การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  เฮืองเหงียนถิเกิดที่จังหวัดนครพนม  เมื่อปี  พ.ศ.2493  จากบิดาญวนอพยพ  เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและมารดาผู้มีสัญชาติไทย  เฮืองอยู่กินกับนายแดงคนไทยโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสเกิดบุตรในประเทศไทย  2  คน  เมื่อปี  พ.ศ.2518  และ  2520  ตามลำดับ  บุตร  2  คนได้สัญชาติไทยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

พ.ร.บ. สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย

พ.ร.บ.สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1)  ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

มาตรา  10  บทบัญญัติมาตรา  7(1)  แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ  พ.ศ. 2508  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้  ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย

ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337

ข้อ  1  ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย  โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว  แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3)  ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว

ข้อ  2  บุคคลตามข้อ  1  ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว  ไม่ได้สัญชาติไทย  เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

บุตรทั้ง  2  คนได้สัญชาติไทยหรือไม่  เห็นว่า  เฮืองเหงียนถิเกิดที่จังหวัดนครพนม  เมื่อปี  พ.ศ.2493  จากบิดาญวนอพยพและมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  กรณีถือว่าเฮอืงเหงียนถิเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย  ย่อมได้รับสัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ.2508  มาตรา  7(3)

ต่อมาวันที่  14  ธันวาคม  พ.ศ.2515  ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  มีผลใช้บังคับเฮืองเหงียนถิจึงถูกถอนสัญชาติไทย เพราะเป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว  และในขณะเกิดนั้น  บิดาเป็นผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  1(3)  เฮืองเหงียนถิจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

การที่เฮืองเหงียนถิอยู่กินกับนายแดง  คนไทยโดยไม่จดทะเบียนสมรสและเกิดบุตรในประเทศไทย  2  คน  เมื่อปี  พ.ศ.2518  และ  พ.ศ. 2520  ตามลำดับ  กรณีถือว่าบุตรทั้ง  2  คน  เกิดในขณะที่ประกาศคณะปฏิวัติมีผลใช้บังคับ  จึงไม่ได้รับสัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ. สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)  เพราะเข้าข้อยกเว้นตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  2  และข้อ  1(3)  กล่าวคือ  เป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย  โดยมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  และในขณะที่เกิด  มารดาเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

อย่างไรก็ตามเมื่อ  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มีผลใช้บังคับ  (มีผลใช้บังคับวันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ.2535)  เฮืองเหงียนถิกลับได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535   มาตรา  7(1)  ที่กำหนดให้บุคคลผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด  ทั้งนี้โดยผลของมาตรา  10  ข้อง  พ.ร.บ.  ดังกล่าว  ก็ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา  7(1)  มาใช้บังคับย้อนหลังกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2535  อันเป็นวันที่  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  ใช้บังคับด้วย  ดังนั้น  เมื่องเฮืองเหงียนถิกลับได้สัญชาติไทยย่อมทำให้บุตรทั้ง  2  คนกลับได้สัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  โดยผลของมาตรา  10  ดังกล่าวด้วย  เพราะมารดา  คือเฮืองเหงียนถิเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ทั้งนี้  โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด

สรุป  บุตรทั้ง  2  คนได้สัญชาติไทย  ตามหลักสายโลหิตตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7(1)  โดยผลของมาตรา  10  เพราะเกิดโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย

 

ข้อ  2  นายไตรรงค์คนสัญชาติไทยทำสัญญาซื้อกำไลข้อมือทองคำจากนายซิงส์คนสัญชาติอินเดียและขณะทำสัญญากำไลข้อมือนั้นก็อยู่ที่อินเดีย  นายไตรรงค์และนายซิงส์ตกลงกันว่าหากกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญานี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย  กฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายของอินเดียกำหนดว่าแบบของสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่สัญญานั้นทำขึ้น  และกฎหมายภายในของอินเดียกำหนดว่าการซื้อขายเครื่องประดับด้วยทองคำแท้หรือเพชรต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นเป็นโมฆะ  ปรากฏว่าการซื้อขายรายนี้ทำเป็นหนังสือ  แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ต่อมานายไตรรงค์ผิดสัญญาไม่ยอมชำระราคาและรับมอบกำไลข้อมือนั้น  นายซิงส์จึงฟ้องนายไตรรงค์ต่อศาลไทยเรียกค่าเสียหายเพราะผิดสัญญา  นายไตรรงค์ต่อสู้ว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ตนจึงไม่ผูกพันหรือต้องรับผิดตามสัญญา  ให้ท่านวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายรายนี้เป็นโมฆะหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  9  วรรคแรก  นอกจากจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้  หรือกฎหมายอื่นใดแห่งประเทศสยาม  ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมย่อมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้น

มาตรา  13  วรรคแรกและวรรคท้าย  ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น  ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี  ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้  ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน  กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา  ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน  ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น

สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ  ถ้าได้ทำถูกต้องตามแบบอันกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลแห่งสัญญานั้น

วินิจฉัย

นายไตรรงค์คนสัญชาติไทยทำสัญญาซื้อกำไลข้อมือทองคำแท้จากนายซิงส์  คนสัญชาติอินเดีย  และขณะทำสัญญา  นายไตรรงค์และนายซิงส์ตกลงกันว่าหากกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญานี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย  กรณีเช่นนี้แม้ตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  9  วรรคแรก  จะกำหนดให้ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้นก็ตาม  แต่อย่างไรก็ดี  ตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  13  วรรคท้าย  กำหนดว่าสัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ  หากได้ทำถูกต้องตามแบบอันกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลของสัญญา  ในกรณีนี้กฎหมายที่ใช้บังคับแก่ผลของสัญญาจึงได้แก่  กฎหมายไทยตามเจตนาของคู่กรณีตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  13  วรรคแรก

สำหรับกรณีนี้แม้การซื้อขายกำไลข้อมือดังกล่าวจะได้ทำเป็นหนังสือแต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม  แต่โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย  มิได้มีบทมาตราใดบังคับว่าการซื้อขายเครื่องประดับด้วยทองคำแท้หรือเพชร  ซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดาต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด  เพียงแต่ตกลงด้วยวาจาก็มีผลใช้บังคับได้แล้ว

ดังนั้น  สัญญาซื้อขายระหว่างนายไตรรงค์และนายซิงส์จึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ไม่ตกเป็นโมฆะ  การที่นายซิงส์ได้มาฟ้องนายไตรรงค์ต่อศาลไทยเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุผิดสัญญา  นายไตรรงค์สู้ว่าสัญญาเป็นโมฆะ  ข้อต่อสู้ของนายไตรรงค์จึงฟังไม่ขึ้น  นายไตรรงค์ต้องรับผิดตามสัญญา

สรุป  สัญญาซื้อขายกำไลข้อมือทองคำแท้รายนี้สมบูรณ์ตามกฎหมาย  ไม่เป็นโมฆะ

 

ข้อ  3  เครื่องบินสายการบิน  AAA  เป็นเครื่องบินจดทะเบียนประเทศออสเตรเลีย  ขณะที่เครื่องกำลังบินอยู่เหนือทะเลหลวงเพื่อไปยังประเทศฝรั่งเศส  นายอเล็กซานเดอร์คนสัญชาติกรีซได้ขู่ว่ามีระเบิดพลาสติกติดตัวขึ้นมาบนเครื่องและจะทำการระเบิดเครื่องบินหากนักบินไม่นำเครื่องไปลงจอดที่ประเทศกรีซเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารนักบินจึงทำตามที่นายอเล็กซานเดอร์ขู่  แต่เมื่อเครื่องแล่นลงที่ประเทศกรีซ  นายอเล็กซานเดอร์ก็ถูกตำรวจจับกุมไว้ได้ทันที  กรณีนี้ถือว่านายอเล็กซานเดอร์กระทำความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่  จงอธิบาย  และตามอนุสัญญากรุงโตเกียวว่าด้วยการกระทำผิดบนอากาศยาน  ค.ศ.1963  หากประเทศกรีซปฏิเสธที่จะยอมรับดำเนินคดีกับนายอเล็กซานเดอร์  ประเทศกรีซสามารถส่งตัวนายอเล็กซานเดอร์ข้ามแดนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

วินิจฉัย

อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ค.ศ. 1970  มาตรา  1  ได้บัญญัติถึงลักษณะของการจี้เครื่องบินอันเป็นการกระทำความผิดฐานสลัดอากาศว่า  เป็นการกระทำโดย

(1) บุคคลที่อยู่ในเครื่องบินนั้น

(2) การกระทำนั้นเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้กระทำต่อเครื่องบินลำนั้นเอง

(3) การกระทำนั้นเกิดในขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  การกระทำของนายอเล็กซานเดอร์เป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานสลัดอากาศ  ตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ค.ศ.1970  เนื่องจากเป็นการกระทำของบุคคลที่อยู่ในเครื่องบินลำนั้น  ซึ่งการที่นายอเล็กซานเดอร์ขู่ว่าจะระเบิดเครื่องบินก็ถือว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งได้กระทำต่อเครื่องบินลำนั้น  และการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่

ส่วนในกรณีเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน  ตามอนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยการกระทำความผิดบนอากาศยาน  ค.ศ. 1963  นั้น  มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเอาไว้ในมาตรา  14  ซึ่งโดยผลแห่งมาตรานี้  จึงอาจมีการส่งผู้ก่อการร้ายฐานจี้เครื่องบินให้รัฐอื่นได้  ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลที่กระทำการยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ไม่ประสงค์ที่จะเดินทางต่อไปหรือไม่สามารถที่จะเดินทางต่อไปได้อีก  และรัฐซึ่งเครื่องบินนั้นแล่นลง  ปฏิเสธที่จะยอมรับบุคคลที่ก่อการร้ายนั้น  รัฐนั้นๆก็สามารถที่จะส่งตัวผู้กระทำความผิดนั้นคืนไปยังรัฐที่ผู้กระทำความผิดนั้นมีสัญชาติ  หรือรัฐซึ่งผู้กระทำความผิดมีถิ่นที่อยู่ประจำ  หรืออาจส่งไปยังรัฐซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเดินทางทางอากาศของผู้กระทำผิดนั้น  แต่ทั้งนี้บุคคลผู้กระทำความผิดที่อาจส่งตัวข้ามแดนนี้จะต้องไม่ใช่บุคคลในสัญชาติหรือบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่เป็นประจำในรัฐที่เครื่องบินนั้นแล่นลง

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  ปัญหามีว่า  ประเทศกรีซซึ่งเป็นประเทศที่เครื่องบินนั้นแล่นลงจะปฏิเสธที่จะยอมรับดำเนินคดีกับนายอเล็กซานเดอร์ได้หรือไม่  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาตามอนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยการกระทำความผิดบนอากาศยาน  ค.ศ. 1963  มาตรา  14  ดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ประเทศกรีซย่อมไม่สามารถปฏิเสธที่จะดำเนินคดีกับนายอเล็กซานเดอร์และส่งข้ามแดนได้  เนื่องจากนายอเล็กซานเดอร์ได้ทำการจี้เครื่องบินมาลงที่ประเทศกรีซซึ่งเป็นประเทศที่ตนมีสัญชาติอยู่  หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ  นายอเล็กซานเดอร์เป็นบุคคลในสัญชาติของรัฐที่เครื่องบินนั้นแล่นลงนั้นเอง

สรุป  การกระทำของนายอเล็กซานเดอร์เป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานสลัดอากาศ  ตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ค.ศ. 1970  และประเทศกรีซไม่สามารถปฏิเสธที่จะดำเนินคดีกับนายอเล็กซานเดอร์ได้

 

ข้อ  4  นายทักทายเป็นคนสัญชาติไทย  แต่ไปพักอาศัยและทำธุรกิจอยู่ที่ประเทศลาว  ต่อมาได้ร่วมมือกับกลุ่มเพื่อนทหารทำการปฏิวัติล้มรัฐบาลไทย  มีผลให้มีการล้มตายและบาดเจ็บมากมาย  แต่ทำการปฏิวัติไม่สำเร็จ  หลังจากนั้นรัฐบาลไทยจึงได้ทำคำร้องขอไปยังรัฐบาลลาวให้ส่งตัวนายทักทายกลับมารับโทษในประเทศไทย  ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน

อยากทราบว่าในกรณีดังกล่าวข้างต้นนี้  รัฐบาลลาวจะตัดสินใจส่งตัวนายทักทายให้รัฐบาลไทยตามคำขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้หรือไม่  และเพราะหลักกฎหมายใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

วินิจฉัย

หลักในการพิจารณาคดีการเมืองของประเทศฝรั่งเศสนั้น  เป็นไปตามหลักว่าด้วยการกระทำที่กระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ  ซึ่งหมายถึง  การกระทำความผิดที่ส่งผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญการปกครอง  หรือส่งผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐอันประกอบไปด้วยอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจตุลาการและอำนาจบริหาร  รวมทั้งรัฐบาลด้วย  โดยมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างระบบการปกครองของประเทศในหลักใหญ่

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  การที่นายทักทายร่วมมือกับกลุ่มนายทหารทำการปฏิวัติล้มรัฐบาลไทย  การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่ออำนาจในการปกครองของประเทศ  โดยมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างระบบการปกครองของประเทศในหลักใหญ่  อันถือว่าเป็นความผิดทางการเมืองตามหลักของประเทศฝรั่งเศส  ซึ่งประเทศลาวได้ยึดถือในการพิจารณาคดีการเมืองซึ่งห้ามส่งข้ามแดนโดยเด็ดขาดอีกด้วย

สรุป  รัฐบาลลาวจึงไม่สามารถส่งนายทักทายในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนให้กับรัฐบาลไทยตามคำขอได้  เพราะเป็นความผิดทางการเมือง

Advertisement