การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายวิชัยเกิดที่จังหวัดลพบุรีเมื่อปี  พ.ศ.2516  จากนางวันดีผู้มีสัญชาติไทย  ส่วนบิดาเป็นทหารช่างประเทศแคนาดาผู้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพียงชั่วคราว  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่านายวิชัยได้สัญชาติไทยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย

พ.ร.บ. สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

มาตรา  10  บทบัญญัติมาตรา  7(1)  แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ  พ.ศ. 2508  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้  ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย

ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337

ข้อ  1  ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย  โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว  แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว

ข้อ  2  บุคคลตามข้อ  1  ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว  ไม่ได้สัญชาติไทย  เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

นายวิชัยได้สัญชาติไทยหรือไม่  เห็นว่า  นายวิชัยเกิดที่จังหวัดลพบุรี  เมื่อปี  พ.ศ. 2516  กรณีจึงถือได้ว่านายวิชัยเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยภายหลังวันที่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่  337  มีผลใช้บังคับ  (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่  14  ธันวาคม  พ.ศ. 2515)  มีผลทำให้นายวิชัยไม่ได้รับสัญชาติไทยตามพ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)  แม้จะเกิดในราชอาณาจักรไทยก็ตาม  ทั้งนี้เพราะนายวิชัยเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าว  และในขณะที่เกิดบิดาเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  2  และข้อ  1(2)

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อ  พ.ร.บ. สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มีผลใช้บังคับ  (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2535)  และได้บัญญัติให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ย่อมมีผลทำให้นายวิชัยกลับมาได้สัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7(1)  ที่กำหนดให้บุคคลผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร  ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด  ทั้งนี้โดยผลของมาตรา  10  ของ  พ.ร.บ.  ดังกล่าวที่ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา  7(1)  มาใช้บังคับย้อนหลังกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2535  อันเป็นวันที่  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  ใช้บังคับด้วย  ดังนั้น  นายวิชัยจึงได้รับสัญชาติไทยโดยมีผลย้อนหลังนับแต่เกิด  เพราะมารดาคือ  นางวันดีเป็นผู้มีสัญชาติไทย

สรุป  นายวิชัยได้รับสัญชาติไทย  เพราะมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7(1) ประกอบมาตรา  10  โดยมีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่นายวิชัยเกิด

 

ข้อ  2  นายกิมคนสัญชาติเกาหลีมีถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายในประเทศฟิลิปปินส์  ได้สละสัญชาติเกาหลี  และได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ  ต่อมานายกิมถูกถอนสัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ.2508  โดยในขณะเดียวกันนั้นเองเกิดคดีขึ้นสู่ศาลไทย  และประเด็นข้อพิพาทมีว่านายกิมมีความสามารถทำนิติกรรมซื้อเครื่องเชื่อมโลหะจำนวน  10  เครื่องจากนายโชคชัยที่กรุงเทพฯ  หรือไม่  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่าศาลไทยควรนำกฎหมายใดขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ว่านี้

ธงคำตอบ

มาตรา  6  วรรคสาม  สำหรับบุคคลผู้ไร้สัญชาติ  ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ  ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ  ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ

มาตรา  10  วรรคแรก  ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป้นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลไทยควรนำกฎหมายใดขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัย  เห็นว่า  ประเด็นข้อพิพาทที่ว่า  นายกิมจะมีความสามารถทำนิติกรรมซื้อเครื่องเชื่อมโลหะจากนายโชคชัยที่กรุงเทพฯได้หรือไม่นั้น  ถือเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล  ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481  มาตรา  10  วรรคแรก

แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  นายกิมคนสัญชาติเกาหลีมีถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายในประเทศฟิลิปปินส์โดยได้สละสัญชาติเกาหลีและได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ  ซึ่งในขณะเกิดข้อพิพาทที่ว่านี้นายกิมได้ตกเป็นบุคคลไร้สัญชาติ  เพราะนายกิมได้ถูกถอนสัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  ดังนี้  การจะนำกฎหมายประเทศใดมาปรับแก่ข้อพิพาทดังกล่าว  จึงต้องบังคับตาม  พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  6  วรรคสาม  ซึ่งมีหลักคือ

1       ถ้าปรากฏภูมิลำเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ  ให้ใช้กฎหมาย ภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับหรือ

2       ถ้าไม่ปรากฏภูมิลำเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ  ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายกิมบุคคลไร้สัญชาติและไม่ปรากกว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด  กรณีเช่นนี้จึงต้องใช้กฎหมายประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นกฎหมายที่นายกิมมีถิ่นที่อยู่บังคับตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  6  วรรคสาม

ผลจึงเป็นว่า  ศาลไทยจึงควรนำกฎหมายประเทศฟิลิปปินส์ขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายกิมที่ว่านี้

สรุป  ศาลไทยควรนำกฎหมายประเทศฟิลิปปินส์ขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายกิม

 

ข้อ  3  จงอธิบายเจตนารมณ์ทางกฎหมายของ  Attentat  Clause  พร้อมทั้งผลของ  Attentat  Clause  ด้วย

ธงคำตอบ

อธิบาย

โดยเหตุที่มีความผิดบางประเภทซึ่งมีลักษณะทางการเมือง  แต่หลายประเทศกำหนดไว้ไม่ให้ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง  ข้อกำหนดหรือบทบัญญัติในเรื่องนี้เรียกว่า  Attentat  Clause  ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า  บทบัญญัติเกี่ยวกับการประทุษร้าย  ซึ่งประเทศเบลเยียมนำมาใช้เป็นประเทศแรก  โดยบัญญัติไว้ในกฎหมายภายในของตนเมื่อ  ค.ศ. 1865  หลังจากที่ศาลเบลเยียมปฏิเสธไม่ส่งตัวผู้กระทำความผิดฐานพยายามปลงพระชนม์พระเจ้านโปเลียนที่  3  ไปให้ฝรั่งเศสในคดี  Jacquin  ค.ศ. 1854

กล่าวคือ  ข้อกำหนดหรือบทบัญญัติ  Attentat  Clause  นี้  เป็นกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา  6  แห่งกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของเบลเยียม  ค.ศ. 1833  ซึ่งเป็นกฎหมายเดิม  โดยเพิ่มข้อความลงไปอีกวรรค  (clause)  หนึ่ง  ซึ่งมีข้อความดังนี้  การประทุษร้ายต่อบุคคลผู้เป็นประมุขของรัฐบาลต่างประเทศหรือบุคคลซึ่งอยู่ในเครือญาติหรือราชสกุลของประมุขนั้น  ไม่ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำผิดทางการเมือง  หรือเป็นการกระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับการเมือง  หากปรากฏว่าเป็นการประทุษร้ายที่เป้นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  หรือลอบฆาตกรรม  หรือเป็นการฆาตกรรมด้วยพยายามมาดหมายหรือด้วยการวางยาพิษ

สำหรับเจตนารมณ์ทางกฎหมายของ  Attentat  Clause  นี้มุ่งหมายที่จะไม่ให้ถือว่าความผิดฐานประทุษร้ายต่อชีวิตที่กระทำต่อประมุขของประเทศหรือบุคคลในครอบครัวประมุขของประเทศเป็นความผิดทางการเมือง

ส่วนผลของ  Attentat  Clause  นั้นทำให้ความหมายของคดีการเมืองแคบลง  กล่าวคือ  เมื่อมีฆาตกรรมเข้ามาในลักษณะนี้แล้วย่อมส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันได้     

 

ข้อ  4  (ก)  จงอธิบายหลักเกณฑ์  และสาระสำคัญของความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ

(ข)  เพราะเหตุใดจึงถือว่าการค้าทาส  และการค้าหญิงเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ธงคำตอบ

(ก)   อธิบาย

โดยผลแห่งการประชุมและการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศของนานาประเทศในการร่วมมือกันหาทางป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญาต่างๆ  ได้ก่อให้เกิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดอาญา  ที่เรียกว่า  ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมต่อมวลมนุษย์  (Jure  gentium)  หรือที่มักนิยมเรียกกันว่า  อาชญากรรมหรือความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ  (international  law  crimes)  ซึ่งมีหลักเกณฑ์และสาระสำคัญพอสรุปได้ว่า  ประเทศภาคีแห่งข้อตกลงระหว่างประเทศฯ  ทุกประเทศ ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดดังกล่าวนี้โดยใช้กฎหมายอาญาของประเทศนั้นได้  หากปรากฏตัวผู้กระทำความผิดในดินแดนหรือราชอาณาจักรของประเทศนั้น  โดยไม่คำนึงว่าประเทศนั้นจะเป็นประเทศเจ้าของท้องที่เกิดเหตุหรือประเทศผู้เสียหายหรือไม่ก็ตาม

(ข)  อธิบาย

เหตุที่การค้าทาส  (Slave  trade)  และการค้าหญิงเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้นเพราะการค้าทาสและการค้าหญิงเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภายในหรือกฎหมายระหว่างประเทศ  อีกทั้งยังเป็นการละเมิดหรือขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  ค.ศ. 1948  ข้อ  1  ที่ว่า  มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระ  และเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ”  และข้อ  5  ที่ว่า  บุคคลใดจะถูกบังคับให้เป็นทาสหรือตกอยู่ในภาวะเป็นทาสโดยจำยอมไม่ได้  ความเป็นทาสและการค้าทาส  เป็นการต้องห้ามทุกรูปแบบ

Advertisement