การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3012 กฎหมายปกครอง 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  หลักการกระจายอำนาจปกครองหมายถึงอะไร  และมีวิธีกระจายอำนาจปกครองจำแนกได้กี่วิธี  ขอให้อธิบายพร้อมยกตัวอย่างถึงความแตกต่างในวิธีกระจายอำนาจปกครองดังกล่าวมาด้วย

ธงคำตอบ

หลักการกระจายอำนาจปกครอง  (Decentralization)  หมายถึง  วิธีการที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรทางการปกครองอื่นนอกจากองค์กรของราชการบริหารส่วนกลาง  เพื่อจัดทำบริการสาธารณะบางอย่าง  โดยมีอิสระตามสมควร  ซึ่งองค์กรทางการปกครองนั้นไม่ต้องขึ้นอยู่ในความบังคับบัญชาของส่วนกลาง  เพียงแต่ขึ้นอยู่ในความกำกับดูแลเท่านั้น  กล่าวอีกนับหนึ่งก็คือ  รัฐ

มอบอำนาจหน้าที่บางอย่างในการจัดทำบริการสาธารณะซึ่งเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินงานอยู่ในท้องถิ่นหรือองค์กรอันมิได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในราชการบริหารส่วนกลางรับไปดำเนินการด้วยงบประมาณ  และเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นหรือองค์กรนั้นเอง  โดยราชการบริหารส่วนกลาง

เพียงแต่ควบคุมดูแลเท่านั้น  ไม่ได้เข้าไปบังคับบัญชาสั่งการ         

ตามหลักการกระจายอำนาจปกครองนั้น  ได้มีการจำแนกวิธีกระจายอำนาจในทางปกครองได้  2  วิธี  คือ

1       การกระจายอำนาจปกครองตามอาณาเขต  หรือการกระจายอำนาจปกครองให้แก่ท้องถิ่น

เป็นวิธีการกระจายอำนาจให้แก่ส่วนท้องถิ่น  โดยให้ส่วนท้องถิ่นได้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาแยกต่างหากจากส่วนกลางและให้มีสภาพเป็นนิติบุคคล  แล้วส่วนกลางก็จะมอบอำนาจให้องค์กรส่วนท้องถิ่นนั้นไปดำเนินจัดทำกิจการบริการสาธารณะ  ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้กำหนดไว้  โดยจะมีการกำหนดขอบเขตหรือพื้นที่ไว้  ซึ่งโดยหลักทั่วไปองค์กรส่วนท้องถิ่นนั้นก็จะไปจัดทำกิจการนอกเขตหรือนอกพื้นที่ที่กำหนดไว้ไม่ได้  นอกจากจะมีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้โดยเฉพาะ

วิธีกระจายอำนาจปกครองวิธีนี้เป็นวิธีกระจายอำนาจปกครองให้แก่ท้องถิ่นโดยการมอบบริการสาธารณะหลายๆอย่างให้แก่ท้องถิ่นไปจัดทำโดยเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเอง  และด้วยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ 

ตัวอย่างของการกระจายอำนาจปกครองให้แก่ท้องถิ่น  ได้แก่  เทศบาล  องค์การบริหารส่วนตำบล  องค์การบริหารส่วนจังหวัด  กรุงเทพมหานคร  และเมืองพัทยา  ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง  และสามารถดำเนินการบริการสาธารณะได้โดยอิสระ  ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาแต่อยู่ภายใต้อำนาจกำกับดูแลของส่วนกลาง

2       การกระจายอำนาจตามกิจการ 

เป็นวิธีกระจายอำนาจโดยการที่ส่วนกลางจะมอบบริการสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวให้แก่องค์กรที่มีการจัดตั้งขึ้นโดยมิได้อยู่ในสังกัดของส่วนกลาง  ได้แก่  องค์การของรัฐ  รัฐวิสาหกิจ  และองค์การมหาชน  รับไปดำเนินงานด้วยเงินทุนและด้วยเจ้าหน้าที่ขององค์การนั้นๆ  เช่น  การมอบอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเดินรถไฟทั่วประเทศให้แก่องค์การของรัฐคือการรถไฟแห่งประเทศไทย  หรือการมอบอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง  หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  เป็นต้น

วิธีกระจายอำนาจตามกิจการนี้  จะแตกต่างกับวิธีกระจายอำนาจตามอาณาเขต  เพราะการกระจายอำนาจตามกิจการนี้  ส่วนกลางจะมอบให้องค์การต่างๆ  ไปจัดทำบริการสาธารณะเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น  และโดยหลักจะไม่มีการกำหนดอาณาเขตหรือพื้นที่ไว้  แต่การกระจายอำนาจให้แก่ส่วนท้องถิ่นนั้น  ส่วนกลางจะมอบอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะหลายๆอย่างให้แก่องค์กรส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการ  และจะมีการกำหนดอาณาเขตหรือพื้นที่ไว้ด้วย  และการกระจายอำนาจตามกิจการจะไม่ถือการเลือกตั้งผู้บริหารเป็นเงื่อนไขในการจัดตั้งองค์กรที่ได้รับการกระจายอำนาจ  ซึ่งต่างจากการกระจายอำนาจตามอาณาเขตที่ผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

 


ข้อ  2  ตาม  พ.ร.บ.  ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ.2535  นั้น  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ข้าราชการพลเรือนจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาไว้หรือไม่อย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ.2535  มาตรา  88  บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการโดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง  แต่ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะทำให้เสียหายแก่ราชการหรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการ  จะเสนอความเห็นเป็นหนังสือทันทีเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้นก็ได้  และเมื่อได้เสนอความเห็นแล้ว  ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม  ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตาม

การขัดคำสั่งหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ  อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง  เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ตามหลักกฎหมายดังกล่าว  กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการโดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง  ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนนั้นจะต้องอยู่ในบังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาตามสายงานเป็นขั้นๆไป  ดังนั้นผู้บังคับบัญชาจึงต้องมีอำนาจสั่งงานและควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติงานโดยเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้าข้าราชการพลเรือนผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะทำให้เสียหายแก่ราชการ  หรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการจะเสนอความเห็นเป็นหนังสือทันทีเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้นก็ได้  และเมื่อได้เสนอความเห็นแล้ว  ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม  ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตาม

การขัดคำสั่งหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา  ซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการถ้าคำสั่งนั้นเป็นการสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ  และการขัดคำสั่งหรือหลีกเลี่ยงนั้น  เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง  ถือว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง  อาจมีโทษถึงปลดออกหรือไล่ออก 

 


ข้อ  3  “คำสั่งทางปกครอง”  หมายถึงอะไร  ในกรณีที่คู่กรณีเห็นว่าคำสั่งของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรมต่อตน  จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้หรือไม่อย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ตาม  พ.ร.บ.  วิธีพิจารณาราชการทางปกครอง  พ.ศ.  2539  มาตรา  5  คำสั่งทางปกครอง  หมายความว่า

(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  ระงับ  หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล  ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว  เช่น  การสั่งการ  การอนุญาต  การอนุมัติ  การวินิจฉัย  อุทธรณ์  การรับรอง  และการรับจดทะเบียน  แต่ไม่ไหมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กำหนดในกระทรวง

ในกรณีเห็นว่าคำสั่งของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  หรือไม่เป็นธรรมต่อตน  ย่อมสามารถอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้  คือ

1       คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี  และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ  ให้คู่กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนั้นยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านเป็นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง  ภายในกำหนด  15  วัน  นับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งโดยต้องระบุข้อโต้แย้ง  ข้อเท็จจริง  หรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย (มาตรา  44  วรรคแรก ปละวรรคสอง)

2       ให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองพิจารณาคำอุทธรณ์  และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้าแต่ต้องไม่เกิน  30  วัน  นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ (มาตรา 45)

1)    ในกรณีที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครอง  ตามความเห็นของตนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว (มาตรา 45)

2)    ถ้าไม่เห็นด้วยก็ให้รายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว (มาตรา 45)

3)    ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน  โดยถ้ามีเหตุจำเป็นอาจขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้อีกไม่เกิน 30 วัน  นับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว (มาตรา 45)

3       ในการพิจารณาอุทธรณ์ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองได้  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง  ข้อกฎหมาย  หรือความเหมาะสมของการทำคำสั่งปกครอง  และอาจมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเดิม  หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นไปทางใด  ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มหรือลดภาระหรือใช้ดุลพินิจแทนในเรื่องความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครอง  หรือมีข้อกำหนดเป็นเงื่อนไขอย่างไรก็ได้ (มาตรา 46)

4       การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง  เว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นเอง  ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์หรือผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องของคำสั่งทางปกครองดังกล่าว (มาตรา 44 วรรคท้าย)

 


ข้อ  4  เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองหมายถึงอะไร  และขอให้ท่านอธิบายถึงเงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิของผู้ฟ้องคดีและความสามารถของผู้ฟ้องคดีโดยยกหลักกฎหมายประกอบมาด้วย

ธงคำตอบ

เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง  หมายถึง  เงื่อนไขทุกประการเกี่ยวกับคำฟ้องและผู้ฟ้องคดีที่จะต้องปฏิบัติตามให้ครบ  เพื่อที่ศาลจะสามารถรับคำฟ้องไว้พิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีต่อไป

และตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯข้อ37  ได้กำหนดไว้ว่า  ถ้าคำฟ้องใดเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนเพราะขาดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง  ซึ่งผู้ฟ้องคดีอาจแก้ไขได้  ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด  หากผู้ฟ้องคดีไม่ยอมแก้ไขหรือเป็นกรณีที่ไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้  ศาลโดยองค์คณะจะสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณา  และสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ.2542  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองต่อศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้ฟ้องคดี  และความสามารถของผู้ฟ้องคดีไว้ดังนี้

(ก)   ผู้มีสิทธิฟ้องคดี

หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ศาลปกครองใช้ในการพิจารณาในเรื่องนี้นั้น  กำหนดไว้ในมาตรา  42  วรรคแรก  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ  ซึ่งบัญญัติว่า  ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้  ซึ่งจะเห็นได้ว่า  หลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองจะใช้ในการพิจารณากว้างกว่าการพิจารณาเฉพาะเรื่อง  สิทธิ  ของผู้นำคดีมาฟ้อง  โดยต้องถือเกณฑ์เรื่อง  ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสีย  เป็นหลักว่า  เมื่อใดมีการกระทบกระเทือนต่อประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสีย  ก็ฟ้องคดีได้และระดับของ  ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสีย  นั้นก็ยืดหยุ่นตามลักษณะของคดีที่จะนำมาฟ้องต่อศาล

(ข)  ความสามารถในการฟ้องคดี

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ  มิได้มีบทบัญญัติเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีไว้ให้ชัดเจน  ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นที่เข้าใจว่า กฎหมายประสงค์ที่จะให้เป็นไปตามหลักปกติที่มีการใช้กันอยู่คือ  ความสามารถในการฟ้องคดีแพ่ง  และต้องพิจารณากฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะแล้วสำหรับเรื่องทางปกครอง  คือ  มาตรา  22  แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ.2539 ซึ่งได้บัญญัติหลักไว้ว่า  ผู้มีความสามารถกระทำการในกระบวนการพิจารณาทางปกครองได้  จะต้องเป็น

(1)  ผู้ซึ่งบรรลุนิติภาวะ

(2) ผู้ซึ่งมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดให้มีความสามารถกระทำการในเรื่องที่กำหนดได้แม้ผู้นั้นจะยังไม่บรรลุนิติหรือความสามารถถูกจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

(3) นิติบุคคลหรือคณะบุคคลตามมาตรา 21 โดยผู้แทนหรือตัวแทน  แล้วแต่กรณี

(4) ผู้ซึ่งมีประกาศของนายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายในราชกิจจานุเบกษา  กำหนดให้มีความสามารถกระทำการในเรื่องที่กำหนดได้  แม้ผู้นั้นจะยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือความสามารถถูกจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

Advertisement