การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4008 กฎหมายที่ดิน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายเล็กครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่  พ.ศ.2495  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน  เมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  นายเล็กไม่ได้แจ้งการครอบครองตามที่กฎหมายกำหนดใน  พ.ศ.2530  นายเล็กได้ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายใหญ่  นายใหญ่เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา  ขณะนี้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น  ดังนี้  อยากทราบว่านายใหญ่จะนำที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  27  ตรี  เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสำรวจตามมาตรา  58  วรรคสอง  ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน  และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา  5  แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ. 2497  หรือผู้ซึ่งรอคำสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา  27 ทวิ  แต่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทำการสำรวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวนถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้นให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน  ณ  ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ  ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  แต่ได้มานำหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด  ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง  ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้

ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

มาตรา  58  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม  เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรจะให้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในจังหวัดใดในปีใด  ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา  กำหนดจังหวัดที่จะทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์สำหรับปีนั้น  เขตจังหวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่รวมท้องที่ที่ทางราชการได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร

เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่และวันเริ่มต้นของการเดินสำรวจรังวัดในท้องที่นั้น  โดยปิดประกาศไว้  ณ  สำนักงานที่ดิน  ที่ว่าการอำเภอ  ที่ว่าการกิ่งอำเภอ  ที่ทำการกำนัน  และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่ก่อนวันเริ่มต้นสำรวจไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

เมื่อได้มีประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดตามวรรคสอง  ให้บุคคลตามมาตรา  58  ทวิ  วรรคสองหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว  นำพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมาย  เพื่อทำการสำรวจรังวัดแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินของตนตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้นัดหมาย

มาตรา  58  ทวิ  เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่  หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา  58  แล้ว  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แล้วแต่กรณี  ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง  เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้คือ

(2) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา  27  ตรี

วินิจฉัย

นายใหญ่จะนำที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่นายเล็กครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่ง  ตั้งแต่  พ.ศ. 2495  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน  และนายเล็กก็ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามกฎหมายกำหนด  กรณีเช่นนี้  ถือว่านายเล็กเป็นผู้รอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  (ก่อนวันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ. 2497)  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  และมิได้แจ้งการครอบครองตาม  พ.ร.บ.  ให้ใช้ฯ  มาตรา  5

ต่อมาได้ความว่า  ใน  พ.ศ. 2530  นายเล็กได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวตีใช้หนี้ให้แก่นายใหญ่  โดยนายใหญ่เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา  ในกรณีดังกล่าวนี้ถือว่านายใหญ่เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากนายเล็กตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  27  ตรี  วรรคสอง

เมื่อขณะนี้ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น  (แบบทั้งตำบล)  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  วรรคแรกและวรรคสอง  นายใหญ่ก็สามารถนำที่ดินนั้นไปขอออกโฉนดที่ดินได้โดยต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  27  ตรี  วรรคแรก  กล่าวคือ

1       นายใหญ่ต้องมาแจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน  ณ  ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลา  30  วัน  นับแต่วันปิดประกาศ  หรือ

2       ถ้านายใหญ่มิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  แต่ได้มานำหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่รังวัดตามวันเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด  กรณีเช่นนี้  ให้ถือว่านายใหญ่ประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น

เมื่อนายใหญ่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว  นายใหญ่ก็จะได้รับโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  ทวิ  วรรคสอง  (2)

สรุป  นายใหญ่ขออกโฉนดที่ดินได้เพราะเป็นบุคคลตามมาตรา  27  ตรี  วรรคสอง  โดยต้องปฏิบัติตามมาตรา  27  ตรี  วรรคแรก  และจะได้รับโฉนดที่ดินตามมาตรา  58  ทวิ  วรรคสอง  (2)


ข้อ  2  นายสิงห์เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ใน  พ.ศ.2542  นายสิงห์ได้ยกที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายช้าง  ซึ่งเป็นพี่น้องบิดามารดาเดียวกันโดยมอบที่ดินและเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้นายช้างครอบครอง  ใน  พ.ศ.2550  นายช้างได้รับโฉนดที่ดินจากทางราชการขณะนี้นายช้างต้องการจะโอนที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายเสือบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและบรรลุนิติภาวะแล้ว ดังนี้อยากทราบว่านายช้างจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้นายเสือได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  4  ทวิ  นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ  การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา  58  ทวิ  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคห้า  เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่  หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา  58  แล้ว  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แล้วแต่กรณี  ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้  คือ

(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน  ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับและไม่มีใบจอง  ใบเหยียบย่ำ  หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง  ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง  (3)  ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น  เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก  หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง  องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล  รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ  หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์

วินิจฉัย

การที่นายสิงห์ได้ยกที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่นายช้าง  โดยมอบที่ดินและเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่นายช้างครอบครอง  ถือเป็นการโอนที่ไม่ทำตามกฎหมายที่ดิน  มาตรา  4  ทวิ  ที่กำหนดว่า  การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  การยกให้ดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ  ส่งผลให้นายช้างเป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ

ซึ่งการที่นายช้างครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจนได้รับโฉนดจากทางราชการ  ใน  พ.ศ. 2550  กรณีเช่นนี้  ถือว่านายช้างเป็นผู้ได้รับโฉนดที่ดินเนื่องจากเป็นผู้ครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับและไม่มีใบจอง  ใบเหยียบย่ำ  หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  วรรคสอง  (3)  นายช้างจึงอยู่ในบังคับที่ห้ามโอนที่ดินภายในกำหนด  10  ปี  นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา  58 ทวิ  วรรคห้า  เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  58  ทวิ  วรรคห้าตอนท้าย

ดังนั้น  การที่นายช้างประสงค์จะโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายเสือจึงไม่สามารถโอนได้  ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา 58  ทวิ  วรรคห้า  เพราะเป็นการโอนภายในกำหนดเวลา  10  ปี  นับแต่ได้รับโฉนด  ทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย  เพราะไม่ใช่การโอนโดยตกทอดทางมรดกแต่อย่างใด

สรุป  นายช้างจึงโอนที่ดินให้แก่นายเสือไม่ได้


ข้อ  3  นายไก่จะไปจดทะเบียนรับมรดกที่ดิน  ซึ่งมีโฉนดที่ดินโดยที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านไผ่จังหวัดขอนแก่น  แต่นายไก่มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  และไม่สะดวกจะไปทำการจดทะเบียนที่จังหวัดขอนแก่น  นายไก่จึงนำเอกสารไปยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร  เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  สำนักงานที่ดินที่มีอำนาจทำการจดทะเบียนให้  อยากทราบว่า นายไก่จะยื่นคำขอในกรณีดังกล่าวได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  72  ผู้ใดประสงค์จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ให้คู่กรณีนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  71

การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง  สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน  ใบไต่สวนหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  คู่กรณีอาจยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  กรมที่ดิน  หรือสำนักงานที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  71  ดำเนินการจดทะเบียนให้  เว้นแต่การจดทะเบียนที่ต้องมีประกาศหรือต้องมีการรังวัด

มาตรา  81  วรรคแรกและวรรคสอง  การขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดก  ให้ผู้ได้รับมรดกนำหลักฐานสำหรับที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมด้วยหลักฐานในการได้รับมรดกมายื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  71  ถ้าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอยู่กับบุคคลอื่น  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวนั้นได้

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐาน  และเชื่อได้ว่าผู้ขอเป็นทายาทแล้ว  ให้ประกาศโดยทำเป็นหนังสือปิดไว้ในที่เปิดเผยมีกำหนดสามสิบวัน  ณ  สำนักงานที่ดิน  เขตหรือที่ว่าการอำเภอ  หรือกิ่งอำเภอ  สำนักงานเทศบาล  ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล  ที่ทำการแขวงหรือที่ทำการกำนันท้องที่  ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่  และบริเวณที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ  และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือส่งประกาศดังกล่าวให้บุคคลที่ผู้ขอแจ้งว่าเป็นทายาททุกคนทราบเท่าที่สามารถจะทำได้  หากไม่มีทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกโต้แย้งภายในกำหนดเวลาที่ประกาศและมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ขอมีสิทธิได้รับมรดกแล้ว  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนให้ตามที่ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย  ทั้งนี้  ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

วินิจฉัย

ผู้ที่ประสงค์จะขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  นอกจากจะมายื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  71  แล้ว  บทบัญญัติมาตรา  72  วรรคสอง  ยังให้สิทธิคู่กรณีอาจจะมายื่นคำขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  กรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้  แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ทั้ง  3  ประการดังต่อไปนี้  คือ

1       ที่ดินที่จะต้องจดทะเบียนนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน  ใบไต่สวน  หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  กล่าวคือ  ถ้ามีเอกสารอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาจะยื่นคำขอไม่ได้

2       การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีประกาศก่อน  กล่าวคือ  กรณีใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องทำเรื่องประกาศก่อนที่จะมีการจดทะเบียนจะมาใช้มาตรา  72  วรรคสอง  ไม่ได้

3       การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการรังวัดก่อน

กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินที่มีโฉนด  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  81  ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว  แม้ที่ดินที่จะจดทะเบียนนั้นจะเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน  และการจดทะเบียนดังกล่าวไม่ต้องมีการรังวัดก่อนก็ตาม  แต่การขอจดทะเบียนรับมรดกที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  81  วรรคสอง  กำหนดให้ต้องมีการประกาศก่อน  30  วัน  ดังนั้น  กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา  72  วรรคสอง  สำนักงานที่ดินกรุงเทพฯจึงรับดำเนินการให้ไม่ได้  นายไก่ต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่นเท่านั้น

สรุป  นายไก่จะยื่นคำขอในกรณีดังกล่าวไม่ได้


ข้อ  4  ที่ดินซึ่งยังไม่มีกรรมสิทธิ์จะโอนให้แก่กันได้หรือไม่ตามกฎหมายที่ดิน  ให้อธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

อธิบาย

ที่ดินที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์  โดยหลักแล้วก็สามารถโอนให้แก่กันได้  ถ้าที่ดินมีสิทธิครอบครองโดยมีหนังสือแสดงสิทธิที่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วตาม  พ.ร.บ.  ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  9  ที่ว่า  ที่ดินที่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วให้โอนกันได้

ดังนั้น  ที่ดินซึ่งยังไม่มีกรรมสิทธิ์จะโอนให้แก่กันได้หรือไม่  สามารถแยกพิจารณาดังนี้

1       ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส.3)

ถ้าที่ดินมีสิทธิครอบครองโดยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์  คือ  หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์แล้วตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  1  ดังนั้น  เมื่อที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นที่ดินที่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว  จึงสามารถโอนให้แก่กันได้ตาม  พ.ร.บ.  ให้ใช้ฯ  มาตรา  9  เว้นแต่ในบางกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติห้ามโอนไว้  เช่น  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  31  และมาตรา  58  ทวิ  วรรคห้า  เป็นต้น

2       ที่ดินที่มีใบจอง  (น.ส.2)

ถ้าที่ดินมีสิทธิครอบครองโดยมีใบจอง  เป็นเพียงหนังสือที่แสดงว่า  บุคคลผู้เป็นเจ้าของที่ดินได้รับอนุญาตให้เข้าครอบครองที่ดินของรัฐชั่วคราว  แต่ที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วจนกว่าจะได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  ดังนั้น  สำหรับที่ดินที่มีใบจองหรือที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจองนั้น  ถ้ายังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว  ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไม่ได้  เว้นแต่  จะตกทอดทางมรดกตาม  พ.ร.บ.  ให้ใช้ฯ  มาตรา  8  วรรคสอง

3       ที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง  (ส.ค.1)

ถ้าที่ดินมีสิทธิครอบครองโดยมีที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองนั้น  จะทำการโอนทางทะเบียนไม่ได้  เนื่องจากยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วตาม  พ.ร.บ.  ให้ใช้ฯ  มาตรา  9  แต่อย่างไรก็ดี  ที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง  แม้จะโอนกันไม่ได้ตามกฎหมายที่ดิน  แต่ก็สามารถโอนกันได้ตามกฎหมายแพ่งโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1378

ดังนั้น  ที่ดินซึ่งยังไม่มีกรรมสิทธิ์จะโอนให้แก่กันได้เฉพาะที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์  ส่วนที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง  หรือใบจอง  เมื่อยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว  จึงไม่สามารถโอนให้แก่กันได้

Advertisement