การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

Advertisement

ข้อ  1  นายอุดม  เป็นเจ้าของร้านอาหารทะเลตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  และมีสาขาในย่านธุรกิจหลายแห่งในปีภาษี  2550  นายอุดมมีเงินได้จากการขายอาหารจำนวน  3  ล้านบาท  และในปีเดียวกันนี้เอง  นายอุดมได้เดินทางไปเปิดร้านอาหารไทยที่ประเทศแคนาดา  ในวันที่ 10  มีนาคม  2550  และมีเงินได้จากการขายอาหารจำนวน  5  ล้านบาท  หลังจากนั้นได้เดินทางกลับประเทศไทย  ในวันที่  10  ธันวาคม  2550  โดยนำเงินจำนวน  5  ล้านบาทกลับมาด้วย

จงวินิจฉัยว่า  นายอุดมต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเงินได้จากการขายอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศตามประมวลรัษฎากรหรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  41  ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย  หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย  หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้  ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

ผู้อยู่ในประเทศไทย  มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ  หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ  ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้  เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ  รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใด  ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย  ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย  ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น  เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทำในประเทศไทย  หรือกิจการที่ทำในประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย  หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย  (มาตรา  41  วรรคแรก)

ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ  ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทยต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย  และมีเงินได้พึงประเมิน  เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทำในต่างประเทศหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ  และได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย  (มาตรา  41  วรรคสองและวรรคสาม)

ในปีภาษี  2550  นายอุดมมีแหล่งเงินได้จากกิจการในประเทศไทย  จำนวน  3  ล้านบาท  จึงต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  41  วรรคแรก  ส่วนเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศไทย  จำนวน  5  ล้านบาทนั้น  ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย  เพราะในปีภาษี  2550  นายดำมิใช่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย  เนื่องจากอยู่ในประเทศไทยไม่ครบ  180  วัน  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา 41  วรรคสอง  และวรรคสาม  ทั้งนี้  แม้นายดำจะนำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันก็ตาม

สรุป  นายอุดมต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเงินที่ได้จากการขายอาหารในประเทศไทยเท่านั้น

 

ข้อ  2  ในปีภาษี  2550  นายเอกและนางโท  เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายและอยู่กินร่วมกันตลอดปีภาษี  โดยต่างฝ่ายต่างมีเงินได้พึงประเมิน  ดังต่อไปนี้

(1) เงินค่านายหน้าจากการเป็นตัวแทนบริษัทผู้รับประกันภัยของนายเอก

(2) เงินได้จากเงินปันผลในการถือหุ้นบริษัทของนายเอก

(3) เงินได้จากการเปิดร้านขายของชำของนายเอก

(4) เงินได้จากเงินเดือนของนางโทในการเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ

(5) เงินได้จากการมีบ้านให้เช่าของนางโท

จงวินิจฉัยว่า

 1       ในปีภาษี  2550  นายเอกและนางโท  มีเงินได้พึงประเมินประเภทใดตามประมวลรัษฎากร

2       เงินได้พึงประเมินประเภทใดทั้งของนายเอกและนางโทที่ต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการ  (ภ.ง.ด.94)  เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี  ภายในเดือนกันยายน  2550

3       ถ้านางโทต้องการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ฯ  แยกต่างหากจากสามีแล้วประมวลรัษฎากรกำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  40  เงินได้พึงประเมินนั้น  คือ  เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆดังกล่าว  ไม่ว่าในทอดใด

(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน  ค่าจ้าง  เบี้ยเลี้ยง  โบนัส  เบี้ยหวัด  บำเหน็จ  บำนาญ  เงินค่าเช่าบ้าน  เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า  เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ  และเงิน  ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆบรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน

(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ  หรือจากการรับทำงานให้  ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม  ค่านายหน้า  ค่าส่วนลด  เงินอุดหนุนในงานที่ทำ  เบี้ยประชุม  บำเหน็จ  โบนัส  เงินค่าเช่าบ้าน  เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า  เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ  และเงิน  ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์ใดๆบรรดาที่ได้เนื่องจากน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ  หรือจากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่  หรือตำแหน่งงาน  หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว

(4) เงินได้ที่เป็น

(ข)  เงินปันผล  เงินส่วนแบ่งของกำไร  หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  กองทุนรวม  หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม  พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม  เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้  ณ  ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้  ณ  ที่จ่าย  ตามกฎหมายดังกล่าว

(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก

(ก)  การให้เช่าทรัพย์สิน

(8) เงินได้จากการธุรกิจ  การพาณิชย์  การเกษตร  การอุตสาหกรรม  การขนส่ง  หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  ถึง  (7)  แล้ว

มาตรา  56  ทวิ  วรรคแรก  เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาตามมาตรา  56  ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการตามมาตรา  56 มาตรา  57  มาตรา  57  ทวิ  และมาตรา  57  ตรี  ยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดแสดงรายการเงินได้เฉพาะตามมาตรา  40(5) (6) (7) หรือ  (8)  ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่  ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน  ภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี

มาตรา  57  เบญจ  วรรคแรก  ถ้าภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วยหรือไม่  ภริยาจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  โดยมิให้ถือว่าเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา  57  ตรีก็ได้

วินิจฉัย

1       เงินค่านายหน้าขากการเป็นตัวแทนบริษัทผู้รับประกันภัยของนายเอก  ถือว่าเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้อันเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่  2  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  40(2)

– เงินได้จากเงินปันผลในการถือหุ้นบริษัทของนายเอก  ถือว่าเป็นเงินได้จากเงินปันผลจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  อันเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่  4  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  40(4)(ข)

 เงินได้จากการเปิดร้านขายของชำของนายเอก  ถือว่าเป็นเงินได้จากการพาณิชย์  อันเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่  8  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  40(8)

เงินเดือนของนางโทในการเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ  ถือว่าเป็นเงินได้จากการจ้างแรงงานอันเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่  1  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  40(1)

เงินได้จากการมีบ้านให้เช่าของนางโท  ถือว่าเป็นเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน  อันเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่  5  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  40(5)(ก)

2       เงินได้จากการเปิดร้านขายของชำของนายเอก  และค่าเช่าบ้านของนางโท  อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  40(8)  และมาตรา  40(5)(ก)  ตามลำดับ  ต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการ  (ภ.ง.ด.  94)  เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบครึ่งปี  ภายในเดือนกันยายน  2550  ตามประมวลรัษฎากรมาตรา  56  ทวิ  วรรคแรก

3       โดยหลัก  ถ้าสามีและภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี  เงินได้ของภริยาให้ถือเป็นเงินได้ของสามี  แต่ภริยามีสิทธิที่จะนำเงินได้พึงประเมินประเภทที่  1  ตามมาตรา  40(1)  มาแยกยื่นรายการภาษีโดยมิให้ถือเป็นเงินได้ของสามี

เงินเดือนของนางโท  เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่  1  ตามมาตรา  40(1)  ในกรณีนี้  นางโทมีสิทธิแยกยื่นรายการภาษี  เฉพาะในส่วนของเงินเดือน  โดยมิให้ถือเป็นเงินได้ของสามีได้ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  57  เบญจ  วรรคแรก

ส่วนเงินจากค่าเช่าบ้านของนางโท  เมื่อได้ความว่า  นายเอกและนางโทได้อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีเงินได้ดังกล่าวจึงเป็นเงินได้ของนายเอกสามี  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  57  ตรี  และในกรณีนี้  นางโทไม่มีสิทธิแยกยื่นรายการภาษี  ตามประมวลรัษฎากร  57  เบญจ  เพราะมิใช่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)

 

ข้อ  3  ไทยเดินทะเล  จำกัด  เป็นบริษัทรับจ้างขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  ในรอบระยะเวลาบัญชี  2550 บริษัทฯมีรายได้จากการประกอบกิจการดังนี้

ก.      รายได้จากการขนสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา  จำนวน  400  ล้านบาท

ข.      รายได้จากการขนส่งสินค้าจากประเทศอินเดีย  จำกัด  ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ดังกล่าวตามประมวลรัษฎากรอย่างไร  เพราะเหตุใด

จงวินิจฉัยว่า  บริษัทไทยเดินทะเล  จำกัด  ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ดังกล่าวตามประมวลรัษฎากรอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  66  วรรคแรก  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในประเทศไทย  ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจะต้องนำรายได้จากทั่วโลก  (Worldwide  Income Basis)  มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรโดยรวมสาขาในต่างประเทศทุกสาขา  

บริษัทไทยเดินทะเล  จำกัด  เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  ดังนั้นในรอบระยะเวลาบัญชี  2550  บริษัทไทยเดินทะเล  จำกัด  ต้องนำรายได้จากการประกอบการทั้งหมด  ทั้งตาม  (ก)  และ  (ข)  เป็นจำนวนทั้งสิ้น  1,000  ล้านบาท  มาคำนวณกำไรสุทธิ  เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล  ตามประมวลรัษฎากรมาตรา  66  วรรคแรก  ทั้งนี้  ไม่ว่าเงินได้ดังกล่าวจะเกิดจากการขนส่งสินค้ามาจากหรือไปจากที่ใดก็ตาม  หากได้ความว่า  บริษัทดังกล่าวได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยแล้ว  ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรทั้งสิ้น

สรุป    บริษัทไทยเดินทะเล  จำกัด  ต้องนำรายได้จากการประกอบการทั้งหมด  1,000  ล้านบาท  มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

 

ข้อ  4  บริษัทโรม  จำกัด  เป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอิตาลี  ไม่มีสาขาหรือสถานประกอบการในประเทศไทย  ได้ทำสัญญารับจ้างซ่อมเครื่องบินของกองทัพอากาศไทย  โดยบริษัทโรง  จำกัด  ได้ส่งตัวแทนเข้ามาทำสัญญารับจ้างซ่อมเครื่องบินในประเทศไทย  แต่การซ่อมเครื่องบินได้กระทำที่ประเทศอิตาลี  เมื่อการซ่อมเครื่องบินแล้วเสร็จ  ทางกองทัพอากาศไทยต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่บริษัทโรม  จำกัด  ตามสัญญาจ้างเป็นเงินทั้งสิ้น  10  ล้านบาท  อยากทราบว่า  บริษัทโรม  จำกัด  จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  40  เงินได้พึงประเมินนั้น  คือ  เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆดังกล่าว  ไม่ว่าในทอดใด

(7) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

มาตรา  70  วรรคแรก  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(2)(3)(4)(5)  หรือ  (6)  ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย  ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  แล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น  ทั้งนี้ให้นำมาตรา  54  มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา  76  ทวิ  วรรคแรก  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  มีลูกจ้าง  หรือผู้ทำการแทน  หรือผู้ทำการติดต่อ  ในการประกอบกิจการในประเทศไทย  ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย  ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทยและให้ถือว่าบุคคลผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน  หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล  เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้  เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่กล่าวแล้ว

วินิจฉัย

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  และไม่มีสาขาในประเทศไทย  หากมีลักษณะตามที่ประมวลรัษฎากร  มาตรา  76  ทวิ  วรรคแรก  กำหนดไว้ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1       บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

2       มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน  หรือผู้ทำการติดต่อในประเทศไทย

3       ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินหรือผลกำไรในประเทศไทย  สำหรับตามเงื่อนไขประการที่  3  นี้ต้องพิจารณา  ตามลักษณะของสัญญาด้วย  เช่น  สัญญาจ้างทำของหรือให้บริการ  ให้ถือเอาสถานที่ให้บริการเป็นสำคัญ  หากรับจ้างทำของหรือให้บริการนั้นได้ทำในต่างประเทศทั้งหมดก็ไม่ถือว่าบริษัทต่างประเทศนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย  แม้สัญญานั้นจะได้ทำในประเทศไทยก็ตาม

บริษัทโรม  จำกัด  เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  ได้ส่งตัวแทนเข้ามาทำสัญญารับจ้างซ่อมเครื่องบินในประเทศไทย แต่การซ่อมเครื่องบินอันถือว่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างทำของได้กระทำที่ประเทศอิตาลี  เช่นนี้  จึงถือไม่ได้ว่า  บริษัทโรม  จำกัด ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย  อันเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรแต่อย่างใด  ดังนั้น  จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  76  ทวิ  วรรคแรก  รวมทั้งเงินค่าซ่อมเครื่องบินอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(7)  ที่กระทำ  ณ  ประเทศอิตาลี  ก็ไม่ต้องเสียภาษีเพราะไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา  70  วรรคแรกเช่นกัน  ทั้งนี้เนื่องจากมิใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(2)(3)(4)  หรือ  (6)  ดังนั้น  บริษัทโรม  จำกัด  จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด

สรุป  บริษัทโรม  จำกัด  ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย

Advertisement