การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4007 นิติปรัชญา

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

 ข้อ 1  หลักนิติธรรม  (Rule  of  Law)  และการดื้อแพ่ง  (Civil  Disobedience)  คืออะไร  Dicey  และ  Rawls  ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องข้างต้นว่าอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักนิติธรรม  (Rule  of  Law)  หมายถึง  การเคารพเชื่อฟังต่อกฎหมาย  หรือหมายถึง  การที่รัฐบาลต้องปกครองด้วยกฎหมายและอยู่ภายใต้กฎหมาย”  ดังวลีสมัยใหม่ที่ว่า  รัฐบาลโดยกฎหมาย  มิใช่ตัวบุคคล”  ซึ่งหลักนิติธรรมจะสัมพันธ์อยู่กับเรื่องกฎหมาย  เหตุผลและศีลธรรม  เสรีภาพของประชาชนและรัฐความยุติธรรมความเสมอภาค  และเป็นที่เข้าใจกันกว้างๆว่าหลักนิติธรรมเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลและความเป็นธรรม

ไดซีย์  (Dicey)  นักกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษนำเสนอในหนังสือ  “Law  of  the  Constitution”  โดยมิได้ให้นิยามความหมายของหลักนิติธรรมไว้โดยตรง  แต่เขาบอกว่าหลักนิติธรรมนั้นแสดงออกโดยนัย  3  ประการ คือ  (เป็นหลักนิติธรรมที่สร้างขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับระบบกฎหมายของอังกฤษ)

1          การที่ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจลงโทษบุคคลใดได้ตามอำเภอใจ  เว้นเพียงในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง  และการลงโทษที่อาจกระทำได้นั้นจะต้องกระทำตามกระบวนการปกติของกฎหมายต่อหน้าศาลปกติของแผ่นดิน

2          ไม่มีบุคคลใดอยู่เหนือกฎหมาย  ไม่ว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งหรือเงื่อนไขประการใดๆ ทุกๆคนล้วนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและศาลเดียวกัน

3          หลักทั่วไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นผลจากคำวินิจฉัยตัดสินของศาลหรือกฎหมายธรรมดา  (ตรงนี้เฉพาะประเทศอังกฤษ)  มิใช่เกิดจากการรับรองค้ำประกันเป็นพิเศษโดยรัฐธรรมนูญ

ไดซีย์กล่าวอย่างน่าสนใจเอาไว้ว่า  หลักนิติธรรมนั้นตรงกันข้ามกับรัฐบาลทุกระบบที่บุคคลผู้มีอำนาจใช้

บังคับจับกุมคุมขังบุคคลใดได้อย่างกว้างขวางโดยพลการหรือตามดุลพินิจของตนเอง

การดื้อแพ่งกฎหมาย  (Civil  Disobedience) หมายถึง  การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยสันติวิธี  เป็นการกระทำเชิงศีลธรรม  ในลักษณะของการประท้วงคัดค้านต่อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมหรือต่อการกระทำของรัฐบาลที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง

จอร์ห  รอลส์  (John  Rawls)  ให้นิยามการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนว่า  คือการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยมโนสำนึก  ซึ่งกระทำโดยเปิดเผยในที่สาธารณะ  โดยไม่ใช้ความรุนแรง  และเป็นการกระทำในเชิงการเมืองที่ปกติมุ่งหมายจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล

รอลส์ให้ความเห็นชอบในการดื้อแพ่งกฎหมายของประชาชน  แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่งความชอบธรรมตามที่กำหนดต่อไปนี้

1          ต้องเป็นการกระทำที่มีจุดประสงค์ของการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่สังคม  อันเป็นการกระทำในเชิงการเมือง  แต่ต้องมิใช่เป็นการมุ่งทำลายระบบกฎหมายทั้งหมดหรือรัฐธรรมนูญ  (Constitution  Theory  of  Civil  Disobedience)

2          ต้องเป็นกฎหมายที่ขาดความชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง  อันฝ่าฝืนหลักธรรมขั้นพื้นฐานหรืออิสรภาพขั้นมูลฐาน  เช่น  เรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม  (Equal  Liberty)

3          ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติการซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย

4          การต่อต้านกฎหมายต้องกระทำโดยสันติวิธีโดยเปิดเผย  (Public  Act)

 


ข้อ  
2  ทฤษฎีกฎหมายของมาร์กซิสต์  (The  Marxist  Theory  of  Law)  คืออะไร  และข้อสรุปเกี่ยวกับกฎหมาย  3  ประการ  มีอะไรบ้าง  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ทฤษฎีกฎหมายของมาร์กซิสต์  (The  Marxist  Theory  of  Law)  เป็นทฤษฎีทางกฎหมายของ คาร์ล  มาร์กซ์  ที่มองกฎหมายว่าเป็นเพียงกลไกเพื่อรับใช้ประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมมิใช่เป็นกลไกที่มีความเป็นอิสระในการใช้ประนีประนอมผลประโยชน์ขัดแย้งทั้งหลาย

เนื่องจากตัวมาร์กซ์เองแล้วเขาเป็นคนค่อนข้างจะเย้ยหยันต่อบทบาทของกฎหมายในระบบทุนนิยม  จึงทำให้มีการสรุปธรรมชาติหรือบทบาทของกฎหมายเป็นข้อสรุปดังนี้  คือ

1        กฎหมายเป็นผลผลิตหรือผลสะท้อนของโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ   โดยที่รูปแบบและเนื้อหาของกฎหมายจะแปรเปลี่ยนไปตามความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในสังคมนั้นๆ  โดยมองว่า สังคม  ศาสนา  วัฒนธรรม  การเมือง  กฎเกณฑ์ต่างๆ  ของสังคม  ล้วนถูกกำหนดโดยระบบการผลิตหรือระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่  ซึ่งสมมติให้เป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคมซึ่งวางอยู่บนฐานของระบบเศรษฐกิจหรือโครงสร้างส่วนล่างของสังคม  ซึ่งกฎหมายก็ถือเสมือนว่าเป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคม  โดยที่รูปแบบและเนื้อหาของกฎหมายนั้นจะเป็นผลสะท้อนของระบบเศรษฐกิจหรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

2        กฎหมายเป็นเสมือนเครื่องมือหรืออาวุธที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเพื่อปกป้องอำนาจของตน  กฎหมายเป็นเครื่องมือกดขี่ของชนชั้นปกครอง  เป็นข้อสรุปที่มาจาก  คำประกาศของพรรคคอมมิวนิสต์  ที่มาร์กซิสต์และเองเกลส์เขียนขึ้นเพื่อกล่าวเสียดสีกฎหมายของชนชั้นเจ้าสมบัติ  จึงทำให้นักทฤษฎีมาร์กซิสต์ทั่วไปมองกฎหมายว่า  ไม่ได้เกิดจากเจตนาร่วมหรือเจตจำนงทั่วไปของประชาชน  แต่กฎหมายนั้นเป็นเพียงการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของชนชั้นปกครอง

3        ในสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์  กฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการควบคุมสังคมจะเหือดหาย  (Writering  Away)  และสูญสิ้นไปในที่สุด  เป็นการสรุปความเอาเองของบรรดาสาวกของมาร์กซ์ที่ตีความของบุคคลจากงานเขียนของเองเกลส์  ชื่อ  “Anti – Duhring”  ที่กล่าวพยากรณ์ว่า  สังคมคอมมิวนิสต์ในอนาคตรัฐหรือรัฐบาลของบุคคลจะเหือดหายไร้ความจำเป็นในการดำรงอยู่อีกต่อไป  ซึ่งเองเกลส์พูดถึงแต่รัฐเท่านั้น  ไม่ได้พูดถึงกฎหมาย

 


ข้อ  
3  จงอธิบายแนวพระราชดำริทางปรัชญากฎหมายขององค์พระมหากษัตริย์ปัจจุบัน

ธงคำตอบ

ปรัชญากฎหมายไทยตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนั้น  สืบแต่พระองค์ทรงเป็นประมุขของชาติที่ทรงใส่พระทัยอย่างสูงต่อเรื่องกฎหมายและความยุติธรรม  พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ที่ทรงมีต่อนักกฎหมายหรือคณะบุคคลต่างๆ  ในหลายวโรกาสได้สำแดงออกซึ่งความคิดเชิงปรัชญากฎหมายอย่างลึกซึ้ง  จนมีผู้เรียกขานว่าเป็น  ปรัชญากฎหมายข้างฝ่ายไทย

แนวพระราชดำริทางปรัชญากฎหมายของพระองค์ประกอบด้วยประเด็นทางความคิดหลายเรื่อง  เช่น  เรื่องความยุติธรรม  ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมและเสรีภาพ  กฎหมายกับความเป็นจริงในประชาสังคม  ความสำคัญของการปกครองโดยกฎหมาย ปัญหาเรื่องความไม่รู้กฎหมายของประชาชนและการปรับใช้กฎหมาย  ตลอดจนเรื่องบทบาทของกฎหมายและนักกฎหมายในสังคมไทย  อย่างไรก็ตาม  หัวใจแห่งพระราชดำริคงอยู่ที่เรื่อง  กฎหมายกับความยุติธรรม  ซึ่งเชื่อมโยงโดยใกล้ชิดกับเรื่องกฎหมายกับความเป็นจริงของชีวิตประชาชนในสังคม

ปรัชญากฎหมายไทยตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ยึดถือธรรมหรือความยุติธรรมเป็นใหญ่เหนือกฎหมาย  อันเป็นความคิดคนละขั้วกับปรัชญาปฏิฐานนิยมทางกฎหมายที่เน้นย้ำแต่เรื่องความยุติธรรมตามกฎหมายหรือถือเอากฎหมายเป็นตัวความยุติธรรม  ในพระราชดำริของพระองค์  กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรมโดยตรงและผู้ใช้กฎหมายซึ่งคำนึงถึงความยุติธรรมเป็นใหญ่  ก็ต้องไม่ติดอยู่กับตัวอักษรกฎหมายอย่างเดียว  ในการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริงๆ  ความเช่นนี้อาจพิจารณาได้จากพระบรมราโชวาทในหลายๆวโรกาส  เช่น

1       พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิต  ณ  เนติบัณฑิตยสภา  เมื่อวันที่  7  สิงหาคม  2515  ความว่า  โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว  จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญไปยิ่งกว่ายุติธรรม  หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย  การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดๆ  โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้น  ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ  จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ  การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและผลที่ควรจะได้

2       พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต  ณ  อาคารใหม่สวนอัมพร  วันที่  29  ตุลาคม  2522  ความว่า  ผู้ที่ได้ผ่านสำนักอบรมกฎหมายทุกคน  ควรจะได้รับการชี้แจงเน้นหนักให้ทราบชัดว่า  กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม  หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม… จึงไม่สมควรจะถือว่าการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมีวงกว้างอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย  จำเป็นต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา  ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย

ความที่พระองค์ทรงถือเอาความยุติธรรมเป็นใหญ่เหนือกฎหมายโดยนัยหนึ่งย่อมหมายถึงพระราชประสงค์ที่จะให้กฎหมายกำเนิดขึ้นหรือเป็นไปเพื่อความถูกต้องดีงาม  หาใช่การปล่อยให้กฎหมายและการใช้กฎหมายเป็นไปในลักษณะที่สวนทางกับความยุติธรรมหรือศีลธรรมจรรยา  หรือหาใช่ปล่อยให้กฎหมายเป็นกลไกแห่งการกดขี่ของผู้ปกครองไป  หลักคุณค่าเรื่องความสงบสุขของบ้านเมืองหรือเสรีภาพ  นับเป็นวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายตามพระราชดำริของพระองค์ที่ว่า  

เราจะต้องพิจารณาในหลักว่ากฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง  มิใช่ว่ากฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน  ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการกลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก  ในทางตรงข้าม กฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรีภาพและอยู่ได้ด้วยความสงบ  

พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันระพี  คณะนิติศาสตร์  จุฬา  ณ  พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  เมื่อวันที่  27  มิถุนายน  2516

อนี่ง  ที่ละเว้นไปเสียมิได้เลยก็คือ  ในพระบรมราโชวาทซึ่งทรงพระราชทานในหลายวโรกาสพระองค์ได้ตรัสพาดพิงไปถึงเรื่องการบุกรุกป่าสงวนของราษฎร  ซึ่งเป็นปัญหาขัดแย้งกันระหว่างรัฐกับราษฎร  เป็นประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งของกฎหมายกับความเป็นจริงของประชาสังคม  ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งในปัจจุบันโดยรวมความตามแนวพระบรมราโชวาทแล้วก็มีสาระสำคัญว่า  

กฎหมายกับความเป็นอยู่จริงอาจขัดกันได้  กฎหมายมีช่องโหว่มาก  เพราะไปปรับปรุงกฎหมายและการปกครองโดยลอกแบบต่างชาติมาโดยไม่ดูว่าเหมาะสมกับความเป็นอยู่ของประชาชนหรือไม่  บางทีการปกครองก็ไปไม่ถึงชุมชนห่างไกล  กฎหมายที่รัฐตราขึ้นเป็นอย่างไรก็ไม่รู้  ทำให้เขาตั้งกฎหมายใช้กันเอง  ซึ่งบางจุดก็ขัดกับกฎหมายของรัฐ  การตราพระราชบัญญัติป่าสงวนที่ผ่านมาปัญหามันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐนั่งเก้าอี้ขีดบนแผนที่ว่าตรงไหนเป็นป่าสงวน  

โดยไม่ลงพื้นที่ดูว่าเป็นอย่างไร  ความจริงก็คือมีราษฎรเขาอาศัยอยู่ในป่าแห่งนั้นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว  อยู่ๆก็ไปตราเป็นกฎหมาย  ไปชี้ว่าเป็นป่าสงวน  กลายเป็นว่าราษฎรบุกรุกป่าสงวน  แน่นอนว่าถ้าดูตามกฎหมายราษฎรก็ผิดเพราะว่าตรามาเป็นกฎหมายโดยชอบธรรม  แต่ว่าถ้าตามธรรมชาติแล้ว  คนที่ทำผิดกฎหมายคือเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปขีดเส้นว่าป่าที่ราษฎรอยู่เป็นป่าสงวน  เพราะว่าราษฎรเขาอยู่มาก่อน  เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์  ความหมายก็คือ  ทางราชการนั้นแหละไปรุกรานบุกรุกราษฎรไม่ใช่ราษฎรบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง

  สาระสำคัญโดยรวมคือ  เป็นแนวพระราชดำริที่ทรงเตือนสติให้คำนึงถึงเรื่องกฎหมายและความสอดคล้องกับความเป็นจริงของประชาสังคม  ซึ่งโดยนัยแล้วก็ไม่แตกต่างกับที่ทรงย้ำว่ากฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรมหรืออย่ายึดติดอยู่กับถ้อยคำในกฎหมายเพียงอย่างเดียว ต้องเชื่อมั่นว่าความยุติธรรมคือจุดหมายปลายทางแห่งการใช้อำนาจรัฐทางด้านกฎหมายและความยุติธรรมต้องผูกติดอยู่กับธรรมะ  ความถูกต้อง  และความเป็นจริง

Advertisement