การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

 ข้อ  1  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  นาย  ก  ฟ้องนาย  ข  ให้ล้มละลาย  ต่อมามีเจ้าหนี้คือนาย  ค  ฟ้องนาย  ข  ให้ล้มละลายด้วย  และศาลรับคดีของนาย  ค  ไว้พิจารณา  ต่อมานาย  ง  ฟ้องนาย  ข  ลูกหนี้  คนเดียวกันนี้ให้ล้มละลายอีก  แต่ศาลไม่รับคำฟ้องโดยอ้างว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดคดีของนาย  ก  แล้ว  จึงให้นาย  ง  ไปรอขอรับชำระหนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของศาลฟังขึ้นหรือไม่  และคดีของนาย  ค  ที่ค้างพิจารณาอยู่จะต้องดำเนินการอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  15  ตราบใดที่ลูกหนี้ยังมิได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะฟ้องลูกหนี้นั้นเป็นคดีล้มละลายอีกก็ได้  แต่เมื่อศาลได้สั่งให้คดีหนึ่งคดีใดให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  ให้จำหน่ายคดีล้มละลายซึ่งเจ้าหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้น

วินิจฉัย

ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  เจ้าหนี้แต่ละรายจะฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายอีกคดีก็ได้  แต่เมื่อศาลเดียวกันหรือศาลหนึ่งศาลใดมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  ศาลจะต้องสั่งจำหน่ายคดีอื่นๆเสียคงเหลือไว้แต่คดีที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่เพียงคดีเดียวเท่านั้น  แต่ถ้าศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว  ดังนี้  ยังไม่ต้องจำหน่ายคดีอื่นๆแต่อย่างใด

การที่ศาลไม่รับคดีของนาย  ง  ไว้พิจารณา  โดยอ้างว่า  ศาลได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดคดีของนาย  ก  แล้ว  ข้ออ้างของศาลเช่นนี้ฟังขึ้น เพราะเหตุว่า  ในคดีล้มละลายศาลสามารถพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้คนเดียวกันได้เพียงคดีเดียว  และหากมีการฟ้องลูกหนี้คนเดียวโดยเจ้าหนี้หลายคนฟ้อง  หากศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดคดีใดแล้ว  เจ้าหนี้อื่นจะฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้นอีกไม่ได้  เจ้าหนี้อื่นนั้นต้องไปรอขอรับชำระหนี้  ตามมาตรา  27  ประกอบมาตรา  91

ส่วนคดีของนาย  ค  ที่ค้างพิจารณานั้น  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีของนาย  ก  แล้ว  ศาลก็อยู่ในบังคับที่จะต้องสั่งจำหน่ายคดี  ตามมาตรา  15  เพื่อให้นาย  ค  ไปรอรับชำระหนี้เช่นกัน

สรุป  ข้ออ้างของศาลที่ไม่รับคดีของนาย  ง  ไว้พิจารณาฟังขึ้น  และในส่วนคดีของนาย  ค  ที่ค้างพิจารณาศาลต้องสั่งจำหน่ายคดี


ข้อ  2  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  ศาลสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลาย  และลูกหนี้ขอประนอมหนี้  ศาลอนุญาตแต่ปรากฏว่าลูกหนี้กระทำไม่สำเร็จเนื่องจากผิดนัดอย่างหนึ่งอย่างใดตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลายฯมาตรา  60  ศาลจึงสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา  61  ดังนี้  ลูกหนี้จะเริ่มต้นล้มละลายตั้งแต่เมื่อใด  ให้ท่านอธิบายพร้อมยกตัวบทกฎหมายประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  6  ในพระราชบัญญัตินี้  เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

พิทักษ์ทรัพย์  หมายความว่า  พิทักษ์ทรัพย์สินไม่ว่าเด็ดขาดหรือชั่วคราว

มาตรา  62  การล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

อธิบาย

การล้มละลายของลูกหนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใดนั้น  เป็นไปตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลายฯ  มาตรา  62  ซึ่งกำหนดว่า  ให้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  อย่างไรก็ตามเมื่อบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น  จึงต้องนำบทนิยามตามมาตรา  6  ที่ว่า  พิทักษ์ทรัพย์  หมายความว่า  พิทักษ์ทรัพย์สินไม่ว่าเด็ดขาดหรือชั่วคราว  มาพิจารณาประกอบด้วย  กล่าวคือ

1       ถ้าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว  การล้มละลายก็จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว

2       ถ้าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (โดยไม่มีการพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว)  การล้มละลายก็จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

ตัวอย่าง  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ชั่วคราวตั้งแต่วันที่  15  มกราคม  2547  ต่อมาวันที่  22  มกราคม  2547  จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด  และวันที่  30  มกราคม  2547  ศาลได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย  เช่นนี้ถือว่าลูกหนี้ล้มละลายตั้งแต่วันที่  15  มกราคม  2547  อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวแล้ว  ทั้งนี้ตามมาตรา  62 

อนึ่งจากตัวอย่างข้างต้น  หากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดอย่างเดียว  โดยไม่มีการพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ชั่วคราวแต่อย่างใด  ก็ต้องถือว่าลูกหนี้ล้มละลายตั้งแต่วันที่  22  มกราคม  2547  อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า  ผลของการล้มละลาย  ไม่ใช่เริ่มตั้งแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย  แต่เริ่มตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  ซึ่งอาจจะเป็นการพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวหรือเด็ดขาดก็ได้  แล้วแต่กรณี


ข้อ  3  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนี้  ซึ่งมีลูกหนี้เป็นบริษัทจำกัดและมีหนี้ที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเป็นจำนวนเงิน  24  ล้านบาท  ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างว่ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้  หากท่านเป็นศาล  ท่านจะสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่อย่างไร  ให้ท่านอธิบายพร้อมทั้งยกตัวบทกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  90/3  เมื่อลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท  ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม  ถ้ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้  บุคคลธรรมดาตามมาตรา  90/4  อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการได้

มาตรา  90/4  ภายใต้บังคับมาตรา  90/5  บุคคลซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

(2) ลูกหนี้ซึ่งมีลักษณะตามมาตรา  90/3

มาตรา  90/5  บุคคลตามมาตรา  90/4  จะยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

วินิจฉัย

ศาลจะสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่  เห็นว่า  ตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลายฯ  มาตรา  90/5  นั้น  บัญญัติห้ามมิให้บุคคลตามมาตรา 90/4  ยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในกรณีดังต่อไปนี้

1       ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  กล่าวคือ  กฎหมายจำกัดเฉพาะกรณีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้นจะยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้  ถ้าลูกหนี้เพียงแต่ถูกฟ้องขอให้ล้มละลาย  ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  ก็อาจมีการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้  อีกประการหนึ่งการที่ศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ชั่วคราวก็ยังยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการได้

2       ศาลหรือนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้เลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้หรือมีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลหรือนิติบุคคลต้องเลิกกันด้วยเหตุอื่น

กรณีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า  ลูกหนี้ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดถูกฟ้องล้มละลายโดยมีมูลหนี้  24  ล้านบาท  จะเป็นบุคคลตามมาตรา  90/3 ประกอบมาตรา  90/4(2)  ก็ตาม  แต่เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  กรณีจึงต้องห้ามตามมาตรา  90/5(1)  ลูกหนี้จึงมายื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไม่ได้  แม้จะยื่นคำร้องโดยอ้างว่ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้  ศาลก็ชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

สรุป  หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งไม่รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

Advertisement