การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ก  อธิบายความแตกต่างของหน่วยภาษีที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร  กรณีกิจการร่วมค้าตามมาตรา  39  และห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล

ข  บริษัท  A  เป็นบริษัทจำกัด  จดทะเบียนขึ้นตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่น  มีสำนักงานสาขาที่จังหวัดชลบุรีหากในรอบระยะเวลาบัญชี  2551  บริษัท  A  มีรายได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทยจำนวน  50  ล้านบาท  และมีรายได้จากสำนักงานอื่นๆทั่วโลกอีก  150  ล้านบาท  จงวินิจฉัยว่า  บริษัท  A  มีภาระภาษีเงินได้ในประเทศไทยหรือไม่  จากฐานใด  และหากมีภาระภาษีการคำนวณรายได้คิดตามกฎหมายอย่างไรจากจำนวนเท่าใด

ธงคำตอบ

มาตรา  39  ในหมวดนี้  เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(2) กิจการร่วมค้า  ซึ่งได้แก่กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรระหว่างบริษัทกับบริษัท  บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  หรือระหว่างบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา  คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล  ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น

มาตรา  66  วรรคสอง  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่นๆรวมทั้งในประเทศไทย  ให้เสียภาษีในกำไรสุทธิจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีและการคำนวณกำไรสุทธิให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับมาตรา  65  และมาตรา  65  ทวิ  แต่ถ้าไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิดังกล่าวแล้วได้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการประเมินภาษีตามมาตรา  71(1)  มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ก  อธิบาย

กิจการร่วมค้า  คือ  กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางการค้าหรือหากำไร  อันเป็นการค้าโดยสัญญาระหว่างคู่ค้าที่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นนิติบุคคลเสมอ  ได้แก่  กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางการค้าหรือหากำไร  ระหว่างบริษัทกับบริษัท  บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  หรือระหว่างบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา  คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล  ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น

ส่วนห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล  คือ  การที่บุคคลธรรมดาตั้งแต่  2  คนขึ้นไปตกลงหุ้นกันไม่ว่าจะเป็นเงิน  แรงงาน  ทรัพย์สิน  ฯลฯ เพื่อกระทำกิจการร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งผลกำไรที่ได้แต่กิจการนั้น  โดยที่หุ้นส่วนทั้งหมดต้องมีสภาพเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น  ไม่มีนิติบุคคล

ข  วินิจฉัย

บริษัท  A  เป็นบริษัทจำกัด  จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่นมีสำนักงานสาขาที่จังหวัดชลบุรี  กรณีเช่นนี้  ถือว่าบริษัท  A  เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  และกระทำกิจการในที่อื่นๆรวมทั้งประเทศไทย  ซึ่งบริษัท  A  มีภาระภาษีในประเทศจากฐานกำไรสุทธิโดยคำนวณจากรายได้ที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ทำในประเทศไทย  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  66  วรรคสอง

ดังนั้น  จำนวนเงินที่บริษัท  A  ต้องนำมารวมคำนวณ  คือ  50  ล้านบาท  ที่ได้จากสำนักงานสาขาในประเทศไทยเท่านั้น

สรุป  บริษัท  A  มีภาระภาษีในประเทศไทยจากฐานกำไรสุทธิโดยคำนวณจากรายได้ที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ทำในประเทศไทย  คือ  จำนวน  50  ล้านบาท

 

ข้อ  2  นายสมชัยและนางนงเยาว์เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี  ในปีภาษี  2550  นายสมชัยมีเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  40(1)  จำนวน  1,500,000  บาท  นางนงเยาว์ภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  จำนวน  1,000,000  บาท  และมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(2)  จำนวน  1,000,000  บาท  นายสมชัยและนางนงเยาว์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  (ภ.ง.ด.90  และ  ภ.ง.ด.91)  ในเดือนมีนาคม  2551  โดยนายสมชัยได้นำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(2)  ของนางนงเยาว์มารวมยื่นเป็นเงินได้พึงประเมินในแบบรายการภาษีของตน  และนางนงเยาว์ได้นำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  ในส่วนของตนไปแยกยื่นแบบรายการภาษีเอง  ส่วนการหักค่าใช้จ่ายนั้นนางนงเยาว์นำค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  และ  (2)  ซึ่งหักได้ร้อยละ  40  แต่รวมกันไม่เกิน  60,000  บาท  ตามประมวลรัษฎากรมาตรา  42  ทวิ  ไปหักในแบบรายการภาษีของตนทั้งจำนวน  60,000  บาท  สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(2)  ที่นำไปยื่นในแบบรายการภาษีของนายสมชัยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ  เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าการยื่นแบบรายการภาษีของนายสมชัยและนางนงเยาว์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  โดยเฉพาะในส่วนเกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ของนางนงเยาว์จะต้องถัวเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนของเงินได้เพื่อไปหักทั้งในแบบรายการภาษีของนายสมชัยและนางนงเยาว์  ดังนั้น  อยากทราบว่าข้ออ้างของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  40  เงินได้พึงประเมินนั้น  คือ  เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆดังกล่าว  ไม่ว่าในทอดใด

(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน  ค่าจ้าง  เบี้ยเลี้ยง  โบนัส  เบี้ยหวัด  บำเหน็จ  บำนาญ  เงินค่าเช่าบ้าน  เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า  เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ  และเงิน  ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆบรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน

(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ  หรือจากการรับทำงานให้  ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม  ค่านายหน้า  ค่าส่วนลด  เงินอุดหนุนในงานที่ทำ  เบี้ยประชุม  บำเหน็จ  โบนัส  เงินค่าเช่าบ้าน  เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า  เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ  และเงิน  ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์ใดๆบรรดาที่ได้เนื่องจากน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ  หรือจากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่  หรือตำแหน่งงาน  หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว

มาตรา  42  ทวิ  วรรคแรก  เงินได้พึงประเมินตามความในมาตรา  40(1)  และ  (2)  ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ  40  แต่รวมกันต้องไม่เกิน  60,000  บาท

มาตรา  57  ตรี  วรรคแรก  ในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยานั้น  ถ้าสามีและภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  ให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามี  และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี  แต่ถ้าภาษีค้างชำระและภริยาได้รับแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า  7  วันแล้ว  ให้ภริยาร่วมรับผิดในการเสียภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย

มาตรา  57  เบญจ  วรรคแรก  ถ้าภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วยหรือไม่  ภริยาจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  โดยมิให้ถือว่าเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา  57  ตรีก็ได้

วินิจฉัย

ในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยานั้น  ถ้าสามีและภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีที่ล่วงมาแล้วให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามีมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษี  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  57  ตรี  วรรคแรก  แต่ในส่วนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  นั้น  ภริยาจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  โดยมิให้ถือเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา  57  ตรีได้  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  57  เบญจ  วรรคแรก  ดังนั้น  การที่นางนงเยาว์นำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  ของตนไปแยกยื่นรายการภาษีต่างหากจากนายสมชัยจึงเป็นไปโดยถูกต้องแล้ว

ส่วนการหักค่าใช้จ่ายนั้น  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  42  ทวิ  ให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับประโยชน์ในการที่จะหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ของตนทั้งเป็นเงินได้ตามมาตรา  40(1)  และเงินได้ตามมาตรา  40(2)  โดยยอมให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ร้อยละ  40 แต่จะหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ทั้งสองประเภทดังกล่าวรวมกันได้ไม่เกิน  60,000  บาท  โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดว่าต้องหักจากเงินได้พึงประเมินประเภทใดในสัดส่วนเท่าใด  หรือต้องถัวเฉลี่ยกันอย่างไร  จึงมิใช่ว่ากรณีมีเงินได้พึงประเมินทั้งสองประเภทจะต้องถัวเฉลี่ยกันค่าใช้จ่ายกันดังที่เจ้าพนักงานประเมินกล่าวอ้างไม่  เมื่อกฎหมายเปิดช่องไว้เช่นนี้เท่ากับมอบอำนาจในการตัดสินใจให้แก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินว่าควรจะเลือกหักค่าใช้จ่ายในเงินได้ประเภทใด  อย่างไร  ในกรณีที่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่อาจหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งสองประเภท  ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการบรรเทาภาระภาษีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในส่วนนี้  ดังเช่น  กรณีที่นางนงเยาว์เลือกหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ตามมาตรา  40(1)  อย่างเดียวเต็มจำนวน  60,000  บาท  ในแบบรายการภาษีของตน  ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  42  ทวิ  วรรคแรก  เพียงประเภทเดียว  โดยไม่ประสงค์จะหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา  40(2)  ซึ่งนายสมชัยสามีมีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษีในส่วนเงินได้พึงประเมินของนางนงเยาว์ผู้เป็นภริยาตามความในมาตรา  57  ตรี  ข้ออ้างของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้  (ฎ.6220/2549)

สรุป  ข้ออ้างของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้

 

ข้อ  3  บริษัท  ไทยก่อสร้าง  จำกัด  ได้จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปี  พ.ศ.2549  ปรากฏว่าในปี  พ.ศ.2551  ได้ไปเปิดสาขา  (Branch)  ที่ประเทศลาว  และประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างโดยมีรายได้จำนวน  100  ล้านบาทและฝากไว้ที่ธนาคาร  ณ  ประเทศลาวเพื่อการลงทุนต่อไปไม่นำจำนวนเงินนั้นเข้ามาในประเทศไทย  จงวินิจฉัยว่า  ในการคำนวณกำไรสุทธิประจำรอบระยะเวลาบัญชี  2551  ตามประมวลรัษฎากร  บริษัทไทยก่อสร้าง  จำกัด  ต้องนำยอดรายได้  100  ล้านบาทดังกล่าว  มารวมคำนวณกำไรสุทธิกับรายได้อื่นๆด้วยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  66  วรรคแรก  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  และกระทำกิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจะต้องนำรายได้จากทั่วโลก  (Worldwide  Income Basis)  มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรโดยรวมสาขาในต่างประเทศทุกสาขา   ทั้งนี้ไม่คำนึงว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น  จะนำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม

บริษัทไทยก่อสร้าง  จำกัด  เป็นบริษัทที่จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  ดังนั้น  ไม่ว่าจะมีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ  ณ  ที่ใด  ก็ต้องนำยอดรายได้เหล่านั้นทั้งหมด  (100  ล้านบาท)  มาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร  ทั้งนี้  แม้จะไม่นำจำนวนเงินดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยก็ตาม

สรุป  บริษัทไทยก่อสร้าง  จำกัด  ต้องนำยอดรายได้  100  ล้านบาท  ดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร

 

ข้อ  4  นายจอห์นเป็นชาวอเมริกัน  ทำงานอยู่ที่บริษัทฟามาซีชิคอล  จำกัด  ซึ่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  ได้รับเงินเดือนคอดเป็นเงินบาทเดือนละ  300,000  บาท  บริษัทฯมีโรงงานผลิตยารักษาโรคต่างๆขายทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ  บริษัทฯต้องการยาในประเทศไทย  เมื่อวันที่  1  กุมภาพันธ์  2552  บริษัทฯจึงได้ส่งนายจอห์นให้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเสนอขายยาของบริษัทฯให้กับร้านขายยาในประเทศไทย  การเดินทางมาครั้งนี้ของนายจอห์นเพื่อมาทำงานให้กับบริษัทฯ  นายจอห์นจะอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา  1  เดือน  ส่วนเงินเดือนที่ได้รับในเดือนกุมภาพันธ์  2552  จำนวน  300,000  บาท  บริษัทฯได้โอนเข้าบัญชีของนายจอห์นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  และนายจอห์นได้นำเงินเดือนที่ได้รับในเดือนมกราคม  2552  ติดตัวเข้ามาจ่ายในประเทศไทยเป็นจำนวน  100,000  บาท ในระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย  นายจอห์นซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและถูกรางวัลประจำงวดวันที่  16  กุมภาพันธ์  2552  เป็นจำนวนเงิน 50,000  บาท  เมื่อนายจอห์นอยู่ครบกำหนดได้เดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่  1  มีนาคม  2552  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่านายจอห์นจะต้องนำเงินได้ทั้งสามจำนวนดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทยหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  41  ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย  หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย  หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้  ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

ผู้อยู่ในประเทศไทย  มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ  หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ  ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้  เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ  รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใด  ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

มาตรา  42  เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

(11)                    รางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการ  รางวัลสลากกินแบ่งหรือสลากออมสินของรัฐบาล  รางวัลที่ทางราชการจ่ายให้ในการประกวดหรือแข่งขัน  ซึ่งผู้รับมิได้มีอาชีพในการประกวดหรือแข่งขัน  หรือสินบนรางวัลที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามกระทำความผิด

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย  ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย  ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น  เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทำในประเทศไทย  หรือกิจการที่ทำในประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย  หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย  (มาตรา  41  วรรคแรก)

ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ  ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทยต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย  และมีเงินได้พึงประเมิน  เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทำในต่างประเทศหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ  และได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย  (มาตรา  41  วรรคสองและวรรคสาม)

เงินเดือนที่นายจอห์นได้รับจากบริษัทฟามาซีซิคอล  จำนวน  300,000  บาท  ของเดือนกุมภาพันธ์  2552  บริษัทฯได้โอนเข้าบัญชีของนายจอห์นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  นายจอห์นต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย  เพราะเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย  ไม่ว่าเงินเดือนที่ได้รับนั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  41  วรรคแรก

สำหรับเงินที่นายจอห์นนำเข้ามาใช้จ่ายจำนวน  100,000  บาท  แม้จะเป็นเงินเดือนที่ได้รับในเดือนมกราคม  2552  เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ  และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  41  วรรคสอง  แต่เมื่อนายจอห์นอยู่ในประเทศไทยเพียง  1  เดือน  ซึ่งถือว่าไม่ถึง  180  วัน  ในปีภาษี  2552  จึงไม่ต้องนำจำนวนเงินดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทยเพราะไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  41  วรรคสองและวรรคสาม

ส่วนเงินได้จากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล  จำนวน  50,000  บาท  นายจอห์นไม่ต้องนำมาเสียภาษีเพราะได้รับยกเว้น  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  42(11)

สรุป  นายจอห์นต้องนำเงินได้มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทยเฉพาะเงินเดือนที่นายจอห์นได้รับจากบริษัทฟามาซีซิคอล  จำนวน  300,000  บาท  ส่วนเงินที่นายจอห์นนำเข้ามาใช้จ่ายจำนวน  100,000  บาท  และเงินได้จากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล  จำนวน  50,000  บาท  ไม่ต้องนำจำนวนเงินดังกล่าวมาคำนวณเสียภาษี

Advertisement