การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2545

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงิน  50,000  บาท  ปรากฏตามสำเนาสัญญากู้  ซึ่งแนบท้ายฟ้องแล้วไม่ยอมชำระคืน  จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้  ชั้นพิจารณาโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยาน  แต่ไม่ได้ระบุต้นฉบับสัญญากู้ในบัญชีระบุพยาน  ดังนี้  โจทก์จะนำสืบต้นฉบับสัญญากู้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  87  ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใดเว้นแต่

(1) พยานหลักฐานนั้นเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในคดีจะต้องนำสืบ  และ

(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  88  และ  90  แต่ถ้าศาลเห็นว่า  เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม  จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้  ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้

วินิจฉัย

หลักการยื่นบัญชีระบุพยาน  ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน  ป.วิ.พ.  มาตรา  88  รวมทั้งยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานแล้ว  แต่ศาลไม่อนุญาต  ย่อมมีผลตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  87(2)  คือ  ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานนั้น

โจทก์จะนำสืบต้นฉบับสัญญากู้ได้หรือไม่   เห็นว่า  แม้ในขณะที่โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์จะไม่ได้ระบุต้นฉบับสัญญากู้ในบัญชีระบุพยานก็ตาม  แต่การที่โจทก์ได้แนบสำเนาสัญญากู้มาท้ายคำฟ้อง  ถือว่าสำเนาเอกสารนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง  อันแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่าจำนงจะอ้างอิงพยานเอกสารนั้นสนับสนุนข้ออ้างในคำฟ้องของตนแล้วตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  88  ทั้งกรณีเช่นนี้จำเลยก็มีโอกาสได้เห็นสัญญากู้แล้วแต่แรก  ดังนั้นโจทก์จึงไม่จำเป็นต้องระบุต้นฉบับสัญญากู้ในบัญชีระบุพยานอีก  และกรณีไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ  โจทก์สามารถนำสืบต้นฉบับสัญญากู้ได้ตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  87(2)  (ฎ. 901/2493)

สรุป  โจทก์สามารถนำสืบต้นฉบับสัญญากู้ได้


ข้อ  2  เข็มทองฟ้องคดีการกู้ยืมเงิน  
500,000  บาท  จากปอฝ้าย  ในคำฟ้องอ้างเอกสารสัญญากู้เงินเป็นหลักฐานและอ้างหลักฐานการกู้เงินเป็นจดหมายระหว่างเข็มทองและปอฝ้าย  ซึ่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าว  ปอฝ้ายเป็นฝ่ายเก็บไว้  โดยที่เข็มทองมีแต่เพียงสำเนาทั้งสัญญากู้เงินและจดหมายโต้ตอบการกู้ยืมเงิน  หลังจากยื่นบัญชีระบุพยานแล้ว  เข็มทองได้ยื่นคำขอเป็นคำร้องขอให้ปอฝ้ายส่งต้นฉบับเอกสารทั้งหลักฐานการกู้ยืมเงินและจดหมายโต้ตอบการกู้ยืมเงิน  แต่ปรากฏว่าปอฝ้ายยกเหตุว่า  เข็มทองส่งสำเนาพยานเอกสารให้แก่ตน  จึงไม่ขอส่งต้นฉบับเอกสารทั้งหมดให้แก่ศาล  อยากทราบว่าข้ออ้างของปอฝ้ายรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบายพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

มาตรา  90  วรรคแรก  วรรคสามและวรรคห้า  ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตามมาตา  88  วรรคหนึ่ง  ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงพยานหลักฐานไม่ต้องยื่นสำเนาเอกสารต่อศาล  และไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารให้คู่ความฝ่ายอื่นในกรณีดังต่อไปนี้

(2) เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก

กรณีตาม  (2)  ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเอกสารนั้นมาจากผู้ครอบครองตามมาตรา  123  โดยต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง  แล้วแต่กรณี  และให้คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้เอกสารดังกล่าวมาภายในเวลาที่ศาลกำหนด

มาตรา  123  วรรคแรก  ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ในความครอบรองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง  คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสำเนาเอกสารนั้นก็ได้  ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสำคัญ  และคำร้องนั้นฟังได้  ให้ศาลมีคำสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกำหนด  ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีต้นฉบับเอกสารอยู่ในครอบครองไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเช่นว่านั้นให้ถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่ผู้ขอจะต้องนำสืบโดยเอกสารนั้น  คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้ยอมรับแล้ว 

วินิจฉัย

ตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  90  วรรคแรกดังกล่าว  ได้กำหนดให้คู่ความที่ได้ระบุพยานเอกสารไว้ในยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  88  วรรคแรก  ต้องส่งสำเนาพยานเอกสารนั้นล่วงหน้าก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า  7  วัน  ให้แก่ศาลและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง  แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นไว้ใน  ป.วิ.พ.  มาตรา  90  วรรคสามให้คู่ความไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารล่วงหน้าดังกล่าวได้  หากปรากฏว่า  (2)  ต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก  เพราะโดยสภาพแล้ว  สำเนาต้องทำจากต้นฉบับ  แต่เมื่อคู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารไม่มีต้นฉบับก็ไม่สามารถจัดการทำสำเนาส่งต่อศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้  กรณีจึงต้องปฏิบัติตาม 

ป.วิ.พ.  มาตรา  90  วรรคห้า  ประกอบมาตรา  123  วรรคแรก  คือ  ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลแทนการที่ตนจะต้องส่งสำเนาเอกสารนั้นต่อไป

ข้ออ้างของปอฝ้ายรับฟังได้หรือไม่  เห็นว่าภายหลังจากที่เข็มทองได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  88  วรรคแรกแล้ว เข็มทองได้ยื่นคำขอเป็นคำร้องขอให้ปอฝ้ายส่งต้นฉบับเอกสารหลักฐานการกู้ยืมเงินและจดหมายโต้ตอบการกู้ยืมเงิน  จึงเป็นกรณีที่ต้นฉบับเอกสารนั้นอยู่ในความครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง  ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นที่ไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารนั้นตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  90  วรรคสาม

และเมื่อได้ความว่า  ปอฝ้ายไม่ยอมส่งต้นฉบับเอกสารให้แก่เข็มทองตามที่เข็มทองขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเอกสารนั้นมาจากปอฝ้ายตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  90  วรรคห้า  กรณีเช่นนี้  ต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่เข็มทองจะนำสืบโดยเอกสาร  คือข้อความที่ปรากฏในหลักฐานการกู้ยืมเงินและจดหมายโต้ตอบการกู้ยืมเงินนั้น  ปอฝ้ายได้ยอมรับว่ามีอยู่ตามฟ้องแล้วตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  123  วรรคแรก  โดยไม่ต้องอาศัยพยานหลักฐานเลย  ข้ออ้างของปอฝ้ายที่ว่าเข็มทองมิได้ส่งสำเนาพยานเอกสารให้จึงรับฟังไม่ได้  (เทียบ ฎ. 183  185/2597 ฎ. 2016/2517)

สรุป  ข้ออ้างของปอฝ้ายรับฟังไม่ได้


ข้อ  3  ในคดีอาญา  หากปรากฏว่าจำเลยได้ยอมรับว่ากระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องไว้จริง  ศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยมิต้องสืบพยานได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย  พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

อธิบาย 

เนื่องจากในคดีอาญานั้น  บุคคลทุกคนรวมทั้งผู้ต้องหาจะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของโจทกี่จะต้องนำสืบข้อเท็จจริงในคดี  โดยนำพยานหลักฐานมาสืบต่อศาลว่า  ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรจนกว่าศาลจะพอใจว่าจำเลยกระทำผิดจริง  จึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้

แต่อย่างไรก็ตาม  ในกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา  ศาลอาจลงโทษจำเลยโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวก็ได้  ทั้งนี้ตามที่  ป.วิ.อ.  มาตรา  176  วรรคแรก  บัญญัติไว้  กล่าวคือ

ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง  ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานต่อไปก็ได้  เว้นแต่  คดีที่มีข้อหาในความผิดที่จำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่  5  ปี  ขึ้นไป  หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น  ศาลจะต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำผิดจริง

จากหลักกฎหมายดังกล่าว  ทำให้เห็นว่าในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาอาจแยกพิจารณาได้  2  กรณี  คือ

1       คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำผิดตามฟ้องไม่ได้กำหนดอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำไว้  หรือมีกำหนดอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำน้อยกว่า  5  ปี

ในคดีอาญาใดที่กฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้  เช่น  ความผิดฐานลักทรัพย์กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน  3  ปี  และปรับไม่เกิน  6,000  บาท  จะเห็นว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำไว้เลย  เพียงแต่กำหนดขั้นสูงว่าไม่เกิน  3  ปี  หรือในกรณีที่อัตราโทษอย่างต่ำน้อยกว่า  5  ปี  เช่น  ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่  2  ถึง  20  ปี  ถือว่ามีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่  2  ปีขึ้นไป  ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง  ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  มีผลเท่ากับว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องฟังเป็นยุติตามคำรับสารภาพของจำเลย  ศาลสามารถนำไปวินิจฉัยตัดสินคดีได้  โดยโจทก์ไม่ต้องสืบพยาน  แต่อย่างไรก็ตามแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ  แต่ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมิได้กระทำตามที่รับสารภาพศาลจะให้คู่ความสืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  มิใช่ต้องฟ้องตามคำรับสารภาพของจำเลยเสมอไป

2       คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำผิดตามฟ้องมีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  หรือโทษสถานอื่นที่หนักกว่านั้น

สำหรับกรณีนี้หมายถึง  ข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  เช่น ระวางโทษจำคุกตั้งแต่  5  ถึง  20  ปี  หรือโทษสถานอื่นที่หนักกว่านั้น  เช่น  ความผิดที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิตสถานเดียว  แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ  กฎหมายก็บังคับให้ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง  จึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตาม  ป.วิ.อ.  มาตรา  176  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตามก็มิได้หมายความว่า  หากจำเลยรับสารภาพแล้ว  ศาลจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไป  เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริง  หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด  หรือมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษ  ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้

Advertisement