การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552

 ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

Advertisement

ข้อ 1. จงอธิบายให้ชัดเจนดังทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายภายในว่าประกอบไปด้วยทฤษฎีใดบ้าง และประเทศไทยยึดถือปฏิบัติแนวทางทฤษฎีใดเกี่ยวกับเรื่องนี้

ธงคำตอบ

ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายภายในประกอบไปด้วยทฤษฎี 2 ทฤษฎี คือ

1.         ทฤษฎีทวินิยม (Dualism) ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายภายในกับกฎหมายระหว่างประเทศ มีลักษณะที่แตกต่างกัน ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เป็นกฎหมายคนละระบบแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด แตกต่างกันทั้งที่มา การบังคับใช้ และความผูกพัน ในการนี้ถ้ากฎหมายภายในขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ยังถือว่ากฎหมายภายในสมบูรณ์อยู่ใช้บังคับได้ภายในรัฐ แต่ถ้าการบังคับใช้กฎหมายภายในดังกล่าวก่อให้เกิด ความเสียหายต่อรัฐอื่น รัฐนั้นในฐานะเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นด้วย นอกจากนี้รัฐที่นิยมในทฤษฎีดังกล่าว เมื่อเข้าผูกพันในกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ในกรณีที่จะนำ กฎหมายระหว่างประเทศมาใช้บังคับภายในประเทศ จะนำมาใช้บังคับเลยไม่ได้ จะต้องนำกฎหมายนั้นมาแปลง ให้เป็นกฎหมายภายในเสียก่อน เช่น ออกประกาศ หรือ พ.ร.บ. รองรับ เป็นต้น

2.         ทฤษฎีเอกนิยม (Monism) อธิบายว่า กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายใน ไม่แตกต่างกัน มีความสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพราะกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศต่างมีเจตนารมณ์ เดียวกัน คือ เพื่อก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไมว่าจะเป็นสังคมภายในหรือระหว่างประเทศ แต่ก็เห็นว่า กฎหมายระหว่างประเทศมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่า ดังนั้นรัฐที่นิยมทฤษฎีนี้จึงไม่ต้องทำการแปลงรูปกฎหมาย ระหว่างประเทศ เพราะกฎหมายระหว่างประเทศจะเข้ามามีผลเป็นกฎหมายกายในโดยอัตโนมัติ เพราะกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าจะขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าไม่ได้

สำหรับประเทศไทยยึดถือปฏิบัติตามแนวทาง ทฤษฎีทวินิยม หรือ Dualism” ซึ่งเห็นว่า กฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศมีฐานะเทาเทียมกัน และเป็นอิสระจากกันและกัน ดังนั้นจึงไม่อาจที่ จะนำกฎหมายระหว่างประเทศมาบังคับใช้ภายในประเทศได้โดยอัตโนมัติ แต่ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนหรือแปลง รูปกฎหมายนั้นให้เป็นกฎหมายภายในเสียก่อนจึงจะสามารถนำมาบังคับใช้ได้

 

ข้อ 2. จงอธิบายว่า ข้อสงวนของสนธิสัญญา (Reservation) หมายถึงอะไร และข้อสงวนนี้สามารถดำเนินการได้เสมอไปหรือไม่

ธงคำตอบ

ข้อสงวนของสนธิสัญญา (Reservation) หมายถึง ข้อความซึ่งรัฐคู่สัญญาได้ประกาศออกมาว่า ตนไม่ผูกพันในข้อความหนึ่งข้อความใดในสนธิสัญญา หรือตนเข้าใจความหมายของข้อกำหนดอย่างไร หรือตน รับจะปฏิบัติแต่เพียงบางส่วน

อนุสัญญากรุงเวียนนาฯ ค.ศ. 1969 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า การตั้งข้อสงวน ได้แก่ คำแถลง ฝ่ายเดียวของรัฐภาคีรัฐหนึ่งรัฐใดของสนธิสัญญาที่ได้ทำขึ้นขณะที่ลงนาม ให้สัตยาบัน ยอมรับ อนุมัติ หรือ ทำภาคยานุวัติสนธิสัญญา โดยคำแถลงนี้แสดงว่าต้องการระงับหรือเปลี่ยนแปลงผลทางกฎหมายของบทบัญญัติ บางอย่างของสนธิสัญญาในส่วนที่ใช้กับรัฐนั้น

เห็นได้ว่า การตั้งข้อสงวนคือวิธีการที่รัฐภาคีแห่งสนธิสัญญาต้องการหลีกเลี่ยงพันธกรณีตาม สนธิสัญญาในเรื่องหนึ่งเรื่องใดหรือในหลายเรื่อง เป็นวิธีการจำกัดความผูกพันตามสนธิสัญญาของรัฐ เช่น แจ้งว่า ตนจะไม่รับพันธะที่จะปฏิบัติทั้งหมด หรือรับที่จะปฏิบัติบางส่วน หรือว่าตนเข้าใจความหมายของข้อกำหนดนั้น ว่าอย่างไร

การตั้งข้อสงวนในสนธิสัญญานั้น จะกระทำได้ เฉพาะในสนธิสัญญาประเภทพหุภาคีเท่านั้นสำหรับสนธิสัญญาประเภททวิภาคีนั้นไม่สามารถกระทำได้ เพราะการตั้งข้อสงวนในสนธิสัญญาประเภททวีภาคีนั้น เท่ากับเป็นการปฏิเสธการให้สัตยาบันและยื่นข้อเสนอใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อเมื่อคูสัญญายอมรับ ถ้าอีกฝ่ายไม่ยอมรับ ข้อเสนอสนธิสัญญาย่อมตกไป ดังนั้นสนธิสัญญาประเภททวิภาคีจึงไม่อาจมีข้อสงวนได้

สำหรับการตั้งข้อสงวนของสนธิสัญญานั้น รัฐคูสัญญาไม่สามารถดำเนินการได้เสมอไป เพราะ อนุสัญญากรุงเวียนนาฯ ค.ศ. 1969 มาตรา 19 ระบุว่า รัฐคู่สัญญาย่อมตั้งข้อสงวนได้ เว้นแต่

1.         สนธิสัญญามีข้อกำหนดห้ามการตั้งข้อสงวนไว้ชัดแจ้ง

2.         สนธิสัญญากำหนดกรณีที่อาจตั้งข้อสงวนได้ นอกเหนือจากกรณีที่กำหนดแล้ว รัฐไม่ อาจตั้งข้อสงวนได้

3.         ข้อสงวนนั้นขัดต่อวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของสนธิสัญญา

การตั้งข้อสงวนหรือการรับข้อสงวนหรือการคัดค้านการตั้งข้อสงวน ต้องทำเป็นหนังสือและแจ้งไปให้รัฐคู่สัญญาทราบ และการตั้งข้อสงวนนั้น รัฐที่ตั้งข้อสงวนอาจจะขอถอนคืนข้อสงวนของตนได้ เว้นแต่ สนธิสัญญาดังกล่าวได้ระบุห้ามการถอนคืนข้อสงวนไว้

 

ข้อ 3. สภาพบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 15 กำหนดให้เริ่มตั้งแต่เมื่อคลอด แล้วอยู่รอดเป็นทารก ให้นักศึกษาอธิบายไห้ชัดเจนว่า สภาพบุคคลของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ จะเริ่มเกิดขึ้นได้อย่างไร และสภาพบุคคลของรัฐจะเป็นที่รับรู้ได้อย่างไรในสังคมระหว่างประเทศ และหากนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาวิเคราะห์ถึงสถานะของไต้หวัน นักศึกษาเห็นว่ามีสถานะเป็นรัฐ ตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ และจะเป็นที่รับรู้ หรือยอมรับอย่างไรในสังคมระหว่างประเทศ

ธงคำตอบ

สภาพบุคคลของรัฐ หรือรัฐในฐานะที่เป็นบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศ จะเริ่มเกิดขึ้น ได้เมื่อมีเงื่อนไขหรือองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการดังต่อไปนี้ คือ

1.         ดินแดน กล่าวคือ รัฐต้องมีดินแดนให้ประชาชนได้อยูอาศัย ซึ่งดินแดนของรัฐนั้น รวมทั้งพื้นดิน ผืนน้ำ และท้องฟ้าเหนือดินแดนด้วย ดินแดนไม่จ่าเป็นต้องเป็นผืนเดียวติดต่อกัน อาจจะเป็น ดินแดนโพนทะเลก็ได้ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศก็ไมได้กำหนดขนาดของดินแดนไว้ ฉะนั้นรัฐจะมีดินแดน มากน้อยเพียงใดไม่ใช่ข้อสำคัญ แต่ต้องมีความแน่นอนมั่นคงถาวร และกำหนดเขตแดนไว้แน่นอนชัดเจน

2.         ประชากร กล่าวคือ มีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนที่มีความแน่นอน ซึ่งกฎหมาย ระหว่างประเทศก็ไมได้กำหนดว่าจะต้องมีจำนวนประชากรมากน้อยเท่าไร เพียงแต่ต้องมีจำนวนมากพอสมควรที่ จะสามารถดำรงความเป็นรัฐได้ ซึ่งประชากรที่อาศัยอยู่ในดินแดนของรัฐนี้ไม่จำเป็นต้องมีชนชาติเดียวกัน อาจมี เชื้อชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน แต่มีความผูกพันทางนิตินัยกับรัฐ คือ มีสัญชาติเดียวกัน

3.         รัฐบาล กล่าวคือ มีคณะบุคคลที่ใช้อำนาจเหนือดินแดนและประชากรมาทำการ บริหารงานทั้งภายในและภายนอกรัฐ จัดบริการสาธารณะให้แกประชาชน จัดระเบียบการปกครองภายใน รักษา ความสงบเรียบร้อยในดินแดนของตน ดำเนินการป้องกันประเทศ ส่งเสริมความเจริญของประเทศ และรักษาสิทธิ ผลประโยชน์ของประชาชน

4.         อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ รัฐสามารถที่จะดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระทั้งภายในและภายนอกรัฐ อำนาจอิสระภายใน หมายถึง อำนาจของรัฐในการจัดกิจการภายในประเทศได้อย่างอิสระเสรีแต่เพียงผู้เดียว โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก ส่วนอำนาจอิสระภายนอก หมายถึง อำนาจของรัฐในการติดต่อ สัมพันธ์กับรัฐอื่นได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องฟังคำสั่งจากรัฐอื่น และได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคกับรัฐอื่น

เมื่อเป็นรัฐและมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว การมีสภาพบุคคลของรัฐจะ เป็นที่รับรู้ได้ในสังคมระหว่างประเทศ ก็ต่อเมื่อได้รับการรับรองสภาพความเป็นรัฐจากรัฐอื่น ๆ โดยเฉพาะจาก รัฐที่ตนจะเข้าไปทำการติดต่อสัมพันธ์ด้วย

สำหรับการรับรองรัฐนั้น แปงออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.         การรับรองโดยพฤตินัย เป็นลักษณะการรับรองชั่วคราว โดยไม่ได้ไปดำเนินการอย่าง เป็นทางการหรือกระทำอย่างชัดแจ้ง เช่น การทำข้อตกลงชั่วคราวหรือมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างไม่เป็นทางการ จากนั้นจึงให้การรับรองโดยนิตินัยต่อไป

2.         การรับรองโดยนิตินัย  เป็นการรับรองรัฐอยางถาวรซึ่งรัฐแสดงออกมาอย่างชัดแจ้งที่ จะเข้าไปดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐใหม่อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ การรับรองรัฐไม่มีแบบพิธีเป็นพิเศษ อาจจะกระทำได้โดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้ สำหรับสถานะของ ไต้หวัน” นั้น ถือว่ามีสถานะเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะ มีเงื่อนไขหรือองค์ประกอบที่สำคัญครบทั้ง 4 ประการดังกล่าวข้างต้น คือมีดินแดนและมีประชากรที่อยู่อาศัยในดินแดนที่แน่นอน มีรัฐบาลที่ใช้อำนาจเหนือดินแดนและประชากรทำการบริหารงานทั้งภายในและภายนอกรัฐ และ ที่สำคัญคือการมีอำนาจอธิปไตย ในอันที่จะดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระทั้งภายในและภายนอกรัฐ อาทิเช่น มีอำนาจในการจัดกิจการภายในประเทศได้อย่างอิสระโดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก และมีอำนาจใน การติดต่อสัมพันธ์กับรัฐอื่นได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องฟังคำสั่งจากรัฐอื่น เป็นต้น

และเช่นเดียวกันเมื่อถือว่า ไต้หวัน” มีสถานะเป็นรัฐและมีสภาพบุคคลตามกฎหมาย ระหว่างประเทศแล้ว การมีฐานะเป็นรัฐของ ไต้หวัน” จะเป็นที่รับรู้หรือเป็นที่ยอมรับในสังคมระหว่างประเทศก็ ต่อเมื่อได้รับการรับรองสภาพความเป็นรัฐจากรัฐอื่น โดยเฉพาะจากรัฐที่ตนจะเข้าไปทำการติดต่อสัมพันธ์ด้วยนั่นเอง

 

ข้อ 4. จงอธิบายถึงกระบวนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลกให้ชัดเจนว่ามีโครงสร้างการดำเนินการ และขอบเขตอำนาจหน้าที่อย่างไร และในกรณีที่มี การกล่าวอ้างว่าจะนำคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปดำเนินคดียังศาลโลก จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และอย่างไร

ธงคำตอบ

การระงับข้อพิพาทโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก เป็นการระงับข้อพิพาททางศาล ตามความหมายที่แท้จริง เนื่องจากเป็นลักษณะของการเสนอข้อพิพาทให้ศาลที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างถาวร โดยมี ผู้พิพากษาประจำอยู่ มีระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีพิจารณาความของตนเอง แตกต่างจากศาลอนุญาโตตุลาการ- ระหว่างประเทศ แต่ก็เป็นการระงับข้อพิพาทในทางกฎหมาย และอยู่บนพื้นฐานของการเคารพกฎหมายเช่นเดียวกัน

สำหรับโครงสร้างของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะประกอบด้วยผู้พิพากษา 15 นาย แต่ จะเป็นคนในสัญชาติเดียวกันไม่ได้ ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่ง 9 ปี และอาจได้รับเลือกใหม่ นอกจากนั้นก็มี การเลือกตั้งซ่อมทุก ๆ 3 ปี โดยผู้พิพากษา 5 คน จะอยู่ในตำแหน่ง 3 ปี 5 คนอยู่ในตำแหน่ง 6 ปี และ 5 คน ที่เหลืออยู่ในตำแหน่งได้ครบ 9 ปี ถ้ามีตำแหน่งว่างให้มีการเลือกตั้งซ่อม ผู้ที่ได้รับเลือกจะอยู่ได้เท่าเวลาของ ผู้ที่ตนแทน การเลือกตั้งกระทำโดยความเห็นชอบร่วมกันของสมัชชาสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งในกรณีนี้สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถใช้สิทธิวีโต้ได้ มติถือเสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ ศาลเลือกประธานและรองประธานซึ่งอยู่ในตำแหน่ง 3 ปี และอาจได้รับเลือกใหม่อีก

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทระหว่างประเทศหรือรัฐเท่านั้น และต้องการเกิดจากความสมัครใจของรัฐคู่กรณีด้วย มีเขตอำนาจในเรื่องดังต่อไปนี้คือ

1.         การตีความสนธิสัญญา

2.         ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ

3.         ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดข้อผูกพันระหว่างประเทศ

4.         กรณีเกิดการเสียหายเพราะละเมิดพันธะระหว่างประเทศ

นอกจากนี้คู่พิพาทอาจจะขอให้ศาลพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในสนธิสัญญา และ ยังมีหน้าที่ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายแก่คณะมนตรีและสมัชชาของสันนิบาตชาติด้วย ในกรณีที่ถูกร้องขอ

ในการตัดสินคดี ศาลจะใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้เป็นหลักในการพิจารณาคดี

1.         สนธิสัญญา

2.         จารีตประเพณีระหว่างประเทศ

3.         หลักกฎหมายทั่วไป

4.         คำพิพากษาของศาล

5.         ความเห็นของนักนิติศาสตร์

6.         หลักเกณฑ์อื่น ๆ เช่น หลักความยุติธรรม หลักมนุษยธรรม เป็นต้น

การนำคดีขึ้นสู่ศาลโดยปกติเป็นความประสงค์ของคู่กรณีเอง นอกจากจะมีสนธิสัญญาที่ คู่กรณีทำไว้บังคับให้ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลนี้ คำตัดสินของศาลผูกพันคูกรณีให้ต้องปฏิบัติ และถือเป็นที่สุดไมมี อุทธรณ์ ฎีกา คำพิพากษาของศาลมีลักษณะเป็นพันธกรณีที่คู่กรณีจะต้องปฏิบัติตาม และคำพิพากษาถือเป็นสิ้นสุด และผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ถ้ารัฐใดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา รัฐอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยัง คณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเห็นว่าจำเป็นก็อาจทำคำแนะนำ หรือวินิจฉัยมาตรการที่จะ ดำเนินการเพื่อให้เกิดผลตามคำพิพากษา

สำหรับกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าจะนำคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปดำเนินคดียัง ศาลโลกนั้น จะเห็นได้ว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้เพราะดังได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลกนั้น มีอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทระหว่างประเทศหรือรัฐเท่านั้น แต่กรณีคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับประเทศไทยนั้นไม่ใช่ข้อพิพาทระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่งแต่อย่างใด จึงไม่อยู่ไนอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลโลก

Advertisement