การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1      นายสมคิดเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท  และนายอำนาจเป็นลูกจ้างรายวัน ได้รับค่าจ้างวันละ 320 บาท  บริษัททำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตั้งแต่เวลา 8.00 น. ถึง 12.00 น. และ 13.00 ถึง 17.00 น.  ในวันพฤหัสบดี  นายจ้างได้ตกลงกับลูกจ้างให้เลิกทำงานเวลา 16.00 น. และให้การทำงานในวันศุกร์เลิกทำงานเวลา 18.00 น.  แต่ปรากฏว่าในวันศุกร์มีงานมาก นายจ้างจึงให้นายสมคิดและนายอำนาจทำงานไปจนถึงเวลา 22.00 น.      จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จงอธิบายว่า นายสมคิด และนายอำนาจจะมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอย่างไร เป็นจำนวนเงินเท่าใด เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

ในวันพฤหัสบดี นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันให้เลิกทำงานเวลา 16.00 น. และให้ทำงานในวันศุกร์ โดยเลิกงานเวลา 18.00 น. นั้น สามารถทำได้ตามมาตรา 23 วรรคแรก และมาตรา 23 วรรคสอง กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่เกินสำหรับลูกจ้างรายวัน นายอำนาจจึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนคือ 40

บาท คิดหนึ่งเท่าครึ่ง (40 บาทคูณ 3 หาร 2) เป็นจำนวนเงิน 60 บาท สำหรับการทำงานในวันศุกร์ระหว่างเวลา 17.00 น. ถึง 18.00 น. สำหรับนายสมคิดไม่มีสิทธิได้รับ (ดูมาตรา 23 วรรคสอง)สำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึง 22.00 น. (จำนวน 4 ชั่วโมง) จะได้รับค่าล่วงเวลาในวันทำงานตามมาตรา 61 ในอัตราหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ดังนั้น นายอำนาจจะได้รับ 240 บาท (60 บาทคูณ 4 ชั่วโมง) และนายสมคิดจะได้รับ 300 บาท (50 บาท หนึ่งเท่าครึ่งคือ 75 บาท คูณ 4 ชั่วโมง)

 

ข้อ 2        ประธานกรรมการบริษัท วิมานทิพย์ จำกัด ต้องการหารือท่านในฐานะทนายความประจำบริษัทฯ    ในกรณีการกระทำของลูกจ้างว่าบริษัทฯ จะเลิกจ้างลูกจ้าง โดยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างหรือไม่ อย่างไร
(ก)           นายกระทิง เป็นพนักงานขับรถ บางครั้งผู้จัดการให้มาทำงานที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร  แต่บางครั้งให้ไปปฏิบัติงานตามที่ผู้จัดการสั่งในจังหวัดใกล้เคียง  ต่อมาบริษัทฯ มีงานก่อสร้างที่จังหวัดนนทบุรี  ผู้จัดการจึงสั่งให้นายกระทิงไปทำงานที่นนทบุรีตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา  นายกระทิงทราบคำสั่งก็ไม่ยอมไปที่จังหวัดนนทบุรี แต่ไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ นับแต่มีคำสั่งเกิน 3 วันทุกวัน      จึงถูกบริษัทฯ เลิกจ้าง

(ข)           นางสาวอ้อย เป็นพนักงานบัญชีของบริษัทฯ  มาสายถูกตักเตือนด้วยวาจา ยังมาสายอีก  และถูกตักเตือนด้วยวาจาอีก  ต่อมาก็ยังมาสายอีก  จึงถูกตักเตือนเป็นหนังสือและถูกตัดค่าจ้าง 200 บาท  นางสาวอ้อยมาสายอีก  ถูกตักเตือนด้วยวาจา  นางสาวอ้อยได้กล่าวว่าร้ายผู้จัดการฝ่ายบุคคล จึงถูกตักเตือนเป็นหนังสือ ต่อมา นางสาวอ้อยนำโทรศัพท์ส่วนกลางของบริษัทฯ ไปใช้โทรหาแฟน จึงถูกบริษัทฯ เลิกจ้าง

แนวคำตอบ

(ก)  ฎีกาที่ 39/2545 ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ บางครั้งทำงานที่สำนักงานใหญ่กรุงเทพฯ บางครั้งต้องไปปฏิบัติงานโครงการก่อสร้างตามคำสั่งนายจ้างในจังหวัดใกล้เคียง นายจ้างมีคำสั่งให้ไปทำงานที่ จ.นนทบุรี โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ลูกจ้างไม่ไป โดยไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ นับแต่มีคำสั่งจนเกิน 3 วัน การกระทำของลูกจ้างเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร กรณีนี้เป็นเหตุให้เลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(5)

(ข)  ฎีกาที่ 1461/2548 ลูกจ้างมาสายถูกตักเตือนด้วยวาจา ลูกจ้างมาสายอีก ถูกตักเตือนด้วยวาจา อีกต่อมา ลูกจ้างมาสายอีก ถูกตักเตือนเป็นหนังสือและตัดค่าจ้าง 200 บาท ลูกจ้างมาสายอีกครั้ง ถูกตักเตือนด้วยวาจา ลูกจ้างก้าวร้าวผู้บังคับบัญชา ถูกตักเตือนเป็นหนังสือ ต่อมานำโทรศัพท์ส่วนกลางไปใช้ส่วนตัว การกระทำผิดในเรื่องก้าวร้าวและเรื่องใช้โทรศัพท์มิใช่การกระทำผิดซ้ำคำเตือน นายจ้างไม่สามารถนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4)

 

ข้อ 3        ลูกจ้างของบริษัท  S.C. ผลิตเหล็กกล้า จำกัด  ต้องการยื่นข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง  จึงให้สหภาพแรงงานผู้ประกอบการผลิตเหล็กกล้าเป็นผู้แจงข้อเรียกร้องให้ขั้นตอนอยู่ในระหว่างการาเจรจานายจ้างเกิดความสงสัยว่าลูกจ้างของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้นเป็นสมาชิกสหภาพฯ ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่  นายจ้างจึงทำหนังสือยื่นคำร้องให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตรวจรับรองให้  ระหว่างนี้นายจ้างได้ทำการโยกย้ายนายสมเกียรติลูกจ้างซึ่งนายจ้างทราบว่าเป็นกรรมการสหภาพแรงงานดังกล่าวไปประจำอยู่ที่จังหวัดเชียงรายอันเป็นสาขาหนึ่งของนายจ้าง  ดังนี้ หากพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตอบกลับนายจ้างว่าจำนวนลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่ครบจำนวนตามกฎหมาย ผลจะเป็นอย่างไร และการโยกย้ายหน้าที่การงาน นายสมเกียรตินั้นถือว่านายจ้างกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่

แนวคำตอบ  หลักกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13, 15, 31

จากข้อเท็จจริง การเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างสามารถทำได้ตามมาตรา 13 โดยให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องทำเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบและได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง โดยสหภาพแรงงานตามมาตรา 15 วรรคแรก กฎหมายกำหนดให้มีจำนวนสมาชิกที่เป็นลูกจ้างมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด หากนายจ้างสงสัยสามารถยื่นคำร้องให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตรวจรับรองให้ได้ ตามมาตรา 15 วรรคสาม ในระหว่างที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้องตามมาตรา 13-29 ห้ามนายจ้างโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้างตามมาตรา 31 วรรคแรก แต่ตามข้อเท็จจริงระหว่างมีการเจรจาและตรวจรับรองจากเจ้าพนักงานนายจ้างสั่งโยกย้ายนายสมเกียรติไปทำงานที่ จ.เชียงราย ซึ่งจากผลการตรวจสอบของ จพง. พบว่า จำนวนลูกจ้างไม่ครบตามกฎหมายมาตรา 15 วรรคแรก ทำให้การยื่นข้อเรียกร้องของลูกจ้างไม่สมบูรณ์ การสั่งโยกย้ายนายสมเกียรติจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายมาตรา 31

 

ข้อ 4   บริษัท สยามพัฒนาการโยธา จำกัด เป็นบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างทางและถนนของทางราชการ มีนายต้นเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ  ตำแหน่งวิศวกรโยธา ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ 20,000 บาท  บริษัทฯ ได้สั่งให้นายต้นเข้าไปทำงานบริเวณที่มีการก่อสร้างถนนซึ่งต้องตัดผ่านภูเขาที่ลาดชันและมีร่องเหว  ขณะทำงานเกิดพายุรุนแรง  เมื่อภายหลังจากที่พายุสงบแล้วพบว่า นายต้นสูญหายไปไม่พบตัว  ดังนี้ ภรรยาของนายต้นจะเรียกร้องอะไรได้บ้าง

แนวคำตอบ  หลักกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2534 มาตรา 5, 16, 18(4), 18 วรรคสี่

นายต้นสูญหายไประหว่างการทำงานให้กับนายจ้าง เมื่อเกิดพายุทำให้นายต้นสูญหายไปถือว่าเป็นการสูญหายซึ่งต้องรอระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วันนับแต่วันที่เกิดเหตุตามมาตรา 5 ดังนั้น ภริยานายต้นจึงต้องรอจนถึง 120 วันก่อน และจะมีสิทธิได้รับค่าทำศพตามมาตรา 16 เป็นจำนวน 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุด (203 บาท) คือ 20,300 บาท และมีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 18(4) คือ ร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนมีกำหนด 8 ปี คือ 20,000 x 60 ÷ 100 = 12,000 บาท ต่อเดือนมีกำหนด 8 ปี แต่ตามมาตรา 18 วรรคสี่กำหนดให้การจ่ายค่าทดแทนต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุดและไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการประกาศกำหนด (เท่ากับต่ำสุด 2,000 สูงสุด 9,000 บาท) ดังนั้น ภริยานายต้นจึงได้ค่าทดแทนจำนวน 9,000 บาทต่อเดือนมีกำหนด 8 ปี

Advertisement