การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3012 กฎหมายปกครอง 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  บริการสาธารณะมีความหมายว่าอย่างไร  และมีกี่ประเภท  จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคำตอบ

1       ความหมายของบริการสาธารณะ

กิจกรรมที่จะถือว่าเป็นบริการสาธารณะนั้นจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไข  2  ประการ  คือ

1)    จะต้องเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในกฎหมายมหาชนหรือนิติบุคคลมหาชน  ซึ่งหมายถึง  นิติบุคคลมหาชนเป็นผู้ประกอบกิจกรรมด้วยตนเอง  อันได้แก่  กิจกรรมที่รัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ดำเนินการ  และยังหมายความรวมถึงกรณีที่รัฐมอบกิจกรรมของรัฐบางประเภทให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ  โดยฝ่ายปกครองใช้อำนาจกำกับดูแลบางประการและอยู่ภายใต้ระบบพิเศษด้วย

2)    จะต้องเป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะและตอบสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

2       ประเภทของบริการสาธารณะ

บริการสาธารณะแบ่งออกเป็น  3  ประเภทใหญ่ๆดังนี้  คือ

1)    บริการสาธารณะปกครอง

บริการสาธารณะปกครอง  คือ  กิจการรมที่โดยสภาพแล้วเป็นงานในหน้าที่ของฝ่ายปกครองที่จะต้องจัดทำเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องการดูแลความปลอดภัยและความสงบสุขของชุมชน  ที่รัฐหรือฝ่ายปกครองจัดทำให้ประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  และนอกจากนี้  เนื่องจากเนื้อหาของบริการสาธารณะทางปกครองจะเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่เฉพาะของฝ่ายปกครองที่ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษ  รวมทั้งอำนาจพิเศษของฝ่ายปกครองตามกฎหมายมหาชนในการจัดทำบริการสาธารณะด้วย  ดังนั้นบริการสาธารณะประเภทนี้  ฝ่ายปกครองจึงไม่สามารถมอบให้องค์กรอื่นหรือเอกชนเข้ามาดำเนินการแทนได้

ตัวอย่างบริการสาธารณะทางปกครองดังกล่าวข้างต้น  เช่น  กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบภายใน  การป้องกันประเทศ  การสาธารณสุข  การอำนวยความยุติธรรม  การต่างประเทศ  และการคลัง  เป็นต้น  ซึ่งแต่เดิมนั้น  บริการสาธารณะทุกประเภทจัดว่าเป็นบริการสาธารณะทางปกครองทั้งสิ้น  แต่ต่อมาเมื่อกิจกรรมเหล่านี้มีมากขึ้น  และมีรูปแบบและวิธีการในการจัดทำที่แตกต่างกันออกไป  จึงเกิดประเภทใหม่ๆของบริการสาธารณะขึ้นมาอีก

2)    บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม

บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม  คือ  บริการสาธารณะที่เน้นทางด้านการผลิต  การจำหน่าย  การให้บริการ  และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับดังเช่นกิจการของเอกชน  (วิสาหกิจเอกชน)  ซึ่งมีความแตกต่างกับบริการสาธารณะทางปกครองอยู่ด้วยกัน  4 ประการ  คือ

(1) วัตถุแห่งบริการ  บริการสาธารณะทางปกครองจะมีวัตถุแห่งบริการเพื่อสนองความต้องการของประชาชนในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว  ส่วนบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมนั้น  มีวัตถุแห่งบริการด้านเศรษฐกิจเหมือนกับวิสาหกิจเอกชน  คือ  เน้นทางด้านการผลิต  การจำหน่าย  การให้บริการ  และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับดังเช่นกิจการของเอกชน

(2) วิธีปฏิบัติงาน  บริการสาธารณะทางปกครองจะมีวิธีปฏิบัติงานที่รัฐสร้างขึ้นมาเป็นแบบเดียวกัน  มีระบบบังคับบัญชาซึ่งใช้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคน  ในขณะที่บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมจะมีวิธีปฏิบัติงานที่สร้างขึ้นมาเองแตกต่างไปจากบริการสาธารณะที่มีลักษณะทางปกครอง  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเหมาะสมในการดำเนินการ

(3) แหล่งที่มาของเงินทุน  บริการสาธารณะทางปกครองจะมีแหล่งที่มาของเงินทุนจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว  โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบเงินทุนทั้งหมดที่นำมาใช้จ่ายในการดำเนินการ  ส่วนบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมนั้น  แหล่งรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากค่าตอบแทนการบริการของผู้ใช้บริการ

(4) ผู้ใช้บริการ  สถานภาพของผู้ใช้บริการสาธารณะทางปกครองนั้นจะถูกกำหนดโดยกฎข้อบังคับทั้งหมด  ซึ่งรวมตั้งแต่การกำหนดองค์กร  การจัดองค์กร  และการปฏิบัติงาน  ดังนั้น  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการสาธารณะประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขและไม่เท่าเทียมกัน  ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการของบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมจะมีลักษณะเสมอภาคกัน  เพราะถูกกำหนดโดยสัญญาตามกฎหมายเอกชน

3)    บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม

บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม  คือ  บริการสาธารณะที่เป็นการให้บริการทางสังคมและวัฒนธรรมที่ต้องการความอิสระคล่องตัวในการทงานโดยไม่มุ่นเน้นการแสวงหากำไร  เช่น  การแสดงนาฏศิลป์  พิพิธภัณฑ์  การกีฬา  การศึกษาวิจัยฯ

 


ข้อ  2  ในกรณี   
คำสั่งทางปกครอง  และ  คำสั่งทั่วไปทางปกครอง  ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อนฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง  ผู้ฟ้องคดีจะต้องดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวก่อนหรือไม่  อย่างไร  จงอธิบายและยกเหตุผลทางกฎหมายประกอบคำตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคำตอบ

ตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  มาตรา  44  วรรคแรก  ภายใต้บังคับมาตรา  48  ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี  และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองเป็นการเฉพาะ  ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวัน  นับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว

ตาม  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ.  2542  มาตรา  42  วรรคท้าย  ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ  การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว  และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้นหรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

อธิบาย

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง  โดยหลักแล้วก่อนที่จะนำไปสู่การฟ้องขอให้เพิกถอนหรือยกเลิก  ต้องมีการอุทธรณ์ภายในต่อฝ่ายปกครองก่อน  เพื่อให้ฝ่ายปกครองได้ตรวจสอบทบทวนคำสั่งทางปกครองของตนอีกครั้งหนึ่งว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เว้นแต่กรณีที่กฎหมายกำหนดว่าไม่ต้องอุทธรณ์ตาม  พ.ร.บ.  จัดดั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542  มาตรา  42  วรรคท้าย  กล่าวคือ  หากเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ  การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว  และมีการสั่งการตามกฎหมายนั้นหรือมิได้สั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด

ประเด็นที่  1  กรณี  คำสั่งทางปกครอง  ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ก่อนฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนหรือยกเลิก  พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ.2539  มาตรา  44  กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  คำสั่งทางปกครองใดที่ไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการ  (มาตรา  48)  และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ  ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายใน  15  วัน  นับแต่วันที่ตนได้รับคำสั่งดังกล่าว  โดยคำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วยก่อน  ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองนั้นสั่งการตามกฎหมายนั้นหรือมิได้สั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนดจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองต่อไปได้

ส่วนคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยรัฐมนตรี  (มาตรา  44  วรรคแรก)  หรือคณะกรรมการ  (มาตรา  48)  ไม่อยู่ในบังคับต้องอุทธรณ์ก่อน สามารถเสนอคดีต่อศาลปกครองให้พิจารณาได้เลย  เพราะรัฐมนตรีเป็นองค์กรสูงสุดในฝ่ายปกครองแล้ว  การจัดให้มีระบบอุทธรณ์บังคับจึงไม่อาจกระทำได้  ส่วนคณะกรรมการก็เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจทางปกครองโดยเฉพาะและไม่อยู่ในระบบสายการบังคับบัญชา  คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการจึงเป็นที่สุดโดยไม่ต้องมีการอุทธรณ์ต่อองค์กรภายในฝ่ายปกครองอีกเช่นกัน

ประเด็นที่  2  กรณี  คำสั่งทางปกครองทั่วไป  ซึ่งมีองค์ประกอบสาระสำคัญทางกฎหมายที่แตกต่างออกไปจากคำสั่งทางปกครอง  กล่าวโดยสรุปคือ  แม้จะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ทางกฎหมายและมีผลมุ่งหมายให้ใช้บังคับกรณีหนึ่งกรณีใดเป็นการเฉพาะ  แต่กรณีเป็นการบังคับทั่วไปโดยมิได้ระบุเฉพาะเจาะจงตัวบุคคลผู้รับคำสั่งทางปกครอง

ดังนั้นเมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการไว้โดยเฉพาะ  ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า  คำสั่งทางปกครองทั่วไป  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ผู้ฟ้องคดีจึงใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์ทั้งนี้ถือว่าผู้ฟ้องคดีไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตาม  พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการปกครอง  พ.ศ.  2539  มาตรา  44

 


ข้อ  3  นายแพทย์แดงแพทย์ประจำโรงพยาบาลจังหวัดพัทลุงได้ทำการรักษาแผลถูกแมลงกัดของนายดำ  แต่ได้บกพร่องในการรักษาพยาบาลเป็นเหตุให้แผลที่ขาลุกลามจนต้องตัดขาทิ้ง  นายดำจึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อแพทยสภาฯ  จากการสอบสวนข้อเท็จจริงแพทยสภาฯ  เห็นว่านายแพทย์แดงได้รักษาถูกต้องตามหลักการแพทย์และมิได้กระทำผิดวินัยหรือจรรยาบรรณแพทย์แต่อย่างใด  จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องและแจ้งเป็นหนังสือให้นายดำทราบ  ต่อมานายดำจึงได้ยื่นคำร้องขอให้แพทยสภาฯทบทวนคำสั่งดังกล่าวอีกครั้ง  ซึ่งแพทยสภาฯ  ได้ยืนยันในคำสั่งเดิมหลังจากนั้น  15  วัน  หากนายดำประสงค์จะฟ้องแพทยสภาเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของแพทยสภาฯ  เพราะเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่านายดำจะฟ้องแพทยสภาฯ  เป็นคดีต่อศาลปกครองในกรณีนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

 ธงคำตอบ

ตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  มาตรา  5  ในพระราชบัญญัตินี้

คำสั่งทางปกครอง  หมายความว่า

(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  ระงับ  หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว  เช่น  การสั่งการ  การอนุญาต  การอนุมัติ  การวินิจฉัยอุทธรณ์  การรับรอง  และการรับจดทะเบียน  แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

ตาม  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง    พ.ศ. 2542  มาตรา  9  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่อง  ดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  คำสั่ง  หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่  หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น  หรือโดยไม่สุจริต  หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม  หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร  หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

มาตรา  42  วรรคแรก  ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย  หรืออาจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง  หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา  9  และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือข้อยุติข้อโต้แย้งนั้นต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา  72  ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

มาตรา  72  ในการพิพากษาคดีศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วน  ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกำหมายตามมาตรา  9  วรรคแรก (1)

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  นายดำจะฟ้องแพทยสภาฯ  เป็นคดีต่อศาลปกครองได้หรือไม่  เห็นว่า  แพทยสภาเป็นองค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพ  และเป็นองค์กรที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการควบคุมตรวจสอบการรักษาคนไข้ของแพทย์  จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามคำนิยามใน  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542

การที่แพทยสภาฯ  เห็นว่านายแพทย์แดงได้รักษาถูกต้องตามหลักการแพทย์และมิได้กระทำผิดวินัยหรือจรรยาบรรณแพทย์  และมีคำสั่งให้ยกคำร้อง  และยังมีคำสั่งยืนยันในคำสั่งเดิมที่นายดำขอให้ทบทวน  คำสั่งดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล  จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา  5  แห่ง  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการปกครอง  พ.ศ. 2539  เมื่อนายดำเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย  คดีนี้จึงถือเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่มีลักษณะเป็นคดีปกครอง  นายดำผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย  อันเนื่องจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองซึ่งก็คือแพทยสภา  จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของแพทยสภาได้  ตามมาตรา  9  วรรคแรก  (1)  ประกอบมาตรา  42  วรรคแรก  และมาตรา  72 (1)  แห่ง  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครอง ฯ

สรุป  นายดำสามารถฟ้องแพทยสภาฯ  เป็นคดีต่อศาลปกครองได้

ข้อสังเกตุ  คำสั่งของแพทยสภาดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการ  จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับให้ต้องอุทธรณ์คำสั่งก่อนที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง  ตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ  มาตรา  44  ประกอบ  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองฯ  มาตรา  42  วรรคท้ายแต่อย่างใด  (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่  931/2549,  405/2549)

 


ข้อ  4  ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ  ได้มีคำสั่งเป็นหนังสือให้นายทองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฯ  พ้นจากตำแหน่ง  ตามที่นายอำเภอฯ  มีหนังสือเสนอให้พ้นจากตำแหน่งและแจ้งให้ทราบถึงรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนฯ  ตามที่ได้มีผู้ร้องเรียน  ซึ่งคณะกรรมการฯ  ได้สอบสวนหาข้อมูลในทางลับสรุปผลว่านายทองมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลตามที่มีการร้องเรียนจริง  ต่อมานายอำเภอฯ  จึงได้มีคำสั่งประกาศให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฯ  แทนตำแหน่งนายทอง  ในกรณีนี้  นายทองเห็นว่าคณะกรรมการฯ มิได้แจ้งให้ตนทราบข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหาซึ่งทำให้ไม่สามารถโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนได้  ดังนั้นหากนายทองประสงค์จะฟ้องกรณีนี้เป็นคดีต่อศาลปกครองโดยขอให้ศาลฯ  เพิกถอนคำสั่งฯ  ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ  ที่ได้พ้นจากตำแหน่งฯ  และมีคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งฯ  รวมทั้งขอให้ศาลฯ  มีคำสั่งให้ตนดำรงตำแหน่งฯจนกว่าจะมีคำพิพากษาด้วย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าศาลปกครองมีอำนาจที่จะรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาและจะมีคำสั่งตามคำขอทุเลาในกรณีนี้ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

ตาม  พ.ร.บ.  สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล  (ฉบับที่  5)  พ.ศ. 2546  มาตรา  92  หากปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล  กระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่  ให้นายอำเภอดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว  ในกรณีที่ผลการสอบสวนปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล  มีพฤติกรรมดังกล่าวจริง  ให้นายอำเภอเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง  ทั้งนี้  คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุด

ตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  มาตรา  30  วรรคแรก  ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน

ตาม  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542  มาตรา  9  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่อง  ดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  คำสั่ง  หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่  หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น

มาตรา  42  วรรคแรก  ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย  หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง  หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา  9  และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้นต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา  72  ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

มาตรา  66  ในกรณีที่ศาลปกครองเห็นสมควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ  เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี  ไม่ว่าจะมีคำร้องขอจากบุคคลดังกล่าวหรือไม่  ให้ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวและออกคำสั่งไปยังหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติได้  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด

มาตรา  72  ในการพิพากษาคดีศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วน  ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  9  วรรคแรก (1)

วินิจฉัย

1       ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจให้นายทองพ้นจากตำแหน่งตามที่นายอำเภอเสนอได้  และคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าวนั้นให้เป็นที่สุดตามมาตรา  92  แห่ง  พ.ร.บ.  สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล  (ฉบับที่  5)  พ.ศ.2546

2       การที่คณะกรรมการฯ  มิได้แจ้งให้นายทองทราบข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหาซึ่งทำให้ไม่สามารถโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนได้เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา  30  แห่ง  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539

3       เมื่อนายทองเห็นว่าคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น  นายทองสามารถนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าวได้ตาม  พ.ร.บ จัดตั้งศาลปกครองฯ  มาตรา  9  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  72(1)  เนื่องจากเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา  42  วรรคแรก

(กรณีนี้คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด  กฎหมายได้บัญญัติให้เป็นที่สุดแล้ว  (คือให้ถือว่าเป็นที่สุดภายในของฝ่ายปกครอง)  ดังนั้นการจะนำคดีมาฟ้องจึงไม่ต้องอุทธรณ์ก่อนตามมาตรา  42  วรรคท้ายแต่อย่างใด  ศาลปกครองมีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้)

4       คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้นายทองพ้นจากตำแหน่งโดยประการน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และหากจะให้คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปโดยให้มีการเลือกตั้งใหม่  หากต่อมามีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวก็จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การเยียวยาภายหลัง  ศาลปกครองชอบที่จะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับที่ให้นายทองพ้นจากตำแหน่งเป็นการชั่วคราวตาม  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองฯ  มาตรา  66  ประกอบระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ.2543  ข้อ  69  ประกอบกับข้อ  72  ที่ว่า  ในกรณีที่ศาลเห็นว่าคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและการให้คำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง  ทั้งการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริการงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ  ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองได้ตามที่เห็นสมควร

สรุป  ศาลปกครองมีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณา  และสามารถมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดในกรณีนี้ได

Advertisement