การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

นักศึกษาที่ลงทะเบียนกระบวนวิชา  LA  401  (รหัส  52…  เป็นต้นไป)  ให้ทำข้อ 1  3

นักศึกษาที่ลงทะเบียนกระบวนวิชา  LW  406  (รหัส  51…ลงไป)  ให้ทำข้อ  1  4

ข้อ  1  บริษัท  เหลืองแดงเขียว  จำกัด  ได้ทำสัญญาว่าจ้างนายเหลืองซึ่งมีสัญชาติไทยให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ  ณ ประเทศสิงคโปร์  โดยทางบริษัทฯได้โอนเงินค่าจ้างไปเข้าบัญชีของนายเหลืองในต่างประเทศ  และในขณะเดียวกันบริษัทฯ  ได้ว่าจ้างนางเขียวซึ่งมีสัญชาติมาเลเซียให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ  ที่จังหวัดอุบลราชธานี  โดยบริษัทฯ  ได้โอนเงินค่าจ้างไปยังประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้บริษัทฯ  ได้ตกลงจ้างนางสาวแดงซึ่งเป็นนายหน้าอิสระสัญชาติไทย  (ไม่ได้เป็นลูกจ้างของบริษัทฯ)  ให้ทำหน้าที่นายหน้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแก่บริษัท  โดยบริษัท  ตกลงจะโอนเงินให้นางสาวแดงที่ประเทศไทย  หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นอกจากนางเขียวกรณีนายเหลืองและนางสาวแดงไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่เกิดเงินได้แต่อย่างใด  จงวินิจฉัยว่าทั้งสามคนนี้มีภาระภาษีเงินได้ในประเทศไทยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  41  ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย  หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย  หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้  ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

ผู้อยู่ในประเทศไทย  มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ  หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ  ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้  เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ  รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใด  ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย  ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย  ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น  เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทำในประเทศไทย  หรือกิจการที่ทำในประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย  หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย  (มาตรา  41  วรรคแรก)

ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ  ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทยต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย  และมีเงินได้พึงประเมิน  เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทำในต่างประเทศหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ  และได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย  (มาตรา  41  วรรคสองและวรรคสาม)

การที่บริษัท  เหลืองแดงเขียว  จำกัด  ได้ทำสัญญาว่าจ้างนายเหลืองให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ  ณ  ประเทศสิงคโปร์  โดยทางบริษัทฯ  ได้โอนเงินค่าจ้างไปเข้าบัญชีของนายเหลืองยังต่างประเทศ  กรณีถือว่าเงินค่าจ้างที่นายเหลืองได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  41  วรรคแรก  นายเหลืองจึงต้องมีหน้าที่ต้องนำเงินดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย  ทั้งนี้  โดยไม่ต้องคำนึงว่านายเหลืองจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่  และไม่ว่าเงินเดือนที่ได้รับนั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศก็ตาม

สำหรับนางเขียว  ซึ่งบริษัทฯได้ว่าจ้างนางเขียวซึ่งมีสัญชาติมาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ  ที่จังหวัดอุบลราชธานี  โดยบริษัทฯ  ได้โอนเงินค่าจ้างไปยังประเทศมาเลเซีย  กรณีถือว่าเงินค่าจ้างที่นางเขียวได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากรมาตรา  41  วรรคแรก  นางเขียวจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทยเช่นกัน  ทั้งนี้  ไม่ว่าเงินเดือนที่ได้รับนั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศก็ตาม

ส่วนนางสาวแดงที่ได้รับค่าจ้างจากการเป็นนายหน้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแก่บริษัทฯ  ถือเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  41  วรรคสอง  นางสาวแดงไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีให้กับประเทศไทย  เพราะแม้บริษัทฯ  ได้โอนให้นางสาวแดงที่ประเทศไทย  แต่เมื่อนางสาวแดงไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่เกิดเงินได้  นางสาวแดงจึงไม่ต้องนำจำนวนเงินดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย  เพราะไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา 41  วรรคสองและวรรคสาม

สรุป  นายเหลืองและนางเขียวมีภาระภาษีในประเทศไทย  ส่วนนางสาวแดงไม่มีภาระต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย  เพราะนางสาวแดงไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

 

ข้อ  2  นายแดงทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินของบริษัท  อุปกรณ์การแพทย์  จำกัด  ได้รับเงินเดือนๆละ  20,000  บาท  นายแดงได้นำรถยนต์ส่วนตัวของตนมาใช้ในกิจการของบริษัทฯ  และบริษัทฯได้จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์แบบเหมาจ่ายให้แก่นายแดงเดือนละ  4,000  บาท โดยมิได้คำนึงว่านายแดงจะได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นหรือไม่  และไม่ต้องนำใบเสร็จมาแสดงแก่บริษัทฯแต่อย่างใด  ในปีภาษี  2551 นายแดงได้รับเงินค่าน้ำมันจากบริษัทฯ  เป็นเงินรวมตลอดทั้งปีจำนวน  48,000  บาท  ปรากฏว่าเมื่อวันที่  10  มีนาคม  2551  รถยนต์ของนายแดงถูกนายเขียวขับชนโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของนายแดงได้รับความเสียหาย  แต่นายแดงได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย  นายแดงจึงเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการทำละมิดของนายเขียวเพื่อเป็นค่าซ่อมรถยนต์และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน  40,000  บาท ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าเงินได้ที่นายแดงได้รับทั้งสองจำนวนจะต้องนำมารวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  40  เงินได้พึงประเมินนั้น  คือ  เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆดังกล่าว  ไม่ว่าในทอดใด

(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน  ค่าจ้าง  เบี้ยเลี้ยง  โบนัส  เบี้ยหวัด  บำเหน็จ  บำนาญ  เงินค่าเช่าบ้าน  เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า  เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ  และเงิน  ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆบรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน

มาตรา  42  เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้  ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

(1) ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือพาหนะ  ซึ่งลูกจ้างหรือผู้รับหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรือผู้รับทำงานให้ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น

(13)  ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด  เงินที่ได้จากการประกันภัยหรือการฌาปนกิจสงเคราะห์

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วเงินค่าพาหนะซึ่งลูกจ้างได้รับจากนายจ้างอันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  42(1)  จะต้องเป็นค่าพาหนะซึ่งลูกจ้างได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น  ซึ่งตามข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  ค่าน้ำมันรถยนต์ที่บริษัทฯจ่ายให้นายแดงซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ  ที่นำรถยนต์ส่วนตัวของตนมาใช้ในกิจการของบริษัทฯ  มีลักษณะเป็นการเหมาจ่าย  โดยมิได้คำนึงว่าจะจ่ายไปหมดในการนั้นหรือไม่  เงินค่าน้ำมันรถยนต์ที่บริษัทเหมาจ่ายให้แก่นายแดงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นมาตรา  42(1)  (ฎ.5330/2537)

ดังนั้น  นายแดงจึงต้องนำเงินค่าน้ำมันรถยนต์จำนวน  48,000  บาท  ไปรวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน  40,000  บาท  ที่นายแดงได้รับจากนายเขียวเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด  จึงได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  42(13)  ดังนั้น  นายแดงจึงไม่ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สรุป  นายแดงต้องนำเงินค่าน้ำมันรถยนต์จำนวน  48,000  บาท  ไปรวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น  ส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน  40,000  บาท  ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

ข้อ  3  ในรอบระยะเวลาบัญชี  2552  บริษัท  ไทยวิศวกรรม  จำกัด  (มหาชน)  ได้เช่ารถยกตีนตะขาบ  (Crawler  Crane)  พร้อมอุปกรณ์จากบริษัท  โตโย  จำกัด  ผู้ให้เช่าในประเทศญี่ปุ่นและได้ซื้ออุปกรณ์กำเนิดกำลัง  (Generator)  พร้อมอุปกรณ์จากบริษัท  เยาเส็ง  จำกัด  ผู้ขายในประเทศสิงคโปร์ เพื่อนำมาใช้ในโครงการขยายโรงกลั่นของบริษัท  ปิโตรไทย  จำกัด  (มหาชน)  บริษัทฯผู้ให้เช่าและบริษัทฯ  ผู้ขายทั้งสองเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์  มิได้ประกอบกิจการหรือมีตัวแทนหรือสถานประกอบการถาวร  (Permanent  Establishment)  ใดๆในประเทศไทยจงวินิจฉัยว่า  บริษัท  โตโย  จำกัด  และบริษัท  เยาเส็ง  จำกัด  ต้องมีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรหรือไม่  อย่างไร  (ไม่ต้องพิจารณาเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน)

ธงคำตอบ

มาตรา  40  เงินได้พึงประเมินนั้น  คือ  เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆดังกล่าว  ไม่ว่าในทอดใด

(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก

(ก)  การให้เช่าทรัพย์สิน

(8) เงินได้จากการธุรกิจ  การพาณิชย์  การเกษตร  การอุตสาหกรรม  การขนส่ง  หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  ถึง  (7)  แล้ว

มาตรา  70  วรรคแรก  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(2) (3) (4) (5) หรือ (6)  ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย  ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี  โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  แล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น  ทั้งนี้ให้นำมาตรา  54  มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

การหักภาษี  ณ  ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  70  วรรคแรก  ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1       ผู้รับเงินจะต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

2       บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวจะต้องมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย  และ

3       เงินได้ที่จ่ายจะต้องเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6)  ที่จ่ายจากหือในประเทศไทยเท่านั้น

บริษัท  ไทยวิศวกรรม  จำกัด  (มหาชน)  จ่ายเงินค่าเช่ารถยกและค่าซื้อเครื่องกำเนิดกำลัง  ให้แก่บริษัท  โตโย  จำกัด  ผู้ให้เช่าในประเทศญี่ปุ่นและบริษัท  เยาเส็ง  จำกัด  ผู้ขายในประเทศสิงคโปร์  โดยผู้ให้เช่าและผู้ขายมิได้ประกอบกิจการหรือมีตัวแทนหรือสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย  จะมีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร  ดังนี้

1       กรณีบริษัท  โตโย  จำกัด  ได้รับค่าเช่าอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา  40(5)  จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  70  โดยบริษัทไทยวิศวกรรม  จำกัด  (มหาชน)  ต้องหักภาษีเงินได้ไว้  ณ  ที่จ่ายในอัตราร้อยละ  15  ของยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่าย

2       กรณีบริษัท  เยาเส็ง  จำกัด  ได้รับเงินจากการขายสินค้า  อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา  40(8)  จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล  เพราะไม่เข้าเงื่อนไขตามประมวลรัษฎากรมาตรา  70  ที่บังคับเฉพาะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(2)  (6)  เท่านั้น

สรุป  บริษัท  โตโย  จำกัด  จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย  ส่วนบริษัทเยาเส็ง  จำกัด  ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

ข้อ  4  Marine  Shipping  &  Transportation  Corporation  (Marine  Corp)  เป็นบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา  ประกอบกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยทางเรือ  มีสาขาตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย  บริษัท  ไทยนำสินฟู้ด  โปรดักส์  จำกัด  (ไทยนำสิน)  ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งตามกฎหมายไทย  ตั้งอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส  ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอาหารฮาลาล ไทยนำสินได้ขายสินค้าอาหารให้แก่ผู้ซื้อในประเทศกาตาร์  จึงได้ว่าจ้างให้  Marine  Corp  สาขามาเลเซียขนส่งสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศกาตาร์  โดยไทยนำสินได้ขนสินค้าดังกล่าวทางรถบรรทุกไปส่งมอบให้แก่ Marine  Corp  ในประเทศมาเลเซีย  Marine  Corp ได้คิดค่าบริการในการขนสินค้าดังกล่าวจำนวน  10  ล้านบาท  อยากทราบว่า Marine  Corp  ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการประกอบกิจการขนส่งระหว่างประเทศจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายของค่าบริการรับขนของตามประมวลรัษฎากรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  66  วรรคสอง  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่นๆรวมทั้งในประเทศไทย  ให้เสียภาษีในกำไรสุทธิจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีและการคำนวณกำไรสุทธิให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับมาตรา  65  และมาตรา  65  ทวิ  แต่ถ้าไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิดังกล่าวแล้วได้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการประเมินภาษีตามมาตรา  71(1)  มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา  67  การเสียภาษีตามความในส่วนนี้  ให้เสียตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวดนี้  เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา  66  วรรคสอง  กระทำกิจการขนส่งผ่านประเทศต่างๆให้เสียภาษีเฉพาะกิจการขนส่งตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(2) ในกรณีรับขนของ  ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ  3  ของค่าระวางค่าธรรมเนียม  และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บ  ไม่ว่าในหรือนอกประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใดๆ  เนื่องจากในการรับขนของออกจากประเทศไทยนั้น

วินิจฉัย

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการขนส่งระหว่างประเทศซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลยอดรายรับค่าระวาง  ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บไม่ว่าในหรือนอกประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใดๆ  เนื่องในการรับขนของออกจากประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  67(2)  นั้นจะต้องเป็นกรณีที่บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่นๆรวมทั้งประเทศไทย  กล่าวคือ  ต้องมีการกระทำกิจการในประเทศไทยและเป็นการประกอบกิจการขนส่งผ่านประเทศต่างๆด้วย  (มาตรา  66  วรรคสองประกอบมาตรา  67)

เมื่อ  Marine  Corp มีสาขาอยู่ในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียโดยไม่ปรากฏว่ามีสาขาหรือกระทำกิจการอยู่ในประเทศไทย  Marine  Corp  จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากค่าบริการรับขนของดังกล่าวแต่อย่างใด  ดังนั้น  เมื่อ  Marine  Corp  ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวแล้ว  กรณีจึงไม่ต้องพิจารณาว่าค่าบริการที่   Marine  Corp  ได้รับเป็นกรณีเนื่องจากการรับขนของออกไปจากประเทศไทยหรือไม่

สรุป  Marine  Corp  ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว     

Advertisement