การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4007 นิติปรัชญา

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ 1.       ให้นักศึกษาอธิบายหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) และความสัมพันธ์ของหลักการนี้กับกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายตามปรัชญามนุษยนิยมทางกฎหมาย (Legal Humanism)  ในทรรศนะของนักศึกษา ทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายแบบดั้งเดิมให้การยอมรับต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ  ดูหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์-ปรัชญากฎหมาย แนวมนุษยนิยมในภาคผนวกของบทที่ 6 (หน้า 161-169)  โดยที่หลักการนี้จัดเป็นฐานคิดสำคัญของปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย จึงย่อมเป็นธรรมดาที่จะไม่ลงรอยกับทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายแบบดั้งเดิมที่มองกฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐ และมีท่าทีเชิงลบต่อธรรมชาติของมนุษย์

ข้อ 2.       จงสรุปเปรียบเทียบทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาของ R. Pound และทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายมาร์กซิสต์ (Marxist Legal Theory)                                  

ธงคำตอบ  ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาของ Pound มีฐานคิดแนวปฏิบัตินิยม เชื่อมั่นต่อกฎหมายว่าเป็นพลังสังคม หรือเป็นเครื่องมือในการไกล่เกลี่ย/คานผลประโยชน์ในสังคมให้เกิดความสมดุล ภายใต้แนวคิดเสรีนิยมก้าวหน้า ขณะที่ทฤษฎีกฎหมายฝ่ายมาร์กซิสต์มีฐานคิดแนววัตถุนิยม มีท่าทีต่อกฎหมายในแง่ลบ ภายใต้บทสรุปที่เชื่อว่าเศรษฐกิจ-ชนชั้นปกครอง/การเมือง เป็นสิ่งที่อยู่เหนือกฎหมาย

ข้อ 3.       จงสรุปย่อสาระสำคัญของอัคคัญญสูตร, ธัมมิกสูตรและจักกวัตติสูตร  พระสูตรสำคัญเหล่านี้มีหลักการสำคัญที่สนับสนุนการใช้อำนาจที่เป็นธรรม (ทางกฎหมาย) ของผู้ปกครองหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ  อัคคัญญสูตร มีสาระสำคัญในเรื่องกำเนิดโลก-สังคมมนุษย์-รัฐ-กฎหมาย โดยชี้ให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของมนุษย์-ธรรมชาติ ความเสื่อมของมนุษย์ และบทบาทของรัฐ/ผู้ปกครองในการรักษาสังคมไม่ให้ตก เสื่อมมากขึ้นโดยอาศัยธรรม  ธัมมิกสูตร กล่าวถึงอาเพศของธรรมชาติที่เป็นผลจากการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของผู้ปกครอง ส่วนจักกวัตติสูตร  เน้นเรื่องหลักจักรวรรดิวัตรและผลพวงการไม่ยึดมั่นในหลักดังกล่าวของผู้ปกครองที่นำไปสู่สภาพมิคสัญญีในท้ายสุด

                พระสูตรทั้งสามล้วนสนับสนุนการใช้อำนาจที่เป็นธรรม (ทางกฎหมาย) ของผู้ปกครอง ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของหลักปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม

Advertisement