การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4008 กฎหมายที่ดิน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายทวีได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินโดยรัฐจัดที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยให้แก่ประชาชน  ทางราชการออกใบจองให้ในวันที่  15 ธันวาคม  พ.ศ.2542  ต่อมาใน  พ.ศ.  2547 นายทวีได้ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายอาทิตย์โดยมอบใบจองและที่ดินให้นายอาทิตย์ครอบครอง  ใน  พ.ศ. 2550  นายอาทิตย์ได้รับโฉนดที่ดินจากทางราชการ  ขณะนี้นายอาทิตย์ต้องการจะโอนที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายศุกร์บุตรชาย  ดังนี้  อยากทราบว่านายอาทิตย์จะโอนที่ดินในกรณีดังกล่าวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  58  ทวิ  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคห้า  เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่  หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา  58  แล้ว  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แล้วแต่กรณี  ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้  คือ

(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน  ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับและไม่มีใบจอง  ใบเหยียบย่ำ  หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง  ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง  (3)  ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น  เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก  หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง  องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล  รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ  หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์

พ.ร.บ.  ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  8  วรรคสอง  ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง  แต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว  ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก

วินิจฉัย

นายทวีเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่มีใบจอง  โดยทางราชการออกใบจองให้ในวันที่  15  ธันวาคม  พ.ศ. 2542  ซึ่งที่ดินที่มีใบจองนี้เป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วนายทวีผู้ครอบครองจึงโอนให้ใครไม่ได้  เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดกตาม  พ.ร.บ.  ให้ใช้ฯ  มาตรา  8  วรรคสอง

เมื่อได้ความว่า  ในปี  พ.ศ. 2547  นายทวีได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวตีใช้หนี้ให้แก่นายอาทิตย์  ซึ่งการยกให้ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน  พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ  มาตรา  8  วรรคสอง  ทั้งก็มิใช่เป็นการตกทอดทางมรดกแต่อย่างใด  ในกรณีดังกล่าวนี้  แม้นายอาทิตย์จะได้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาก็ไม่ทำให้นายอาทิตย์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน

แต่อย่างไรก็ดี  การยกที่ดินตีใช้หนี้โดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันนั้น  มีผลทำให้นายอาทิตย์เป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  (หลังวันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ. 2497)  ซึ่งการที่นายอาทิตย์ครอบครองและทำประโยชน์มาจนได้รับโฉนดจากทางราชการ  ใน  พ.ศ. 2550  ถือว่านายอาทิตย์เป็นผู้ได้รับโฉนดที่ดินเนื่องจากเป็นผู้ครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  และไม่มีใบจอง  ใบเหยียบย่ำ  หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  วรรคสอง  (3)  นายอาทิตย์จึงอยู่ในบังคับห้ามโอนที่ดินภายในกำหนด  10 ปี  นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดิน  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  ทวิ  วรรคห้า  เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น  ตามมาตรา  58  ทวิ  วรรคห้าตอนท้าย

ดังนั้น  การที่นายอาทิตย์ประสงค์จะโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายศุกร์จึงไม่สามารถโอนได้  ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  ทวิ  วรรคห้า  เพราะเป็นการโอนภายในกำหนดเวลา  10  ปี  นับแต่ได้รับโฉนดทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย  เพราะไม่ใช่การโอนโดยตกทอดทางมรดกแต่อย่างใด

สรุป  นายอาทิตย์ไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นายศุกร์บุตรชายได้


ข้อ  2  นายเอกเป็นเจ้าของที่ดินโดยเริ่มครอบครองและทำประโยชน์ตั้งแต่  พ.ศ.2496  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน  ใน  พ.ศ.2545  ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น  นายเอกได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินแต่เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ออกมาทำการสำรวจรังวัดที่ดิน  นายเอกไม่ได้มานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดินของตน  ต่อมาใน พ.ศ.2549  นายเอกได้ขายที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายโท  นายโทผู้ซื้อได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา  ขณะนี้นายโทได้ไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน  ดังนี้  อยากทราบว่า  นายโทจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  27  ตรี  เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสำรวจตามมาตรา  58  วรรคสอง  ผู้ครองครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน  และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา  5  แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ. 2497  หรือผู้ซึ่งรอคำสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา  27  ทวิ  แต่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทำการสำรวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน  ถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น  ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน  ณ  ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ  ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  แต่ได้นำมาหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด  ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง  ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

มาตรา  59  ทวิ  ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา  5  แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ.  2497  แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27  ตรี  ถ้ามีความจำเป็นจะขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แล้วแต่กรณี  ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด  แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่  ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด  ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

วินิจฉัย

ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  ทวิ  ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายไว้ดังนี้

1)    จะต้องเป็นผู้ครอบครองก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  และมิได้แจ้งการครอบครองตาม  พ.ร.บ. ให้ใช้ ฯ  มาตรา  5  และรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าวด้วย

2)    ต้องไม่ใช่ผู้ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา  27  ตรี  กล่าวคือ  ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา  27  ตรี  จะขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย  ตามมาตรา  59  ทวิ  ไม่ได้

3)    มีความจำเป็นต้องขอออกโฉนดที่ดิน  และพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร  และต้องมีเนื้อที่ไม่เกิน  50  ไร่  ถ้าเกิน  50  ไร่  จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด

นายโทจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เห็นว่า  นายเอกครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่  พ.ศ. 2496  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  กรณีเช่นนี้ถือว่านายเอกเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  (ก่อนวันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ. 2497)  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

ต่อมาได้ความว่า  ในปี  พ.ศ. 2545  ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  นายเอกได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดิน  แต่ไม่ได้ไปนำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดิน  กรณีเช่นนี้ต้องถือว่า  นายเอกเป็นผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา  27  ตรีแล้ว  แม้นายเอกจะไม่ได้ไปนำพนักงานเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจรังวัดที่ดินอันทำให้ไม่ได้รับโฉนดที่ดิน  ตามมาตรา  58  วรรคสามก็ตาม  ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า  ตามมาตรา  27  ตรี  ใช้คำว่า  หรือ  แสดงว่าปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้  ระหว่างให้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินหรือมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจรังวัดที่ดิน  ดังนั้น  นายเอกจึงเป็นบุคคลผู้มีสิทธิขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายได้  ตามมาตรา  59  ทวิ  วรรคแรก

และเมื่อใน  พ.ศ. 2549  นายเอกได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายโท  โดยนายผู้ซื้อได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา  กรณีจึงถือว่านายโทเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจากนายเอกตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  ทวิ  วรรคสอง  และในกรณีนี้นายโทก็สามารถนำที่ดินไปยื่นขอออกโฉนดแบบเฉพาะรายได้  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  ทวิ  วรรคแรก  เพราะต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น

สรุป  นายโทขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายได้     


ข้อ  3  นายหนึ่งกับนายสองเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งมีโฉนดที่ดินและที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่ที่จังหวัดเลย  ขณะนี้บุคคลทั้งสองต้องการจะจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมแต่ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปจังหวัดเลย  นายหนึ่งกับนายสองจึงได้นำโฉนดที่ดินและเอกสารหลักฐานสำหรับใช้ประกอบการจดทะเบียนไปยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการให้พนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  สำนักงานที่ดินจังหวัดเลยทำการจดทะเบียนให้  ดังนี้  อยากทราบว่าพนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจะรับดำเนินการตามคำขอให้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  72  ผู้ใดประสงค์จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ให้คู่กรณีนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  71

การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง  สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดินใบไต่สวนหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  คู้กรณีอาจยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  กรมที่ดิน  หรือสำนักงานที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  71  ดำเนินการจดทะเบียนให้  เว้นแต่การจดทะเบียนที่ต้องมีการประกาศหรือต้องมีการรังวัด

วินิจฉัย

ผู้ที่ประสงค์จะขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  นอกจากจะมายื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  71  แล้ว  บทบัญญัติมาตรา  72  วรรคสอง  ยังให้สิทธิคู่กรณีอาจจะมายื่นคำขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  กรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้  แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ทั้ง  3  ประการดังต่อไปนี้  คือ

1)    ที่ดินที่จะต้องจดทะเบียนนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน  ใบไต่สวน  หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  กล่าวคือ  ถ้ามีเอกสารอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาจะยื่นคำขอไม่ได้

2)    การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการประกาศก่อน  กล่าวคือ  กรณีใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องทำเรื่องประกาศก่อนที่จะมีการจดทะเบียนจะมาใช้มาตรา  72  วรรคสองไม่ได้

3)    การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการรังวัดก่อน

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  พนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  สำนักงานที่ดินกรุงเทพฯจะรับดำเนินการจดทะเบียนตามคำขอให้ได้หรือไม่  เห็นว่า กรณีเป็นเรื่องจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  79  ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว แม้ที่ดินที่นายหนึ่งและนายสองประสงค์จะแบ่งแยกกันนั้นจะเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน  และการจดทะเบียนดังกล่าวไม่ต้องมีการประกาศก่อนก็ตาม  แต่การจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินออกเป็นหลายแปลง  บทบัญญัติมาตรา  79  ให้นำมาตรา  69  ทวิมาใช้บังคับด้วย  กล่าวคือ  จะต้องมีการรังวัดสอบเขตที่ดินก่อน  กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา  72  วรรคสอง  สำนักงานที่ดินกรุงเทพฯ  จึงรับดำเนินการให้ไม่ได้  นายหนึ่งและนายสองต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  สำนักงานที่ดินจังหวัดเลยเท่านั้น  ตามมาตรา  71

สรุป  สำนักงานที่ดินกรุงเทพฯ  ไม่สามารถรับดำเนินการตามคำขอให้ได้  


ข้อ  4  จงอธิบายขั้นตอนการจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกลงในหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินกรณีเป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม

ธงคำตอบ

อธิบาย

โดยหลักแล้ว  การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกอาจมีได้หลายกรณี  กล่าวคือ  ผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล  ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม  และผู้จัดการมรดกโดยมติของทายาท

สำหรับผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม  ถ้าต้องการจะจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกลงในหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ  มีขั้นตอนการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  82  ดังนี้

1       ผู้จัดการมรดกต้องยื่นคำขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา  71  พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานต่อไปนี้

1.1)         หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน  เช่น  โฉนดที่ดิน  หนังสือรับรองการทำประโยชน์

1.2)         หลักฐานการตายของเจ้ามรดก

1.3)         หลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดก  คือ  พินัยกรรม

1.4)         บัญชีเครือญาติ

2       พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน  และในกรณีนี้  เป็นผู้จัดการมรดกโดยทางอื่นนอกจากคำสั่งศาล  คือ  เป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม  พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องประกาศเป็นหนังสือก่อน  มีกำหนด  30  วัน  (มาตรา  81  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  82  วรรคแรก)

3       เมื่อประกาศตาม  ข้อ  2  แล้ว  ถ้าไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนตามคำขอให้ได้เลย  แต่ถ้ามีผู้โต้แย้งคัดค้านให้พนักงานเจ้าหน้าที่รอเรื่องไว้  และให้คู่กรณีไปดำเนินการทางศาลหลังจากนั้น  ถ้าศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดประการใด  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการไปตามนั้น

Advertisement