การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่  1234  เป็นของโจทก์  ถูกฝ่ายจำเลยบุกรุกเข้าครอบครอง  จำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์  ทั้งยังต่อสู้ว่าเป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่  1342  อันเป็นที่ดินของฝ่ายจำเลย  คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไร  และฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบ  จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  84  วรรคแรก  ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ  เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง

มาตรา  1373  ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง

วินิจฉัย

ประเด็นข้อพิพาท  หมายถึง  ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ  และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ  ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว  ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

คดีมีประเด็นข้อพิพาทอย่างไรนั้น  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์ที่ว่า  ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 1234  เป็นของโจทก์  ถูกฝ่ายจำเลยบุกรุกเข้าครอบครอง  และจากคำการของจำเลยที่ปฏิเสธไม่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์  ทั้งยังต่อสู้ว่าเป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่  1342  อันเป็นที่ดินของฝ่ายจำเลย  ดังนี้  ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่า  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตโฉนดของฝ่ายใด  (ฎ . 1992/2511)

สำหรับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  84  (ปัจจุบันคือมาตรา  84/1)  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด  ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ  เมื่อโจทก์เป็นผู้กล่าวอ้าง  จำเลยให้การปฏิเสธ  โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบตามหลัก  ป.วิ.พ.  มาตรา  84 (ปัจจุบันคือมาตรา  84/1)  และในกรณีดังกล่าวนี้  ย่อมไม่อาจปรับเข้าข้อสันนิษฐานตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1373  ว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองได้  เพราะไม่ใช่เป็นการพิพาทกันว่า  ใครมีสิทธิดีกว่ากันในที่ดินที่มีโฉนด  แต่เป็นการพิพาทกันว่าที่พิพาทอยู่ในโฉนดของฝ่ายใด  (ฎ. 2227/2533)

สรุป  คดีมีประเด็นข้อพิพาท  คือ  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตโฉนดของฝ่ายใด  และหน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาทตกแก่โจทก์

 

ข้อ  2  ในคดีอาญาเรื่องหนึ่ง  ระหว่างสืบพยานโจทก์  ทนายจำเลยถามค้านว่าพยานร่วมกับจำเลยค้าของผิดกฎหมายด้วยกันแล้วผิดใจกันจริงไหม  ทนายโจทก์คัดค้านไม่ให้ทนายจำเลยถามค้านเช่นนี้  ถ้าท่านเป็นศาล  ท่านจะอนุญาตให้ทนายจำเลยถามค้านเช่นนั้นหรือไม่

ธงคำตอบ

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  15  วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้

มาตรา  234  พยานไม่ต้องตอบคำถามซึ่งโดยตรงหรืออ้อม  อาจจะทำให้เขาถูกฟ้องคดีอาญาเมื่อมีคำถามเช่นนั้น  ให้ศาลเตือนพยาน

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  118  วรรคสาม  ไม่ว่าในกรณีใดๆ  ห้ามไม่ให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถามพยานด้วย

(2) คำถามที่อาจทำให้พยาน  หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกต้องรับโทษทางอาญา  หรือคำถามที่เป็นหมิ่นประมาทพยาน  เว้นแต่คำถามเช่นว่านั้นเป็นข้อสาระสำคัญในอันที่จะชี้ขาดข้อพิพาท

วินิจฉัย

ตาม  ป.วิ.อ.  มาตรา  234  ได้ให้สิทธิแก่พยานที่ไม่ต้องตอบคำถามไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม  ซึ่งอาจทำให้พยานนั้นถูกฟ้องเป็นคดีอาญาได้  หากมีคำถามเช่นว่านั้นศาลต้องเตือนพยานให้รู้ตัว  และ  ป.วิ.อ.  มาตรา  15  ประกอบ  ป.วิ.พ.  มาตรา  118  วรรคสาม  (2) ก็ได้วางหลักห้ามมิให้คู่ความฝ่ายหนึ่งถามพยานด้วยคำถามอันอาจทำให้พยานต้องรับโทษทางอาญาหรือคำถามที่เป็นการหมิ่นประมาทพยาน  ไม่ว่ากรณีใดๆเว้นแต่  คำถามนั้นเป็นข้อสาระสำคัญในอันที่จะชี้ขาดข้อพิพาทหรือตัดสินคดี

การที่ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ว่า  พยานร่วมกับจำเลยค้าของผิดกฎหมายด้วยกันแล้วผิดใจกันจริงไหม  เห็นได้ชัดว่าเป็นคำถามที่อาจทำให้พยานถูกฟ้องเป็นคดีอาญาและอาจต้องโทษทางอาญาได้หากพยานถูกฟ้อง  เพราะการค้าของผิดกฎหมายเป็นความผิดตามกฎหมายและมีโทษทางอาญา  และเป็นคำถามที่เป็นการหมิ่นประมาทพยานอีกด้วย  ทั้งคำถามเช่นว่านั้นก็มิได้เป็นข้อสาระสำคัญในอันที่จะชี้ขาดข้อพิพาทหรือตัดสินคดีทนายจำเลยจึงไม่อาจค้านพยานโจทก์ได้ตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  118  วรรคสาม  (2)  ประกอบ  ป.วิ.อ. มาตรา  15  และศาลต้องไม่อนุญาต

สรุป  หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์เช่นนั้น

 


ข้อ  3  แดงฟ้องดำให้รับผิดตามสัญญากู้เงินจำนวน  
500,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ  20  ต่อปี  ซึ่งเป็นอัตราพิเศษตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย  ในวันยื่นบัญชีระบุพยานปรากฏว่า  แดงได้ระบุสัญญาเงินกู้เป็นพยานหลักฐานอย่างเดียวโดยมิได้ระบุประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย   ในวันสืบพยานแดงติดธุระจึงทำหนังสือแต่งตั้งนายเขียวทนายความเป็นผู้กระทำการแทน  นายเขียวได้ส่งสำเนาหนังสือสัญญากู้ให้กับนายดำ  แต่มิได้ส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและหนังสือมอบอำนาจของนายแดงแก่นายดำ  เมื่อถึงวันสืบพยาน  นายเขียวขอนำสืบถึงประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย  นายดำคัดค้านและคำคัดค้านในข้อที่ว่า  มิได้ส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจแก่นายดำด้วย  อยากทราบว่า  ข้อคัดค้านของนายดำรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

มาตรา  88  วรรคแรกและวรรคท้าย  เมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใดหรือคำเบิกความของพยานคนใด  หรือมีความจำนงที่จะให้ศาลตรวจบุคคล  วัตถุ  สถานที่  หรืออ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้ง  เพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้าง  หรือข้อเถียงของตน  ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันซึ่งบัญชีระบุพยานโดยแสดงหรือสภาพของเอกสารที่จะอ้าง  และรายชื่อที่อยู่ของบุคคล  วัตถุ  หรือสถานที่ซึ่งคู่ความฝ่ายนั้นระบุอ้างเป็นพยาน  หรือขอให้ศาลไปตรวจ  หรือขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญแล้วแต่กรณี  พร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวในจำนวนที่เพียงพอ  เพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล

เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้วแต่กรณี  ได้สิ้นสุดลงแล้ว  ถ้าคู่ความฝ่ายใดซึ่งได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว  มีเหตุอันสมควรแสดงได้ว่าตนไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตนหรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใด  หรือถ้าคู่ความฝ่ายใดซึ่งมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า  มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้  คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวไม่ว่าเวลาใดๆ  ก่อนพิพากษาคดีและถ้าศาลเห็นว่า  เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเดนเป็นไปโดยเที่ยงธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น  ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง

มาตรา  90  วรรคแรก  ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อถกเถียงของตนตามมาตรา  88  วรรคหนึ่ง  ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

วินิจฉัย

การที่จะนำพยานหลักฐานเข้าสืบนั้น  ต้องเป็นไปตามที่  ป.วิ.พ.  มาตรา  88  กำหนดไว้  กล่าวคือ  จะต้องยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า  7  วัน  โดยยื่นพร้อมสำเนาบัญชีระบุพยานเพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล  (ป.วิ.พ. มาตรา  88  วรรคแรก)  แต่ถ้ามิได้ยื่นภายในกำหนดอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดได้  และถ้าศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมจำเป็นต้องสืบพยานเช่นว่านั้น  ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง  (ป.วิ.พ. มาตรา  88 วรรคสาม)

อนึ่ง  ในการยื่นบัญชีระบุพยาน  ถ้าเป็นพยานเอกสารจะต้องมีการส่งสำเนาพยานเอกสารแก่ศาลและคู่ความฝ่ายอื่น  จึงจะมีสิทธิขอสืบตามพยานเอกสารดังกล่าวได้ (ป.วิ.พ. มาตรา  90)

เมื่อได้ความว่า  แดงโจทก์ให้ดำจำเลยกู้เงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ  20  ต่อปี  ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย  ประกาศดังกล่าวจึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์จะต้องนำสืบและเป็นพยานเอกสารที่โจทก์จะต้องระบุในบัญชีระบุพยาน  พร้อมทั้งสำเนาให้แก่ศาลและคู่ความตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  90  การที่โจทก์ไม่ระบุอ้างประกาศธนาคารฯ  ดังกล่าวเป็นพยานในบัญชีระบุพยาน  จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  88  ประกาศดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้  ต้องห้ามตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  88  วรรคแรก  (ฎ. 2043/2540)  ทั้งกรณีไม่เข้าตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  88  วรรคสามแต่อย่างใด  คำคัดค้านของโจทก์ในกรณีนี้จึงรับฟังได้

ส่วนกรณีหนังสือมอบอำนาจนั้น  ถือเป็นกิจการส่วนตัวซึ่งไม่มีผลเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีที่ฟ้องร้องกันอยู่  เพราะพยานเอกสารดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของโจทก์  แม้จะมิได้ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานและส่งสำเนาให้จำเลยก็ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟัง  กรณีไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติ  ป.วิ.พ. มาตรา  88  และมาตรา  90  ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้  (ฎ. 3470/2538, ฎ.1129/2499)  คำคัดค้านของนายดำในกรณีนี้จึงรับฟังไม่ได้

สรุป  คำคัดค้านของนายดำจึงรับฟังได้เฉพาะกรณีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย  เนื่องจากมิได้มีการระบุในบัญชีระบุพยาน  ส่วนหนังสือมอบอำนาจนั้น  รับฟังไม่ได้

หมายเหตุ  ข้อเท็จจริงตามคำถามนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่  2  ประการ  จึงเห็นควรนำมาลงไว้เพื่อการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมของน้องๆนักศึกษา  กล่าวคือ  ในกรณีที่เป็นพยานหลักฐานที่สำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี  แม้ไม่ได้ระบุบัญชีระบุพยานตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  88  หรือมิได้นำส่งสำเนาตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  90  ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว  ก็ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  84(2)  วรรคท้าย   

สำหรับประเด็นที่ว่าโจทก์จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าร้อยละ  15  ต่อปีได้หรือไม่  โจทก์ได้นำสืบประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมิได้ระบุอ้างไว้ในบัญชีระบุพยาน  ทั้งมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  88  วรรคสาม  กรณีนี้ศาลจะรับฟังประกาศดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  87(2)  วรรคท้ายไม่ได้  เพราะมิใช่พยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพราะมิใช่ข้อที่ทำให้โจทก์แพ้หรือชนะคดี  (ฎ. 2043/2540)

ส่วนประเด็นเรื่องเรื่องหนังสือมอบอำนาจของโจทก์นั้นถือเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพราะมีผลทำให้โจทก์แพ้หรือชนะคดี  ดังนั้น  เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม  ศาลจึงรับฟังเป็นพยานได้เพราะเข้าข้อยกเว้นตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  87(2)  วรรคท้าย  แม้ไม่ได้ระบุอ้างไว้ในบัญชีระบุพยานและส่งสำเนาให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม  (ทำนองเดียวกับ  ฎ. 789  799/2499  ฎ. 580/2534  ฎ. 2251/2536)

Advertisement