การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4008 กฎหมายที่ดิน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ผู้ซึ่งมีสิทธิในที่ดินแต่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์จะโอนที่ดินนั้นได้หรือไม่  ตามกฎหมายที่ดิน

ธงคำตอบ

อธิบาย

ผู้มีสิทธิในที่ดินตามกฎหมายที่ดินแต่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์  หรือ  ผู้มีสิทธิในที่ดินโดยมีเพียงสิทธิครอบครอง  หมายถึง  ผู้เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้  คือ  หลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน  (ส.ค.1)  หนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส.3)  ใบจอง  (น.ส.2)  ใบไต่สวน  (น.ส.5)  เป็นต้น

การจะพิจารณาว่าผู้มีสิทธิในที่ดินตามกฎหมายที่ดินแต่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์จะโอนที่ดินต่อไปได้หรือไม่  มีหลักคือ  ให้พิจารณาว่าที่ดินนั้นได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วหรือไม่  ถ้ามีก็สามารถโอนได้ตาม  พ.ร.บ.  ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  9  ที่ดินที่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วให้โอนกันได้

ดังนั้น  ผู้มีสิทธิในที่ดินตามกฎหมายที่ดินแต่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์จะโอนที่ดินได้หรือไม่  สามารถแยกพิจารณาดังนี้

1       ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส.3)

หนังสือรับรองการทำประโยชน์  คือ  หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์แล้วตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  1  ดังนั้น  เมื่อที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นที่ดินที่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว  จึงสามารถโอนให้แก่กันได้ตาม  พ.ร.บ.  ให้ใช้ฯ  มาตรา  9  เว้นแต่ในบางกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติห้ามโอนไว้  เช่น  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  31 และมาตรา  58  ทวิ  วรรคห้า  เป็นต้น

2       ที่ดินที่มีใบจอง  (น.ส.2)

ใบจอง  เป็นเพียงหนังสือที่แสดงว่า  บุคคลผู้เป็นเจ้าของที่ดินได้รับอนุญาตให้เข้าครอบครองที่ดินของรัฐชั่วคราว  แต่ที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วจนกว่าจะได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  ดังนั้น  สำหรับที่ดินที่มีใบจองหรือที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจองนั้น  ถ้ายังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว  ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไม่ได้  เว้นแต่  จะตกทอดทางมรดกตาม  พ.ร.บ.  ให้ใช้ฯ  มาตรา  8  วรรคสอง

3       ที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง  (ส.ค.1)

ที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองนั้น  จะทำการโอนทางทะเบียนไม่ได้  เนื่องจากยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วตาม  พ.ร.บ.  ให้ใช้ฯ  มาตรา  9  แต่อย่างไรก็ดี  ที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง  แม้จะโอนกันไม่ได้ตามกฎหมายที่ดิน  แต่ก็สามารถโอนกันได้ตามกฎหมายแพ่งโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1378

ดังนั้น  ผู้มีสิทธิในที่ดินตามกฎหมายแต่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์จะโอนที่ดินให้แก่กันได้เฉพาะที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์  ส่วนที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง  หรือใบจอง  เมื่อยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว  จึงไม่สามารถโอนให้แก่กันได้


ข้อ  2  นายเพชรครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่  พ.ศ. 2495  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน  ในต้นปี  พ.ศ. 2498  นายเพชรไม่ได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินตามที่กฎหมายกำหนด  แต่ก็ยังครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา  ใน พ.ศ. 2533  นายเพชรได้ขายที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายทอง  โดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเอง  และส่งมอบที่ดินให้นายทองเข้าครอบครอง  นายทองครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อมา  ขณะนี้ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น  ดังนี้  อยากทราบว่า  นายทองจะนำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  27  ตรี  เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสำรวจตามมาตรา  58  วรรคสอง  ผู้ครองครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน  และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา  5  แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ. 2497  หรือผู้ซึ่งรอคำสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา  27  ทวิ  แต่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทำการสำรวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน  ถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น  ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน  ณ  ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ  ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  แต่ได้นำมาหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด  ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง  ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

มาตรา  58  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม  เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรจะให้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในจังหวัดใดในปีใด  ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา  กำหนดจังหวัดที่จะทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์สำหรับปีนั้น  เขตจังหวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่รวมท้องที่ที่ทางราชการได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร

เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่และวันเริ่มต้นของการเดินสำรวจรังวัดในท้องที่นั้น  โดยปิดประกาศไว้  ณ  สำนักงานที่ดิน  ที่ว่าการอำเภอ  ที่ว่าการกิ่งอำเภอ  ที่ทำการกำนัน  และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่ก่อนวันเริ่มต้นสำรวจไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

เมื่อได้มีประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดตามวรรคสอง  ให้บุคคลตามมาตรา  58  ทวิ  วรรคสองหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว  นำพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมาย  เพื่อทำการสำรวจรังวัดแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินของตนตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้นัดหมาย

มาตรา  58  ทวิ  เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่  หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา  58  แล้ว  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แล้วแต่กรณี  ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง  เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้คือ

(2) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา  27  ตรี

วินิจฉัย

นายทองจะนำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่นายเพชรครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่ง  ตั้งแต่  พ.ศ. 2495  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน  และนายเพชรก็ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามที่กฎหมายกำหนด  กรณีเช่นนี้  ถือว่านายเพชรเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  (ก่อนวันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ. 2497)  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  และมิได้แจ้งการครอบครองตาม  พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ  มาตรา  5

ต่อมาได้ความว่า  ใน  พ.ศ. 2533  นายเพชรได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายทองโดยทำสัญญาซื้อขายกันเอง  ในกรณีดังกล่าวนี้ถือว่านายทองเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน  ต่อเนื่องมาจากนายเพชรตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  27  ตรี  วรรคสอง

เมื่อขณะนี้ได้มีประกาศทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดในท้องที่นั้น  (แบบทั้งตำบล)  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  วรรคแรกและวรรคสอง  นายทองก็สามารถนำที่ดินนั้นไปขอออกโฉนดที่ดินได้โดยต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  27  ตรี  วรรคแรก  กล่าวคือ

1)    นายทองต้องมาแจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน  ณ  ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลา  30  วัน  นับแต่วันปิดประกาศ  หรือ

2)    ถ้านายทองมิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  แต่ได้มานำหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดตามวันเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด  กรณีเช่นนี้  ให้ถือว่านายทองประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น

เมื่อนายทองได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว  นายทองก็จะได้รับโฉนดที่ดิน  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  ทวิ  วรรคสอง  (2)

สรุป  นายทองขอออกโฉนดที่ดินได้เพราะเป็นบุคคล  ตามมาตรา  27  ตรี  วรรคสอง  โดยต้องปฏิบัติตามมาตรา  27  ตรี  วรรคแรก  และจะได้รับโฉนดที่ดินตามมาตรา  58  ทวิ  วรรคสอง  (2)


ข้อ  3  นายสมทรงได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินโดยรัฐจัดที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยให้แก่ประชาชน  ทางราชการออกใบจองให้ในวันที่  10 มกราคม  พ.ศ. 2544  ต่อมาใน  พ.ศ. 2548  นายสมทรงก็ยกที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายสมหวังบุตรชายซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว  และได้แต่งงานมีครอบครัวโดยมีอาชีพเป็นเกษตรกรเช่นกัน  นายสมหวังครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินเต็มเนื้อที่ตลอดมา  ขณะนี้นายสมหวังต้องการจะได้รับโฉนดที่ดิน  เพื่อนำไปจำนองเป็นประกันเงินกู้จึงได้ไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน  ดังนี้  อยากทราบว่านายสมหวังจะขออออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  59  ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะรายไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา  58  แล้วหรือไม่ก็ตาม  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร  ให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แล้วแต่กรณี  ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองด้วย

มาตรา  59  ทวิ  ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา  5  แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ.  2497  แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27  ตรี  ถ้ามีความจำเป็นจะขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แล้วแต่กรณี  ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด  แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่  ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด  ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

พ.ร.บ.  ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  8  วรรคสอง  ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจองแต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว  ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก

วินิจฉัย

นายสมหวังจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เห็นว่า  นายสมทรงเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่มีใบจอง  โดยทางราชการออกใบจองให้ในวันที่ 10  มกราคม  พ.ศ. 2544  ซึ่งที่ดินที่มีใบจองนี้เป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว  นายสมทรงผู้ครอบครองจึงโอนให้ใครไม่ได้  เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดกตาม  พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ  มาตรา  8  วรรคสอง

เมื่อได้ความว่า  ในปี  พ.ศ. 2548  นายสมทรงได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายสมหวังบุตรชาย  ซึ่งการยกให้ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการตกทอดโดยทางมรดก  ดังนั้น  การโอนดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืน  พ.ร.บ.ให้ใช้ฯ  มาตรา  8  วรรคสอง  ในกรณีดังกล่าวนี้แม้นายสมหวังจะครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องตลอดมาก็ไม่ทำให้นายสมหวังเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน อย่างไรก็ตามการที่นายสมทรงส่งมอบการครอบครองให้แก่นายสมหวัง  ย่อมมีผลทำให้นายสมหวังเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  เมื่อนายสมหวังประสงค์จะขอออกโฉนดที่ดิน  แต่ไม่ปรากฏว่ามีประกาศของทางราชการเพื่อจะออกโฉนดแบบทั้งตำบล  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  จึงต้องพิจารณาการออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  และมาตรา  59  ทวิ

สำหรับการออกโฉนดเฉพาะราย  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  ผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินได้จะต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน  กล่าวคือ  เป็นเจ้าของที่ดินที่มีหนังสือแสดงสิทธิอย่างใดอย่างอย่างหนึ่ง  เมื่อนายสมหวังเป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด  เนื่องจากการโอนดังกล่าวฝ่าฝืน  พ.ร.บ.ให้ใช้ฯ  มาตรา  8  วรรคสอง  (ใบจองยังคงเป็นชื่อนายสมทรง)  นายสมหวังจึงขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  วรรคแรกไม่ได้  อีกทั้งในกรณีดังกล่าว  นายสมหวังก็จะอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองต่อเนื่อง  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  วรรคสองไม่ได้เช่นกัน  เพราะนายสมหวังมิใช่ผู้ครอบครองต่อเนื่องจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง  (ส.ค.1)

ส่วนผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  ทวิ  ได้นั้น  กฎหมายกำหนดว่า  จะต้องเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  และมิได้แจ้งการครอบครองตาม  พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ  มาตรา  5  เท่านั้น  เมื่อได้ความว่า นายสมหวังเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  (ภายหลังวันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ. 2497)  จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าว  ดังนั้น  นายสมหวังจึงไม่สามารถขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  ทวิ  ได้เช่นกัน

สรุป  นายสมหวังเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  จึงขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  และมาตรา  59  ทวิ  ไม่ได้เลย


ข้อ  4  นายเอกเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดที่ดิน  2  แปลง  แปลงแรกได้มาโดยการรับมรดก  ส่วนอีกแปลงนายเอกซื้อจากนายโท  ที่ดินทั้งสองมีแนวที่ดินตรงกันโดยมีลำรางสาธารณะกว้างประมาณ  4  เมตรคั่นอยู่  นายเอกต้องการจะจำนองที่ดินทั้งสองแปลงเพื่อเป็นประกันเงินกู้  แต่เพื่อให้เกิดความสะดวกในการจดทะเบียนจำนองจึงได้ไปขอรวมที่ดินทั้งสองแปลงเข้าเป็นแปลงเดียวกัน  ดังนี้  อยากทราบว่า  นายเอกจะขอรวมที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

การรวมที่ดินหลายแปลงเข้าเป็นแปลงเดียวกันมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญอยู่  5  ประการ  ซึ่งอยู่ภายใต้คำสั่งของกรมที่ดิน  ที่  12/2500  ลงวันที่  8  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2500  กล่าวคือ

1)    ต้องเป็นที่ดินที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทเดียวกัน  เว้นแต่โฉนดแผนที่กับโฉนดที่ดินให้รวมกันได้

2)    ต้องมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเหมือนกันทุกฉบับและยังมีชีวิตอยู่ทุกคน  กล่าวคือ  ในกรณีที่มีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดเหมือนกันนั้น  โดยไม่คำนึงว่าผู้มีชื่อในโฉนดจะมีกี่คน  แต่ที่สำคัญทุกฉบับจะต้องมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในโฉนดเหมือนกันทุกฉบับ  เช่น  แปลงที่  1  มีชื่อ  นายเอ  และนายบี  แปลงที่  2  ก็ต้องมีทั้งชื่อ  นายเอ  และนายบี  จึงจะรวมกันได้

3)    ต้องเป็นที่ดินที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน  กล่าวคือ  ไม่มีที่ดินของผู้อื่นหรือที่สาธารณประโยชน์มาคั่น

4)    ต้องเป็นที่ดินในจังหวัดเดียวกัน  กล่าวคือ  แม้จะต่างตำบลต่างอำเภอก็ให้รวมกันได้  เมื่อรวมโฉนดแล้วให้ถือว่าที่ดินส่วนใดอยู่ในเขตตำบลอำเภอใดมากก็ให้ใช้ตำบลและอำเภอนั้น  สำหรับโฉนดที่ดินแปลงใหม่

5)    ต้องเป็นที่ดินในเขตสำนักงานที่ดินเดียวกัน

นายเอกจะขอรวมที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่  เห็นว่า  แม้ได้ความว่าที่ดินที่นายเอกประสงค์จะขอรวม  จะเป็นที่ดินที่นายเอกเป็นเจ้าของโฉนดทั้ง  2  แปลงก็ตาม  แต่เมื่อที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมีลำรางสาธารณะกว้างประมาณ  4  เมตรคั่นอยู่  จึงเป็นกรณีที่ดินไม่ติดต่อกันเป็นผืนเดียวกัน  ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ประการที่  3  นายเอกจึงไม่สามารถขอรวมที่ดินดังกล่าวได้

สรุป  นายเอกจะขอรวมที่ดินเป็นแปลงเดียวกันไม่ได้

Advertisement