การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ขวัญดี  เกิดที่จังหวัดระนองจากบิดาคนสัญชาติไทย  ส่วนมารดาเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า  ซึ่งได้แจ้งเป็นแรงงานต่างด้าวตามระเบียบของทางการไทยแล้ว  บิดาได้จดทะเบียนรับรองขวัญดีเป็นบุตร  ขวัญดีได้สัญชาติไทยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

พ.ร.บ.สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย  ยกเว้นบุคคลตามมาตรา  7  ทวิ  วรรคแรก

มาตรา  7  ทวิ  วรรคแรก  ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย  ถ้าในขณะที่เกิด  บิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว  หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

วินิจฉัย

ขวัญดีได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่  เห็นว่า  ขวัญดีเกิดที่จังหวัดระนองจากบิดาคนสัญชาติไทย  ส่วนมารดาเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า  ซึ่งจากข้อเท็จจริงดังกล่าวบิดาได้มีการรับรองขวัญดีเป็นบุตรภายหลังจากที่ขวัญดีเกิดแล้ว  แสดงว่าในขณะเกิดนั้น  ขวัญดียังไม่เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา  และบิดาก็ยังไม่เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของขวัญดี  ดังนั้นขวัญดีจึงไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิตตาม  พ.ร.บ.สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ.2535  มาตรา  7(1)

ส่วนขวัญดีจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนตาม  พ.ร.บ.สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ.2535  มาตรา  7(2)  หรือไม่  จะต้องพิจารณาบทบัญญัติมาตรา  7  ทวิ  วรรคแรก  ประกอบด้วย  กล่าวคือ  หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า

1       เป็นผู้เกิดราชอาณาจักรไทย

2       มีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว  ไม่ว่าจะเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม  และ

3       บิดาหรือมารดานั้นได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย  หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว  หรือเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  เช่นนี้ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทยตามหลักดินแดนดังกล่าว

สำหรับขวัญดีนั้น  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย  ซึ่งในขณะเกิดนั้นบิดาซึ่งมิได้สมรสกับมารดา  เป็นผู้มีสัญชาติไทย  เช่นนี้ขวัญดีย่อมได้รับสัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ.2535  มาตรา  7(2)  เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  7 ทวิ  วรรคแรก  อันจะทำให้ไม่ได้สัญชาติไทยแต่อย่างใด

อนึ่ง  การที่บิดาของขวัญดีได้ไปจดทะเบียนรับรองบุตร  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1547  แม้จะมีผลทำให้ขวัญดีเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา  และมีผลทำให้บิดาเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของขวัญดีก็ตาม  แต่ก็เป็นกรณีภายหลังการเกิด  หาทำให้ขวัญดีกลับไปได้สัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ.2535  มาตรา  7(1)  แต่อย่างใด  ทั้งนี้เพราะผลของการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว  บทบัญญัติ  ป.พ.พ.  มาตรา  1557  (เดิม)  กำหนดให้มีผลนับแต่วันที่บิดาจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตร  และคำว่า  บิดา  ตาม พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ.  2535  มาตรา  7(1)  หมายถึงบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะเกิดเท่านั้น  (ฎ.1119/2527 ฎ.3120/2528)

สรุป  ขวัญดีได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ.2535  มาตรา  7(2)

หมายเหตุ  ปัจจุบัน  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1557  ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติใหม่  โดยให้การเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1547  มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด  (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่  8  มีนาคม  2551  ผลของการแก้ไขดังกล่าวจึงทำให้ขวัญดีกลับมาได้สัญชาติไทยตามหลักสายโลหิตตาม  พ.ร.บ.สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ.2535  มาตรา  7(1)  เพราะเกิดโดยบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทย

 

ข้อ  2  นายหว่องเกิดจากบิดามารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติสิงคโปร์  แต่เกิดและมีภูมิลำเนาในประเทศมาเลเซีย  ตามกฎหมายสิงคโปร์บุคคลย่อมได้สัญชาติสิงคโปร์  หากเกิดจากบิดาเป็นสิงคโปร์ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกประเทศสิงคโปร์  และตามกฎหมายมาเลเซียบุคคลย่อมได้สัญชาติมาเลเซียหากเกิดในประเทศมาเลเซีย  กฎหมายสิงคโปร์ยังกำหนดไว้อีกว่าบุคคลบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทำนิติกรรมใดๆได้เมื่ออายุครบ  19  ปีบริบูรณ์  แต่กฎหมายมาเลเซียต้องมีอายุครบ  21  ปีบริบูรณ์  ในขณะที่นายหว่องมีอายุ  20 ปีบริบูรณ์  ได้เดินทางมาประเทศไทยและทำสัญญาซื้อเครื่องปั้นโถลายครามจำนวน  60  เครื่อง  จากนายประดับคนสัญชาติไทย  ต่อมานายหว่องและนายประดับมีคดีขึ้นสู่ศาลไทยโดยประเด็นข้อพิพาทมีอยู่ว่านายหว่องมีความสามารถทำสัญญาที่ว่านี้หรือไม่  อยากทราบว่าศาลไทยควรวินิจฉัยอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  6  วรรคสอง  ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ  และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไป  อันได้รับมาคราวเดียวกัน  ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่บังคับ  ถ้าบุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอื่นนอกจากประเทศซึ่งตนมีสัญชาติสังกัดอยู่  ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาในเวลายื่นฟ้องบังคับ  ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ  ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ  ในกรณีใดๆที่มีการขัดกันในเรื่องสัญชาติของบุคคล  ถ้าสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดซึ่งขัดกันนั้นเป็นสัญชาติไทย  กฎหมายสัญชาติซึ่งจะใช้บังคับได้แก่  กฎหมายแห่งประเทศสยาม

มาตรา  10  วรรคแรกและวรรคสอง  ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

แต่ถ้าคนต่างด้าวทำนิติกรรมในประเทศสยาม  ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้นย่อมจะไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดสำหรับนิติกรรมนั้น  ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมนั้นได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม  ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  19  บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์

วินิจฉัย

ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร  เห็นว่า  ปัญหาข้อพิพาทที่ว่านายหว่องมีความสามารถทำสัญญาซื้อเครื่องปั้นโถลายครามจากนายประดับคนสัญชาติไทยได้หรือไม่นั้น  ถือเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล  ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  10  วรรคแรก

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายหว่องมีทั้งสัญชาติสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งได้รับมาในขณะเดียวกัน(ได้รับมาพร้อมกัน)  กรณีเช่นนี้ กฎหมายสัญชาติที่ใช้บังคับ  คือ  กฎหมายสัญชาติของประเทศที่นายหว่องมีภูมิลำเนาอยู่  อันได้แก่  กฎหมายมาเลเซียตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  6  วรรคสอง  ซึ่งเมื่อพิจารณาตามกฎหมายมาเลเซียแล้ว  นายหว่องย่อมไม่มีความสามารถทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้  เนื่องจากตามกฎหมายมาเลเซียกำหนดว่า  บุคคลจะบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทำนิติกรรมใดๆ  ได้เมื่อมีอายุครบ  21  ปีบริบูรณ์  เมื่อในขณะทำนิติกรรมนายหว่องมีอายุเพียง  20  ปี  จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดี  แม้นายหว่องจะไร้ความสามารถในการทำนิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายสัญชาติ  แต่อาจถือได้ว่านายหว่องคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้  หากเข้าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังนี้คือ

1       คนต่างด้าวนั้นได้ทำนิติกรรมขึ้นในประเทศไทย  ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

2      ตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้น  ถือว่าบุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดในการทำนิติกรรมตาม  ข้อ  1

3      แต่ตามกฎหมายไทยถือว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมตามข้อ  1)  ได้

ฉะนั้นแล้ว  การที่นายหว่องได้ทำนิติกรรมในประเทศไทย  ซึ่งนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก  และตามกฎหมายสัญชาติของนายหว่อง  (มาเลเซีย)  ก็ถือว่านายหว่องไร้ความสามารถหรือมมีความสามารถอันจำกัด  แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายไทยแล้ว  นายหว่องมีความสามารถทำนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวได้  เพราะถือว่านายหว่องบรรลุนิติภาวะแล้วตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  19  ดังนั้นศาลไทยจึงควรวินิจฉัยว่านายหว่องมีความสามารถทำสัญญาฉบับที่ว่านี้ได้ตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  10  วรรคสอง

สรุป  ศาลไทยควรวินิจฉัยว่านายหว่องมีความสามารถทำสัญญาซื้อเครื่องปั้นโถลายครามดังกล่าวได้

 

ข้อ  3  บริษัทจดทะเบียนประเทศออสเตรเลียแห่งหนึ่งเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย  โดยมีนายจอห์นคนสัญชาติออสเตรเลียเป็นผู้จัดการ  ต่อมานายจอห์นได้ทำการบิดเบือนบัญชีของบริษัทสาขาในประเทศไทยและนำรายได้บางส่วนของบริษัทโอนเข้าบัญชีของตนเองที่ธนาคารในฮ่องกง  ดังนี้การกระทำของนายจอห์นถือเป็นความผิดตามกำหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

วินิจฉัย

การที่นายจอห์นซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาได้ทำการบิดเบือนบัญชีของบริษัทสาขาในประเทศไทยและนำรายได้บางส่วนของบริษัทฯ  โอนเข้าบัญชีของตนที่ธนาคารในฮ่องกง  การกระทำของนายจอห์นดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศที่เรียกว่า  “White  Collar Crimes”  ซึ่งหมายถึงการกระทำความผิดโดยบุคคลที่แต่งตัวสะอาดโก้หรู  มีตำแหน่งหน้าที่การงานและใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานของตนมาเป็นประโยชน์ในการประกอบความผิด

ซึ่งลักษณะของการกระทำผิดประเภทนี้  มักเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น  การทุจริต  การยักยอกหรือฉ้อโกง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุรกิจและการค้าต่างๆ  รวมตลอดการขโมย  หรือบิดเบือนบัญชีบริษัทหรือปลอมแปลงสัญญาหรือตั๋วเงิน  ไม่ว่าจะเป็นตั๋วแลกเงิน  ตั๋วสัญญาใช้เงิน  หรือเช็ค  เป็นต้น  ตัวอย่างเช่นพวกพ่อค้าหรือนักธุรกิจที่โกงหรือหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐ  สมุห์บัญชีฉ้อโกงบริษัทที่ประกอบการธุรกิจหรือการค้าต่างๆ  การกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าควบคุมในตลาดมืด  เป็นต้น

สรุป  กากระทำของนายจอห์นถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศที่เรียกว่า  “White  Collar  Crimes” 

 

ข้อ  4  อย่างไรที่ประเทศฝรั่งเศสถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง  อธิบาย

ธงคำตอบ

อธิบาย

การพิจารณาคดีการเมืองของประเทศฝรั่งเศสนั้น  ถือหลักว่าด้วยการกระทำที่กระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ  ซึ่งมีหลักสำคัญอยู่ว่ากฎหมายฝรั่งเศสไม่คำนึงถึงมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดแต่ถือสาระสำคัญทางการกระทำ  ซึ่งถ้าเป็นการกระทำที่กระทบต่อธรรมนูญการปกครองและรัฐบาล  โดยมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างการปกครองของประเทศในหลักอันประกอบไปด้วยอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจตุลาการและอำนาจบริหาร  รวมทั้งรัฐบาลด้วยแล้ว  ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดทางการเมือง  ซึ่งห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดน 

Advertisement