลยโดยไม่จำต้องประกาศก่อน

หมายเหตุ ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกโดยทางอื่น เช่น เป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องประกาศเป็นหนังสือ มีกำหนด 30 วัน (นำความในมาตรา 81 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม) และถ้ามีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านให้พนักงานเจ้าหน้าที่รอเรื่องไว้ และให้คู่กรณีไปดำเนินการทางศาล หลังจากนั้น ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดประการใด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินไปตามนั้น

Advertisement