การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ปรานีหรือแอม  แซ่ผ่าน  เกิดที่จังหวัดสกลนคร  เมื่อปี  พ.ศ. 2492  เป็นบุตรนายยิว  นางเกียว  แซ่ผ่าน  ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยชอบฯ  ปรานีอยู่กินกับนายกู๋  แซ่โงว  ญวนอพยพโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  เกิดบุตรในประเทศไทยสามคน  คือ  เพ็ญแข  เมื่อปี  พ.ศ. 2509  เพ็ญจันทร์  เมื่อปี  พ.ศ. 2512  และเพ็ญพักตร์  เมื่อปี  พ.ศ. 2516  อยากทราบว่า  ปรานีและบุตรทั้งสามคนได้หรือเสียสัญชาติไทยอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย

พ.ร.บ. สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

มาตรา  10  บทบัญญัติมาตรา  7(1)  แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ  พ.ศ. 2508  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้  ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย

ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337

ข้อ  1  ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย  โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว  แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3)  ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ข้อ  2  บุคคลตามข้อ  1  ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว  ไม่ได้สัญชาติไทย  เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

ปราณีและบุตรทั้ง  3  คน  ได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่  เห็นว่า  ปราณีเกิดที่จังหวัดสกลนคร  เป็นบุตรของคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีถือว่าปราณีเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย  ย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม  พ.ร.บ. สัญชาติ  พ.ศ.  2508  มาตรา  7(3)

ต่อมาได้ความว่า  ปราณีอยู่กินกับนายกู๋  แซ่โงว  ญวนอพยพโดยไม่จดทะเบียนสมรสและเกิดบุตรในประเทศไทยจำนวน  3  คน  สำหรับบุตร  2  คนแรก  คือ  เพ็ญแขและเพ็ญจันทร์นั้น  เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ใช้บังคับ  (มีผลใช้บังคับวันที่  14  ธันวาคม  พ.ศ. 2515)  จึงได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด  ตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา 7(3)

อนึ่งเมื่อประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  มีผลใช้บังคับแล้ว

1       ปราณีไม่ถูกถอนสัญชาติไทย  เพราะแม้ได้ความว่าปราณีจะเกิดจากนายยินและนางเกียว  แซ่ผ่าน  สามีภรรยาสัญชาติญวณ  แต่ในขณะที่ปราณีเกิดนั้น  นายยินและนางเกียว  แซ่ผ่าน  ได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  จึงไม่ต้องด้วยประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  1(3)  แต่อย่างใด  ปราณีจึงยังคงมีสัญชาติไทย

2       เพ็ญแขและเพ็ญจันทร์ไม่ถูกถอนสัญชาติไทย  ตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  1(3)  เพราะปราณีมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  และนายกู๋บิดาก็มิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 2450/2526) 

3       เพ็ญพักตร์  แม้จะเกิดภายหลังวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ใช้บังคับแล้ว  ก็ย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด  ตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)  เช่นกัน  เพราะไม่เข้าข้อยกเว้น  ตามข้อ  2  และข้อ  1(3)  เนื่องจากปราณีมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย 

อย่างไรก็ตาม  เมื่อ  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มีผลใช้บังคับ  (มีผลใช้บังคับวันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2535)  บุตรทั้ง  3  คนกลับได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7(1)  ที่กำหนดให้บุคคลผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร  ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด  ทั้งนี้โดยผลของมาตรา  10  ของ  พ.ร.บ.  ดังกล่าวที่ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา  7(1)  มาใช้บังคับย้อนหลังกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2535  อันเป็นวันที่  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  ใช้บังคับด้วย  ดังนั้น  บุตรทั้ง  3  คนจึงได้รับสัญชาติไทยตามหลักสายโลหิตโดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด  เพราะมารดา  คือ  ปราณีเป็นผู้มีสัญชาติไทย

สรุป  ปราณีได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)  และบุตรทั้ง  3  คนได้สัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7(1)  โดยผลของมาตรา  10  ซึ่งมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด 

หมายเหตุ  กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้นนั้น  แม้  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  จะมีผลใช้บังคับ  ก็ไม่ทำให้ปรานีไม่ได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิดตามมาตรา  7  ทวิ  วรรคแรก  เนื่องจากแม้บิดาและมารดาของปรานีจะเป็นคนต่างด้าว  แต่ทั้งบิดาและมารดาของปรานีก็ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด

 

ข้อ  2  นายชัยชนะคนสัญชาติไทย  ส่งคำเสนอขายแหวนเพชรหนึ่งวงราคา  4  แสนบาท  ให้แก่นาบลีคนสัญชาติสิงคโปร์  โดยนายชัยชนะจะนำแหวนเพชรนั้นมามอบให้แก่นายลีที่สิงคโปร์  และนายลีจะต้องส่งเงิน  4  แสนบาทผ่านทางธนาคารสิงคโปร์มาเข้าบัญชีธนาคารของนายชัยชนะที่กรุงเทพฯ  นายลีก็ตอบรับคำเสนอโดยทำเป็นจดหมายมอบให้กับนายหม่องให้เดินทางมาส่งให้แก่นายชัยชนะด้วยตนเอง  ขณะที่นายหม่องมาถึงกรุงเทพฯ  ปรากฏว่านายชัยชนะกำลังโดยสารเรือเดินสมุทรจากกรุงเทพฯไปยังประเทศบรูไน  

นายหม่องจึงลงเรือเดินสมุทรอีกลำหนึ่งติดตามไปส่งจดหมายฉบับนั้นให้แก่นายชัยชนะได้ในขณะที่เรืออยู่กลางทะเลหลวง  ต่อมานายชัยชนะมอบแหวนเพชรนั้นให้แก่นายลีที่สิงคโปร์แล้ว  แต่นายลีไม่ยอมส่งเงิน  4  แสนบาทผ่านทางธนาคารสิงคโปร์มาเข้าบัญชีธนาคารของนายชัยชนะที่กรุงเทพฯ  นายชัยชนะจึงฟ้องต่อศาลไทยเพื่อบังคับให้นายลีชำระราคาค่าแหวนเพชรนั้นเป็นจำนวนเงิน  4  แสนบาทให้แก่ตน  ให้ท่านวินิจฉัยว่าในกรณีเช่นนี้ศาลไทยควรจะนำกฎหมายใดมาใช้บังคับ  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

  มาตรา  13  วรรคแรกและวรรคสอง  ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น  ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี  ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้  ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน  กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา  ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน  ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น

ถ้าสัญญานั้นได้ทำขึ้นระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง  ถิ่นที่ถือว่าสัญญานั้นได้เกิดเป็นสัญญาขึ้นคือ  ถิ่นที่คำกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ  ถ้าไม่อาจหยั่งทราบถิ่นที่ว่านั้นได้  ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่จะพึงปฏิบัติตามสัญญานั้น

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การจะพิจารณาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สาระสำคัญหรือผลของสัญญานั้น  กรณีเป็นไปตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  13  วรรคแรก  ซึ่งอาจแยกพิจารณาเป็นกรณีตามลำดับได้ดังนี้

1       กรณีที่คู่สัญญาแสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้ง  หรือโดยปริยายให้นำมาใช้บังคับ  ก็ให้นำกฎหมายของประเทศนั้นมาใช้บังคับ

2       กรณีที่ไม่อาจทราบเจตนาโดยชัดแจ้งหรือปริยายของคู่สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่สัญญา

(ก)  ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน  ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของคู่สัญญามาใช้บังคับ

(ข)  ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน  กรณีเช่นนี้ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น

ศาลไทยควรจะนำกฎหมายใดมาใช้บังคับ  เห็นว่า  การที่นายชัยชนะคนสัญชาติไทย  ส่งคำเสนอขายแหวนวงหนึ่งราคา  4  แสนบาท  ให้แก่นายลีคนสัญชาติสิงคโปร์  โดยนายลีและนายชัยชนะไม่ได้แสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้ง  หรือโดยปริยายว่าให้นำกฎหมายประเทศใดมาใช้บังคับแก่ผลของสัญญา  จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาโดยชัดแจ้งหรือปริยายของคู่สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่สัญญา  ทั้งกรณีนี้นายลีและนายชัยชนะก็ไม่ได้มีสัญชาติเดียวกัน  กฎหมายที่จะใช้บังคับจึงได้แก่กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น  เมื่อนายลีและนายชัยชนะคู่สัญญาอยู่คนละประเทศ  อันถือว่าสัญญานั้นได้ทำขึ้นระหว่างบุคคลซึ่งถืออยู่ห่างกันโดยระยะทางซึ่งตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  13  วรรคสอง  กำหนดให้ถือว่าสัญญานั้นเกิด  ณ  ถิ่นหรือประเทศที่คำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ  และหากเป็นกรณีที่ไม่อาจทราบถิ่นที่ว่านั้นได้  ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่จะพึงปฏิบัติตามสัญญานั้น

เมื่อพิจารณาแล้วได้ความว่า  สัญญาซื้อขายดังกล่าวนายลีตอบรับโดยทำเป็นจดหมายมอบให้แก่นายหม่องให้เดินทางมาส่งแก่นายชัยชนะด้วยตนเองและนายหม่องได้ติดตามไปส่งจดหมายฉบับนั้นให้แก่นายชัยชนะได้ในขณะที่เรืออยู่กลางทะเลหลวง  จึงถือเป็นกรณีที่ไม่อาจทราบถิ่นหรือประเทศที่คำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ  ดังนั้น  หากนายชัยชนะประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลไทย  เพื่อบังคับให้นายลีชำระราคาแหวนเพชรให้แก่ตน  ศาลไทยจึงควรนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับนายลีให้ชำระราคาค่าแหวนเพชรนั้น  ให้แก่นายชัยชนะเพราะกฎหมายไทยเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่จะพึงปฏิบัติตามสัญญาในเรื่องการชำระราคา

สรุป  ศาลไทยควรนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับนายลีให้ชำระราคาแหวนเพชรดังกล่าว  เพราะกฎหมายไทยเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่จะพึงปฏิบัติตามสัญญาในเรื่องการชำระราคา

 

ข้อ  3  บริษัทจดทะเบียนประเทศสหรัฐอเมริกาแห่งหนึ่งเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย  โดยมีนายเชสคนสัญชาติอเมริกันเป็นผู้จัดการสาขา  ต่อมานายเชสได้ทำการแก้ไขบัญชีของบริษัทสาขาในประเทศไทย  และนำรายได้บางส่วนของบริษัทฯ  โอนเข้าบัญชีของตนเองที่ธนาคารในประเทศแคนาดา  ดังนี้  การกระทำของนายเชสถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

วินิจฉัย

การที่นายเชส  ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาได้ทำการแก้ไขบัญชีของบริษัทสาขาในประเทศไทย  และนำรายได้บางส่วนของบริษัทฯโอนเข้าบัญชีของตนที่ธนาคารในประเทศแคนาดา  การกระทำของนายเชสดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศที่เรียกว่า  “White Collar  Crimes”  ซึ่งหมายถึงการกระทำความผิดโดยบุคคลที่แต่งตัวสะอาดโก้หรู  มีตำแหน่งหน้าที่การงานและใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานของตนมาเป็นประโยชน์ในการประกอบความผิด

ซึ่งลักษณะของการกระทำผิดประเภทนี้  มักเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น  การทุจริต  การยักยอกหรือฉ้อโกง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุรกิจและการค้าต่างๆ  รวมตลอดการขโมย  หรือบิดเบือนบัญชีบริษัทหรือปลอมแปลงสัญญาหรือตั๋วเงิน  ไม่ว่าจะเป็นตั๋วแลกเงิน  ตั๋วสัญญาใช้เงิน  หรือเช็ค  เป็นต้น  ตัวอย่างเช่นพวกพ่อค้าหรือนักธุรกิจที่โกงหรือหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐ  สมุห์บัญชีฉ้อโกงบริษัทที่ประกอบการธุรกิจหรือการค้าต่างๆ  การกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าควบคุมในตลาดมืด  เป็นต้น

สรุป  กากระทำของนายเชส  ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศที่เรียกว่า  “White  Collar  Crimes” 

 

ข้อ  4  การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่ดินรัชดา  ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยตกเป็นจำเลยนั้น  ในขณะที่ตัวจำเลยพำนักอยู่  ณ  ประเทศอังกฤษตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ  จำเลยจะยกข้อต่อสู้เพื่อมิให้ส่งตัวข้ามแดนได้ในกรณีใดบ้าง  บอกมาสัก  5  ข้อ

ธงคำตอบ

อธิบาย

หลักเกณฑ์ทั่วไปของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

1       บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวเป็นผู้กระทำผิดทางอาญา  หรือถูกลงโทษในทางอาญาในเขตของประเทศที่ร้องขอ  หรือเป็นคดีอาญาที่มีมูลที่จะนำตัวผู้ต้องหาขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้

2       ต้องไม่ใช่คดีที่ขาดอายุความ  หรือคดีที่ศาลของประเทศใด  ได้พิจารณาและพิพากษาให้ปล่อยหรือได้รับโทษในความผิดที่ร้องขอให้ส่งข้ามแดนได้

3       บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวจะเป็นคนสัญชาติใดก็ได้  อาจจะเป็นพลเมืองของประเทศที่ร้องขอหรือประเทศที่ถูกขอหรือประเทศที่สามก็ได้

4       ความผิดซึ่งบุคคลผู้ถูกขอให้ส่งตัวได้กระทำไปนั้น  ต้องเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาของทั้งสองประเทศ  คือประเทศที่มีคำขอและประเทศที่ถูกขอให้ส่งตัว

5       ต้องเป็นความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า  1  ปี

6       บุคคลที่ถูกขอตัวได้ปรากฏตัวอยู่ในประเทศที่ร้องขอให้ส่งตัว

7       ประเทศเจ้าของที่เกิดเหตุ  เป็นผู้ดำเนินการร้องขอให้ส่งตัวโดยปฏิบัติตามพิธีการต่างๆครบถ้วนดังที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา  หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

8       ผู้ที่ถูกส่งตัวไปนั้น  จะต้องถูกฟ้องเฉพาะในความผิดที่ระบุมาในคำขอให้ส่งตัวเท่านั้น  หรืออย่างน้อยที่สุด  จะต้องเป็นความผิดที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาระหว่างกัน

9       ต้องไม่ใช่ความผิดบางประเภทที่ไม่นิยมส่งผู้ร้ายข้ามแดน  เช่น  คดีการเมือง  เพราะมีหลักห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีการเมือง

จากหลักทั่วไปทั้ง  9  ข้อดังกล่าวข้างต้นจำเลยอาจยกต่อสู้เพื่อไม่ให้ถูกส่งข้ามแดนได้  เช่น

1       จำเลยไม่ใช่ตัวบุคคลที่ถูกขอให้ส่งข้ามแดน

2       กากระทำของจำเลยไม่ใช่ความผิดอาญาของทั้งสองประเทศ

3       คดีไม่มีมูลที่จะนำตัวผู้ต้องหาขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้

4       เป็นความผิดทางการเมือง

5       การขอให้ส่งตัวข้ามแดนไปนั้นประสงค์จะเอาตัวไปลงโทษทางการเมือง

Advertisement