การสอบซ่อมภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี  4  ข้อ

ข้อ  1  การสืบสวนคดีอาญามีวิธีการสืบสวนอยู่หลายวิธี  ให้อธิบายเฉพาะวิธีการตรวจสถานที่เกิดเหตุ  และวิธีการเฝ้าตรวจ  มาโดยสังเขป

ธงคำตอบ

การตรวจสถานที่เกิดเหตุสามารถทำได้  5  วิธี  คือ

1       วิธีการตรวจที่เกิดเหตุแบบแถวหน้ากระดาน

2       วิธีการตรวจที่เกิดเหตุแบบแถวหน้ากระดานประยุกต์

3       วิธีการตรวจที่เกิดเหตุแบบวงล้อ

4       วิธีการตรวจที่เกิดเหตุแบบวงกลม/ก้นหอย

5       วิธีการตรวจที่เกิดเหตุแบบแบ่งโซน

การเฝ้าตรวจบุคคล  สิ่งของ  และสถานที่  มีวิธีปฏิบัติอยู่  3  วิธี  คือ

1       การเฝ้าตรวจชนิดเคลื่อนที่  ได้แก่

            การเฝ้าตรวจโดยวิธีสะกดรอย

            การเฝ้าตรวจแบบใช้ยานพาหนะ

2       การเฝ้าตรวจชนิดประจำที่  ได้แก่  การเฝ้าสังเกตเคหะสถาน  อาคาร  สถานที่ต่างๆ

3       การเฝ้าตรวจชนิดใช้เครื่องอิเล็คโทรนิคส์  เช่น  เครื่องลอบฟัง  เครื่องดักฟัง

ข้อ  2  ให้อธิบายความหมายของคำต่อไปนี้  ผู้ต้องหา  พยานหลักฐาน  พนักงานสอบสวน  และพนักงานอัยการ  พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ผู้ต้องหา  หมายถึง  บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดแต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  2(2)

พนักงานอัยการ  หมายความถึง  เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล  ทั้งนี้จะเป็นข้าราชการในกรมอัยการ  หรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นก็ได้  ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  2(5)

พนักงานสอบสวน  หมายความถึง  เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน  ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  2(6)

พยานหลักฐาน  หมายถึง  พยานวัตถุ  พยานเอกสาร  หรือพยานบุคคล  ตลอดจนหลักฐานต่างๆซึ่งอาจจะเป็นเครื่องมือพิสูจน์การกระทำได้  ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  226

 

ข้อ  3  เปรมยักยอกทรัพย์ของป้อมไปเป็นเงินหนึ่งแสนบาท  ป้อมจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเปรมในความผิดดังกล่าว  พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ตามระเบียบแล้วเปรมจึงคืนเงินที่ยักยอกไปให้กับป้อมเป็นเงินหนึ่งแสนบาท  ดังนี้  ถ้าท่านเป็นพนักงานสอบสวนจะดำเนินการในคดีดังกล่าวนี้ต่อไปอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  39(2)  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป

(2) ในคดีความผิดส่วนตัว  เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์  ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย

มาตรา  121  บัญญัติว่า  พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง

แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวห้ามมิให้ทำการสอบสวน  เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ

มาตรา  126  บัญญัติว่า  ผู้ร้องทุกข์จะแก้คำร้องทุกข์ในระยะใด  หรือจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้

ในคดีซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว  การถอนคำร้องทุกข์เช่นนั้น  ย่อมไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวน  หรือพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนั้น

วินิจฉัย

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัว  เมื่อมีการร้องทุกข์จากป้อมผู้เสียหายแล้ว  พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจทำการสอบสวนได้  ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  121  วรรคสอง  ต่อมาปรากฏว่าเปรมได้ทำการคืนเงินที่ได้ยักยอกไปแก่ป้อมผู้เสียหายเป็นเงินหนึ่งแสนบาท กรณีนี้แม้ผู้เสียหายจะยอมรับก็ไม่ถือว่าเป็นการถอนคำร้องทุกข์โดยปริยาย  เมื่อไม่มีการถอนคำร้องทุกข์จึงมิใช่กรณีตาม  ป.วิ.อาญา มาตรา  126  ที่พนักงานสอบสวนจะถูกจำกัดอำนาจในการสอบสวนได้  ไม่ถือว่าเป็นการถอนคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย  ดังนั้น  พนักงานสอบสวนจึงต้องทำการสอบสวนต่อไป

ข้อ  4   ขาวร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับดำในความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน  พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ตามระเบียบแล้วทำการสอบสวนโดยไม่สามารถจับตัวดำมาสอบสวนในฐานะผู้ต้องหา  การสอบสวนเสร็จแล้วไม่มีพยานหลักฐานว่าดำกระทำความผิดดังกล่าว  ดังนี้  ถ้าท่านเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนจะมีความเห็นทางคดีนี้ได้อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  141  วรรคแรก  ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิด  แต่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้  เมื่อได้รับความตามทางสอบสวนอย่างใด  ให้ทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนพนักงานอัยการ

วินิจฉัย

กรณีรู้ตัวผู้กระทำความผิด  แต่เรียกตัวหรือจับตัวยังไม่ได้  เมื่อได้ความตามทางสอบสวนอย่างใด  ให้ทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง  ซึ่งจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่สามารถจับตัวดำผู้ต้องหามาสอบสวนได้และเมื่อได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วปรากฏว่าไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าดำกระทำความผิดดังกล่าว  ดังนั้น  พนักงานสอบสวนจะต้องทำความเห็นว่าควรสั่งไม่ฟ้องพร้อมกับสำนวนส่งไปยังพนักงานอัยการ  ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  141  วรรคแรก    

Advertisement